xs
xsm
sm
md
lg

ประสานบัวแก้ว ยกเลิกพาสปอร์ต "กิตติศักดิ์"ลักเงินสจล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองปราบประสานกระทรวงต่างประเทศยกเลิกหนังสือเดินทาง"กิตติศักดิ์" ผู้ต้องหาลักเงิน สจล. เตรียมเรียกพนักงานธนาคารอดีตลูกน้อง"ทรงกลด"มาสอบหลังธนาคารส่งข้อมูลมาให้ไม่ครบ ขณะที่ รก.อธิการบดี มม.ระบุกรณี สจล.เกิดจากระบบตรวจสอบหย่อนยาน

วานนี้้ ( 15 ม.ค.) ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 13.30 น. พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป.ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีลักเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล.กล่าวถึงความคืบหน้าคดี ว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีการเรียกประชุมทั้งฝ่ายสืบสวน และฝ่ายสอบสวน เพื่อประมวลข้อมูล สรุปผลความคืบหน้าการดำเนินคดี หลังจากทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการมาแล้ว รวมทั้งวางแผนกำหนดแนวทางการทำงาน

พ.ต.อ.ณษ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า นายสมพงษ์ สหพรอุดมการ และนายธวัชชัย ยิ้มเจริญ ผู้ต้องหาในคดีนี้ ซึ่งยังคงหลบหนีการจับกุม ได้ติดต่อมาว่าจะขอเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้เดินทางมาตามที่ระบุไว้ อย่างไรก็ตามตอนนี้ตำรวจคงไม่รออีกแล้วเพราะถือว่าให้เวลามานานแล้ว จะเร่งจับกุมมาดำเนินคดีให้ได้ ซึ่งขณะนี้ทางชุดสืบสวนก็ทราบแหล่งกบดานของผู้ต้องหาทั้งสองแล้ว เมื่อจับแล้วก็ไม่ต้องมาคุยกันถึงเรื่องการขอประกันตัว

พ.ต.อ.ณษ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มอบเอกสารสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างที่นายทรงกลด ศรีประสงค์ ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว เป็นพนักงานอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาห้างบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 โดยนายทรงกลด ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารสาขานั้นและลูกน้องอีก 2 คน ถูกตั้งกรรมการสอบหลังธนาคารพบข้อพิรุธทางการเงินในปี 2556 แต่เนื้อหาที่มีการสรุปมาถึงตนมีเพียง 1 หน้ากระดาษเท่านั้น ทั้งที่ยังมีประเด็นข้อพิรุธอีกหลายประการ โดยเฉพาะกรณีของพนักงานธนาคารดังกล่าวอีก 2 ราย ที่เกี่ยวข้องกับนายทรงกลด โดยพนักงานรายหนึ่ง ได้ถูกให้ลาออกจากงานไป ส่วนอีกรายให้ถูกลดตำแหน่งไป ซึ่งทางตำรวจคงจะต้องติดตามตัวทั้งสองมาสอบปากคำเพิ่มเติมเพื่อหาพยานหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติมเพราะเรายังไม่รู้ว่าทั้งสองยังมีอะไรปกปิดอยู่อีกหรือไม่

พ.ต.อ.ณษ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีทรัพย์สินต่างๆ ที่ตำรวจได้ตรวจอายัดไว้ ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มาขอรับไปตรวจสอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ 3 คัน ประกอบด้วย รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ รุ่น เอส 400 สีขาว ทะเบียน ฐ 8649 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า อัลพาร์ท สีดำ ทะเบียน ก-5983 กรุงเทพมหานคร ภายในบ้านพักเลขที่ 89/21 ซอย 2 หมู่บ้านคาซ่าวิว ถนนสุคนธสวัสดิ์ แขวงและเขตลาดพร้าว กทม.ซึ่งเป็นบ้านของนายฐิติ วรเพียรกุล และรถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับบลิว สีขาว ทะเบียน 9797 กรุงเทพมหานคร ที่ตรวจยึดได้ระหว่างจับกุมตัว น.ส.จันทร์จิรา โสประดิษฐ์ ผู้ต้องหาในคดีอีกราย ซึ่งการดำเนินการหลังจากนี้ก็จะขึ้นอยู่กับทาง ปปง.

พ.ต.อ.ณษ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ นายทรงกลด และ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ จะกำหนดกำหนดฝากขังครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 มกราคมนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็จะขออำนาจศาลฝากขังต่อ เนื่องจากการสอบสวนคดียังไม่เสร็จสิ้น ขณะที่อาจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีโดยได้รับการโอนเงิน 5.5 ล้านบาท นั้น พบว่าไม่มีเอกสารหลักฐานมาแสดงเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ ซึ่งในกรณีดังกล่าวทางพนักงานสอบสวนก็จะได้พิจารณาต่อไป

พ.ต.อ.ณษ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่พนักงาน 2 ราย จากบริษัทในเครือของนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหารายสำคัญในคดี ซึ่งเข้าพบพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา นั้น 1 ราย เป็นผู้ดูแลกิจการด้านการเงินโดยการจัดไฟแนนซ์รถ ก็เข้าข่ายความผิดในลักษณะของการฟอกเงิน ส่วนอีกรายเป็นผู้ที่ดูแลสตรีทผับ คอยทำงานด้านบริหาร นอกจากนี้ยังมีในส่วนของผู้ที่ดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บ้าน คอนโดมิเนียม 14 ห้อง นั้น พบว่ามีบ้านที่นายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ ผู้ต้องหาได้ซื้อไว้ในราคา 22 ล้านบาท ด้วย ซึ่งพนักงานสอบสวนจะรวบรวมหลักฐานต่างๆ ไว้ ก่อนจะพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีเพิ่มเติม

ด้าน พ.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รอง ผบก.ป.ซึ่งดูแลงานด้านสืบสวนในคดีเดียวกัน เปิดเผยว่า สำหรับนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหารายสำคัญซึ่งยังคงหลบหนีอยู่ต่างประเทศ นั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอยกเลิกหนังสือเดินทางและวีซ่าของนายกิตติศักดิ์ แล้ว เพื่อที่นายกิตติศักดิ์ จะไม่สามารถเดินทางไปในประเทศต่างๆ ได้ และง่ายต่อการติดตามตัวมาดำเนินคดี

*** ชี้ระบบตรวจสอบหย่อนยาน

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวถึงมาตรการการตรวจสอบระบบการเงินของ มม.สืบเนื่องจากกรณีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ถูกยักยอกเงินจำนวนกว่า 1,600 ล้านบาท ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และไม่น่าเชื่อว่ามหาวิทยาลัยจะถูกโกงเงินคงคลังหายไปครึ่งหนึ่ง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของการตรวจสอบที่อาจจะหย่อนยาน และมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะทำเป็นกระบวนการไม่สามารถทำคนเดียวได้ หรือทำเฉพาะเจ้าหน้าที่การคลังกับเจ้าหน้าที่ธนาคารคงไม่ได้ หรือผู้บริหารมีส่วนเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในส่วนของ มม.ได้วางระบบดูแลการเงินการบัญชีค่อนข้างรัดกุม ไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่การคลังเป็นผู้ทำธุรกรรมต่าง ๆ แต่มีการจ้างบริษัทภายนอกที่น่าเชื่อถือเป็นตัวกลางในการดูแลระบบการเงินการบัญชีของมหาวิทยาลัย และกำหนดให้ต้องรายงานและนำหลักฐานมารายงานผู้บริหารทุกวัน เช่นเดียวกับของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ตนได้วางระบบให้มีการตรวจนับเงินทุกวันโดยตั้งกรรมการขึ้นมา 3 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่การคลัง 1 คน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น ๆ 2 คนซึ่งในส่วนของหน่วยงานอื่นจะสลับหมุนเวียนกัน จากนั้นจะต้องสรุปรายงานเสนอให้ตนรับทราบทุกวันด้วย ซึ่งเราไม่ได้มอบให้การคลังรับผิดชอบเพียงคนเดียวแต่ให้ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่มหาวิทยาลัยต้องนำเงินไปฝากธนาคารต่าง ๆ ที่ได้ดอกเบี้ยสูง ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า มีความจำเป็นเพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้มีรายได้พิเศษ ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยนำเงินไปฝากธนาคารที่มีโปรโมชั่นดีก็เป็นการเพิ่มรายได้ให้มหาวิทยาลัยได้มาก หรือหากจะนำไปลงทุนซื้อพันธบัตรก็สามารถทำได้เพราะตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยทำได้ แต่จะมีข้อกำหนดไว้ชัดว่าต้องลงทุนในบริษัทที่มีความมั่นคงและทำได้กี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่เกี่ยวว่าเป็น มหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ ออกนอกระบบ จึงทำให้เกิดปัญหาการโกงได้ง่าย เพราะแม้เป็นออกนอกระบบ ก็ยังต้องอิงระเบียบราชการ ซึ่งหากใครต้องการจะโกงก็ทำทั้งนั้นซึ่งก็คงไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นกับ สจล.ไม่ได้อยู่ที่คนโกง แต่อยู่ที่ระบบการตรวจสอบที่ไม่ดี ซึ่งถ้ามีการตรวจสอบที่ดีจะไม่เกิดปัญหาเหล่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น