ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -บทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กำลังถูกจับตาว่า จะถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างไร หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คลอดออกมา
นั่นเพราะตามรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ผ่านมา ทั้งฉบับปี 2540 และ 2550 กกต.ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เป็นเสมือนตะแกรงร่อน คอยคัดกรองนักการเมืองเฉพาะที่ซื่อสัตย์สุจริตเท่านั้นที่ให้ผ่านเข้าไปใช้อำนาจแทนประชาชนได้ กกต.จึงเป็นองค์กรอิสระที่มีทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมอยู่ในองค์กรเดียวเสร็จสรรพ เพื่อความเด็ดขาดในการฟาดฟันผู้สมัครเป็นตัวแทนประชาชนที่มีพฤติกรรมโกงการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 กว่าปีที่เรามี กกต.ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารจัดการการเลือกตั้ง ก็ยังคงปรากฏว่ามีนักการเมืองผ่านเข้าไปฉ้อฉลอำนาจ หาประโยชน์เข้าพกเข้าห่อตัวเองได้ไม่ต่างจากที่ผ่านๆ มา ซ้ำยังมีวิธีการคดโกงที่แยบยลกว่าเดิม ด้วยข้ออ้างว่าพวกเขามาจากการเลือกตั้ง
ภายหลังการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.2557 การปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการเลือกตั้งจึงเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ถึงกับมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ใน 2 มาตรา
กล่าวคือ มาตรา 27 ที่กำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ 11 ด้าน เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย “มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ”
และมาตรา 35 ที่กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทําร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ 10 ประเด็น นั้น มีอย่างน้อย 3 ประเด็นที่คาบเกี่ยวถึงอำนาจหน้าที่ของ กกต. นั่นคือ วงเล็บ 3, 4 และ 5
หลังจากที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ จนขณะนี้ก็พอจะมองเห็นเลาๆ แล้วว่า กกต.ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
ในหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ข้อสรุปในช่วงเย็นของวันที่ 26 ธ.ค.ไม่ได้ได้ระบุถึงรายละเอียดของอำนาจหน้าที่ กกต. เพียงแต่ในข้อ 2.ความเป็นกลางในการกำหนดวันเลือกตั้ง และการรักษาการระหว่างเลือกตั้ง ได้ให้อำนาจ กกต.ในการกำหนดวันเลือกตั้ง (ภายใน 45 วัน นับแต่สภาผู้แทนสิ้นอายุ - ภายใน 60 วันนับแต่วันยุบสภา) และให้ กกต.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบการออกนโยบายฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลรักษาการระหว่างเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม คำแถลงของ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ก็ให้รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับ กกต.ว่า คณะกรรมาธิการยังให้ กกต.คงองค์ประกอบเดิมจำนวน 5 คน ประกอบด้วย ประธาน 1 คน และกรรมการอีก 4 คน ส่วนคุณสมบัติ กกต.จะต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ทำหน้าที่สรรหา
แต่ในด้านหน้าที่ ได้กำหนดให้มีการแยกอำนาจการจัดการเลือกตั้งและอำนาจควบคุมการเลือกตั้งออกจากกัน คือ ให้ กกต. ทำหน้าที่เฉพาะการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายโดยสุจริตและเป็นธรรม และไม่ให้เกิดการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งจะมีอำนาจวินิจฉัยให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ หรือการให้ใบเหลือง หากเห็นว่ามีการจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่สุจริต หรือ ผู้สมัครลงเลือกตั้งกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ส่วนการดำเนินคดีเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งผู้กระทำความผิด หรือให้ใบแดง ที่ประชุมได้สรุปให้เป็นอำนาจของศาลที่จะเกิดขึ้นตามกฎหมายประกอบการรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ กระบวนการในการพิจารณาของศาลดังกล่าวจะออกแบบให้มีกระบวนการพิจารณาที่เป็นไปด้วยความรวดเร็ว
ขณะที่อำนาจการจัดการเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
พล.อ.เลิศรัตน์ บอกอีกว่า สาเหตุที่ต้องแยกอำนาจดังกล่าวออกจากกันเพื่อต้องการให้ กกต.ไม่ต้องมาทำงานด้านธุรการเกินความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม กกต.ยังมีหน้าที่รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ได้ไม่น้อยกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ จาก ส.ส.ทั้งหมดภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นองค์ประชุมสำหรับการเปิดประชุมครั้งแรก เพื่อตั้งนายกรัฐมนตรี และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
กล่าวโดยสรุป กกต.จะถูกปรับลดให้เหลืออำนาจเด็ดขาดเฉพาะการกำหนดวันเลือกตั้ง การสั่งให้เลือกตั้งใหม่ หรือ ให้ใบเหลือง และการรับรองผลการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนการให้ใบแดง อันเป็นการลงโทษผู้สมัครที่กระทำความผิดนั้น ถูกริบไปให้ศาลยุติธรรม รวมทั้งการจัดการการเลือกตั้งก็ถูกโอนกลับไปให้ข้าราชการประจำเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนรัฐธรรมนูญ 2540
การลดบทบาทและอำนาจของ กกต.ดังกล่าว ทำให้นักเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยออกอาการกระดี๊กระด๊า ยกมือเชียร์กันเป็นแถว อาทิ นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิป ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บอกว่า การให้ส่วนราชการใดรับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งโดยตรงจะทำให้หน่วยงานนั้นทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากกว่าให้มาช่วยงาน กกต.เหมือนที่ผ่านมา และบอกว่า การให้อำนาจศาลในการให้ใบแดง น่าจะเป็นธรรมและได้รับการยอมรับมากกว่าการให้ กกต.เป็นผู้ใช้ดุลพินิจในเรื่องดังกล่าวเอง
ขณะที่ นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.เพื่อไทยอีกคนก็สนับสนุนให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งแทน กกต.เพราะที่ผ่านมาข้าราชการมหาดไทยก็ช่วยกันจัดเลือกตั้งอยู่แล้ว และอยากให้ยุบ กกต.ส่วนกลาง มีแค่ กกต.จังหวัดทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง หากมีเหตุการณ์อะไรก็ให้ กกต.จังหวัดเป็นผู้ฟ้องศาลได้โดยตรง
เป็นเรื่องน่าแปลกที่นักการเมืองภายใต้ระบอบทักษิณเคยพากันยกย่องเชิดชูรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด และเรียกร้องให้นำกลับมาใช้ใหม่ แต่นักการเมืองเหล่านี้กลับพากันสนับสนุนให้มีการลดอำนาจองค์กรอิสระ อันเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญ 2540 แตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น
นี่ก็สะท้อนว่า การลดอำนาจองค์กรอิสระที่คอยถ่วงดุลฉุดรั้งการใช้อำนาจที่ฉ้อฉลของนักการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการมาโดยตลอด
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ให้ความเห็นไว้เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ว่า ไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอที่จะให้มีศาลเลือกตั้งขึ้นมาพิจารณาการให้ใบแดงแทน กกต. เพราะคดีเลือกตั้งการหาหลักฐานที่ชัดเจนว่าใครทำอะไรไม่ง่าย นักการเมืองสามารถมองช่องว่างของกฎหมายและหาทางเอาเปรียบภายใต้ข้อกฎหมายที่เอื้ออำนวยได้
มีหลายเรื่องที่ กกต.ตัดสินให้ใบแดง แต่พอไปถึงศาลกลับยกคำร้อง เพราะขอบข่ายความผิดทางกฎหมายไม่เกิดขึ้น วิธีคิดของ กกต.กับศาลต่างกัน อีกทั้งหากปล่อยให้สำนวนไปอยู่ที่ศาลก็จะทำให้คดีเกิดความล่าช้า พยานหลักฐานหายหรือพยานอาจถูกข่มขู่ให้กลับคำให้การได้
นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยหากจะให้การจัดการเลือกตั้งกลับไปอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย เพราะข้าราชการประจำก็จะอยู่ภายใต้สังกัดการเมือง อาจทำให้เกิดความเกรงใจหรือการกระทำที่เอื้อประโยชน์ของฝ่ายการเมือง การจัดการเลือกตั้งควรต้องอยู่ในกำกับดูแลขององค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายการเมืองใด
ความเห็นของนายสมชัย จึงเป็นประเด็นที่สภาปฏิรูปแห่งชาติต้องนำไปถกเถียงกันอย่างหนัก นั่นเพราะนายสมชัยเคยมีประสบการณ์คลุกคลีกับการเลือกตั้งมาตั้งแต่ครั้งเป็นประธานองค์กรกลาง ที่ร่วมสังเกตการเลือกตั้งในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งในเวลานั้น การจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกองการเลือกตั้ง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
อย่าลืมว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ได้ให้อำนาจ กกต.ในการชักใบแดงฟันนักการเมืองที่โกงการเลือกตั้ง ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ กกต.ก็ยังถูกขนานนามว่าเป็น “เสือกระดาษ”
แล้วนี่ จะลดอำนาจ กกต.ลงเหลือแค่ให้เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง และรับรองผลการเลือก กกต.ตามรัฐธรรมนูญใหม่จะไม่มีสภาพเป็นเพียงแค่กระดาษชำระดอกหรือ