กกต.บริหารงานเลือกตั้ง ไม่หนุนให้ศาลมีอำนาจตัดสินแทน กกต. เหตุมองหาหลักฐานมัดคนทำผิดยาก ติดกับดัก กม. เข้าทางนักการเมืองใช้อิทธิพลขู่พยานกลับคำ เมินคืนให้ มท.จัดเลือกตั้ง ชี้อยู่ใต้สังกัดการเมือง มีเกรงใจ ยกประสบการณ์ 16 ปี กกต.เหมาะสมกว่า แนะร่วมมือ 5 ฝ่ายแก้ทุจริตเลือกตั้ง ค้านยุบ กกต.จว. แค่ปรับโครงสร้างพอ
วันนี้ (19 ธ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการกการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอที่จะให้มีศาลเลือกตั้งขึ้นมาพิจารณาสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแทน กกต. เพราะมองว่าคดีเลือกตั้งไม่ใช่คดีที่เอาเรื่องของข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายมาตัดสินว่าใครถูกใครผิด การตัดสินโดยศาลสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีการหาหลักฐานมายืนยันว่ากระทำความผิด เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมาต่อสู้เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และการตัดสินจะตัดสินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับคดีเลือกตั้ง เพราะคดีเลือกตั้งการหาหลักฐานที่ชัดเจนว่าใครทำอะไรมันไม่ง่าย เพราะประชาชนที่เป็นผู้ร้องกับฝ่ายที่เป็นนักการเมืองสถานะไม่เท่าเทียมกัน อาจมีการใช้อำนาจอิทธิพล ตำแหน่งทางการเมืองมาข่มขู่พยานทำให้พยานเกรงกลัว หรือทำให้หลักฐานไม่มีเพียงพอให้ศาลตัดสินว่าถูกหรือผิดได้ค่อนข้างมาก
“ถ้าเรามองเฉพาะกรอบกฎหมายคิดว่าไม่เหมาะ เพราะนักการเมืองสามารถมองช่องว่างของกฎหมายและหาทางเอาเปรียบภายใต้ข้อกฎหมายที่เอื้ออำนวยได้ หลายเรื่องที่ กกต.ตัดสินให้ใบแดง แต่พอไปถึงศาลกลับยกคำร้อง เพราะขอบข่ายความผิดทางกฎหมายไม่เกิดขึ้น วิธีคิดของ กกต.กับศาลต่างกัน แค่หลักฐานที่พอเชื่อได้ว่าทุจริตก็สามารถให้ใบแดงได้ แต่ถ้าศาลตัดสินให้ใบเหลืองใบแดงท้ายสุดตกอยู่ภายใต้กับดักของกฎหมายและเป็นที่พึงปรารถนาของฝ่ายการเมืองด้วยซ้ำ อีกทั้งมองว่าหากปล่อยให้สำนวนไปอยู่ที่ศาลก็จะทำให้คดีเกิดความล่าช้า พยานหลักฐานหายหรือพยานอาจถูกข่มขู่ให้กลับคำให้การได้”
นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยหากจะให้การจัดการเลือกตั้งกลับไปอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย เพราะข้าราชการประจำก็จะอยู่ภายใต้สังกัดการเมือง อาจทำให้เกิดความเกรงใจหรือการกระทำที่เอื้อประโยชน์ของฝ่ายการเมือง ดังนั้น การจัดการเลือกตั้งจะต้องอยู่ในกำกับดูแลขององค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายการเมืองใด ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมไม่ได้ และมองว่าการที่ให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง คิดว่าเป็นข้อเสนอที่ค่อนข้างถอยหลัง กลับไปสู่ยุคเดิมๆ เพราะความรู้ความเชี่ยวชาญจัดการเลือกตั้ง กกต.มีมากกว่ากระทรวงมหาดไทย เนื่องจากตอนที่กระทรวงมหาดไทยจัดรูปแบบการจัดการเลือกตั้งยังไม่ซับซ้อน หน่วยเลือกตั้งต่างๆ ก็ยังไม่มีมากมาย ปัญหาก็ยังไม่มีมากมายอย่างในปัจจุบัน กกต.สั่งสมประสบการณ์จัดการเลือกตั้งมาถึง 16 ปีก็สมควรจัดการเลือกตั้งมากกว่ากระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ นายสมชัยเห็นว่า การแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งให้ได้ผลนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือ 5 ฝ่ายหรือเบญจภาคี โดย 1. กฎหมายเลือกตั้งต้องรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมนักการเมือง และรู้ทันช่องว่างของกฎหมายที่ฝ่ายการเมืองใช้หาประโยชน์ 2. กกต.ทุกระดับต้องสร้างความไว้วางใจในการจัดการเลือกตั้ง โดยต้องมีการกลั่นกรองบุคคลที่จะเข้ามาเป็น กกต.ทุกระดับให้ได้รับการยอมรับ 3. ประชาชนต้องตื่นรู้และเอาจริงเอาจังกับการมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการทุจริตเลือกตั้ง การซื้อเสียง เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการจัดเลือกตั้ง 4. พรรคการเมืองจะต้องคัดกรองคนที่เหมาะสมมาเป็นผู้สมัคร และต้องกำกับนักการเมืองของพรรคไม่ให้มีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และ 5. ภาคประชาสังคมทั้งภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ ต้องมีความเข้มแข็ง ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวไปด้วย หากอนาคตมีการจัดการเลือกตั้งมองว่าควรให้ กกต.ชุดปัจจุบันเป็นผู้ที่หน้าที่จัดการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง หากมีการตั้ง กกต.ชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทันที อาจจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศ เพราะยังไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้ระบบการเมืองในปัจจุบัน ไม่รู้เท่าทันนักการเมือง แต่ท้ายขึ้นอยู่กับฝ่ายที่มีหน้าที่ออกแบบรัฐธรรมนูญว่าจะกำหนดอย่างไร
ส่วนข้อเสนอให้ยุบ กกต.จังหวัดนั้นก็ไม่เห็นด้วย ควรให้มีอยู่ไว้เช่นเดิม แต่ต้องมีการออกแบบและปรับโครงสร้างที่มาและสัดส่วนของ กกต.จังหวัดให้มีความเหมาะสม ความรู้ความสามารถหลากหลาย โดยองค์ประกอบของผู้ที่มาดำรงตำแหน่ง กกต.จังหวัดนั้นควรเป็นคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมหนึ่งคน มีความรู้ด้านการจัดการเลือกตั้งหนึ่งคน รู้ระเบียบบริหาร และการใช้อำนาจรัฐหนึ่งคน มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาคประชาสังคมและการมีส่วนร่วมหนึ่งคน และมีความรู้เรื่องการเมืองระดับชาติอีกหนึ่งคน รวมทั้งหมด 5 คน แต่หากจะให้มีการเลือกตั้ง กกต.จังหวัดทั่วประเทศต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด โดยต้องมีกระบวนการสรรหา คัดกรองกันใหม่เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและไม่ให้ กกต.จังหวัดตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมือง