กกต.มอบนโยบาย ผอ.กกต.77 จังหวัด ย้ำยึดสามัคคี อย่าทะเลาะเบาะแว้ง ปธ.กกต.กำชับศึกษาเลือกตั้งแบบเยอรมนีเพื่อออกแบบ กม.ลูกให้สอดคล้อง เผยทูตเยอรมนีตอบรับคำเชิญ ร่วมบรรยายต้นปีหน้าแล้ว ด้าน “สมชัย” โต้กลับรองนายกฯ ต้องการให้บ้านเมืองสงบ ให้รัฐออก กม.นิรโทษกรรม ล้างมลทินเลือกตั้ง 2 ก.พ.ล่ม จะได้ไม่ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหาย 3 พันล้าน ยันเมื่อ กม.เลือกตั้งยังอยู่ต้องฟ้อง ไม่ทำมีสิทธิโดน ม.157 เผยต้องเร่งเหตุคดีใกล้หมดอายุความ พร้อมบอกใบ้ชัด 2 กลุ่มที่ต้องรับผิดชอบใน 2 ส่วน
วันนี้ (25 ธ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด โดยมี นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. พร้อมด้วยนายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง และนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.ร่วมมอบนโยบาย
นายศุภชัยกล่าวว่า ปัจจุบันองค์กร กกต.ถูกมองว่าไม่มีงานทำเพราะยังไม่มีการเลือกตั้ง บางคนถึงกับให้ กกต.ทั้ง 5 คนลาออกไป ยืนยันว่าที่ผ่านมาเราทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการมีส่วนร่วมที่นายประวิชดูแลรับผิดชอบอยู่ ได้เตรียมดินเพื่อปลูกต้นกล้าประชาธิปไตยทั่วประเทศ การทำงานของ กกต.ที่ผ่านมาไม่ได้มีอะไรผิดพลาด ฉะนั้นการปฏิรูปการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็ต้องทำให้ดีขึ้น ตัวแทนของ กกต.ที่เข้าไปร่วมเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ได้ให้ข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม สปช. แต่ทั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.จะเป็นไปอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) และ สปช.ในการพิจารณา
นายศุภชัยยังได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ว่า ขณะนี้ กกต.อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน พนักงานจึงต้องรู้รักสามัคคี ถ้าทะเลาเบาะแว้งกันจะทำให้องค์กรอ่อนแอ ที่สำคัญต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพราะสามารถจะเป็นเกราะป้องกันตนเองได้ มีงานออะไรก็ต้องเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม กกต.ทั้ง 5 คน ทำอะไรไม่ได้มากถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปฏิบัติ จาก กกต.จังหวัด และขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้มีมติเห็นชอบระบบการเลือกตั้งให้มี ส.ส.ทั้งหมด 450 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 250 คน ส.ส.สัดส่วน 200 คน และไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง แม้ว่า กกต.จะจัดการเลือกตั้งมาแแล้วทุกรูปแบบ แต่รูปแบบการเลือกตั้งที่จะนำระบบเยอรมนีมาใช้ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ประชาชนให้ความสนใจ จึงควรที่จะศึกษาว่าระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมนีนั้นเป็นอย่างไร เพราะกกต.ต้องออกแบบกฎหมายเลือกตั้งให้สอดคล้อง
ประธาน กกต.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กกต.จะเคยเชิญนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาบรรยายก่อนนหน้านี้แล้ว แต่ในอนาคตอาจจะต้องเชิญอีกครั้ง และทราบว่าทางเอกอัคราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยได้ตอบรับคำเชิญของ กกต.ในการมาบรรยายเรื่องรูปแบบการเลือกตั้งประมานกลางเดือน ม.ค. 2558 ด้วย
ด้านนายสมชัยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กกต.ได้จัดประชุมร่วมกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ที่ จ.ภูเก็ต มีข้อสรุป 2 ประเด็น คือ 1. กกต.ขอให้ศาลใช้สำนวนของ กกต.เป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีเลือกตั้ง และ 2. ศาลยอมรับข้อเสนอดังกล่าว แต่ขอให้ กกต.ไปปรับปรุงกระบวนการสืบสวนสอบสวนให้เป็นที่น่าเชื่อถือ และเป็นที่ไว้วางใจ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ กกต.ต้องกลับมาดูตัวเอง ว่าต้องปรับปรุงอย่างไรบ้าง
ส่วนตัวเห็นว่าต้องปรับปรุง 4 ข้อ คือ 1. คน ต้องทำให้มีประสิทธิภาพ 2. เงิน ต้องมีงบประมานสนับสนุนเพียงพอ 3. อุปกรณ์ ต้องมีเครื่องมือในการทำงานอย่างครบครัน และ 4. การจัดการ ต้องไปปรับปรุงขั้นตอนให้เป็นระบบ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านการเมือง ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มารับฟังความคิดเห็นถึงข้อเสนอแนะในการปฏิรูประเทศ การปฏิรูปที่จะมีขึ้นนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้งพอสมควร ตนได้ยืนยันไปว่าอำนาจในการสั่งเลือกตั้งใหม่และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบเหลือง-ใบแดง) ควรที่อยู่กับ กกต. เพราะการเลือกตั้งเราไม่สามารถใช้ข้อพิจารณาด้านกฎหมายเพียงอย่างเดียว คดีเลือกตั้งเป็นการสู้กันระหว่างประชาชนที่ไม่มีอำนาจกับนักการเมืองที่มีอำนาจทุกอย่าง ฉะนั้นที่พูดกันว่าให้ไปสู้กันในศาลอย่างเป็นธรรม มันก็คือความไม่เป็นธรรม เนื่องจากจะมีการใช้ช่องว่างของกฎหมายต่างๆ ซึ่งในสายตาทางกฎหมายถือว่าไม่ผิด แต่ในสายตาเราถือว่าผิด จุดนี้เห็นว่าเราต้องสื่อสารให้สังคมเกิดความเข้าใจ ไม่ใช่ว่า กกต.หวงอำนาจ แต่เราต้องมีอำนาจดังกล่าวไว้ เพื่อคัดกรองคนดีเข้าสู่การเมือง ถ้าได้คนดีประเทศก็จะเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าได้คนไม่ได้ ประเทศก็จะเกิดปัญหาและบ้านเมืองจะเดินวนกลับมาสู่จุดเดิม
นายสมชัยยังกล่าวถึงกรณีที่สำนักงาน กกต.จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย 3,000 ล้านบาท กรณีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะว่า สื่อฯ พยายามถามว่าจะดำเนินคดีต่อใคร ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบ เพราะ กกต.ยังไม่ได้ตัดสินเรื่องนี้ เรื่องทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมหลักฐานของฝ่ายสำนักงาาน แต่จะมีการเสนอเข้าที่ประชุม กกต.ปลายเดือนม.ค. 2558 ที่ต้องรีบดำเนินการก็เพราะว่าไม่ต้องการให้คดีหมดอายุความ และถ้า กกต.ไม่ทำก็อาจถูกร้องเรียนฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากกฎหมายยังมีผลบังคับใช้อยู่
สำหรับการดำเนินคดดีจะเป็น 2 ส่วน คือ 1. เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่การรับสมัครสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ทรัพย์สินของสำนักงาน กกต. ค่าใช้จ่ายในการเช่าอาคารสำนักงานในการทำงานของ กกต. หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ กกต.จังหวัด เป็นต้น ตรงนี้ชัดเจนว่าใครทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เสียหาย เพราะมีหลักฐานภาพถ่ายวิดีโอชัดเจน นี่เป็นกลุ่มที่เราต้องฟ้อง
ส่วนที่ 2 เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเลือกตั้งทั่วประเทศ ที่ กกต.จัดเอง 2,200 ล้านบาท และให้งบประมาณสนับสนุนกับหน่วยงานนอกอย่างไปรษณีย์ไทย และกรมการปกครอง อีกประมาณ 600-700 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาน 3,000 ล้านบาท ตรงนี้ทางสำนักกฎหมาย กกต.ต้องเสนอความเห็นมายัง กกต.ว่าใครต้องรับผิดชอบ เช่น การเปิดรับสมัคร 28 เขตภาคใต้ ที่ไม่สามารถเปิดรับสมัครได้ ใครเป็นคนทำ และกลุ่มที่มีอำนาจตัดสินใจในการเลื่อนการเลือกตั้งได้ แต่ไม่เลื่อน ทั้งที่มีหนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้แจ้งเตือนว่าหากเดินหน้าต่อจะเกิดความเสียหาย และ กกต.เองก็เตือน แต่ทั้งหมดยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการกับกลุ่มใด ต้องรอการเสนอมา
“ถามว่าไม่ฟ้องได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ได้ เพราะเท่ากับว่า กกต.จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฟ้องแล้วเกิดความวุ่นวายหรือไม่ แน่นอนว่าต้องเกิดแรงกระเพื่อม รองนายกฯ ก็ออกมาบอกว่าสังคมต้องการความสงบ ต้องช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบ ผมตอบกลับได้เลยว่า ถ้ารัฐบาลอยากสงบ รัฐบาลก็ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม ล้างมลทินว่าการกระทำนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิด เหมือกับไม่มมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เราทำคนละบทบาทหน้าที่ การรักษาความสงบรัฐบาลก็มองไกลอยากให้บ้านเมมืองสงบ แต่เราเป็นผู้รักษากฎหมายเราก็ต้องทำตามหน้าที่ ซึ่งอาจโดนบูมเมอแรงตีกลับบ้าง แต่เราคงไม่ฟ้องกันเอง หรือถ้าใครจะฟ้อง กกต.ก็ไปฟ้องเอา”
นายสมชัยกล่าวว่า เราเป็นคน กกต.ต้องเข้าใจ เพื่อที่จะชี้แจงให้สังคมเกิดความเข้าใจ ยืนยันว่าวันนี้ กกต.ยังไม่มีมติฟ้องใคร แต่ถ้ามีมติฟ้องก็จะส่งเรื่องให้อัยการ เดิมตนเข้าใจว่าเมื่ออัยการรับเรื่องแล้วจะพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ก็ได้ แต่นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านการเมือง สนช.ได้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ถึงอย่างไรอัยการก็ต้องสั่งฟ้อง เพราะเป็นคดีแพ่ง