ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับการเลือกตั้งสุดอื้อฉาวครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันที่ 2 ก.พ.2557 เมื่อนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ว่า สำนักงาน กกต.กำลังเร่งพิจารณารวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ รวมจำนวนกว่า 3 พันล้านบาท
นายสมชัยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมา กกต.มีเป้าหมายสำคัญของการทำงานคือ จะต้องจัดการเลือกตั้งให้เกิดความคุ้มค่า เกิดความสำเร็จ งบประมาณต้องไม่สูญเปล่า ไม่มีการบาดเจ็บล้มตาย หรือเกิดความขัดแย้งจนทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย
การเลือกตั้งครั้งนั้น กกต.พยายามส่งสัญญาณให้รัฐบาลซึ่งก็คือ รัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ได้รับทราบว่าถ้าจัดการเลือกตั้งต่อไปการเลือกตั้งต้องเป็นโมฆะ เนื่องจาก 28 เขตเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ไม่สามารถรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ การเลือกตั้งจึงไม่สามารถเกิดขึ้นภายในวันเดียวกันได้ เพราะตามหลักกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายในวันเดียว จัดไม่พร้อมกันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่ฟังกลับมองว่า กกต.กำลังจินตนาการ พูดเหตุการณ์ล่วงหน้า
เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งไปแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ จึงต้องมีคนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ต่อมาวันที่ 23 ธ.ค.นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ปลายเดือนมกราคม 2558 จะรู้ว่าจะฟ้องกี่ฝ่าย และกี่ราย โดย กกต.พิจารณาจากปัญหาที่เกิดขึ้นว่าใครเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะ ซึ่งฝ่ายกฎหมายมีรายชื่อว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง
ความเสียหายจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ความเสียหายจากทรัพย์สินที่ถูกทำลาย 2.ความเสียหายจากค่าใช้จ่ายจัดการเลือกตั้งวงเงินเกือบ 3,000 ล้านบาท ตรงนี้จะดูจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะว่ามีสาเหตุจากอะไร ใครเป็นสาเหตุ
เมื่อได้รายชื่อผู้ที่จะฟ้องร้องทางสำนักงานฯ ก็จะเสนอเรื่องมาให้ กกต.ทั้ง 5 คนลงมติ จากนั้นก็จะส่งเรื่องต่อไปยังอัยการ ถ้าอัยการเห็นด้วยก็ส่งฟ้องร้องต่อศาล เพราะเป็นคดีแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายนำเงินกลับเข้าสู่รัฐ
นายสมชัยย้ำว่า จะเดินหน้าทำงานเรื่องนี้ ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น และเรื่องนี้สำนักงาน กกต.เป็นผู้เสนอมา เคยเสนอมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงให้นำกลับไปแก้ไขเพิ่มเติม และตนก็เป็นเพียง 1 ใน 5 เสียงเท่านั้น
ขณะที่ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.บอกว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการเลือกตั้งไม่ได้เป็นวันเดียวกัน เพราะมีการขัดขวางทำให้ 28 เขตเลือกตั้งในภาคใต้ไม่มีผู้สมัคร ส.ส. รวมทั้งการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าใน 21 จังหวัด หน่วยเลือกตั้ง จำนวน 10,300 หน่วย ไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายกว่า 3 พันล้านบาท ก็ต้องมีคนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
สำนักงาน กกต.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมารวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน อาทิ ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งขอข้อมูลจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ว่าแต่ละวันมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง เพื่อหามูลเหตุและมูลละเมิดที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและต้องดำเนินการด้วยความละเอียดและรอบคอบ
นายภุชงค์ยังบอกอีกว่า หากไม่ทำและมีใครไปฟ้อง กกต.ก็จะต้องถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้
ส่วนที่ฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้ กกต.ร่วมรับผิดชอบค่าเสียหายด้วยนั้น นายภุชงค์บอกว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการบอกว่า กกต.ได้ดำเนินการให้การเลือกตั้งเกิดความเสียหาย กรณีนี้ก็คงต้องว่ากันต่อไป หากอนาคตมีใครจะไปดำเนินการฟ้องร้องก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการท้าทาย เพราะถ้ากฎหมายบอกว่า กกต.ต้องรับผิดชอบก็ต้องรับผิดชอบ แต่ขณะนี้ กกต. ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ กำลังแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อหาคนรับผิดชอบก็ต้องดำเนินการไป เชื่อว่าคงต้องใช้เวลาหาข้อเท็จจริงอีกสักระยะหนึ่ง
ขณะที่นายสมชัย และเลขาธิการ กกต.แสดงท่าทีเอาจริงเอาจังที่จะดำเนินการฟ้องเรียกเงินแผ่นดิน 3,000 ล้านบาทกลับคืนมาให้ได้ แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กลับบอกเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ว่า ถ้า กกต.เชื่อว่ามีอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ คสช.ได้ฟื้นอำนาจตรงนี้คืนให้ก็เดินหน้าไป หากไปฟ้องศาล ถ้าศาลบอกไม่มีอำนาจก็จบ อะไรที่ทำต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน และช่วยคำนึงถึงเรื่องความสงบเรียบร้อยด้วย หน้าที่ปรองดองไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลและ คสช. ฝ่ายเดียว ทุกคนต้องช่วยกัน
ส่วนนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ก็ดูเหมือนว่ายังไม่อยากจะฟันธงในเรื่องนี้ โดยได้ตอบผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของคณะทำงานของสำนักงาน กกต. และ กกต.ยังไม่มีมติ จึงไม่สามารถให้รายละเอียดอะไรได้ เพราะไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมา
วันที่ 25 ธ.ค.นายสมชัยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การดำเนินคดีจะเป็น 2 ส่วน คือ 1.เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นสถานที่การรับสมัครที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ทรัพย์สินของสำนักงาน กกต. ค่าใช้จ่ายในการเช่าอาคารสำนักงานในการทำงานของ กกต. หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ กกต.จังหวัด เป็นต้น ตรงนี้ชัดเจนว่าใครทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เสียหาย เพราะมีหลักฐานภาพถ่ายวิดีโอชัดเจน นี่เป็นกลุ่มที่เราต้องฟ้อง
ส่วนที่ 2 เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเลือกตั้งทั่วประเทศที่ กกต.จัดเอง 2,200 ล้านบาท และให้งบประมาณสนับสนุนกับหน่วยงานนอกอย่างไปรษณีย์ไทย และกรมการปกครอง อีกประมาณ 600-700 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาน 3,000 ล้านบาท ตรงนี้ทางสำนักกฎหมาย กกต.ต้องเสนอความเห็นมายัง กกต.ว่าใครต้องรับผิดชอบ เช่น การเปิดรับสมัคร 28 เขตภาคใต้ ที่ไม่สามารถเปิดรับสมัครได้ ใครเป็นคนทำ และกลุ่มที่มีอำนาจตัดสินใจในการเลื่อนการเลือกตั้งได้ แต่ไม่เลื่อน ทั้งที่มีหนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าหากเดินหน้าต่อจะเกิดความเสียหาย และ กกต.เองก็เตือน แต่ทั้งหมดยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการกับกลุ่มใด ต้องรอการเสนอมา
นายสมชัยยอมรับว่า เมื่อฟ้องแล้วแน่นอนว่าต้องเกิดแรงกระเพื่อม รองนายกฯ ก็ออกมาบอกว่าสังคมต้องการความสงบ ต้องช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบ
“ผมตอบกลับได้เลยว่า ถ้ารัฐบาลอยากสงบ รัฐบาลก็ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม ล้างมลทินว่าการกระทำนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิด เหมือนกับไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เราทำคนละบทบาทหน้าที่ การรักษาความสงบรัฐบาลก็มองไกลอยากให้บ้านเมืองสงบ แต่เราเป็นผู้รักษากฎหมายเราก็ต้องทำตามหน้าที่ ซึ่งอาจโดนบูมเมอแรงตีกลับบ้าง”
อย่างไรก็ตาม นายสมชัยยืนยันว่า ถ้ามีมติฟ้องก็จะส่งเรื่องให้อัยการ ซึ่งนายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านการเมือง สนช.ได้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า เมื่อ กกต.ส่งเรื่องให้อัยการ ถึงอย่างไรอัยการก็ต้องสั่งฟ้อง เพราะเป็นคดีแพ่ง
การฟ้องร้องเรียกเงินแผ่นดินที่สูญเสียไปกับการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะนั้น เป็นหลักการที่ถูกต้อง และเป็นเรื่องที่สมควรกระทำ แต่เมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีบอกว่า อยากให้คำนึงถึงความสงบด้วย ขณะที่ตัวประธาน กกต.เองก็เริ่มเสียงอ่อยว่า ไม่อยากให้เป็นประเด็น การฟ้องร้องเรียกเงิน 3,000 ล้านบาทกลับเข้ารัฐ จะเป็นไปได้แค่ไหนนั้น คงต้องลุ้นกันตัวโก่ง