xs
xsm
sm
md
lg

สมบัติอัดบวรศักดิ์ปั้นวาทกรรม ซูเปอร์ประธานาธิบดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- กมธ.ยกร่างฯ ไฟเขียว "สื่อไทย-เทศ-ทูตานุทูต" ร่วมฟังการพิจารณา เริ่ม 12 ม.ค. นี้ แต่ขอเว้นหมวดอ่อนไหว "จรัส"กำหนดนิยาม"เงินแผ่นดิน" ใหม่ ป้องกัน ครม.แอบอ้างใช้เงินนอกงบ พัฒนาประเทศ ด้าน"สมบัติ" อัด "บวรศักดิ์" บิดเบือนสร้างวาทกรรม "ซูเปอร์ประธานาธิบดี" กับการเลือก"นายกฯ-ครม."ทางตรง "เทียนฉาย"อนุมัติงบปฏิรูปประเทศ 260 ล้าน โดยกมธ.ยกร่างฯได้ 50 ล้าน กมธ. 24 คณะได้อื้อ182 ล้านบาท ส่วนอนุกมธ. 77จังหวัด ได้แค่ 23 ล้าน

วานนี้ ( 22 ธ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ ว่า ได้ขยายเวลาให้คณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่มีนางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ เลขากมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน เพื่อให้จัดทำให้สมบูรณ์มากขึ้น จนถึงวันที่ 11 ม.ค. 58 เมื่อเสร็จแล้วก็ให้นำเสนอสู่การพิจารณาของกมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 12 ม.ค. โดยไม่ต้องส่งกลับไปยังคณะอนุกมธ.สารัตถะ ทั้ง 10 คณะพิจารณาอีก ส่วนการพิจารณารายมาตราของกมธ.ยกร่างฯ ก็อาจจะมีการเชิญคณะอนุฯทั้ง 10 ด้าน มาให้ข้อมูล
ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ จะเชิญสื่อมวลชนทั้งของไทย และต่างประเทศเข้ารับฟังการพิจารณายกร่างฯรายมาตรา ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. เป็นต้นไป แต่จะมีการยกเว้นในบางภาคบางหมวด ที่ประเด็นละเอียดอ่อน โดยกมธ.มอบหมายให้ นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกมธ.ยกร่างฯ คนที่ 2 และ นายมีชัย วีระไวทยะ กมธ.ยกร่างฯ ร่วมกันพิจารณากฎเกณฑ์ และจะหารือกับสื่อมวลชนอีกครั้ง นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ก็มีความคิดที่จะเชิญทูตานุทูต เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาด้วยเช่นกัน
นายคำนูณ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังมีการพิจารณาในหมวดของการเงินการคลัง ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมืองที่มี นายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน เบื้องต้นได้มีการกำหนดนิยามคำว่า “เงินแผ่นดิน”ใหม่ ดังนี้
กำหนดให้เงินแผ่นดิน ประกอบด้วย เงินรายได้นำส่งคลังทั้งมวล เงินกู้โดยกระทรวงการคลัง เงินและทรัพย์สินในความครอบครองของรัฐ ทั้งนี้ไม่รวมเงินฝาก เงินโอน เงินและทรัพย์สินซึ่งหน่วยงานของรัฐมีไว้ในครอบครอง แต่รัฐมิได้เป็นเจ้าของโดยตรง ตลอดจนถึงเงิน และทรัพย์สินในความครอบครองของรัฐวิสาหกิจ
สาเหตุของการกำหนดนิยามใหม่นี้ มี 2 ประการ คือ 1. เพื่อป้องกันการตีความ เงินแผ่นดิน ให้มีขอบเขตจำกัดเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมา 2. เพื่อป้องกันมิให้ครม. และส่วนราชการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด ดังเช่นที่เคยทำกันมา

** "สมบัติ"อัด"บวรศักดิ์"บิดเบือน

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ มองว่าการเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยตรง เป็นเหมือนซูเปอร์ประธานาธิบดี มีอำนาจล้นฟ้า ว่า ทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองทำตามหน้าที่ในการนำเสนอข้อคิดเห็นเพื่อการปฏิรูป ซึ่งแนวคิดที่เสนอไปแม้จะเป็นมติของเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่เรื่องดังกล่าวเป็นการเข้าใจผิด องค์ประกอบของเนื้อหาที่คณะกรรมาธิการฯ นำเสนอ ไม่ได้ต้องการมี ซูเปอร์ประธานาธิบดี ซึ่งการพูดในลักษณะนี้ไม่เป็นธรรมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และเป็นข้อกล่าวหาที่อันตรายมาก ตนยืนยันว่า การเลือกตั้งนายกฯโดยตรง มีกระบวนการตรวจสอบที่ดีกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะการแยกอำนาจการบริหารจะชัดเจนกว่าที่ผ่านมา
ในกรณีเรื่องของซุปเปอร์ประธานาธิบดีนั้น ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เพราะตำแหน่งประธานาธิบดี คือการเรียกประมุขของประเทศ แต่ถ้าระบบประธานาธิบดี คือต้องเป็นประมุขของประเทศ และต้องเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วย ซึ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น ข้อเสนอการเลือกนายกฯโดยตรง จึงไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี หรือระบบซุปเปอร์ประธานาธิบดี ตามที่มีนักวิชาการบางคนได้มีการระบุ
นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า กรณีที่นายบวรศักดิ์ ได้ตั้งคำถามถึงจุดเสี่ยงเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ในประเด็นความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่ว่า ครม. ที่มาจากการเลือกตั้งตามข้อเสนอนี้ อาจมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้ระบบแบ่งแยกอำนาจเด็ดขาด ที่จะเสนอกฎหมายไม่ได้ เสนองบประมาณไม่ได้ แต่ระบบที่เสนอเป็นระบบแบ่งแยกอำนาจเทียม เพราะห้าม ครม. เป็น ส.ส. และห้ามยุบสภา แต่ให้เสนอกฎหมายได้ ซึ่งเรื่องนี้ เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะที่ถูกต้องคือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายงบประมาณต่อสภาได้ อีกทั้งกลไกและกระบวนการของระบบแบ่งแยกอำนาจนั้น จะแตกต่างจากกลไกของระบบรัฐสภา จึงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า เมื่อยึดหลักแบ่งแยกอำนาจแล้ว ต้องออกแบบให้การตรวจสอบเพื่อกำจัดฝ่ายบริหารที่ประพฤติมิชอบให้มีประสิทธิภาพด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้ เป็นเพียงข้อเสนอที่พูดถึงหลักการ แต่ยังไม่ได้มีการลงไปในรายละเอียด เพราะเวลาในการจัดทำข้อเสนอมีจำกัด ก็เป็นไปได้ที่ข้อเสนอบางอย่างของคณะกรรมาธิการฯ จะถูกวิจารณ์ได้ ซึ่งตนก็เพียงทำหน้าที่ในการเสนอแนะ ส่วนจะกำหนดอยู่ในร่างหรือไม่อย่างไรนั้น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯ ที่จะพิจารณา

**เลือกนายกฯแบบเดิมซื้อเสียงง่าย

ส่วนที่นายบวรศักดิ์ มีความเห็นว่า ข้อเสนอของทางกรรมาธิการฯ จะทำให้มีความขัดแย้งมากขึ้น และจะการทุ่มซื้อเสียงรุนแรงนั้น นายสมบัติ กล่าวว่าทางออกก็คือ จะมีการเลือกตั้งแยกออกจากการเลือกตั้งส.ส. และมีแนวทางไว้ว่า จะมีการเลือกตั้งในรอบที่สอง หากการเลือกตั้งในครั้งแรก ไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะใครทุ่มซื้อเสียงทั้งสองรอบ โดยทางกมธ. มีแนวคิดว่า การซื้อส.ส.เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีง่ายกว่าการซื้อเสียงโดยตรงทั่วประเทศ
"การพูดว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นระบบ ซุปเปอร์ประธานาธิบดี นั้น เป็นการใช้ข้อมูลที่ผิดมาสร้างวาทกรรม โดยใช้ศัพท์ทางวิชาการให้ดูน่าเชื่อถือเท่านั้น"
ทั้งนี้ นายสมบัติ ยังกล่าวถึงข้อเสนอของกมธ.ปฏิรูปการเมือง ในส่วนขององค์กรอิสระ โดยจะมีการนำประเด็นปัญหาที่มีในอดีตมาแก้ไข เช่น กรณีการจัดการเลือกตั้งที่ไม่สามารถดำเนินการได้ มีข้อพิจารณาคือ ให้อำนาจกกต. ในการกำหนดวันเลือกตั้งได้เองโดยไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา นอกจากนั้นแล้ว ในเรื่องการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวข้อง ที่ก่อนหน้านี้ต้องส่งศาลให้พิจารณา แต่ท้ายสุดศาลพิจารณาแล้วมีมติยกฟ้อง มีข้อเสนอให้พิจารณา อาทิ ศาลเลือกตั้ง เป็นต้น
ส่วนที่ กกต. เตรียมดำเนินการเรียกค่าเสียหาย จากบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ มูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านบาทนั้น นายสมบัติ ขอไม่แสดงความเห็น โดยอ้างว่าตนถือว่า มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สปช. เตรียมดำเนินการเรื่องการสร้างความปรองดอง โดยตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการปรองดองมาพิจารณา นายสมบัติ กล่าวว่า ในกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการเรียนรู้ การปรองดอง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทาง ขณะเดียวกันทราบว่า สปช. และกมธ.ยกร่างฯ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย ส่วนตัวมองว่าในแนวทางการสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง ถือเป็นความพยายามที่ควรทำงานร่วมกัน

**ลูกจ้างยื่น 6 ประเด็นบรรจุไว้ในรธน.

วานนี้ นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อเสนอข้อคิดเห็นการปฏิรูปด้านแรงงาน จากที่ประชุมกรรมการบริหารสภาองค์การฯ จำนวน 6 ประเด็น บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. คำว่า แรงงาน หมายถึง คนทำงานที่มีรายได้ทุกกลุ่มวัยทั้งที่อยู่ในโรงงานสถานประกอบการ หรือ ประกอบอาชีพอยู่ในท้องถิ่น ชุมนุมและในครัวเรือน ได้แก่ เกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้าน รับจ้างทั่วไป กลุ่มหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้างขององค์กรภาครัฐ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่อยู่ในเมือง เช่น มอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น
2.องค์ประกอบของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน คือ การมีความมั่นคงในงานและรายได้ มีความปลอดภัยการอาชีวะอนามัยในการทำงาน และการมีหลักประกันทางสังคม โดยการมีส่วนร่วมจากการสร้างวินัยการออมในระหว่างการมีงาน
3. มีความเท่าเทียม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติต่อแรงงานทั้งในและนอกระบบ และมีสิทธิในการเลือก และตัดสินใจในการทำงานอย่างมีอิสระ โดยปราศจากการบังคับหรือควบคุมนอกเหนือจากที่กฏหมาย หรือระเบียบกติกากำหนด
4. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงการบริการ การได้รับข้อมูลข่าวสาร ทรัพยากรและองค์ความรู้อย่างเหมาะสม และเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ทั้งในระหว่างทำงาน และหลังเกษียณอายุการทำงาน
5. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในระดับบุคคล ได้แก่ การพัฒนาทักษะฝีมือ สนับสนุนการรวมกลุ่ม/องค์กร ทั้งลูกจ้างการทำงานในท้องถิ่น ชุมชน นายจ้าง ภาครัฐ และรวมถึงองค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อการบูรณาการ และสร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนและสานพลังเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานร่วมกัน
6.สร้างความเป็นธรรมทั้งในด้านกระบวนการยุติธรรมแรง โดยกำหนดมาตราฐานค่าจ้างที่เป็นธรรม และการบังคับใช้นโยบาย และออก พ.ร.บ.ต่างๆที่ไม่ให้มีผลกระทบต่อการลิดรอนสิทธิด้านแรงงานและการเข้าถึงบริหารและเงิน หรือไม่ให้มีผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของชุมนุมท้องถิ่นโดยรวม
ด้าน นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ทางกมธ.ยกร่างฯ ก็รับไว้พิจารณา ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว สามารถยื่นต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี พล.ท.เดชา ปุญญบาล เป็นประธาน ได้เช่นเดียวกัน

**อนุมัติงบปฏิรูปประเทศ 260 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ได้เห็นชอบการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานของ สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 256,184,600 บาท โดยแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายของกรรมาธิการวิสามัญ สปช. 24 คณะ จำนวนเงิน 182,400,000 บาท แบ่งเป็นคณะละ 7.6 ล้านบาทโดยคำนวณค่าจ่ายเฉลี่ยเท่ากันทุกคณะ ประกอบด้วย รายการค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ จำนวน 24,000,000 บาท แบ่งเป็นคณะละ 1 ล้านบาท ค่าอาหารเลี้ยงรับรองต่อกรรมาธิการวิสามัญ สปช. จำนวน 86,400,000 บาท แบ่งเป็นคณะละ 3.6 ล้านบาท ค่าจ่ายการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของกรรมาธิการวิสามัญ สปช. จำนวน 24,000,000 บาท แบ่งเป็นคณะละ 1 ล้าน ค่าใช้จ่ายการสัมมนาของคณะกรรมธิการวิสามัญ สปช. 24,000,000 บาท แบ่งเป็นคณะละ 1 ล้าน และค่าใช้จ่ายการเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ภายในประเทศของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สปช. จำนวน 24,000,000 บาท แบ่งเป็นคณะละ 1 ล้านบาท
2. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 คณะ ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้งบประมาณทั้งสิ้น 50,684,600 บาท ปะกอบด้วย ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ จำนวน 975,000 บาท ค่าอาหารเลี้ยงรับรองกรรมาธิการและคณะอนุฯ จำนวน 23,709,600 บาท ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 10,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา 16,000,000 บาท
3. อนุกรรมาธิการวิสามัญประจำ 77 จังหวัด รวม 23,100,000 บาท แบ่งเป็นจังหวัดละ 300,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น