ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้จะตั้งธงเอาไว้ชัดเจนต้องฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว แม้ว่าจะต้องลงมือฟ้องเองก็ตาม แต่ ณ นาทีนี้ ผลประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2557 สุดท้ายก็ยื้อต่อลมหายใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อไป
ลีลาของคณะอัยการสูงสุด ในที่สุดก็สามารถพลิ้วบ่ายเบี่ยงได้อีก ทั้งที่ท่าทีของผู้นำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะแสดงออกอย่างขึงขังถึงเวลาต้องจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เห็นผลเสียที ถึงกับเตรียมจะแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โดยมีหัวหน้า คสช.เป็นประธาน และได้ส่งคณะทำงานไปดูงานเรื่องการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านการทุจริตที่จีนมาแล้ว
การแสดงออกถึงการยึดเอาจีนเป็นโมเดลปราบคอร์รัปชั่น โดยนายกรัฐมนตรีวาดหวังจะบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเดินตามรอยของจีนเหมือนที่นายหวัง ฉี ซาน อดีตรองนายกรัฐมนตรีจีน และเลขาธิการคณะกรรมการตรวจสอบวินัยกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่บอกว่าไม่ว่าจะเป็นเสือหรือแมลงวันต้องตีให้หมด แต่ทว่าขนาดคดีใหญ่อย่างทุจริตจำนำข้าวยังไม่อาจลงมือ การลั่นวาจาปราบทุจริตของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เวลานี้จึงเสมือนสายลมที่พัดผ่านเท่านั้น
ในถ้อยแถลงของคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุดกับ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2557 ระบุถึงการให้สอบพยานเพิ่มกรณีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ตามที่อัยการสูงสุดได้เสนอก่อนหน้านี้ จึงไม่สามารถสรุปการสั่งฟ้องได้ในขณะนี้
ทั้งที่ก่อนหน้าการหารือ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. มั่นใจว่าสำนวนของป.ป.ช.มีความสมบูรณ์พร้อมส่งฟ้องแล้ว และคงไม่รอให้เสียเวลาอีกแล้ว แต่ถึงที่สุดผลการหารือก็ออกมาอย่างที่เห็นคือยื้อกันต่อไป ความตั้งใจของป.ป.ช.ที่จะเร่งรัดฟ้องร้องคดีนี้ให้เป็นผลงานโบว์แดงปลายปี 2557 ก็เป็นหมัน และยังไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานสักเพียงไหนสำนวนคดีจึงจะสมบูรณ์พร้อมส่งฟ้อง
หากกลับมาพิจารณาถึงความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวซึ่งบัดนี้ปิดบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) สรุปผลประชุมครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่19 ธ.ค. 2557 ว่า หลังจากที่มีการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวจากรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา สรุปว่าข้าวที่ คสช. เข้ามาตรวจสอบมีจำนวนทั้งสิ้น 17 ล้านตัน ผ่านมาตรฐานเป็นข้าวเกรดเอ จำนวน 2.35 ล้านตัน ส่วนข้าวเกรดบีที่ไม่ผ่านมาตรฐานต้องปรับปรุงคุณภาพ ประมาณ 13 ล้านตัน ในส่วนของข้าวเกรดซีที่ผิดมาตรฐาน เสื่อมสภาพ มีจำนวน 7 แสนตัน ข้าวที่ผิดชนิดข้าว 6.7 หมื่นตัน รวมทั้งหมดคือ 17 ล้านตันโดยประมาณ
"... ข้าวเกรดซี คือจะต้องแจ้งความและดำเนินคดี ซึ่งได้ส่งเรื่องไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) เพราะถือว่าเป็นการปิดบัญชีครั้งสุดท้ายแล้ว ทั้งนี้ในการประมาณการในโครงการรับจำนำข้าว 4 โครงการ หากขายข้าวทั้งหมดแล้วจะขาดทุนที่ประมาณ6.8 แสนล้านบาท แต่หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ประเมิน ซึ่งในการดำเนินคดีนั้น จะมีทั้งส่วนของคดีแพ่งและอาญา มีการเรียกค่าเสียหาย ซึ่งยังไม่สามารถสรุปตัวเลขได้ จะต้องดูว่ากระทรวงพาณิชย์สามารถขายข้าวได้เท่าไหร่ อีกทั้งเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วต้องมีการตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งต้องมีการชี้แจงและตอบโต้ในเรื่องของข้อมูล โดยเฉพาะตัวเลขเรื่องการชดเชยให้กับชาวนา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อน ให้รายละเอียดว่า คณะอนุกรรมการฯได้ดำเนินการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2547จนถึงวันที่ 22 พ.ค.2557 จำนวน 15 โครงการ พบว่ามีผล ขาดทุนประมาณ 680,000ล้านบาท จากต้นทุนโครงการที่รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้าน ล้านบาท
ผลการปิดบัญชีดังกล่าว คือตัวเลขที่รายงานต่อ นบข.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นั่นเอง โดยในจำนวน 15 โครงการ เป็นการดำเนินโครงการโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระยะเวลา 3 ปี จำนวน 4 โครงการ คิดเป็นผลขาดทุนจำนวน 518,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 11 โครงการ ดำเนินการตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีผลขาดทุนประมาณ 164,000 ล้านบาท
ผลขาดทุนดังกล่าวถือเป็นผลขาดทุนทางบัญชี เนื่องจากยังมีสต๊อกข้าวของโครงการที่ยังเหลืออยู่จำนวน 19.2 ล้านตันข้าวสาร จากจำนวนข้าวที่รับจำนำทั้งหมดประมาณ 85ล้านตันข้าวเปลือก โดยการปิดบัญชีจะมีอีกครั้งตามข้อมูลทางบัญชี ณ สิ้นเดือน ก.ย.2557 ซึ่งจะนำข้อมูลการสำรวจสต๊อกข้าวชุด ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาร่วมพิจารณาด้วยว่ามีสต๊อกเหลือจริงเท่าไหร่ และเสื่อมสภาพไปมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจะนำมาคำนวณผลทางบัญชี หากเสื่อมสภาพมากกว่าที่คำนวณสต๊อกข้าวที่หายไป รวมถึงราคาที่ระบายข้าวออกไปหากขายต่ำกว่าราคาที่ใช้คำนวณสต๊อก ผลขาดทุนอาจจะมากกว่านี้
สำหรับหลักการคำนวณผลการดำเนินโครงการ คณะอนุกรรมการฯใช้หลักการตามวิชาชีพการบัญชีทั้งหมด โดยนำสินค้าคงเหลือมาหักออกจากสินค้าต้นงวดทั้งหมด และนำมาคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายกับรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายสินค้า โดยสินค้าคงเหลือมีการหักค่าเสื่อมราคาในแต่ละปี โดยปีแรกจะหักค่าเสื่อมในอัตรา 10% ปีที่ 2 จำนวน20% ปีที่ 3 จำนวน 30% และปีที่ 4 จำนวน 40% ส่วนระยะเวลาที่เหลือของสต๊อกข้าวนั้น จะหักค่าเสื่อมในอัตราสูงสุดที่ 40% เท่านั้น ทั้งนี้อัตราค่าเสื่อมราคาสินค้าข้าวในสต๊อกที่เหลือทั้งหมดมีอยู่จำนวน 33,000 ล้านบาท จากต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
“ผลขาดทุนจำนวนมากนี้ต้องยอมรับว่าการดำเนินโครงการมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ไม่รัดกุม ทำให้เกิดช่องทางการรั่วไหลหรือไม่โปร่งใสได้” นั่นเป็นข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯ ปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว
แล้วหลังจากนี้จะต้องมีกระบวนการชำระบัญชีผ่านระบบงบประมาณในแต่ละปีและออกพันธบัตรเพื่อยืดเวลาชำระหนี้ โดยกระทรวงการคลังขออนุมัติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2557 ปรับโครงสร้างหนี้ของเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งการต่ออายุเงินกู้ออกไปและบางส่วนมีการใช้หนี้ให้เร็วขึ้น
สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ส่วนหนึ่งจะมีการแปลงหนี้เงินกู้เป็นพันธบัตรออมทรัพย์ 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงการคลัง ออกเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน 100,000 ล้านบาท โดยอีก 50,000 ล้านบาท เป็นการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2558
ทั้งนี้ ปัจจุบันหนี้ในโครงการจำนำข้าวมีอยู่ประมาณ 667,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ที่คลังค้ำประกันให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 467,000 ล้านบาท และสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. อีก 200,000 ล้านบาท โดยมีต้นทุนเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 3%ต่อปี ที่ผ่านมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท
ภาระการขาดทุน ดอกเบี้ยจากหนี้สินที่ต้องชดใช้ไม่มีวันหยุดจนกว่าการชำระหนี้จะเสร็จสิ้น ขณะที่คดีความที่จะเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตกลับยืดเยื้อไม่รู้วันสิ้นสุด
แล้วรัฐบาล คสช. จะเอาผลงานไหนมาโชว์ว่าเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ??