ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ประชาชนที่พำนักพักอาศัยอยู่ในซอยร่วมฤดีเฮลั่น เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น สั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ดำเนินการรื้อถอนหรือแก้ไขอาคาร “โรงแรมดิเอทัส” ซอยร่วมฤดี ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำตัดสิน ทั้งนี้ เนื่องจากได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่มีเขตความกว้างติดถนนสาธารณะไม่ถึง 10 เมตร
นี่คือชัยชนะของประชาชนอย่างแท้จริง
และแน่นอนว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐละเลยต่อหน้าที่ทางกฎหมาย ปล่อยให้บริษัทลาภประทาน จำกัด และบริษัททับทิมทร จำกัด ดำเนินก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่ากำหนด โดยโรงแรมดิเอทัส บางกอก มีความสูง 24 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 28,000 ตารางเมตร และเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ดิ เอทัส เรสซิเดนซ์ สูง 18ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 29,000 ตารางเมตร
โครงการมูลค่า 3,000 ล้านบาทจะต้องถูกรื้อถอนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และหากไม่ดำเนินการภายใน 60 วัน สำนักงานเขตสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการจับกุมบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ขณะที่เจ้าของโรงแรมดิเอทัสซึ่งก็คือบริษัทลาภประทาน และบริษัททับทิมทร จะต้องออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้รับมอบอำนาจ จากประชาชนในซอยร่วมฤดี 24 คน ดำเนินการฟ้องร้องเขตปทุมวัน และผู้ว่าฯ กทม. ได้เปิดเผยกับASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ถึงกรณีเบื้องหลังการเซ็นอนุมัติให้สร้างอาคารสูงในซอยที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรว่า พบข้อพิรุธหลายประการ โดยก่อนหน้านี้ ทางเขตปทุมวันเคยตอบกลับบริษัทแสนสิริ ในคราวที่ยื่นเรื่องสอบถามความกว้างที่ดิน เพื่อที่จะทำการสร้างคอนโดฯ ขาย ตอนนั้นทางเขตปทุมวันตอบกลับไปว่า ความกว้างถนนในซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตร ซึ่งไม่ตรงกับเงื่อนไขที่จะก่อสร้างได้
แต่ต่อมา ทางบริษัทลาภประทาน จำกัด กับบริษัททับทิมทร จำกัด ถามเขตเดียวกัน ถนนเดียวกัน ช่วงเดียวกัน สำนักงานเขตปทุมวันกลับตอบว่า ถนนซอยร่วมฤดีมีความกว้าง 10 เมตรตลอดแนว
คำถามก็คือ ทำไมสำนักงานเขตปทุมวันถึงให้ข้อมูลไม่เหมือนกัน
“ผมคิดว่ามันชอบกลดีนะ ผมแปลกใจว่า ประกาศเดิมเขาก็ไปวัดกันเรียบร้อย สำรวจกันมาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งมันไม่มีใครจะไปคิดสร้างคอนโดมิเนียมขายในตอนนั้น เขาก็วัดกันไปตามจริง พอมาปี 47 จะมาสำรวจอะไรกันอีก”นายเฉลิมพงษ์ให้ข้อมูล
ทั้งนี้ ที่มาที่ไปของเอกสารที่ทางเขตปทุมวันใช้ตอบกลับบริษัทแสนสิริ มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยทางเขตปทุมวันใช้ฉบับที่พล.ร.อ.เทียม มักรานนท์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในขณะนั้น เป็นคนลงชื่อประกาศใช้ และประกาศฉบับนั้นก็ยังมีผลมาถึงปัจจุบัน โดยเมื่อปี 2527คณะปฏิวัติได้สั่งให้ทางกรุงเทพมหานคร ดำเนินการสำรวจถนน ตรอก ซอย ในบริเวณกรุงเทพมหานคร เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาทางสาธารณะประโยชน์ ซึ่งในปีนั้นเอง ซอยร่วมฤดี ได้สำรวจโดยเขตปทุมวัน และพบว่ามีความกว้างไม่ถึง 10 เมตร
โดยเอกสารดังกล่าว ที่ทางเขตปทุมวันเคยสำรวจซอยรวมฤดีว่ามีความกว้างของถนนไม่ถึง 10 เมตร เป็นฉบับเดียวกันกับที่ทางเขตปทุมวันใช้ตอบบริษัทแสนสิริ ต่อมาเมื่อปลายปี 47ทางเขตปทุมวันได้ทำทะเบียนถนน ตรอก ซอยในเขตปทุมวันขึ้นใหม่ ซึ่งคราวนี้ซอยร่วมฤดีมีความกว้าง 10 เมตรตลอดแนว ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขตปทุมวันทราบดีว่าถนนในซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตร โดยทำเอกสารทำขึ้นมาปลายปี 47 ต่อมาพอต้นปี 48 บริษัทลาภประทาน กับบริษัททับทิมทร ได้ยื่นเรื่องเข้ามาสอบถามทางเขตปทุมวันทันที และดำเนินการก่อสร้างจนมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น
นั่นหมายถึงว่า ก่อนหน้านี้เขตปทุมวันทราบดีว่า ถนนในซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรมาตั้งแต่ต้นแล้ว ใช่หรือไม่?
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้ใช้หลักฐานความกว้างของถนนที่กรมที่ดินได้ทำการรังวัด ขึ้นมาพิจารณาคดีจนทำให้ประชาชนในซอยร่วมฤดี 24 คนชนะคดีก็คือ เมื่อรังวัดที่ดินโดยกรมที่ดิน ซึ่งนำโฉนด สองข้างทางมาปูทั้งหมดได้จำนวน 54 โฉนด พอวัดออกมาแล้ว กรมที่ดินได้ระบุว่า ในซอยร่วมฤดี มีจุดที่ไม่ถึง 10 เมตรอย่างน้อย 8 จุดด้วยกัน โดยผลจากการรังวัดได้ตัวเลขออกมาคือ 9.146 เมตร 9.207 เมตร 9.949 เมตร 9.434. เมตร 9.492 เมตร 9.150 เมตร 9.658 เมตร และ 9.283 เมตร
ทั้งนี้ จากการรังวัดของกรมที่ดิน จึงพบว่าการก่อสร้างโรงแรมดิเอทัส ในซอยร่วมฤดีมีทางกว้างน้อยกว่า 10 เมตร เป็นการขัดต่อพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่การก่อสร้างอาคาร ต้องมีพื้นที่ ตั้งแต่ 10,000ตารางเมตรขึ้นไป และต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่กว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร
การที่เขตปทุมวันได้สำรวจทางขึ้นใหม่ และมีการตอบบริษัทแสนสิริว่าไม่ถึง 10 เมตร ตอนแรก แต่กลับตอบบริษัทลาภประทาน กับบริษัททับทิมทร ว่า 10 เมตรตลอดแนว ภายหลังจากรังวัดที่ดินขึ้นมาใหม่ ส่อเอื้อประโยชน์ให้ 2 บริษัทนี้หรือไม่ และจากการที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาให้สั่งรื้อถอน ทางเขตปทุมวัน และผู้ว่าฯกทม. จะว่าอย่างไร เพราะเป็นผู้ยืนยันรังวัดที่ดิน ทำให้เกิดเอกสาร 10 เมตรตลอดแนวขึ้นมาใหม่
ด้านนายกฤษฎา กิตติพันธุ์เลิศ ประชาชนในซอยร่วมฤดี 1 ใน 24 คนที่ร่วมฟ้องร้อง ได้ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า ให้เรื่องจบแค่นี้ ต่อไปให้เป็นหน้าที่ของเขตปทุมวัน กับ กทม.ว่าจะทำตามหน้าที่คำสั่งของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหรือไม่
“ เราก็ไม่ได้ดีใจหรอก เพราะว่าเขาก็เสียหาย ประการแรก ที่ทางเราฟ้อง ไม่ได้ฟ้องดิเอทัสหรือเจ้าของตึกสูง เราฟ้องกทม. กับทางเขตว่าคุณออกใบอนุญาตได้ยังไง ใบรับรองนี้ถูกต้องทางกฏหมายหรือไม่ ก่อนหน้านี้เราก็เคยบอกกับเจ้าของดิเอทัสตั้งแต่เริ่มสร้างใหม่ๆแล้ว ว่าถนนไม่ถึง 10 เมตรนะ แต่เจ้าของอาคารก็ต้องฟังทางเขตใช่มั้ยครับ ทางเขตก็ไม่ได้ฟังเรา เจ้าของดิเอทัสเขาก็ได้รับใบยืนยันมาทางเขต ที่เขียนมาให้กับเขาว่า ซอยนี้ความกว้าง 10 เมตร เขาจึงสร้างตึกนี้ขึ้นมา เนื่องจากเขาก็อ้างว่าได้รับการยืนยันจากทางเขต เขาเลยสร้างตึกสูง
“ทีนี้เมื่อมีคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุดออกมา จากนี้ไปมันก็เป็นเรื่องของทางเขตและกทม.ว่าจะจัดการอย่างไร เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ต้องไปไล่บี้ที่เขตปทุมวันและทางกทม.ว่าใครเป็นคนเซ็น และเซ็นไปโดยมีอำนาจอย่างไร ทำไมถึงออกมาเป็นแบบนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งกทม.ด้วย ทั้งเขตปทุมวันด้วย ซึ่งเสียหายค่อนข้างเยอะ จะให้ดาวน์ตึกลงมาเหลือ 7-8 ชั้น คงเป็นไปไม่ได้”
“และเขาก็มีแนวโน้มว่าจะติดต่อเข้ามาขอให้เราร่นระยะรั้วเข้าไปได้ไหม โดยให้แก้รั้วถอยร่นเข้าไป ซึ่งตรงนี้ขอเรียนว่ากรณีที่บ้านมีปัญหา เราก็ไม่รู้จะถอยร่นเข้าไปยังไง เพราะถ้าเราถอยเข้าไปแล้ว ระยะห่างระหว่างตัวตึกกับรั้วถนนของเรามันก็ติด มันก็จะเป็นลูกโซ่ไป เราก็ต้องมารับผิดชอบ วันดีคืนดี ถ้ามันผุพัง ระยะห่างจากรั้วถนนไม่ได้ตามนี้ มันก็จะเป็นปัญหาออกมาน่าปวดหัว เราก็คงทำตามนั้นไม่ได้ เราก็ขอจบแค่นี้”
อย่างไรก็ตาม การที่คอนโดฯ ดิเอทัสดำเนินการสร้างขึ้นมา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่โซนเศรษฐกิจ ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522 ขณะที่พื้นที่ดังกล่าวมีอาคารสูงหลายตึกแต่สามารถดำเนินการสร้างได้เพราะเป็นโฉนดผืนใหญ่ อาทิ โนโวเทล ออซีซั่น พลาซ่าแอทธินี โดยช่วงต้นซอยฝั่งสุขุมวิทจะเห็นว่ามีตึกที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น 2 อาคาร คือ โรงแรมโนโวเทลและคอนโดฯ ดิแอทธินี เรสซิเดนซ์ ที่ก่อสร้างอยู่ใน ซ.ร่วมฤดี แต่เนื่องจากแปลงที่ดินด้านหนึ่งที่ใช้เป็นทางเข้า-ออกอยู่ติดถนนสาธารณะที่มีความกว้างเกิน 10 เมตร จึงดำเนินก่อสร้างได้ตามกฎหมายที่บังคับไว้ถูกต้อง
คอนโดฯดิเอทัสจึงเป็นเพียงตึกเดียวในซอยร่วมฤดีที่ท้าทายสร้างขึ้นมาอย่างผิดกฎหมาย
และเอกสาร 10 เมตรตลอดแนวที่ทางเขตปทุมวันใช้อนุมัติ คือสิ่งที่ค้างคาใจประชาชนถึงความไม่ชอบมาพากลที่ต้องตอบสังคมให้กระจ่าง รวดเร็วที่สุด