xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.พิพากษายืน สั่งกทม.รื้อรร.ดิเอทัส หลังชาวบ้านสู้มา6ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปค.สูงสุด พิพากษายืนตามศาลปค.ชั้นต้น สั่งกทม.รื้อถอนอาคารสูง ซอยร่วมฤดี ภายใน 60 วัน หลังยื้อนานร่วม 6 ปี เหตุขัดต่อ กม.ควบคุมอาคาร ที่กำหนดห้ามสร้างอาคารสูงบนถนนที่มีขนาดความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ขณะเดียวกัน ชี้แม้การยื่นฟ้องคดีจะเกินระยะเวลากม.กำหนด แต่ถือว่ามีผลต่อประโยชน์ส่วนรวม ศาลจึงมีอำนาจรับคดีไว้พิจารณา ด้านทนายเผยเป็นบทเรียนสำคัญของกทม. ในการพิจารณาอนุมัติในอนาคต

วานนี้ (2ธ.ค.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น สั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รื้อถอน หรือแก้ไขอาคารโรงแรมดิเอทัส ซอยร่วมฤดี ที่มีการก่อสร้างสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากถนนซอยร่วมฤดี มีขนาดความไม่กว้างไม่ถึง 10 เมตร โดยต้องดำเนินการภายใน 60 วัน หลังศาลมีคำตัดสิน

ทั้งนี้คดีดังกล่าว น.พ.สงคราม ทรัพย์เจริญ กับพวกรวม 24 คน ซึ่งเป็นผู้พักอาศัยอยู่ในซอยดังกล่าว ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชกากรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 กรณี เจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ปล่อยให้ บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ผู้ประกอบการโรงแรมดิเอทัส ดำเนินก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 51 โดยศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 55 ให้มีการรื้อถอนอาคารฯ แต่ต่อมาทางกรุงเทพมหานครได้ยื่นอุทธรณ์ และ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เมื่อวานนี้ รวมระยะเวลาต่อสู้ของชาวบ้านนานกว่า 6 ปี

ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาดังกล่าว ระบุว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า ผู้ฟ้องยื่นคำฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา คือมายื่นต่อศาลในวันที่ 17 ก.ย. 51 ทั้งที่ข้อเท็จจริงต้องยื่นอย่างช้าที่สุด ในวันที่ 11 ธ.ค. 50 ซึ่งถือเป็นระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามที่มาตรา 49 ของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 กำหนดก็ตาม แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังจาก น.พ.สงคราม มีหนังสือร้องเรียนหลายฉบับ ไปยัง ผอ.เขตปทุมวัน ให้ดำเนินการกับอาคารที่พิพาท แต่ผอ.เขตปทุมวัน ก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่กฎหมายให้อำนาจ ประกอบกับน.พ.สงคราม ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการ กับอาคารพิพาทที่มีการก่อสร้างเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่ ติดถนนสาธารณะ ที่มีเขตทางกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ยาวต่อเนื่องตลอดแนว มีผลต่อความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย ตลอดจนความสะดวกแก่การจราจร ซึ่งผลจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จะทำให้ประชาชนส่วนรวมได้รับประโยชน์จากการดำเนินการหรือการกระทำนั้น คดีจึงเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ที่แม้จะยื่นคำฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาแล้ว ศาลก็มีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้

ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัท ลาภประทาน จำกัด ได้ยื่นแจ้งความประสงค์ต่อสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างอาคารสูง 18 ชั้น จำนวนหนึ่งหลัง เพื่อเป็นอาคารพาณิชย์-ที่อยู่อาศัย รวม 78 ห้อง พื้นที่ 29,502 ตารางเมตร ส่วนบริษัท ทับทิมทร จำกัด ได้ยื่นแจ้งความประสงค์ก่อสร้างอาคารสูง 24 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นโรงแรมขนาด 76 ห้อง พื้นที่ 28,987 ตารางเมตร แต่เมื่อเขตทางของถนนซอยร่วมฤดี มิได้มีเขตทางกว้าง 10.00 เมตร ตลอดแนว คือมีความกว้างน้อยกว่า 10.00 เมตร ถึง 8 จุด การก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารของ สองบริษัทฯ เจ้าของอาคารที่เป็นผู้ร้องสอด ไม่ชอบด้วยข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ได้ใช้อำนาจตาม มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการกับทั้ง 2 บริษัทฯ เจ้าของอาคารที่เป็นผู้ร้องสอด ซึ่งการก่อสร้างอาคาร ขัดต่อข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงละเลยต่อหน้าที่ ตามที่พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ

พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ หรือ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้อำนาจตาม มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการกับผู้ร้องสอดทั้งสองแล้วแต่กรณี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

ทั้งนี้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีนี้เป็นบทเรียนให้กับกรุงเทพมหานคร ที่้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนจะอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารใหญ่ในพื้นที่ซอยแคบ โดยขั้นตอนต่อจากนี้ ทางกทม. และสำนักงานเขตปทุมวัน จะต้องใช้อำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่จะสั่งให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้น ทั้งหมด หรือบางส่วนได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่ง สำนักงานเขต มีอำนาจขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุม หรือกักขังบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งได้ และดำเนินการให้จัดให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าวได้เอง โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคาร คำนวณอาคาร ควบคุมอาคาร จะต้องร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น