xs
xsm
sm
md
lg

ยันตึกดิเอทัสต้องทุบ! กทม.ล้อมคอกสั่ง 50 เขต เช็คแนวเขตที่สาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความคืบหน้ากรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522 สั่งให้รื้อถอนอาคารโรงแรมดิ เอทัส บางกอก ซอยร่วมฤดี เนื่องจากมีประชาชนผู้อยู่อาศัยยื่นฟ้องว่าได้ก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกินกว่ากฎหมายกำหนดเพราะขนาดซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร โดยต้องดำเนินการภายใน 60 วัน

นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.)กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตและสำนักการโยธา(สนย.) ที่เป็นหน่วยงานรับเรื่องการอนุญาตก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เข้มงวดการพิจารณาการสร้างตึกสูงซึ่งในการขออนุญาตก่อสร้างที่ต้องใช้ข้อมูลการรังวัดที่ดินเขตทางสาธารณะเพื่อใช้ประกอบการขออนุญาตนั้น ต่อไปนี้จะดูเพียงทะเบียนควบคุมที่สาธารณะเท่านั้นไม่ได้ จะต้องออกรังวัดขนาดของถนนด้วยทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก

อย่างไรก็ตามตามทะเบียนควบคุมที่สาธารณะที่เขตมีอยู่ จะต้องตรวจสอบให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันตรงกันกับถนนพื้นที่จริง หากตรวจพบว่ามีการรุกล้ำเข้ามาในเขตทางสาธารณะ ทำให้ถนนแคบลงหรือไม่ตรงกับในทะเบียน ก็ต้องให้อาคารหรือบ้านเรือนที่อาจจะต่อเติมปักเสารุกล้ำทำการแก้ไขปรับให้ถูกต้อง ยอมรับว่าที่ผ่านมาเวลามีการสร้างรั้วล้ำเข้ามาบางครั้ง 1 – 2 เซนติเมตร เขตก็ไม่ได้จัดการเข้มงวดมีอะลุ่มอะล่วยกันไป ซึ่งต่อไปนี้จะต้องไปดูปัญหาเหล่านี้และทำให้ถูกกฎหมาย

อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนั้นในส่วนเขตปทุมวันที่ไปออกหนังสือรับรอง ทั้งที่ซอยกว้างไม่ถึง อาจจะเป็นความบกพร่องในส่วนของตัวบุคคลด้วย ไม่ทำการรังวัดให้เกิดความชัดเจน เพราะที่ผ่านมาถนนที่ใช้งานมานาน การวัดอาจจะคลาดเคลื่อน

ด้านนายกฤษฎา กลันทานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กำกับดูแลสำนักงานกฎหมายและคดีกทม. กล่าวว่าจากการหารือกับสำนักงานกฎหมายและคดีเพื่อดูข้อมูลในการอนุญาตก่อสร้างที่ผ่านมา พบว่าในการออกใบอนุญาตก่อสร้างนั้นเจ้าหน้าที่เขตปทุมวันได้ยืนยันจากหลักฐานตามทะเบียนที่ดินสาธารณะเดิม ซึ่งระบุว่าขนาดซอยกว้างถึง 10 เมตร จึงออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ โดยไม่ได้มีการรังวัดใหม่แต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อมีการฟ้องร้อง เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการรังวัดอีกครั้งหนึ่ง โดยพบว่าขนาดซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตรซึ่งคาดว่าอาจจะเกิดจากการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติมภายหลัง ทำให้บางส่วนของซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตรเหมือนเดิมจึงเกิดปัญหา

ทั้งนี้เมื่อกทม.ออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารตามคำสั่งศาล เจ้าของอาคารจะต้องรื้อถอนทันที ซึ่งเอกชนเจ้าของอาคารมีสิทธิ์ฟ้องร้องกทม.เรียกค่าเสียหายในคดีทางแพ่ง ตามค่ารื้อถอนหรือการสูญเสียผลประโยชน์ ในฐานะที่กทม.เป็นผู้ออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ ซึ่งหากกทม.ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย และมีความผิดจริง ก็จะต้องจ่ายเงินให้กับเอกชน ซึ่งกทม.ก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบเพื่อหาผู้รับผิดชอบตรงนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังวลว่าอาจจะมีอาคารในซอยร่วมฤดีอีกหลายแห่ง ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากในซอยดังกล่าวตลอดแนวมีหลายจุดที่ความกว้างของซอยไม่ถึง 10 เมตร จึงได้มอบหมายให้สำนักงานกฎหมายฯและสำนักงานเขตปทุมวันสำรวจพื้นที่ว่ามีอาคารเข้าข่ายหรือไม่และจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการกำชับสำนักงานเขตมาโดยตลอดให้เข้มงวดในการรังวัดก่อนมีการอนุญาต แต่หลายเขตมักใช้ข้อมูลจากหลักฐานตามทะเบียนที่ดินสาธารณะมาประกอบการอนุญาตซึ่งขนาดพื้นที่อาจไม่มีการสำรวจข้อมูลล่าสุด อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากทม.เคยมีการสั่งรื้อถอนอาคารแต่ขนาดไม่ใหญ่ สำหรับกรณีนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่กทม.ต้องสั่งรื้อถอนอาคารขนาดใหญ่

ด้านนายธนู ชัยหุ่นนิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายและคดีกรุงเทพมหานคร(กทม.)ให้ความเห็นว่า กรณีนี้ตามกระบวนการทางกฎหมายนั้นเมื่อศาลมีคำสั่งแล้วถือว่าเป็นคำสั่งถึงที่สุดแล้ว กทม.จะต้องมีการใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2535 ดำเนินการภายใน 60 วัน ซึ่งกรณีนี้จะต้องมีคำสั่งรื้ออาคารในส่วนที่ผิดกฎหมาย แต่ในส่วนของเจ้าของอาคารเมื่อได้รับคำสั่งให้รื้ออาคารก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งไปยังคณะกรรมการอุทธรณ์ของกทม.เพื่อขอแก้ไขคำสั่งทั้งนี้หากคณะกรรมการอุทธรณ์มีความเห็นให้ยกคำอุทธรณ์เจ้าของอาคารต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาซึ่งในส่วนตัวแล้วตนไม่ทราบว่าเจ้าของอาคารจะมีแนวทางอย่างไร

ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นทนายความของประชาชนในซอยร่วมฤดีผู้ฟ้องคดีกล่าวว่าประชาชนผู้ฟ้องคดีจะติดตามในการที่กทม.และสำนักงานเขตปทุมวัน จะออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายคาดว่ากทม.จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการออกคำสั่ง แต่ทางเจ้าของอาคารอาจจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์

ทั้งนี้แม้เจ้าของอาคารยืนยันว่าก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าการก่อสร้างอาคารไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากกทม.ออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารแล้ว แต่เจ้าของไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด จะมีความผิดฐานขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งเจ้าพนักงานสามารถรื้อถอนอาคารและเรียกค่ารื้อถอนจากเจ้าของอาคารหากไม่ดำเนินการตามคำสั่งได้ด้วย จึงต้องพิจารณาเพื่อให้เป็นประโยชน์ที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น