ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่จะมองข้ามไปได้เลย สำหรับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก “ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)” เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ที่ไม่ธรรมดาก็เพราะนอกจากจะเป็นการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นกรณีพิเศษแล้ว ยังน่าสนใจในเรื่องของ “เหตุผล” และ “ชั้น” ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ พล.อ.ไพบูลย์ได้รับพระราชทานอีกด้วย
ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 26 ซึ่งเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษ ได้เขียนเอาไว้ว่า...
“ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่ 21 พฤศจิกายน 2557 เพื่อบำเหน็จตอบแทนความดีความชอบในการปฏิบัติหน้าที่”
เหตุผลก็คือ เพื่อบำเหน็จตอบแทนความดีความชอบในการปฏิบัติหน้าที่
และต้องถือว่าเป็นข้าราชการทหารระดับสูงคนเดียวที่ได้รับพระราชทาน ณ ห้วงเวลานี้
ส่วนเรื่องลำดับชั้นของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ก็ต้องบอกว่า น่าสนใจไม่น้อย
ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระราชทานให้แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือข้าราชการที่ทำความดีความชอบมี 2 ตระกูลด้วยกันคือ ตระกูลช้างเผือกและตระกูลมงกุฎไทย โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ พล.อ.ไพบูลย์ได้รับพระราชทานคือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกนั้น ถือเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของข้าราชการไทยแล้ว
สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2404 แต่มิได้กำหนดให้มีสายสะพาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2412 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดชั้นและสายสะพายประกอบ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้มีทั้งหมด 8 ชั้น
ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก
ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก
ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก
ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
ชั้นที่ 6 เหรียญทองช้างเผือก
ชั้นที่ 7 เหรียญเงินช้างเผือก
ทั้งนี้ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ถือเป็นชั้นสูงสุดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในตระกูลนี้ โดย 1 สำรับ ประกอบด้วย
1.ดวงตรา ด้านหน้าเป็นรูปช้างไอราพตลงยาสีขาวอยู่บนพื้นทองในดอกบัวบาน กลีบลงยาสีชมพูสลับแดง เกสรเงิน รอบนอกมีกระจังทองลงยาสีเขียวสี่ทิศ มีรัศมีเปลวเงินตามระหว่าง ด้านหลังเปลี่ยนรูปช้างเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ม.ป.ร. ลงยาสีแดง เบื้องบนมีอุณาโลมเงินและพระมหามงกุฎทองมีรัศมี ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร สีแดงริมเขียว มีริ้วเหลืองและน้ำเงินขนาดเล็กควบคั่นทั้ง 2 ข้าง สำหรับสะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา
2.ดารา ด้านหน้ามีลักษณะเช่นเดียวกับดวงตราแต่ขนาดย่อมกว่า ซ้อนอยู่บนรัศมีสีเงิน จำหลักเป็นเพชรสร่ง 4 แฉก รัศมีทอง 4 แฉก ประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย
ดวงตรา ดารา และสายสะพายสำหรับพระราชทานสตรีนั้นจะมีขนาดย่อมกว่าบุรุษ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องหมายประดับแพรแถบย่อและดุมเสื้อ มีลักษณะเป็นรูปช้างไอราพตลงยาสีขาว
ชั้นสายสะพาย หรือ ข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ สามารถขอรับพระราชทานโกศประดับเมื่อสิ้นชีวิต
กล่าวสำหรับ บิ๊กต๊อก-พล.อ.ไพบูลย์ คนตัวเล็กใจใหญ่นั้น การได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ต้องถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิตการรับราชการทหาร
ทั้งนี้ ก่อนที่จะก้าวสู่ตำแหน่งแห่งหน ณ ปัจจุบันคือ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนั้น ต้องไม่ลืมว่า เขาเคยยืนอยู่ในไลน์ 5 เสือ ทบ.ในเก้าอี้ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และถือเป็นแคนดิเตตช่วงชิงเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเคียงคู่กับ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน
แต่แล้วด้วยเหตุและปัจจัยบางประการ ทำให้แทนที่ พล.อ.ไพบูลย์จะยังคงอยู่ในไลน์ 5 เสือ ทบ.และขยับขึ้นไปเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก กลับถูกเตะโด่งออกนอกไลน์แห่งอำนาจ พ้นจากรั้วกองทัพบกที่เติบโตและทำงานมาตลอดชีวิต ข้ามไปนั่งตบยุงเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นบำเหน็จรางวัลเพื่อตอบแทนคุณความดีในบั้นปลายของชีวิตข้าราชการอย่างไม่น่าเชื่อ
และเหตุผลหนึ่งเดียวที่ทำให้เส้นทางชีวิตของ พล.อ.ไพบูลย์ต้องเป็นเช่นนั้นก็คือ ความหวาดระแวง
นี่คือสิ่งที่ พล.อ.ไพบูลย์ได้รับเป็นบำเหน็จรางวัลในฐานะจักรกลคนสำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร
ที่สำคัญคือ เมื่อพ้นจากไลน์อำนาจในกองทัพบกและมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้ว ก็เป็นที่รับรู้กันว่า พล.อ.ไพบูลย์มิได้มีอิสระในการทำงานเท่าที่ควร เพราะผู้มีอำนาจสายแข็งที่ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ได้ส่งคนของตัวเองมารั้งเก้าอี้สำคัญในกระทรวงยุติธรรม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ที่ถูกย้ายมารักษาการเก้าอี้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ก่อนที่จะถูกผลักดันให้ก้าวขึ้นไปนั่งตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมในช่วงสุดท้ายของชีวิตราชการก็เป็นที่รับรู้กันว่า พล.ต.อ.ชัชวาลย์นั้นเป็นคนของใคร
แถมเมื่อเก้าอี้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าง คนที่คุณก็รู้ว่าใครก็ยังส่งรายชื่อคนของตัวเองเข้ามาแข่งขัน พร้อมมีตั๋วกำกับเอาไว้อีกต่างหากว่าให้พิจารณาเป็นพิเศษ แต่สุดท้าย พล.อ.ไพบูลย์ก็ตัดสินใจหักดิบ ทำให้เกมสยายปีกอำนาจดังกล่าวต้องผิดหวังไป
วันนี้ แม้พล.อ.ไพบูลย์จะต้องผิดหวัง แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก “ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)” เป็นกรณีพิเศษ นั้น จะทำให้นายทหารร่างเล็กใจใหญ่คนนี้ปลื้มปีติมากที่สุดในชีวิต