ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -โดยสถานะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวที่เข้ามาบริหารประเทศเพื่อประคองสถานการณ์ช่วงรอยต่อเพื่อรอให้การปฏิรูปใหญ่ในบ้านเมืองแล้วเสร็จเท่านั้น แต่เอาไปเอามา รัฐบาลนี้กลับผุดโครงการขนาดใหญ่ที่จะผูกพันไปถึงรัฐบาลในอนาคตข้างหน้าหลายโครงการ
โครงการใหญ่ๆ นอกเหนือจาก การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยไม่ต้องรอสภาปฏิรูปแห่งชาติ เดินหน้าแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมระยะ 10 ปีวงเงินรวม 2 ล้านล้านแล้ว ก็ยังมีการตั้ง “กระทรวงดิจิทัล” ที่จะเปลี่ยนชื่อไปจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
เรื่องการตั้งกระทรวงดิจิทัลนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันแรก ที่เข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ว่า จะใช้เวลา 1 ปี ผลักดันเรื่อง Digital Economy (ดิจิทัลอีโคโนมี) โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงการใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เพื่อใช้ดิจิทัลเป็นพื้นฐานให้เศรษฐกิจภาคอื่นๆ ขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคการเงิน เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้
หลังจากนั้น วันที่ 18 ก.ย.นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ก็ออกมารับลูก ว่า แผนการดำเนินการของกระทรวงไอซีทีจะปรับโครงสร้างกระทรวงให้ใหญ่มากขึ้นและเปลี่ยนเป็นกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อรองรับนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีของรัฐบาล โดยจะดึงบางหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เข้ามาอยู่กับในกระทรวงนี้ รวมไปถึงบางหน่วยงานที่จะเป็นปัจจัยในการพัฒนาสู่นโยบายนี้ได้ และการดำเนินงานตามนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล โดยใช้รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ถัดมา วันที่ 19 ก.ย.ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า จะใช้เวลาดำเนินการ 2 เดือน ส่วนรูปแบบจะเป็นการประสานนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านดิจิทัลให้สอดคล้องกัน
ต่อมาได้มีการเปิดเผยพิมพ์เขียวกระทรวงดิจิทัล ตามนโยบาย Digital Economy โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ
1.ต้องนำดิจิทัลช่วยอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงไอซีทีต้องดำเนินการ
2.เพื่อทำให้ดิจิทัลเข้าไปมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาความยากจน
3.เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้ไอซีทีอย่างชาญฉลาด ตลอดจนการควบคุมดูแลเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม
ขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงต้องเริ่มต้นที่การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับ โดยมีกฎหมายที่ต้องแก้ให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2558 ได้แก่
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
พ.ร.บ.เกี่ยวกับการโอนย้ายตั้งกรม กอง ใหม่ในกระทรวงและต้องแก้ พ.ร.ฎ. ของซิป้า
มีกรมที่จะตั้งขึ้นใหม่ ได้แก่ 1.กรมที่ดูแลเรื่องการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ 2.กรมพัฒนาและส่งเสริมดิจิทัลเกี่ยวกับสังคม 3.กรมที่เกี่ยวกับ ไซเบอร์ คอนเท็นต์
เรื่องของบุคลากร คณะทำงานมีแนวคิดในการดึงบุคลากรจากเนคเทค ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มาเข้าสังกัดของกระทรวงไอซีที
สำหรับระยะเวลาในการทำงาน คาดว่าภายใน 2-3 เดือนจะสามารถหาข้อสรุปของการปรับแก้กฎหมายและส่งเรื่องให้ สนช.พิจารณา
ล่าสุด วันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวในงานสัมมนาโพสต์ทูเดย์ ฟอรั่ม ย้ำว่า รัฐบาลจะเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัลให้เห็นเป็นรูปธรรมใน 1-2 ปี พร้อมวางเป้าสวยหรูว่าการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยเสริมการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2558 ให้ขยายตัวได้สูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4 %
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร บอกอีกว่า รัฐบาลเตรียมทำโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ หรือ National Broadband Policy ตั้งเป้าให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต ภายใน 1-2 ปี
นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาระบบโครงข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือ Gateway และจัดทำศูนย์ข้อมูลกลาง หรือ Data Center ที่มีการวางโครงข่ายมาแล้ว โดยจะให้ภาคเอกชนเข้าลงทุนต่อ
ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Hard infrastructure คาดว่าจะทำได้ครบทั้งหมดใน 2-3 ปี ส่วน Soft infrastructure หรือเรื่องการร่างกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กำลังเร่งร่าง พ.ร.บ.เพื่อเตรียมเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติเร็วๆ นี้
ขณะที่ผู้ใช้งาน ในภาครัฐ จะต้องดึงกระทรวงหลักๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงด้านเศรษฐกิจ นำร่องการใช้ระบบรัฐบาลอิเล็คทรอนิคส์ หรือ E-Government ส่วนด้านการเตรียมคนจะต้องใช้กระทรวงศึกษาธิการเข้ามาวางหลักสูตร
สำหรับการสร้าง Digital content หรือ การสร้างสารสนเทศที่มีรูปแบบดิจิทัล จะมีการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน ให้เอกชนเพื่อรองรับการพัฒนาคนต่อไปอย่างไร ใช้เงินทุนเท่าไร เพียงพอหรือไม่
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในงานเดียวกัน ถึงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลขึ้นเพื่อที่จะปรับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้มาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยด้วยว่า ในปี 2558 จะมีการประมูลโครงข่าย 4 จี โดยขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตามกฎหมายใหม่ก่อนนำเข้า สนช. ซึ่งจะคู่ขนานไปกับการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ปรับโครงสร้างกระทรวงไอซีที ไปสู่กระทรวงดิจิทัลฯ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการยุบบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด และ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) (TOT) ที่อยู่ภายใต้กระทรวงไอซีที แต่จะมีการปรับโครงสร้างเพื่อไม่ให้การทำงานเกิดความซับซ้อน เพื่อความพร้อมก่อนเข้าอยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลฯ
เห็นได้ว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนและจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปรับโครงสร้างหน่วยราชการในกระทรวงไอซีทีซึ่งกระทบไปถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และรัฐวิสาหกิจใหญ่อย่าง ทีโอที และ กสท รวมไปถึงองค์กรอิสระอย่าง กสทช.
การเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างและมีนัยสำคัญระดับนี้ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านการระดมความคิดเห็นที่หลากหลายและทั่วถึงก่อนที่จะเดินหน้าดำเนินการ เพื่อให้นโยบายนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนมากอย่างแท้จริง
แต่ เมื่อย้อนดูที่มาที่ไปของนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว กลับมาจากการจุดพลุของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร และนายพรชัย ในฐานะ รมว.ไอซีทีออกมารับลูก หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งยังขาดประสพการณ์การบริหารประเทศ ก็เออออห่อหมกด้วย
ที่สำคัญคือ ในเมื่อมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ขึ้นมาแล้ว ควรจะนำเรื่องการตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ และการเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล เข้าสู่การพิจารณาของ สปช.ก่อนหรือไม่
การปฏิรูป 11 ด้านที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น มีอย่างน้อย 3 ด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องการศึกษาการเรียนรู้และภูมิปัญญา และการแก้ไขปัญหาเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
ทำไม รัฐบาลจึงไม่ระดมความเห็นจากประชาชนต่อเรื่องนี้ผ่านกระบวนการและกลไกของ สปช.ก่อน
การตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ และการเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องถูกจับตาว่าเป็นโครงการที่ทำเพื่อประโยชน์ของคนทั้งชาติจริงหรือไม่
หรือจะเป็นเพียงนโยบายที่ปั้นแต่งขึ้นเพื่อให้มีการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามนโยบายนี้ อาทิ โครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่กลุ่มธุรกิจเอกชนกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนๆ แต่ยังไม่สำเร็จ เป็นต้น