xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปฏิรูปไม่ลงล็อก ส่อรัฐประหารเสียของ(อีกแล้ว)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นี่ก็เข้าสู่เดือนที่ 9 แล้ว หลังจากการเข้ามายึดอำนาจการบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยเป้าหมายใหญ่อันหนึ่งก็คือการยุติความขัดแย้งระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ และปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม

แต่ดูเหมือนว่า คสช.กำลังจะติดกับดักของตัวเอง เหมือนที่คณะรัฐประหารรุ่นพี่อย่าง “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” หรือ คมช.นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน เคยประสบมาแล้ว

กับดักที่ว่านั้น ก็คือการห่วงภาพลักษณ์ของประเทศ กลัวว่าชาติตะวันตกจะไม่ยอมรับ เพราะไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องรีบจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว และไม่ได้ขจัดรากเหง้าต้นตอของปัญหา ในที่สุดเหตุการณ์ความรุนแรงก็กลับมาซ้ำรอยเดิมอีก

หลังจาก คมช.เข้ามายึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เพื่อล้มอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็มีการกำหนดเวลาว่า จะให้มีรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศเพียง 1 ปี ในระหว่างนั้นก็ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเร่งรีบจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายปี 2550 ซึ่งผลก็ปรากฏว่า พรรคการเมืองบริวารของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะการเลือกตั้ง และนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ยอมรับตรงๆ ว่าเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เป็นนายกฯ

นั่นก็เพราะในช่วงเวลา 1 ปี รัฐบาล คมช.ไม่มีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนถึงความเลวร้ายของทุนสามานย์ภายใต้ระบอบทักษิณอย่างจริงจัง นอกจากเข้าไปเพื่อ “สมบัติผลัดกันชม” และปล่อยให้เครือข่ายบริวารของทักษิณจัดตั้งกลุ่มคนเสื้อแดงขึ้นมาเป็นมวลชนรับใช้ คอยเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของระบอบทักษิณ

หลังจาก คมช.หมดอำนาจไปไม่นาน ใบเสร็จที่ยืนยันได้ว่า คมช.ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการขจัดรากเหง้าของระบอบทักษิณและนักการเมืองทุนสามานย์ ก็โผล่ออกมา เมื่อ พล.อ.สนธิออกมาเล่นการเมือง ด้วยการเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และลงสมัคร ส.ส.ในปี 2554 ก่อนที่จะเข้าร่วมรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังการเลือกตั้ง 2 กรกฎาคม 2554 และยอมเป็นหมากตัวหนึ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับประโยชน์ด้วย

นั่นจึงทำให้การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ถูกเรียกว่าเป็นรัฐประหารเสียของ อุตส่าห์ทำการยึดอำนาจจากระบอบทักษิณมาได้ และยอมให้ประเทศตะวันตกด่าประณามว่าไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ปีกว่า แต่ท้ายที่สุด ก็ให้ปัญหาทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม จนเกิดการนองเลือดในปี 2551 ช่วงการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อนอมินีของทักษิณใช้ความรุนแรงปราบปรามการชุมนุม ตามด้วยความรุนแรงในช่วงปี 2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงมวลชนรับใช้ของระบอบทักษิณ พยายามใช้กำลังอาวุธล้มล้างรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงต่อเนื่องมาถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนเป็นเหตุให้ คสช.เข้ามายึดอำนาจในที่สุด แต่ก็ดูเหมือนว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิม เมื่อ คสช.กำหนดโรดแมปเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี ซึ่งก็ตกในราวปลายปี 2558 ถึงต้นปี 2559

กรอบเวลาที่กำหนดไว้ตายตัว เพื่อแสดงให้ชาติตะวันตกเห็นว่าประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว กลายเป็นข้อจำกัดสำหรับการวางแนวทางการปฏิรูปประเทศที่จะต้องผ่านการระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและรอบด้าน แม้ว่าจะมีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ขึ้นมาเพื่อเสนอแนวทางปฏิรูป 11 ด้าน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา ทำให้หลายๆ ประเด็นที่ต้องปฏิรูปยังไม่ผ่านการตกผลึกจากความคิดเห็นและข้อมูลที่หลากหลาย แต่มีการชี้นำจากคนที่กุมบทบาทใน สปช.เพียงบางคนเท่านั้น

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้สัมภาษณ์แสดงความกังวลว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ออกมาตามโรดแมปจะเป็นอย่างไร ซึ่งตนจะไปบังคับใครไม่ได้ เพราะมอบหมายให้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนทำ ขอให้ออกมาให้ทัน ไม่ทะลาะเบาะแว้ง คนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งต้องออกมาแสดงความคิดเห็นตรงนั้น แล้วเอาตัวตนออกมาว่าเราจะเดินหน้าประเทศอีกสัก 4 ปีได้หรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ ยังเร่งเร้าให้ทำกฎหมายลูกเสร็จภายในสิ้นปี โดยได้บอกว่าให้ร่างกฎหมายลูกที่จำเป็นบางเรื่องจะได้มีความรวดเร็ว ทุกอย่างก็จบ แล้วก็เตรียมการเลือกตั้ง การเลือกตั้งก็จะออกมาที่ประมาณต้นปี 2559 ซึ่งตนก็อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพราะได้วางพื้นฐานอะไรไว้มากมาย แต่ทุกคนต้องข่วยกันว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมานั้น มันมีประโยชน์เพราะถ้าปล่อยให้มีความขัดแย้ง ปัญหาก็จะไม่จบ

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ยังแสดงความกังวลว่า หากเกิดเหตุความไม่สงบหรือเกิดอันตรายกับใครขึ้นมาสักข้างหนึ่ง ใครจะมารับผิดชอบ ก็จะกลับมาที่รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพวกไหนก็ตาม ก็ต้องดูแลกัน อาจจะมากบ้างน้อยบ้างก็ขออย่าเอาเรื่องความขัดแย้งมาปนกันตรงนี้

นี่เป็นที่มาของแนวคิดที่จะให้คู่ขัดแย้งมาลงสัตยาบันร่วมกัน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่าเป็นเรื่องของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่จะพิจารณาว่าสมควรทำหรือไม่ ส่วนภารกิจของ คสช.ก็คือเดินตามโรดแมปเพื่อให้มีการเลือกตั้ง

“ถ้าขัดแย้งกันอีกก็เป็นสิ่งที่พวกท่านทำให้เกิดขึ้นมาเองทั้งหมด ผมไม่รู้แล้ว ผมหยุดเพื่อที่ผ่านมาให้เกิดความสงบ ผมทำแล้ว แต่ถ้ายังเกิดความไม่สงบจะกลับมาโทษผมอีกมันไม่ถูก วันนี้ทุกคนอยากเลือกตั้งก็ต้องไปหาทางเลือกกันให้ได้ หน้าที่ของผมคือจัดการเลือกตั้งให้ได้ แต่พอเลือกตั้งเสร็จแล้วตีกันอีก รัฐบาลก็แก้ปัญหากันมา แก้ให้ได้ก็แล้วกัน ถ้าเลือกตั้งแล้วตีกันอีก ผมก็ไม่รู้แล้ว ผมไม่เอาแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ออกตัวไว้ล่วงหน้า

ซึ่งก็สะท้อนว่า ท่านหัวหน้าคณะรัฐประหารยังไม่เข้าใจดีพอว่าอะไรเป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่สร้างความปั่นป่วนในประเทศตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ตลอดเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา คสช.ยังไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ต้นตอของปัญหา นั่นคือความเลวร้ายของระบอบทุนสามานย์ที่เข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเอง อันเป็นต้นตอของความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวง

คิดง่ายๆ แค่ว่า ถ้ามีความขัดแย้ง ก็เอากฎเหล็กออกมาควบคุมสั่งการให้ทุกฝ่ายเลิกทะเลาะแล้วหันมาจับมือกัน ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีการที่ได้ผล เพราะเมื่อกฎเหล็กถูกคลายออก ความขัดแย้งก็จะกลับมาเหมือนเดิม ในเมื่อรากเหง้าของทุนสามานย์ยังฝังลึกอยู่ในทุกอณูของสังคม

ยิ่งไปกว่านั้น มีหลายปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า คสช.ไม่ได้ใช้สภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อจัดทำแนวทางการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังเท่าที่ควร มติสำคัญๆ ของ สปช.ในบางเรื่อง รัฐบาล คสช.จึงไม่ทำตาม ดังกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่ง สปช.มีมติให้ชะลอไว้ก่อน แต่รัฐบาลกลับเดินหน้าเปิดสัมปทานตามกำหนดเดิม

หรือ กรณีการตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลกระทบถึงหลายภาคส่วน รัฐบาล คสช.ก็ใช้มติคณะรัฐมนตรีดำเนินการ โดยไม่ได้หารือ สปช.ก่อนแม้แต่น้อย

ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนจบโรดแมป หาก คสช.ยังไม่ใช้สภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปอย่างแท้จริง โดยมุ่งไปที่การขจัดอิทธิพลของทุนสามานย์ ก็คงไม่แคล้วที่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จะเป็นรัฐประหารที่เสียของอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น