ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -จากจุดเริ่มต้นที่มีตัวละครเอกอย่าง “พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์” อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.) วันนี้ แม้จะมีการขยายผลจับกุมเดอะกิ๊กแอนด์เดอะแก๊งในคดีบ่อนพระราม 9 และส่วยน้ำมันเถื่อน แต่ในความ เป็นจริงปฏิเสธไม่ได้ว่า “คดีแอบอ้างเบื้องสูง” ในการแสวงหาผลประโยชน์ จุดศูนย์รวมความสนใจของคนในสังคมพุ่งเป้าไปอยู่ที่ “ตระกูลอัครพงศ์ปรีชา” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีหนังสือจาก “กองกิจการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ไปถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยเรื่องยกเลิกชื่อสกุลพระราชทานอัครพงศ์ปรีชาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 โดยให้ผู้ที่ใช้ชื่อสกุลนี้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิม
หนังสือฉบับดังกล่าวลงนามโดย พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ฯ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองกิจการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ความน่าสนใจของชื่อสกุลพระราชทาน “อัครพงศ์ปรีชา” อยู่ตรงที่การปรากฏรายชื่อคนในตระกูลนี้ถูกหมายจับในคดีแอบอ้างเบื้องสูงที่เกี่ยวโยงกับการกระทำผิดของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ถึง 3 คนด้วยกันคือ
นายณัฐพล อัครพงศ์ปรีชา
นายณรงค์ อัครพงศ์ปรีชา
นายสิทธิศักดิ์ อัครพงศ์ปรีชา
เบื้องแรกมีข่าวออกมาว่าสกุลเดิมที่ทั้ง 3 คนจะต้องกลับไปใช้คือ “เกิดอำแพง” แต่วันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ไม่ใช่ เพราะมีหลักฐานหลังจากกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการลบชื่อสกุลพระราชทานอัครพงศ์ปรีชาเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาแล้วว่า นามสกุลที่ถูกต้องคือ “สุวะดี”
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29-30 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เดินทางเข้าไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวเครือข่ายของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เพื่อแจ้งเรื่องการยกเลิกนามสกุลของผู้ต้องหาที่ใช้ “อัครพงศ์ปรีชา” มาเป็นนามสกุล “สุวะดี” ทั้งนี้ เพื่อให้ฝ่ายทะเบียนของทางเรือนจำดำเนินการแก้ไขนามสกุลในเอกสารทางคดีเพื่อความถูกต้องในขั้นตอนธุรการ
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่นายณัฐพล นายณรงค์และนายสิทธิศักดิ์เท่านั้น หากแต่ยังมีอีก 1 อัครพงศ์ปรีชาที่ถูกดำเนินคดีพร้อมกับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ด้วย นั่นคือ “นางสุดาทิพย์ ม่วงนวล” ภรรยาของ พ.ต.อ.โกวิท ม่วงนวล อดีต ผกก.ตม.สมุทรสาคร เพราะนามสกุลเดิมของนางสุดาทิพย์ก่อนเปลี่ยนมาเป็นม่วงนวลคือ อัครพงศ์ปรีชาเช่นกัน
และนางสุดาทิพย์คือพี่สาวของทั้ง 3 คน
นี่กล่าวเฉพาะอัครพงศ์ปรีชาที่เกี่ยวข้องกับคดี พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์เท่านั้น เพราะต้องไม่ลืมว่า อัครพงศ์ปรีชามิได้มีแค่ 4 คนเท่านั้น หากแต่หมายถึงผู้ที่ใช้ชื่อสกุลพระราชทานอัครพงศ์ปรีชาทุกคนด้วย
ทั้งนี้ ชื่อสกุลพระราชทานอัครพงศ์ปรีชานั้น ได้พระราชทานให้ “นายอภิรุจและนางวันทนีย์ อัครพงศ์ปรีชา” ซึ่งมีบุตรรวม 5 คน
สำหรับความผิดของนายณัฐพล นายณรงค์และนายสิทธิศักดิ์นั้น ในเบื้องแรกเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ทั้งหมดถูกออกหมายจับในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือเสรีภาพ โดยมีอาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น และร่วมกันลักทรัพย์
แต่ต่อมาก็เป็นที่ชัดเจนว่า พฤติกรรมดังกล่าว กลุ่มผู้ต้องหาได้มีการ “แอบอ้างเบื้องสูง” ในการแสวงหาผลประโยชน์
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ศาลจังหวัดพระโขนงได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยระบุคำร้องพนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์สรุปว่า...
“เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 เวลา 07.30 น. นายชากานต์ ภาคภูมิ ผู้ต้องหาที่ 5 พร้อมกับพวกรวม 5 คนมาดักรอนายวิทยา ปัญญาทวีกูล ผู้เสียหายที่หน้าบ้านพักเลขที่ 869/8 ซอยสุขุมวิท 101 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กทม. ใช้ปืนข่มขู่บังคับไปที่บ้านหลังหนึ่งย่านพุทธมณฑลสาย 3 แขวงและเขตทวีวัฒนา กทม.พบกับนายณัฐพล ผู้ต้องหาที่ 1 แนะนำตัวเองเป็นพระอนุชาของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ แล้วบังคับให้ติดต่อบุคคลที่รู้จักไปเจรจาเรื่องหนี้สินที่ค้างอยู่กับนาย ป. ผู้เสียหายพยายามติดต่อบุคคลผู้ใกล้ชิดให้ไปพบพวกผู้ต้องหาที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งใกล้วัดศรีเอี่ยม ถนนบางนา-ตราด แต่บุคคลนั้นไม่ยอมออกมาพบผู้ต้องหา จึงควบคุมตัวนายวิทยาไว้กระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2557 เวลา 01.05 น.ได้พานายวิทยาออกจากบ้านแล้วปล่อยตัวไป
“ระหว่างนั้น พวกผู้ต้องหาลักเอาบัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ รวมทั้งเงินสดประมาณ 2,000 บาทที่เป็นทรัพย์สินของนายวิทยาไปด้วย ภายหลังนายวิทยาเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.พระโขนง กระทั่งขอศาลจังหวัดพระโขนงออกหมายจับผู้ต้องหา ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1-3 ให้การรับสารภาพ ส่วนผู้ต้องหาที่ 4-5 ให้การปฏิเสธชั้นจับกุม แต่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน”
และตอกย้ำชัดเจนมากขึ้น เมื่อนายชลัช โพธิราช หนึ่งในผู้ร่วมขบวนการ อัครพงศ์ปรีชาได้สารภาพต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังเข้ามอบตัวว่า “ตอนแรกยังไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับใครบ้าง เคยเจอคนที่อยู่ในตระกูลอัครพงศ์ปรีชาบางครั้ง นายชากานต์(ภาคภูมิ) ให้ขับรถไปด้วยจึงทำให้เห็นบุคคลดังกล่าว ได้ยินชื่อเรียกว่านายปื้ดหรือนายณรงค์ อัครพงศ์ปรีชา”
นี่คือพฤติกรรมการแอบอ้างเบื้องสูงของ 3 พี่น้องตระกูลอัครพงศ์ปรีชา ซึ่งในคดีนี้จะได้รับส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์จากเงินส่วนลดที่ได้ คือลดจาก 120 ล้านบาทเหลือ 20 ล้านบาท หรือได้รับค่าจ้างราว 10 ล้านบาท จาก นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (Wind Energy Holding (WEH) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุด ติดอันดับที่ 31 ใน 50 ของมหาเศรษฐีประจำปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นโดยนิตยสาร ฟอร์บไทยแลนด์ (FORBES THAILAND) ที่ร่ำรวยจากธุรกิจโรงไฟฟ้า พลังงานลม และ มีมูลค่าทรัพย์สิน 26,076 ล้านบาท
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่า ทำไมก่อนหน้านี้ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ได้มีคำสั่งปลด ว่าที่ พ.ต.ณัฐพล ออกจากผู้ช่วยนายทหารยุทธการ
คำสั่งเลขที่ 656 /2557 เขียนเอาไว้ว่า ให้ว่าที่ พ.ต.ณัฐพล อัครพงศ์ปรีชา หมายเลขประจำตัว 1462402079 ผช.นายทหารธุรการ กองบังคับการ สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ออกจากราชการ โดยไม่มีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ เป็นพ้นราชการทหารประเภทที่ 2 และถอดออกจากว่าที่ยศทหาร เนื่องจากกระทำผิดวินัยทหาร ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ผิดกฎหมายบ้านเมือง
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่ จ.ส.อ.สิทธิศักดิ์ จะถูกปลดออกจากเสมียนกองบังคับการ สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
คำสั่งที่ 657/2557 เขียนเอาไว้ว่า ให้ปลด “จ.ส.อ.สิทธิศักดิ์ อัครพงศ์ปรีชา” หมายเลขประจำตัว 1467600050 เสมียนกองบังคับการ สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ออกจากราชการ โดยไม่มีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ คงเป็นนายสิบกองหนุน ประเภทที่ 1 ชั้นที่ 1 สังกัด จทบ.ก.ท.และถอดออกจากยศทหาร เนื่องจากกระทำความผิดวินัยทหาร ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ผิดกฎหมายบ้านเมือง
ขณะที่อีก 1 อัครพงศ์ปรีชาคือ นายณรงค์ ก็เผชิญชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน โดยสำนักพระราชวังมีคำสั่งที่ 428/2557 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 ให้ลงโทษไล่ออก นายณรงค์ อัครพงศ์ปรีชา ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ตำแหน่งเจ้าพนักงานในพระองค์ ประเภททั่วไป ระดับอาวุโส เลขที่ตำแหน่ง 926 งานต่างประเทศ ฝ่ายราชเลขานุการ กองกิจการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ลงนามโดย นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองเลขาธิการพระราชวัง รักษาราชการแทนเลขาธิการพระราชวัง
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวเขียนเอาไว้ว่า สำนักพระราชวังได้รับรายงานจากกองกิจการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 23 พฤจิกายน 2553 ว่า นายณรงค์ได้แอบอ้างพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อหาประโยชน์ส่วนตน การกระทำดังกล่าวทำให้ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ในการนี้ มีพระราชบัณฑูรให้ลงโทษไล่นายณรงค์ อัครพงศ์ปรีชา ออกจากราชการ
สิ่งที่จะต้องสืบเสาะแสวงหาต่อไปก็คือ มหาเศรษฐีหมื่นล้านอย่าง “นายนพพร ศุภพิพัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ไปรู้จักมักจี่กับ 3 อัครพงศ์ปรีชาได้อย่างไร ถึงได้จ้างให้ไปขอลดหนี้จาก “นายบัณฑิต โชติวิทยะกุล” ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เพราะดูจากเส้นทางแล้ว ไม่น่าจะไปบรรจบกันได้ นั่นแสดงว่า ย่อมมี “คน” แนะนำให้นายนพพรไปใช้บริการ 3 อัครพงศ์ปรีชา
คนๆ นั้นเป็นใคร?
แน่นอน ในชั้นนี้ยังมิได้มีการเปิดเผยออกมาแต่เชื่อว่า ต้องเป็นคนที่มีประวัติความเป็นมาที่ไม่บันเบาอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปรากฏชื่อบุคคลที่มีชื่อว่า “เจี๊ยบ” เป็นตัวละครเพิ่มขึ้นอีก 1 คน และขณะนี้ได้มีการออกหมายจับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนายเจี๊ยบเป็นตัวกลางแนะนำนายนพพรให้รู้จักกับนายชากานต์ ภาคภูมิ และเป็นคนนำเงินสดจำนวนหลายแสนบาทมาให้นายชากานต์เพื่อเป็นค่าจ้างให้แก๊งไกล่เกลี่ยหนี้แก๊งนี้ นอกจากนั้นจากคำให้การของนายบัณฑิต โชติวิทยะกุลซึ่งถูกอุ้มไปบีบให้ลดหนี้ก็ได้พูดถึงนายเจี้ยบเช่นกัน
นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องสืบสวนและสอบสวนต่อก็คือ ก่อนหน้านี้ 3 อัครพงศ์ปรีชาแอนด์เดอะแก๊งเคยรับงานในทำนองนี้มากี่มากน้อย เพราะเป็นไปไม่ได้ว่า งานรับจ้างนายนพพรเป็นงานแรก หากแต่จะต้องมีการรับงานมาในระดับหนึ่งและประสบความสำเร็จ ไม่เช่นนั้น คงไม่เป็นที่ไว้วางใจให้ทำงานในลักษณะนี้
ในที่สุดหลังจากสอบรีดข้อมูลจากผู้ร่วมขบวนการก็ทำให้มีการออกหมายจับเพิ่มเติมอีก 2 คดีพร้อมๆ กันในวันที่ 3 ธันวาคม 2557
คดีที่สอง ศาลจังหวัดพระโขนงได้ออกหมายจับ “นายปรีชา ดาราไตร” นักธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายรถยนต์มือสอง และ “นายไพเชษฐ์ เมธิสริยพงศ์” เจ้าของปริษัทไทยบัสขนส่ง จำกัด ผู้ดำเนินกิจการรถร่วมบริการ ขสมก.สาย 8
โดยนายปรีชาเป็นผู้ว่าจ้างให้กลุ่มผู้ต้องหาไปอุ้ม “นายวิทยา ปัญญาทวีกูล” ลูกหนี้มาเคลียร์หนื้สินจำนวนหนึ่ง ส่วนนายไพเชษฐ์เป็นผู้ร่วมขบวนการที่พานายปรีชาไปติดต่อจ้างวานแก๊งแอบอ้างเบื้องสูงแก๊งนี้และยังเป็นเจ้าของบ้านที่อุ้มนายวิทยาไปเจรจาได้
สำหรับคดีที่ 3 เกิดขึ้นในตลาดชื่อดังในจังหวัดปทุมธานีคือ “ตลาดไท” โดยคดีนี้มี “นายไตรสรณ์ ธีระตระกูล”เสี่ยเจ้าของสัมปทานจำหน่ายน้ำแข็งในตลาดไทเป็นผู้มาแฉพฤติกรรมของแก๊งแอบอ้างเบื้องสูง
นายไตรสรณ์เปิดเผยว่า เหตุดังกล่าวขึ้นในปี 2556 โดยตนเองได้จ่ายเงินค่าประมูลสัมปทานขายน้ำแข็งในตลาดไทอย่างถูกต้องเป็นเงินจำนวน 24 ล้านบาท จากนั้นกลุ่มผู้ต้องหาคือนายชากานต์ ภาคภูมิ พร้อม “นางเล็ก” ไม่ทราบนามสกุล เจ้าของร้านน้ำแข็งได้เข้ามาเปิดร้านน้ำแข็งตัดราคา จากก้อนละ 40 บาทเหลือก้อนละ 25 บาทเพื่อกดดันให้เลิกกิจการดังกล่าว
“นายชากานต์ได้นำคนมาประมาณ 4-5 คนเข้ามาพูดคุย โดยอ้างเบื้องสูงในการจะมาทำกิจการดังกล่าว หากไม่ยกเลิกกิจการจะลำบาก จึงทำให้เจ้าของตลาดไทไม่กล้าว่าอะไร กระทั่งผมตัดสินใจยกเลิกการทำกิจการดังกล่าวไป จากนั้นกลุ่มของผู้ต้องหาจึงนำพรรคพวกเข้ามาดำเนินกิจการแทน”นายไตรสรณ์ให้ข้อมูล
ขณะเดียวกันจากการสอบปากคำกลุ่มผู้ต้องหากลุ่มนี้ พบว่านอกจากจะมีพฤติกรรมก่อเหตุทวงหนี้และบังคับลดหนี้แล้ว ทั้งหมดยังรับงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย กล่าวคือทำหน้าที่เป็นนายหน้ารับเคลียร์กับตำรวจให้กับสถานบริการหลายแห่ง รวมทั้งรับเป็นนายหน้าเคลียร์กับตำรวจเพื่อเปิดแผงขายซีดีเถื่อนหลายร้านย่านคลองถม โดยมีบางรายง่ายเงินให้ถึงเดือนละประมาณ 100,000 บาท เพื่อให้ขายซีดีเถื่อนได้ด้วย
สำหรับผู้ร่วมขบวนการ ซึ่งเป็นมือเป็นไม้ให้ 3 อัครพงศ์ปรีชาใช้งาน เท่าที่ได้มีการออกหมายจับในขณะนี้ประกอบด้วย นายชากานต์ ภาคภูมิ นายสุทธิศักดิ์ สุทธิจิตต์ นายชลัช โพธิราช นายวิทยา เทศขุนทด นายณัฐนันท์ ทานะเวช สอ.ณธกร ยาศรีและสอ.ธีรพงศ์ ช่อจำปี
ขณะเดียวกัน นอกจากกิจการใต้ดินในลักษณะดังกล่าวแล้ว จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักข่าวอิศราพบว่า ตระกูลอัครพงศ์ปรีชามีธุรกิจร่วมกันในนามบริษัทที่มีชื่อว่า “บริษัท อัครพงศ์ปรีชา จำกัด” ตั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 มีนางสุดาทิพย์เป็นผู้จดทะเบียนก่อตั้ง และมีนายณัฐพงศ์เป็นผู้ร่วมถือหุ้น 300 หุ้น
ทว่า ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทำธุรกิจอะไร
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจรีสอร์ทอยู่ที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ใช้ชื่อว่า “สวนผึ้งรีสอร์ท” ตั้งอยู่ หมู่ 2 ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยเจ้าของรีสอร์ทแห่งนี้คือ นางสุดาทิพย์ ม่วงนวล ซึ่งเป็นพี่สาวคนโต
นี่ยังไม่นับรวมธุรกิจค้าปลีก ซึ่งคนในจังหวัดละแวกใกล้เคียงกับบ้านเกิดของอัครพงศ์ปรีชารับรู้กันโดยทั่ว เพราะมีการขยายสาขาอย่างรวดเร็วมาก
นั่นย่อมหมายความว่า รากฐานทางธุรกิจของอัครพงศ์ปรีชาเป็นไปอย่างกว้างขวางและกำลังเติบใหญ่ในทุกเส้นทาง
แต่ถึงวันนี้ ตระกูลอัครพงศ์ปรีชาเดินทางมาถึงจุดจบอย่างไม่น่าเชื่อด้วยอ้างเบื้องสูง กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการแสวงหาพฤติกรรมแอบอ้างผลประโยชน์ และถูกลบชื่อสกุลพระราชทานออกจาก
วันนี้ คำว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ” จึงเป็นคำที่เหมาะสมสำหรับอัครพงศ์ด้วยประการทั้งปวง