xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กระชากหน้ากาก “นพพร ศุภพิพัฒน์” นอมินีทุนพลังงาน ทหาร นักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียกว่าสร้างความตะลึงพรึงเพริดไม่น้อย เมื่อชื่อของ “เสี่ยนิค”หรือ “เสี่ยเก่ง”-นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (Wind Energy Holding (WEH) มหาเศรษฐีหนุ่มหมื่นล้าน ถูกออกหมายจับคล้อยหลังแก๊งพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และ “อัครพงศ์ปรีชา” ซึ่งเป็นคดีดังสะท้านแผ่นดินในเวลานี้

ที่สำคัญคือนายนพพรโดนข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แอบอ้างเบื้องสูงรวมเข้าไปด้วย

คำสั่งจับกุมเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2557 โดยศาลทหารกรุงเทพได้อนุมัติออกหมายจับนายนพพร ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพเลขที่ 138 /2557 ลงวันที่ 1 ธ.ค. 2557 ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองศ์ และจ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำการร่วมกันทำร้ายผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

เจอเข้าไปเต็มๆ เช่นนี้เห็นทีจะรอดยาก และที่น่าแปลกอย่างมาก ก็เพราะนายนพพรนั้น สร้างภาพเป็นนักธุรกิจหนุ่มรวยทรัพย์ศฤงคารขนาดนั้นจะต้องไปใช้บริการ “อัครพงศ์ปรีชา” และแก๊งตำรวจนอกแถวขู่กรรโชกให้นายบัณฑิต โชติวิทยะกุล ซึ่งเป็นเพื่อนกันกับนายนพพร ลดหนี้ลงจาก 120 ล้านบาท ให้เหลือ 20 ล้านบาท ให้เสื่อมเสียชื่อเสียงไปทำไม เว้นเสียแต่ว่าความร่ำรวยที่ได้มานั้นมันดำมืดหรือสีเทาที่ต้องการคำอธิบายไขปริศนา

ยิ่งเขาบอกว่า ".... เราต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน บริษัทผมไม่อยากเป็นที่ 1 ในเซาท์อีสต์เอเชียแล้ว แต่ผมต้องการเป็นที่ 1 ของโลก" ในโอกาสที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารรายเดือน Who ฉบับเดือนสิงหาคม 2557 ยิ่งไม่น่าเชื่อว่านายนพพร จะถูกออกหมายจับ

หนักเข้าไปกว่านั้นคือ ผลพวงของการถูกออกหมายจับในขณะนี้ทำให้มีการสาวไส้นายนพพรออกมาทีละขด และพบว่า เส้นทางความร่ำรวยของมหา เศรษฐีผู้นี้เกี่ยวกับกลุ่มทุนพลังงาน ทหารและนักการเมืองอย่างแนบแน่น

หรือถ้าจะใช้คำว่าเป็น “นอมินี” ก็คงจะไม่เกินจากความเป็นจริงเท่าใดนัก

นายนพพร เป็นใคร?

นิตยสารฟอร์บไทยแลนด์ จัดอันดับ "Thailand's 50 Richest 2014" ในปีนี้ ปี 2557 โดยระบุว่า นายนพพร ศุภพิพัฒน์ อายุ 43 ปี สถานะโสด ติดอันดับมหาเศรษฐีของของไทย ในลำดับที่ 31 ถือครองมูลค่าทรัพย์สิน 26,076 ล้านบาท เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าจากลม ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในบรรดาเศรษฐีหน้าใหม่ที่ถูกจัดอันดับในปีนี้

“นิค - นพพร” คือผู้ก่อตั้งและถือครองหุ้นกว่า 2 ใน 3 ของ บจก. Wind Energy Holding (WEH) ธุรกิจที่สร้างพลังงานไฟฟ้า 420 ล้านวัตต์ส่งขายให้ กฟผ. พร้อมกับแผนขยายกำลังการผลิตแตะ 1,000 ล้านวัตต์ ภายในปี 2561 ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ เพียงแค่อายุ 21 ปี เขาสามารถโกยเงินจากตลาดหลักทรัพย์ได้เกือบ 26 ล้านบาท ก่อนจะสูญทั้งหมดไปกับการทำนิตยสาร และตั้งต้นใหม่กับธุรกิจพลังงานทางเลือกในปี 2548 ด้วยการสนับสนุนเงินทุนจากนายประเดช กิตติอิสรานนท์ ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก่อนจัดตั้งบริษัทเดมโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่ำรวยติดอันดับที่ 44 ของประเทศไทยในปีเดียวกัน

ฟอร์บขยายความว่า ในบรรดาเศรษฐีน้องใหม่ 9 คน นายนพพร แห่ง Wind Energy Holdings มีอายุน้อยที่สุดที่มั่งคั่งขึ้นมาเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมกิจการพลังงานไฟฟ้าทางเลือก ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิถึงเกือบ 1.2 พันล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว และวางแผนที่จะขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปในปีหน้า 2558 เพื่อขยายบริษัทออกไปในภูมิภาค จากการประเมินมูลค่าบริษัทเพื่อการเสนอขายแบบเจาะจงเมื่อเดือนมีนาคม 2557 มีการให้มูลค่าบริษัทนี้ถึง 4.24 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

นายนพพร นอกจากเป็นประธานบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ แล้ว ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ผ่านบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น ซึ่งถืออยู่ในวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ กว่า 63% ขณะที่บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยีฯ เป็นบริษัทที่นายนพพรถือหุ้นอยู่มากถึง 74.5% ร่วมกับบริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ในฮ่องกงที่ถืออยู่ 24.5%

ด้วยความร่ำรวยของนายนพพร ทำให้ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยสีสันและอู้ ฟู่ตามประสาเศรษฐหนีหนุ่มผู้มีรสนิยมและดีกรีนักเรียนนอก

ขับรถยนต์ “เบนท์ลีย์” ราคาแพงระยับ

จะตัดผมแต่ละครั้งต้องบินไปให้สไตลิสต์ชื่อดังออกแบบทรงผมถึงต่างประเทศ

ใช้ชีวิตหรูหราฟู่ฟ่าตามโรงแรมดังย่านราชประสงค์

และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ นายนพพรเป็นคนที่มีวาทศิลป์ชั้นเยี่ยมชนิดที่สามารถเกลี้ยกล่อมให้คนเคลิบเคลิ้มคล้อยตามให้ควักเงินในกระเป๋าออกมาร่วมลงทุนได้อย่างง่ายดาย

ทว่า นั่นเป็นข้อมูลด้านเปิดที่สร้างภาพสวยหรูต่อสังคมของหนุ่มมหาเศรษฐีคนนี้ เพราะยังมีข้อมูลด้านมืดที่ถูกปกปิดเอาไว้ และหากขุดคุ้ยเบื้องหลังความร่ำรวยอาจถึงกับต้องผงะ กันเลยทีเดียว

เดชะบุญที่แก๊ง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์และอัครพงศ์ปรีชาถูกกระชากหน้ากากออกมา ทำให้วงจรการทำธุรกิจของนายนพพรต้องหยุดชะงักลงไป ไม่เช่นนั้น คงมี “ใคร” อีกหลายคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อ

นอมินีกลุ่มทุนพลังงาน-นักการเมือง

จากการตรวจข้อมูล พบว่านายนพพรมีสาย สัมพันธ์อันแน่นปึกกับกลุ่มการเมือง และเครืข่อายธุรกิจพลังงานที่ชักใยในเงามืด รวมกระทั่งถึง “การแอบอ้างเบื้องสูง” ในการทำธุรกิจที่มีนัยแฝงเร้นยากจะอธิบายต่อสังคม
ถ้าย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ ปูมหลังของนายนพพร ในวงการธุรกิจพลังงานนับเป็นเครื่องหมายคำถามว่าเขาคนนี้คือนอมินีให้กับกลุ่มทุนพลังงาน ทหาร และนักการเมือง ใช่หรือไม่ และคำตอบคงฉายชัดเมื่อต่อจิ๊กซอร์เข้าด้วยกัน

นายประพันธ์ คูณมี เขียนบทความเรื่อง “วงจรอุบาทว์ เครือข่ายผลประโยชน์โครงการพลังงานลม มูลค่าหมื่นล้านบาท” ในคอลัมน์ “ปากกล้าขาไม่สั่น” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2554 ไล่เรียงให้เห็นภาพตั้งแต่ต้นและเมื่อต่อเข้าเหตุการณ์ในเวลานี้จะทำให้เห็นความจริงของกลุ่มนายนพพรชัดเจนขึ้น

เริ่มต้นเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง นายนพพร เข้าช้อนซื้อกิจการจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กประเภท Co-generation ที่ได้รับตอบรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือโครงการโรงไฟฟ้าของสวนอุตสาหกรรมระยองอินดัสเตรียลปาร์ค แต่ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ และก็ถูกบังคับขายให้กับเครือปตท. เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540และในที่สุดก็ตกเป็นของบมจ.ผลิตไฟฟ้าหรือเอ็กโก้ในปัจจุบัน ขณะที่นายนพพรกับหุ้นส่วนมีคดีความฟ้องร้องกัน

จากนั้น เขาหอบเงินที่มีอยู่ไปลงทุนทำนิตยสารแต่ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเคย

ว่ากันว่า นิตยสารเล่มนั้นมีชื่อว่า “ใกล้หมอ”

ต่อมานายนพพรย้อนกลับเข้ามาทำธุรกิจพลังงานอีกครั้ง เมื่อปี 2548 คราวนี้โดยประมาณกลางปี 2550 เขาเปิดตัวบริษัท เขาค้อพลังงานลม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการพลังงานลมแห่งแรก

โครงการนี้สร้างความตื่นตาตื่นใจในขณะนั้น และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้การสนับสนุนเต็มที่ รวมทั้งอดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน คือ ดร.พานิช พงศ์พิโรดม ไปเยี่ยมชมงานของเขาที่เขาค้อและให้การสนับสนุน จากนั้นไม่นาน กระทรวงพลังงานได้ประกาศยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนและมีนโยบายให้เงินสนับสนุนเพิ่มแก่นักลงทุน

เขาเริ่มต้นใหม่ได้ดีทีเดียวโดยคนที่ให้การสนับสนุนแรกๆ ก็คือ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้กว้างขวางในวงการพลังงานของประเทศไทยทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งบัดนี้นั่งอยู่ในตำแหน่งประธานบอร์ด บมจ.ปตท. ภายใต้คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งมี “หลวงลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นผู้ให้การสนับสนุน

และถึงแม้ว่าในระดับพื้นที่เขาจะได้รับการต่อต้านจากชาวบ้าน ต.บ้านเข็กน้อยที่ต้องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารไม่เห็นด้วยกับโครงการของเขาแต่ก็หา ใช่อุปสรรคที่จะทำให้มีปัญหา เพราะนายนพพรนั้นมีแบ็คอัพที่แน่นปึ๊ก

หลังจากนั้น เขาได้ยื่นคำร้องขายไฟฟ้าต่อ กฟผ. ในนาม บริษัทซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยพันธมิตรสำคัญคือ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย แต่เมื่อดูบทบาทแล้วน่าจะเป็นเจ้าของตัวจริงเสียมากกว่า

เป็นที่ทราบว่า บ.เด็มโก้ มีคนที่เป็นกลจักรสำคัญคือ ที่นายประเดช กิตติอิสรานนท์ กรรมการผู้จัดการ ที่เป็นอดีตวิศวกรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และนายสวาสดิ์ ปุ้ยพันธวงศ์ อดีตผู้ว่าการกฟภ. สามี นางประพีร์ ปุ้ยพันธวงศ์ (เหตระกูล) ประธานกรรมการ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บ.เด็มโก้ และช่วยประสานงานเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้า โดยนายประเดช นั้นจบวิศวกรรมไฟฟ้าจากจุฬาฯ มีเพื่อนร่วมสถาบันที่มีบทบาทสูงคือ นายสหัส ประทักษ์นุกูล รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ดูแลฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทางด้านเทคนิคการให้อนุมัติเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก

สายสัมพันธ์เครือข่ายผลประโยชน์พลังงานที่นายนพพร เป็นนอมินีนั้นชัดเจนอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2551 บริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ ได้รับอนุมัติเชื่อมโยงและรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.เป็นปริมาณ 60 เมกะวัตต์ ว่ากันว่า เพราะสายสัมพันธ์ระหว่างนายประเดชและนายสหัส ทำให้ดีลนี้ไม่มีปัญหา

สำหรับนายสหัส ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ กฟผ.แล้ว ยังเป็นกรรมการของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทลูกของ กฟผ. ในยุคนั้น ขณะที่กฟผ.มีนายสมบัติ ศานติจารี ซึ่งจบวิศวะฯ จากม.เกษตรฯ เป็นผู้ว่า กฟผ. ส่วนผู้กำกับดูแลนโยบาย คือนายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการ กฟผ. ก็เป็นศิษย์เก่าม.เกษตรฯ เช่นกัน

ไม่เพียงแค่นั้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็หาใช่ใครอื่นแต่เป็นพลโทหญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.กระทรวงพลังงาน ศิษย์เก่า ม.เกษตร เช่นเดียวกันกับสามี คือ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จึงถือว่า ในยุคนี้เป็นยุคของ “ม.เกษตรฯคอนเนกชัน” ครองอำนาจในกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นที่รู้ว่าโครงการใดที่ต้องการผ่านนั้นผู้ประกอบการต้องคุยกับใคร และอย่างไร ซึ่งนายนพพร และนายประเดช ย่อมรู้ดี

ต่อมา เมื่อเปลี่ยนผ่านมาถึงยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมว.กระทรวงพลังงานคนใหม่ คือนพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สายนายสุวัจน์คนเดิม สายสัมพันธ์เดิมระหว่างกลุ่มของนายนพพร กับผู้มีอำนาจในกระทรวงพลังงานไม่เปลี่ยนแปลง

หรือถ้าจะกล่าวว่านายนพพรใกล้ชิดกับนักการเมืองคนดังแห่งเมืองย่าโมก็คงไม่เกินเลยเกินไปนัก

และเมื่อนายนพพร ได้รับอนุมัติซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.แล้ว เขาแต่งตัวบริษัทให้ดูดีและขายหุ้นให้กับบริษัทในเครือของกฟผ. ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิพิเศษเกื้อกูลกันทั้งด้านข้อมูล การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเป็นพิเศษเหนือคู่แข่งขันรายอื่นๆ

ต่อมา เมื่อเดือนก.พ. 2552 เขาประสบความสำเร็จโดยการขายหุ้นให้ บริษัทราชบุรีพลังงาน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทลูกของ กฟผ. โดยครั้งแรกเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 26 ของทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เงิน 97.5 ล้านบาท ได้ไหลเข้ามาในบริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ ตามแผนการ

ไม่น่าแปลกใจที่ดีลนี้สามารถผ่านโดยสะดวกเพราะบรรดาผู้ใหญ่ของ กฟผ.คือนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. ยังเป็นกรรมการ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง และรองผู้ว่าการ กฟผ. ในสมัยนั้น คือ นายนพพล มิลินทางกูร เพื่อนวิศวจุฬาฯ รุ่นเดียวกับ นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ซึ่งถูกส่งจาก กฟผ. ให้ไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง เรียกว่าสามารถดูแลกันได้อย่างสนิทแนบแน่น จึงไม่แปลกใจที่ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด กระโดดเข้าซื้อหุ้นโดยสะดวกโยธิน

การเกิดใหม่ของเขาดูดีมากพร้อมกระสุนเต็มกระเป๋า เขาได้จัดตั้ง บริษัท รีนิวเอเบิลเอนเนอร์ยี จำกัด เพื่อขยายโครงการไปจังหวัดอื่นอีก และเพื่อแต่งตัวพร้อมเป็นบริษัทมหาชน บริษัท วินด์เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม กลุ่มของเขาไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ทำธุรกิจพลังงานลม ยังมีกลุ่มอื่นอีกหลายกลุ่มที่มีทุนและเทคโนโลยีที่สามารถต่อกรกับเขาได้ รวมทั้งการแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกขณะ วิธีที่ดีที่สุดคือต้องทำให้คู่แข่งเจออุปสรรคเพื่อความได้เปรียบของเขา อุปสรรคแรกที่ได้ผลชะงัดคือกำหนดหลักประกันการยื่นเสนอขายไฟฟ้าย่อมทำให้กลุ่มอื่นที่มีความแข็งแกร่งของทุนน้อยกว่าสะดุดลงได้โดยง่าย เขาจึงไม่ลังเลที่สนับสนุนการออกมาตรการการวางหลักประกันอย่างเต็มที่

ต่อมา เมื่อเดือนมี.ค. 2552 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กำหนดให้มีการวางหลักประกันเพื่อเสนอขายไฟฟ้าเมกะวัตต์ละสองแสนบาท ซึ่งเป็นการประกาศย้อนหลังที่บริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ ของกลุ่มนายนพพร ได้ตอบรับซื้อไปก่อนหน้าแล้วตั้งแต่สิงหาคม 2551 โครงการเขาค้อของเขาจึงลอยตัวและถือว่าได้เปรียบคู่แข่งอื่นมากเพราะไม่ต้องหาเงินมาวางหลักประกันเพื่อให้ได้รับการพิจารณา

และแม้ กฟผ.ซึ่งปฏิบัติตามมติ กพช.จะออกระเบียบย้อนหลังให้บริษัทที่ได้รับตอบรับซื้อไปแล้วมาวางหลักประกันเช่นกัน แต่กลุ่มของนายนพพร ซึ่งได้ บมจ.ราชบุรี เป็นหุ้นส่วนแล้ว ย่อมมีสถานะการเงินและความพร้อมมากกว่ากลุ่มอื่น เขาสามารถวางหลักประกันสำหรับโครงการของเขาเองได้ทุกโครงการ และเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 กลุ่มของเขาสามารถขายหุ้นให้แก่ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด อีกร้อยละ 6 เป็นจำนวนเงิน 15 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีอุปสรรคอื่นที่คู่แข่งต้องเจอคือความยากลำบากในการขออนุญาตเชื่อมโยงกับสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งมี 2 กรณีคือ ความสามารถการรองรับได้ของระบบ และความมีเสถียรภาพของระบบเมื่อเชื่อมต่อโรงไฟฟ้ากังหันลม ในกรณีแรกสำหรับคู่แข่งอื่นที่ไม่มีข้อมูลภายในอย่างดีเท่ากับกลุ่มของนายนพพรแล้ว ย่อมยากที่จะได้รับอนุมัติเชื่อมโยงโดย กฟผ.จะอ้างว่าสายส่งเต็มไม่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการได้นั่นหมายถึงไม่ได้ตอบรับซื้อไฟฟ้า และอีกกรณีคือการกำหนดโปรแกรมวิเคราะห์เสถียรภาพระบบเพื่อการเชื่อมโยงกังหันลมกับระบบไฟฟ้าของกฟผ.ที่ล็อกสเปคโปรแกรมเอื้อกลุ่มนายนพพร

ดังนั้นโดยความพร้อมของกระสุนและไม่มีอุปสรรคทางเทคนิคที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยง รวมทั้งมีความสัมพันธ์อันดีกับนักการเมืองที่คุมกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. กลุ่มของนายนพพร จึงสามารถก้าวรุดไปข้างหน้าโดยทิ้งห่างคู่แข่งอย่างไม่เห็นฝุ่นและในที่สุดก็ได้รับอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 โครงการที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โครงการละ 90 เมกะวัตต์ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ในนามบริษัท เฟิร์สโคราชวินด์ จำกัด และ บริษัท เค อาร์ ทู จำกัด

นับว่า กลุ่มของนายนพพร ได้ใช้วิธีการดำเนินธุรกิจที่แฝงด้วยวิชามารอย่างชนิดหาตัวจับยาก รวมทั้งกลยุทธ์ที่ได้ผลแบบล็อกตัวผู้บริหาร อบต. ให้เป็นพวก เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์และกีดกันคู่แข่งไปในตัวในคราวที่กลุ่มธุรกิจต้องขออนุญาตองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังเข้าซื้อสิทธิในพื้นที่ ส.ป.ก. และในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโซน E ที่เป็น ภบท.5 โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายอีกต่างหาก

จิ๊กซอว์สัมพันธ์อำนาจ สะท้อนการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มทุนและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน และกลุ่มนักการเมืองที่สืบทอดผ่านตัวละครเดิมๆ จากรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ มาจนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ รัฐบาลนายสมชาย ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่การทำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่มีนายนพพร เป็นนอมินีของพวกเขาเหล่านั้น

กระทั่งถึงรัฐบาลรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อปรากฏภาพของนายกฯ นกแก้วเดินทางไปเปิดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเวสต์ห้วยบง 2 และเวสต์ห้วยบง 3 จังหวัดนครราชสีมา

ใกล้ชิด “บิ๊กทหาร” “เสธ.อู้” นั่งประธาน WEH

ไม่เพียงแต่สัมพันธ์ลึกกับนักการเมืองและกลุ่มทุนพลังงานเท่านั้น กลุ่มของนายนพพรยังเชื่อมประสานกับ “บิ๊กทหาร” ดังปรากฏในทะเบียนจัดตั้งบริษัทวินด์ เอนเนอยี่ โฮลดิ้ง เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2552ที่ตั้งอยู่เลขที่ 87 อาคารเอ็ม.ไทย.ทาวเวอร์ ออลซีซั่นเพลส ชั้น 27 ถ.วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. โดยบริษัทดังกล่าวมีนายนพพร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ร่วมกับนายธันว์ เหรียญสุวรรณ และน.ส.นันทิดา กิตติอิสรานนท์

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ กรรมการบริษัทวินด์ เอนเนอยี่ โฮลดิ้ง ในยุคก่อตั้ง ปรากฏรายชื่อ เสธ.อู้-พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ซึ่งปัจุบันเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายพลังงาน เป็นกรรมการอยู่ด้วย และต่อมาเมื่อเดือนพ.ค. 2556 พล.อ.เลิศรัตน์ ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ แสดงถึงความพร้อมในทุกด้านของกลุ่มนายนพรพ ทั้งเงิน อิทธิพล อำนาจ และสายสัมพันธ์อันแน่นปึกกับเหล่าบิ๊กทหารให้เป็นที่ประจักษ์

นาทีนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ เป็นสปช.ที่มาจากสายทหารที่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กะ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ไฟเขียว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ส่งเข้ามานั่งในสปช. นั่นเอง และถือว่า "บิ๊กอู้" เป็นนายทหารคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงและบทบาทในทางการเมือง เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา และยังเคยนั่งเป็นบอร์ดบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) มานานถึง 12 ปี อีกด้วย

และที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้คือ เสธ.อู้คนเดียวกันนี้เป็นสมาชิกกลุ่มปฎิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ที่มีนายปิยสวัสดิ์ เป็นแกนนำ

ทว่า พอเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นมามีการออกหมายจับกุมแก๊งพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ กระทั่งมาถึงนายนพพร แล้ว "บิ๊กอู้" ก็รีบกระโดดหนี "ตอนนี้ลาออกแล้ว พอมีข่าวไม่ดีผมก็มาลาออก"

แต่ถึง "บิ๊กอู้" จะโดดหนีอย่างไร ภาพของกลุ่มนายนพพร ก็หนีไม่พ้นถูกมองว่าเป็นนอมินีของทุนพลังงาน ทหาร นักการเมือง ตั้งแต่ต้นจนบัดนี้

ถึงตรงนี้ คงเห็นชัดแล้วว่า เสี่ยนิค-นพพร ศุภพิพัฒน์นั้นไม่ใช่นักธุรกิจธรรมดา หากแต่เป็น “นอมินี” ของกลุ่มทุนพลังงาน นักการเมืองและทหารในการเข้ามาแสวงหาผลโยชน์ในการทำธุรกิจพลังงานทางเลือกที่วางรากฐานมาตั้งแต่ยุคที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์เป็นรมว.พลังงานในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผ่านพล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปพัลลภ รมว.พลังงานในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผ่านอีกหลายรัฐมนตรีพลังงานในรัฐบาลยุคถัดๆ มา ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนหน้าเดิมๆ ที่มีสายสัมพันธ์เดิมๆ กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งสิ้น

และในปัจจุบันก่อนที่จะถูกออกหมายจับ นายนพพรก็มีเครือข่ายสายสัมพันธ์กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช.ด้านการปฏิรูปพลังงาน สายตรงของพี่ป้อม-พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ แถมยังมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรมว.พลังงานผู้ผลักดันนโยบายพลังงานทางเลือกนั่งเป็นประธานบอร์ ปตท. พร้อมด้วยคนคุ้นหน้าอย่างนายพรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีทีคนปัจจุบัน

นี่คือความน่ากลัวของกลุ่มทุนพลังงานที่ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ไม่สำคัญ

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจากนิตยสาร WHO


กำลังโหลดความคิดเห็น