xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปูมเบื้องหลังความรวย “นิค-นพพร” เศรษฐีอายุน้อยหมื่นล้านพัวพันคดีพงศ์พัฒน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพพร ศุภพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (ขอบคุณภาพจาก trinnews.blogspot.com)
ASTVผู้จัดการ - เปิดปูม “นพพร ศุกพิพัฒน์” นักธุรกิจพลังงานลมเศรษฐีหน้าใหม่ผู้ติดอันดับที่ 31 ของฟอร์บส์ปีล่าสุด ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 2.6 หมื่นล้านคาดจะพุ่งไปถึง 4.2 หมื่นล้านในอีก 4 ปีข้างหน้า ย้อนอดีตจากคนที่ไม่มีใครรู้จัก อายุ 21 ปีเล่นหุ้นรวย อาศัยวิกฤตต้มยำกุ้งกระโดดเข้าจับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแต่ล้มเหลว จนมาจับพลังงานลมสร้างความฮือฮาให้วงการด้วยแรงหนุนส่ง-สายสัมพันธ์เครือข่ายผลประโยชน์ธุรกิจพลังงานทั้งนักการเมือง-เทคโนแครตพลังงานอย่าง “ปิยสวัสดิ์” ช่วยกันผลักดันจนกลายเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อยหมื่นล้าน

คดีที่เกี่ยวข้องกับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และ พวก ล่าสุดปรากฎชื่อของ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (Wind Energy Holding (WEH) ฐานเข้าไปพัวพันจ้างวานผู้ต้องหาที่ถูกจับก่อนหน้านี้บีบบังคับผู้อื่นให้ลดหนี้ และ ถูกออกหมายจับในข้อหาร้ายแรง

ทั้งในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำการร่วมกันทำร้ายผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐกิจที่อายุน้อยที่สุด ติดอันดับที่ 31 ใน 50 ของมหาเศรษฐีประจำปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นโดยนิตยสาร ฟอร์บไทยแลนด์ (FORBES THAILAND) ที่ร่ำรวยจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม และ มีมูลค่าทรัพย์สิน 26,076 ล้านบาท นอกจากเป็นประธานบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ แล้ว เขายังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ผ่านบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น ซึ่งถืออยู่ในวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ กว่า 63% ขณะที่บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยีฯเป็นบริษัทที่นายนพพรถือหุ้นอยู่มากถึง 74.5% ร่วมกับบริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ในฮ่องกงที่ถืออยู่ 24.5 %

นายนพพร หรือ “นิค” อายุเพิ่งจะ 43 ปี ครองตัวเป็นโสด ฟอร์บระบุว่า เขาเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพลังงานจากลม ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในบรรดาเศรษฐีหน้าใหม่ 9 คนที่ถูกจัดอันดับในปีนี้ เขาก่อตั้งและถือครองหุ้นกว่า 2 ใน 3 ของบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ ธุรกิจที่สร้างพลังงานไฟฟ้า 420 ล้านวัตต์ส่งขายให้ กฟผ. พร้อมกับแผนขยายกำลังการผลิตแตะ 1,000 ล้านวัตต์ ภายในปี 2561 ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียอาคเนย์

ก่อนหน้านี้ นายนพพรวัยเพียงแค่อายุ 21 ปีสามารถโกยเงินจากตลาดหลักทรัพย์ได้เกือบ 26 ล้านบาท ก่อนจะสูญทั้งหมดไปกับการทำนิตยสาร และ ตั้งต้นใหม่กับธุรกิจพลังงานทางเลือกในปี 2548 ด้วยการสนับสนุนเงินทุนจาก “ประเดช กิตติอิสรานนท์”

วันนี้นายนพพรมีทรัพย์สินจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังลมมูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท ติดอันดับ 31 เนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมกิจการพลังงานไฟฟ้าทางเลือก ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิถึงเกือบ 1.2 พันล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว และ เขาวางแผนที่จะขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปในปีหน้าเพื่อขยายบริษัทออกไปในภูมิภาค จากการประเมินมูลค่าบริษัทเพื่อการเสนอขายแบบเจาะจงเมื่อเดือนมีนาคม ให้มูลค่าบริษัทนี้ถึง 4.24 หมื่นล้านบาท

สำหรับนักธุรกิจคนๆหนึ่งที่ก้าวมาจากไม่มีอะไรจนมีทรัพย์สินมากมายหลายหมื่นล้านย่อมน่าสนใจยิ่ง

ทว่า ถ้าย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ ปูมหลังของนายนพพร ในวงการธุรกิจ นับเป็นเครื่องหมายคำถาม

บางส่วนในวงการธุรกิจพลังงานเพียงทราบว่า นายนพพร เป็นนักลงทุนด้านพลังงานลม โดยก่อตั้ง บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัดแต่ภูมิหลังชัดเจนว่าเขามีวิธีการดำเนินธุรกิจอย่างไรจนร่ำรวยมหาศาลไม่มีใครทราบ

สืบค้นย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ประมาณปี 2540 ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เขาเริ่มพยายามเข้ามาช้อนซื้อกิจการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กประเภท Co-generation ที่ได้รับตอบรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จคือโครงการโรงไฟฟ้าของสวนอุตสาหกรรมระยองอินดัสเตรียลปาร์ค ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งแต่เขาไม่ประสบความสำเร็จ และในที่สุดก็เป็นคดีความที่ศาลยุติธรรม (แพ่ง) เพื่อฟ้องร้องค่าเสียหายแทน

ส่วนโรงไฟฟ้าก็ถูกเปลี่ยนมือจากเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไปเป็นของบริษัทในเครือ ปตท. และในที่สุดเป็นของ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือเอ็กโก้ในปัจจุบัน จึงเห็นได้ชัดเจนว่าศักยภาพของผู้ที่สามารถลงทุนและเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าได้จึงไม่มีลักษณะของนักลงทุนอย่างนายนพพร ที่ไม่มีภาพของเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าแต่อย่างไร

10กว่าปีที่ผ่านไปไม่มีใครทราบว่าเขาดำเนินกิจการอะไรมา ในทศวรรษนี้เขาได้กลับมาอีกครั้งในนามนักลงทุนพลังงานลม โดยประมาณกลางปี 2550 เขาเริ่มเปิดตัวในนาม บริษัท เขาค้อพลังงานลม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท ในเครือของบริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการพลังงานลมแห่งแรก ที่ได้ทำการตรวจวัดลมที่พิสูจน์ได้ว่าที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มีศักยภาพที่จะก่อสร้างทุ่งกังหันลมเชิงพาณิชย์ ได้ของประเทศไทย

โครงการนี้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ส่วนราชการในขณะนั้น และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ให้การสนับสนุนเต็มที่ รวมทั้งอดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน คือ ดร.พานิช พงศ์พิโรดม ร่วมกันไปเยี่ยมชมงานเสาวัดลมของเขาที่เขาค้อและให้การสนับสนุนเต็มที่ ต่อมาไม่นาน กระทรวงพลังงานได้ประกาศยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนและมีนโยบายให้เงินเพิ่มแก่นักลงทุน

หลังเปิดตัวเขาเริ่มต้นโครงการได้ไม่สวยนักเนื่องจากได้รับการต่อต้านจากชาวบ้าน ต.บ้านเข็กน้อย ที่ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร ต่อมาเขาได้ยื่นคำร้องขายไฟฟ้าต่อ กฟผ. ในนาม บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมีพันธมิตรสำคัญคือ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งในขณะนั้นยังไม่เข้าจดทะเบียน MAI ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้ามาถือหุ้นบางส่วนโดยมีข้อตกลงขอรับงานก่อสร้างโครงการบางส่วน เช่น งานโยธา งานก่อสร้างสายส่ง และสถานีไฟฟ้าย่อย

เป็นที่ทราบว่า บ.เด็มโก้ มีบุคลาการที่เป็นกลจักรสำคัญคือ ที่นายประเดช กิตติอิสรานนท์ กรรมการผู้จัดการ ที่เป็นอดีตวิศวกรของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ นายสวาสดิ์ ปุ้ยพันธวงศ์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามี นางประพีร์ ปุ้ยพันธวงศ์ (เหตระกูล) ประธานกรรมการ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บ.เด็มโก้ ช่วยประสานงานเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าของ กฟภ. และ ประเดช เองก็จบวิศวกรรมไฟฟ้าจากจุฬาฯ โดยมีเพื่อนร่วมสถาบันที่มีบทบาทสูงคือ นายสหัส ประทักษ์นุกูล รองผู้ว่าการนโยบายและแผน ที่ดูแลฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทางด้านเทคนิคการให้อนุมัติเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ซึ่งตำแหน่งนี้สำคัญมาก นับว่าการกลับมาของนพพรในครั้งนี้เป็นการเข้าสู่วงจรธุรกิจพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม

• สัมพันธ์เครือข่ายผลประโยชน์พลังงาน

เมื่อ 22 สิงหาคม 2551 บริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ ประสบความสำเร็จได้รับอนุมัติเชื่อมโยงและรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.เป็นปริมาณ 60 เมกะวัตต์ เป็นแห่งแรก นอกจากนายสหัส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ กฟผ.แล้ว ยังเป็นกรรมการของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทลูกของ กฟผ. ในยุคนั้น กฟผ.มีนายสมบัติ ศานติจารี (วิศวเกษตร)เป็นผู้ว่า กฟผ. และกำกับดูแลโดยนายพรชัย รุจิประภา (ศิษย์เก่าม.เกษตร) อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการ กฟผ. และในยุคพลโทหญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ เป็น รมต. พลังงาน ศิษย์เก่า ม.เกษตร เช่นเดียวกัน สามี คือ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จึงถือว่า ในยุคนี้ถือว่า ม.เกษตร คอนเนกชันครองอำนาจในกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นที่รู้ว่าโครงการใดที่ต้องการผ่านนั้นผู้ประกอบการต้องคุยกับใคร และ อย่างไร ซึ่งนายนพพร และนายประเดช ย่อมรู้ดี เมื่อเปลี่ยนผ่านมาถึงยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมต.พลังงานคนใหม่คือนพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สายนายสุวัจน์คนเดิม สายสัมพันธ์เดิมระหว่างกลุ่มของเขากับผู้มีอำนาจในกระทรวงพลังงานไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อนายนพพรสามารถได้รับอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าแล้วถือว่าเขาสามารถแต่งเนื้อแต่งตัวบริษัทของเขาได้ดีทีเดียว และ สามารถสร้างราคาให้ตัวเขาเองและบริษัทของเขาได้พอสมควร ทำให้เขามีของดีพอที่จะขายให้แก่นักลงทุนซึ่งเป็นธุรกิจที่เขาตั้งหน้าตั้งตารอมา 15 ปีแล้ว และ ผู้ซื้อที่ดีที่สุดก็คือกลุ่มบริษัทลูกของ กฟผ.นั่นเองซึ่งหากสามารถความผูกพันไว้ได้ในด้านหนึ่งก็ถือว่าบริษัทของเขามีความมั่นคงสูงคือได้ภาพว่าเป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. ซึ่งดูดีกว่าเดิมมาก และอีกด้านหนึ่งบริษัทของเขาย่อมได้รับสิทธิพิเศษที่ได้รับเกื้อกูลด้านข้อมูล หรือโดยการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติเป็นพิเศษเหนือคู่แข่งอื่นๆ

เดือนกุมภาพันธ์ 2552 เขาประสบความสำเร็จโดยการขายหุ้นให้ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทลูกของ กฟผ. โดยครั้งแรกเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 26 ของทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เงิน 97.5 ล้านบาทได้ไหลเข้ามาในบริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ แล้ว และไม่น่าแปลกใจที่ดีลนี้สามารถผ่านโดยสะดวกเพราะบรรดาผู้ใหญ่ของ กฟผ.คือ ผู้ว่าฯ สมบัติ ศานติจารี ยังเป็นกรรมการ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง และรองผู้ว่าการ กฟผ. ในสมัยนั้น คือ นายนพพล มิลินทางกูร เพื่อนวิศวจุฬาฯ รุ่นเดียวกับ นายประเดช กิตติอิสรานนท์ซึ่งถูกส่งจาก กฟผ. ให้ไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง เรียกว่าสามารถดูแลกันได้อย่างสนิทแนบแน่น จึงไม่แปลกใจที่ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด กระโดดเข้าซื้อหุ้นโดยสะดวกโยธิน การเกิดใหม่ของเขาดูดีมากน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งพร้อมกระสุนเต็มกระเป๋า เขาได้จัดตั้ง บริษัท รีนิวเอเบิลเอนเนอร์ยี จำกัด เพื่อขยายโครงการไปจังหวัดอื่นอีก และเพื่อแต่งตัวให้ดูดีพร้อมเป็นบริษัทมหาชน บริษัท วินด์เอ็นเนอร์ยีโฮลดิ้ง จำกัด ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในเวลาต่อมา
อายุน้อยแต่จากความร่ำรวยมหาศาลจนติดอันดับมหาเศรษฐีอันดับที่ 31 ของประเทศทำให้นายนพพรกลายเป็นคนที่ผู้คนอยากจะรู้จักที่สุดในวันนี้
• วิชามารสร้างอุปสรรคทิ้งห่างคู่แข่งโกยงาน-เงิน

นายนพพร รู้ดีว่า กลุ่มของเขาไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ทำธุรกิจพลังงานลม ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่มที่มีทุนและเทคโนโลยีที่สามารถต่อกรกับเขาได้ รวมทั้งการแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกขณะ วิธีที่ดีที่สุดคือหากคู่แข่งต้องเจอกับอุปสรรคมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้กลุ่มของเขาได้เปรียบมากขึ้น อุปสรรคแรกที่ได้ผลชะงักคือกำหนดหลักประกันการยื่นเสนอขายไฟฟ้าย่อมทำให้กลุ่มอื่นๆ ที่มีความแข็งแกร่งของทุนน้อยกว่า ย่อมทำให้โครงการสะดุดลงได้โดยง่าย เขาจึงไม่ลังเลที่สนับสนุนการออกมาตรการการวางหลักประกันอย่างเต็มที่

เมื่อเดือนมีนาคม 2552 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดให้มีการวางหลักประกันเพื่อเสนอขายไฟฟ้าเมกะวัตต์ละสองแสนบาท ซึ่งเป็นการประกาศย้อนหลังที่ บริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ ของกลุ่มนายนพพร ได้ตอบรับซื้อไปก่อนหน้าแล้วตั้งแต่สิงหาคม 2551 โครงการเขาค้อของเขาจึงลอยตัวและถือว่าได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ มากเพราะไม่ต้องหาเงินมาวางหลักประกันเพื่อให้ได้รับการพิจารณา แม้ กฟผ.ซึ่งปฏิบัติตามมติ กพช.จะออกระเบียบย้อนหลังให้บริษัทที่ได้รับตอบรับซื้อไปแล้วมาวางหลักประกันเช่นกัน แต่กลุ่มของนายนพพร ซึ่งได้ บมจ.ราชบุรี เป็นหุ้นส่วนแล้ว ย่อมมีสถานะการเงินและความพร้อมมากกว่ากลุ่มอื่น เขาสามารถวางหลักประกันสำหรับโครงการของเขาเองได้ทุกโครงการ และเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 กลุ่มของเขาสามารถขายหุ้นให้แก่ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด อีกร้อยละ 6 เป็นจำนวนเงิน 15 ล้านบาท

อุปสรรคอื่นๆ ที่คู่แข่งต้องเจอคือความยากลำบากในการขออนุญาตเชื่อมโยงกับสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งมี 2 กรณีคือ ความสามารถการรองรับได้ของระบบ และความมีเสถียรภาพของระบบเมื่อเชื่อมต่อโรงไฟฟ้ากังหันลม ในกรณีแรกสำหรับคู่แข่งอื่นๆ ที่ไม่มีข้อมูลภายในอย่างดีเท่ากับกลุ่มของนายนพพรแล้ว ย่อมยากที่จะได้รับอนุมัติเชื่อมโยงโดย กฟผ.จะอ้างว่าสายส่งเต็มไม่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการได้นั่นหมายถึงไม่ได้ตอบรับซื้อไฟฟ้า

ในกรณีหลัง กฟผ.ได้ออกข้อกำหนดให้ผู้เสนอขายไฟฟ้าต้องใช้โปรแกรมวิเคราะห์เสถียรภาพระบบเพื่อการเชื่อมโยงกังหันลมกับระบบไฟฟ้าของ กฟผ.เป็นโปรแกรม DIgSILENT เท่านั้น ทั้งๆ ที่โครงการที่เขาค้อ กฟผ.ยอมให้บริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ ใช้โปรแกรม PSS/E ในการวิเคราะห์ได้ ในขณะนั้นมีกังหันลมยี่ห้อ Siemens เท่านั้นที่สามารถวิเคราะห์ได้ทั้ง DIgSILENT และ PSS/E แต่กังหันลมยี่ห้ออื่นมักจะมีเพียงโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่ง เมื่อยื่นเรื่องให้ กฟผ.ศึกษาการเชื่อมโยง หากไม่ตอบสนองข้อกำหนดของ กฟผ.ย่อมทำให้ กฟผ.ไม่สะดวกซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เสนอโครงการไม่พึงประสงค์ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ต้องติดต่อไปยังบริษัท Siemens เพื่อขอใช้ข้อมูล DIgSILENT แต่สิ่งที่ได้คือบริษัท Siemens ซึ่งได้มีข้อตกลงผูกขาดขายกังหันลมให้กลุ่มของนายนพพรแล้ว จะไม่ให้ความร่วมมือกับคู่แข่งของนายนพพรอย่างเด็ดขาด กฟผ.จึงไม่สามารถพิจารณาข้อเสนอได้ โดยวิธีนี้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เมื่อได้พบอุปสรรคก็ไม่สามารถแข่งขันอย่างเป็นธรรมและมีความยากลำบากอย่างยิ่งที่จะได้ตอบรับซื้อ ดังนั้นโดยความพร้อมของกระสุนและไม่มีอุปสรรคทางเทคนิคที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยง รวมทั้งมีความสัมพันธ์อันดีกับกระทรวงพลังงาน และ กฟผ.กลุ่มของนายนพพร จึงสามารถก้าวรุดไปข้างหน้าโดยทิ้งห่างคู่แข่งอย่างไม่เห็นฝุ่น

และในที่สุดก็ได้รับอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 โครงการที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โครงการละ 90 เมกะวัตต์ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ในนามบริษัท เฟิร์สโคราชวินด์ จำกัด และ บริษัท เค อาร์ ทู จำกัด

• ล็อกองค์การบริหารส่วนตำบลซื้อตัวข้าราชการท้องถิ่น

วิชามารอย่างหนึ่งที่เป็นกลยุทธ์ตื้นๆ แต่ได้ผลของบริษัทในเครือนายนพพร คือ นอกจากสูตรสำเร็จคือจัดกิจกรรมพาไปดูงานเลี้ยงดูปูเสื่อโดยการเหมารถทัวร์ไปต่างจังหวัดแล้ว การทุ่มซื้อตัวผู้บริหาร อบต. ให้เป็นพวกเป็นสิ่งที่ได้พบเห็นเป็นประจำ รวมทั้งพยายามแต่งตั้งตัวแทนที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ทุกระดับที่จะทำได้ ให้ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับบริษัทตัวเอง และให้ร้ายคู่แข่งซึ่งในหลายๆ ท้องที่ทำได้ผล

เมื่อสามารถซื้อตัวนายก อบต.หรือประธาน อบต.ได้แล้ว นายก อบต.หรือประธาน อบต.ก็จะออกแรงปกป้องบริษัทในเครือของเขาและปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการอื่น เช่น หากการขออนุญาตต่อส่วนราชการใดๆ ที่ต้องให้ อบต.ออกหนังสือรับรองให้ก่อนก็จะล็อบบี้ไม่ให้ อบต.ออกหนังสือให้ ไม่ให้ความร่วมมือ หรือบล็อกโหวตในที่ประชุมสภาเพื่อไม่ให้ความเห็นชอบ และมักใช้วิธีโฆษณาว่าเป็นบริษัทของพวกเขาเป็นบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือของ กฟผ. โดยอ้าง บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ซึ่งทำให้ดูดีมาก นอกจากนั้นยังใช้วิธีบ่อนทำลายคู่แข่ง เช่น กล่าวหาว่ารุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ และปลุกม็อบต่อต้าน ทำเรื่องร้องเรียนต่อกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ส่วนราชการอื่นๆ หรือจังหวัดออกใบอนุญาตให้ บริษัทในเครือของเขาเคยถึงขนาดพานายก อบต.บางคนเดินสายไปจังหวัดต่างๆ อวดอ้างสรรพคุณความดีความชอบต่างๆนานา และโจมตีผู้ประกอบการอื่น

มีอยู่หนึ่งกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าทำการตรวจสอบพบว่าบริษัทของนายนพพร เสนอผลประโยชน์ให้แก่ อบต. คือกรณีโครงการห้วยบง ที่เขาได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เขาได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ อบต.ห้วยบงเพื่อผูกขาดพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว สตง.ได้ตรวจสอบแล้วจึงส่งบันทึกให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาแก้ไข และทวนมติดังกล่าวซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลักฐานดังกล่าวมีความสมบูรณ์และถือว่าได้กระทำความผิดสำเร็จแล้วสามารถดำเนินคดีต่อนายนพพร และกลุ่มบริษัทของเขาได้

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทของนายนพพรจะใช้วิธีการซื้อสิทธิในพื้นที่ ส.ป.ก.ทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 และในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโซน E ที่เป็น ภบท.5 โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย โดยเฉพาะในเขตป่าอนุรักษ์โซน C มีบันทึกการประชุมระดับจังหวัดร้อยเอ็ดที่รับทราบว่ามีการซื้อสิทธิที่ดินที่ละเมิดกฎหมายบนป่าดงแม่เผดที่เขต ต.คำพอุง อ.โพธิ์ชัย ที่สามารถดำเนินคดีกับกลุ่มบริษัทของนายนพพรได้ วิธีการคือบริษัทของนายนพพร ได้หว่านเงินให้เกษตรกรไร่ละ 200 บาท และให้ราษฎรทำข้อตกลงยินยอมผูกขาดไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ได้

เบื้องหลังการทำธุรกิจนายนพพรจนรวยกว่า 3 หมื่นล้านวันนี้ไม่ได้มาด้วยโชคช่วยจริงๆ. 

**ข้อมูลเรียบเรียงจาก “วงจรอุบาทว์ เครือข่ายผลประโยชน์โครงการพลังงานลม มูลค่าหมื่นล้านบาท”คอลัมน์ ปากกล้าขาไม่สั่น ASTVผู้จัดการรายวัน โดย ประพันธ์ คูณมี ตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2554


กำลังโหลดความคิดเห็น