xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปูมเศรษฐีหมื่นล. ‘นพพร’พัวพันคดี’พงศ์พัฒน์’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการ - เปิดปูม “นพพร ศุกพิพัฒน์” นักธุรกิจพลังงานลมเศรษฐีหน้าใหม่ผู้ติดอันดับที่ 31 ของฟอร์บส์ปีล่าสุด ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 2.6 หมื่นล้านคาดจะพุ่งไปถึง 4.2 หมื่นล้านในอีก 4 ปีข้างหน้า ย้อนอดีตจากคนที่ไม่มีใครรู้จัก อายุ 21 ปีเล่นหุ้นรวย อาศัยวิกฤตต้มยำกุ้งกระโดดเข้าจับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแต่ล้มเหลว จนมาจับพลังงานลมสร้างความฮือฮาให้วงการด้วยแรงหนุนส่ง-สายสัมพันธ์เครือข่ายผลประโยชน์ธุรกิจพลังงานทั้งนักการเมือง-เทคโนแครตพลังงานอย่าง “ปิยสวัสดิ์” ช่วยกันผลักดันจนกลายเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อยหมื่นล้าน

คดีที่เกี่ยวข้องกับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และ พวก ล่าสุดปรากฎชื่อของ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (Wind Energy Holding (WEH) ฐานเข้าไปพัวพันจ้างวานผู้ต้องหาที่ถูกจับก่อนหน้านี้บีบบังคับผู้อื่นให้ลดหนี้ และ ถูกออกหมายจับในข้อหาร้ายแรง

ทั้งนี้ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำการร่วมกันทำร้ายผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐกิจที่อายุน้อยที่สุด ติดอันดับที่ 31 ใน 50 ของมหาเศรษฐีประจำปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นโดยนิตยสาร ฟอร์บไทยแลนด์ (FORBES THAILAND) ที่ร่ำรวยจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม และ มีมูลค่าทรัพย์สิน 26,076 ล้านบาท นอกจากเป็นประธานบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ แล้ว เขายังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ผ่านบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น ซึ่งถืออยู่ในวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ กว่า 63% ขณะที่บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยีฯเป็นบริษัทที่นายนพพรถือหุ้นอยู่มากถึง 74.5% ร่วมกับบริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ในฮ่องกงที่ถืออยู่ 24.5 %

นายนพพร หรือ “นิค” อายุเพิ่งจะ 43 ปี ครองตัวเป็นโสด ฟอร์บระบุว่า เขาเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพลังงานจากลม ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในบรรดาเศรษฐีหน้าใหม่ 9 คนที่ถูกจัดอันดับในปีนี้ เขาก่อตั้งและถือครองหุ้นกว่า 2 ใน 3 ของบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ ธุรกิจที่สร้างพลังงานไฟฟ้า 420 ล้านวัตต์ส่งขายให้ กฟผ. พร้อมกับแผนขยายกำลังการผลิตแตะ 1,000 ล้านวัตต์ ภายในปี 2561 ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียอาคเนย์

นายนพพรวัยเพียงแค่อายุ 21 ปีสามารถโกยเงินจากตลาดหลักทรัพย์ได้เกือบ 26 ล้านบาท ก่อนจะสูญทั้งหมดไปกับการทำนิตยสาร และ ตั้งต้นใหม่กับธุรกิจพลังงานทางเลือกในปี 2548 ด้วยการสนับสนุนเงินทุนจาก “ประเดช กิตติอิสรานนท์”

วันนี้นายนพพรมีทรัพย์สินจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังลมมูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท ติดอันดับ 31 มีกำไรสุทธิถึงเกือบ 1.2 พันล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว จากการประเมินมูลค่าบริษัทเพื่อการเสนอขายแบบเจาะจงเมื่อเดือนมีนาคม ให้มูลค่าบริษัทนี้ถึง 4.24 หมื่นล้านบาท

ทว่า ปูมหลังของนายนพพร ในวงการธุรกิจ นับเป็นเครื่องหมายคำถาม

บางส่วนในวงการธุรกิจพลังงานเพียงทราบว่า นายนพพร เป็นนักลงทุนด้านพลังงานลม โดยก่อตั้ง บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด

เมื่อประมาณปี 2540 ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เขาเริ่มพยายามเข้ามาช้อนซื้อกิจการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กประเภท Co-generation ที่ได้รับตอบรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จคือโครงการโรงไฟฟ้าของสวนอุตสาหกรรมระยองอินดัสเตรียลปาร์ค ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งแต่เขาไม่ประสบความสำเร็จ และในที่สุดก็เป็นคดีความที่ศาลยุติธรรม (แพ่ง) เพื่อฟ้องร้องค่าเสียหายแทน

ในทศวรรษนี้เขาได้กลับมาอีกครั้งในนามนักลงทุนพลังงานลม โดยประมาณกลางปี 2550 เขาเริ่มเปิดตัวในนาม บริษัท เขาค้อพลังงานลม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท ในเครือของบริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการพลังงานลมแห่งแรก ที่ได้ทำการตรวจวัดลมที่พิสูจน์ได้ว่าที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ให้การสนับสนุนเต็มที่ รวมทั้งอดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน คือ ดร.พานิช พงศ์พิโรดม ร่วมกันไปเยี่ยมชมงานเสาวัดลมของเขาที่เขาค้อและให้การสนับสนุนเต็มที่

หลังเปิดตัวเขาเริ่มต้นโครงการได้ไม่สวยนัก เนื่องจากได้รับการต่อต้านจากชาวบ้าน ต.บ้านเข็กน้อย ที่ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร ต่อมาเขาได้ยื่นคำร้องขาย ไฟฟ้าต่อ กฟผ. ในนาม บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมีพันธมิตรสำคัญคือ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งในขณะนั้นยังไม่เข้าจดทะเบียน MAI ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้ามาถือหุ้นบางส่วนโดยมีข้อตกลงขอรับงานก่อสร้างโครงการบางส่วน เช่น งานโยธา งานก่อสร้างสายส่ง และสถานีไฟฟ้าย่อย

บ.เด็มโก้ มีบุคคลที่เป็นกลจักรสำคัญคือ ที่นายประเดช กิตติอิสรานนท์ กรรมการผู้จัดการ ที่เป็นอดีตวิศวกรของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ นายสวาสดิ์ ปุ้ยพันธวงศ์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามี นางประพีร์ ปุ้ยพันธวงศ์ (เหตระกูล) ประธานกรรมการ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บ.เด็มโก้ ช่วยประสานงานเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าของ กฟภ. และ ประเดช เองก็จบวิศวกรรมไฟฟ้าจากจุฬาฯ โดยมีเพื่อนร่วมสถาบันที่มีบทบาทสูงคือ นายสหัส ประทักษ์นุกูล รองผู้ว่าการนโยบายและแผน ที่ดูแลฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทางด้านเทคนิคการให้อนุมัติเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า

เมื่อ 22 สิงหาคม 2551 บริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ ประสบความสำเร็จได้รับอนุมัติเชื่อมโยงและรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.เป็นปริมาณ 60 เมกะวัตต์ เป็นแห่งแรก นอกจากนายสหัส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ กฟผ.แล้ว ยังเป็นกรรมการของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทลูกของ กฟผ. ในยุคนั้น กฟผ.มีนายสมบัติ ศานติจารี (วิศวเกษตร)เป็นผู้ว่า กฟผ. และกำกับดูแลโดยนายพรชัย รุจิประภา (ศิษย์เก่าม.เกษตร) อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการ กฟผ. และในยุคพลโทหญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ เป็น รมต. พลังงาน ศิษย์เก่า ม.เกษตร เช่นเดียวกัน สามี คือ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จึงถือว่า ในยุคนี้ถือว่า ม.เกษตร คอนเนกชันครองอำนาจในกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เมื่อนายนพพรสามารถได้รับอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าแล้วถือว่าเขาสามารถแต่งเนื้อแต่งตัวบริษัทของเขาได้ดีทีเดียว โดยก.พ.52 ขายหุ้นให้บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทลูกของ กฟผ. เข้ามาถือหุ้นร้อยละ 26 ของทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เงิน 97.5 ล้านบาทได้ไหลเข้ามาในบริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ แล้ว

เมื่อเดือนมี.ค.52 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดให้มีการวางหลักประกันเพื่อเสนอขายไฟฟ้าเมกะวัตต์ ละสองแสนบาท ซึ่งเป็นการประกาศย้อนหลังที่ บริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ ของกลุ่มนายนพพร ได้ตอบรับซื้อไปก่อนหน้าแล้วตั้งแต่สิงหาคม 2551 โครงการเขาค้อของเขาจึงลอยตัวและถือว่าได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ แต่กลุ่มของนายนพพร ซึ่งได้ บมจ.ราชบุรี เป็นหุ้นส่วนแล้ว ย่อมมีสถานะการเงินและความพร้อมมากกว่ากลุ่มอื่น และเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 กลุ่มของเขาสามารถขายหุ้นให้แก่ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด อีกร้อยละ 6 เป็นจำนวนเงิน 15 ล้านบาท

อุปสรรคอื่นๆ ที่คู่แข่งต้องเจอคือความยากลำบากในการขออนุญาตเชื่อมโยงกับสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งมี 2 กรณีคือ ความสามารถการรองรับได้ของระบบ และความมีเสถียรภาพของระบบเมื่อเชื่อมต่อโรงไฟฟ้ากังหันลม

และในที่สุดก็ได้รับอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 โครงการที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โครงการละ 90 เมกะวัตต์ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ในนามบริษัท เฟิร์สโคราชวินด์ จำกัด และ บริษัท เค อาร์ ทู จำกัด

วิชามารอย่างหนึ่งที่เป็นกลยุทธ์ตื้นๆ แต่ได้ผลของบริษัทในเครือนายนพพร คือ นอกจากสูตรสำเร็จคือจัดกิจกรรมพาไปดูงานเลี้ยงดูปูเสื่อโดยการเหมารถทัวร์ไปต่างจังหวัดแล้ว การทุ่มซื้อตัวผู้บริหาร อบต. ให้เป็นพวกเป็นสิ่งที่ได้พบเห็นเป็นประจำ

มีอยู่หนึ่งกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าทำการตรวจสอบพบว่าบริษัทของนายนพพร เสนอผลประโยชน์ให้แก่ อบต. คือกรณีโครงการห้วยบง ที่เขาได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เขาได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ อบต.ห้วยบงเพื่อผูกขาดพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว สตง.ได้ตรวจสอบแล้วจึงส่งบันทึกให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาแก้ไข และทวนมติดังกล่าวซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทของนายนพพรจะใช้วิธีการซื้อสิทธิในพื้นที่ ส.ป.ก.ทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 และในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโซน E ที่เป็น ภบท.5 โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

เบื้องหลังการทำธุรกิจนายนพพรจนรวยกว่า 3 หมื่นล้านวันนี้ไม่ได้มาด้วยโชคช่วยจริงๆ.

**ข้อมูลเรียบเรียงจาก “วงจรอุบาทว์ เครือข่ายผลประโยชน์โครงการพลังงานลม มูลค่าหมื่นล้านบาท”คอลัมน์ ปากกล้าขาสั่น ASTVผู้จัดการรายวัน โดย ประพันธ์ คูณมี ตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น