xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"ย้ำต้องทำประชามติ ให้เลือกรธน.ใหม่-รธน.50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.40 น. วานนี้ (27พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้าให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการ ร่างรัฐธรรมนูญ ต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าหารือว่า เป็นการให้ความเห็นส่วนตัว ไม่ผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสิ่งที่ตนอยากนำเสนอ คือ อยากได้รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การปฏิรูป และเป็นการปฏิรูปอย่างยั่งยืน ดังนั้นจะเสนอ 3 เรื่องใหญ่คือ 1. ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญมีความยั่งยืน โดยต้องเริ่มต้นจากการมีกระบวนการทำประชามติ 2. รัฐธรรมนูญไทยไม่ควรถอยหลัง ไม่ควรไปลดทอนสิทธิ หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งรวมถึงการที่ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้บริหารประเทศ และการกำหนดทิศทางประเทศ และ 3. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องแก้ปัญหาหลักของระบบการเมือง คือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายการเมือง เป้าหมายคือ ต้องไปเพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล และบทบาทของภาคประชาชนรวมทั้งต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน
ส่วนแนวความคิดที่ว่า จะเลือกตั้งกันอย่างไรนั้น ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด อยู่ที่ว่าเมื่อเลือกตั้งเข้าไปแล้ว เข้าไปใช้อำนาจทุจริตมิชอบ ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเสียประโยชน์ เราจะแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยสิ่งเหล่านี้จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และอีกหลายส่วนต้องไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะในอดีตบางบทบัญญัติที่อยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ดีแต่ปฏิบัติไม่ได้ ต้องแก้ไขอย่างไร
ส่วนระบบการตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ที่เป็นที่มาของวิกฤติการเมือง ตนเห็นว่าในระบบรัฐสภา ต้องมีเสียงข้างมากไม่เช่นนั้นทำงานไม่ได้ ปมปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้พรรคการเมือง หรือการทำงานในสภาอ่อนแอ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีเสียงข้างมาก สถาบันการเมืองต้องเข้มแข็ง แต่เมื่อพรรคการเมือง นักการเมืองมีอำนาจแล้ว จะต้องยอมถูกตรวจสอบ และรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และการตรวจสอบการถ่วงกุลต้องทันต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่เกิดเรื่องขึ้นแล้ว แต่ใช้เวลาเป็นปีในการตรวจสอบ ความตึงเครียด ความไม่พอใจ การต่อต้านก็สะสมมากขึ้น
ในเรื่องการได้มาของ ส.ว.นั้น อย่าให้เหมือนกับฐานการเลือกส.ส. เพราะเป็นคนละวัตถุประสงค์กัน และต้องพยายามหาวิธีการไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ส่วนที่นายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่า จะนำหลักสถิติมาถามความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปนั้น ตนเห็นว่า ถ้าใช้หลักสถิติ ก็เป็นเรื่องที่ดี ดีกว่ารับฟังความคิดเห็นโดยไม่มีหลักวิชาการอ้างอิง แต่ต้องเข้าใจว่า การออกกแบบระบบการเมือง หรือประเทศ จะเอาเพียงแค่ความเห็นเป็นประเด็นมารวมกันไม่ได้ ระบบต้องสอดคล้องกัน จึงคิดว่าเป็นหลักหนึ่ง ที่ใช้นำมาประกอบเท่านั้น อะไรที่เป็นข้อมูลถูกต้อง เที่ยงธรรม ก็นำมาเป็นประโยชน์ได้ แต่ไม่ได้ความว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำตามที่ไปสำรวจมา เพราะการไปสำรวจมาเมื่อนำมาประกอบแล้ว อาจไม่สอดคล้องกัน
"ยืนยันว่า การทำประชามติเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีการทำประชามติ ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเกิดขึ้น ประเทศไทยก็จะต้องมาเสียเวลากับคนกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐธรรมนูญ ว่าจะรื้อ หรือทำกันใหม่หรือไม่ สุดท้ายก็ไม่เดินไปสักที เราหวังว่าเมื่อเหตุการณ์มาถึงจุดนี้ เราอยากได้กติกาที่ดี ใช้ได้ ประชาชนยอมรับ พอพ้นระยะที่สาม ประเทศจะได้เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องการเมือง และรัฐธรรมนูญอีก แต่ถ้าไม่ทำประชามติ จะร่างรัฐธรรมนูญดี หรือไม่ดีอย่างไร ก็ต้องมีกลุ่มคนที่ไม่พอใจ สิ่งแรกที่เขาจะหยิบขึ้นมาคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนให้การยอมรับหรือไม่ ฉะนั้นการทำประชามติเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ผมมีข้อเสนอว่า การทำประชามติ ต้องมีทางเลือกให้กับประชาชนที่ชัดเจน ไม่ใช่เลือกว่ารับ หรือไม่รับ แล้วจะได้อะไร เมื่อไหร่ จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ เพราะไม่อยากให้เสียเวลาอีก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ช่วงการแสดงความคิดเห็น ควรมีการผ่อนปรนกฎอัยการศึกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า กฎอัยการศึก เป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ดังนั้น ผู้มีอำนาจจะต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างการรักษาความสงบเรียบร้อย กับการเสียโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย หรือเปิดเผยมากขึ้น ซึ่งจะบอกว่ากฎอัยการศึกนั้น ไม่มีผลกระทบใดเลย คงไม่จริง โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นทางผู้มีอำนาจต้องพิจารณาว่า คุ้มค่ากับการที่มีเครื่องมือนี้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือไม่ เพราะหน่วยงานความมั่นคงมีข้อมูลอยู่แล้ว ตนเห็นด้วยที่จะให้ผ่อนปรนกฎอัยการศึก ตนไม่เชื่อว่า เมื่อไม่มีกฎอัยการศึกแล้วจะมีปัญหาเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ถ้าเกิดปัญหาตรงจุดใด ก็อาจประกาศเฉพาะพื้นที่ได้ และคิดว่าหากบรรยากาศยังเป็นข้อโต้แย้งไปเรื่อยๆ ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานปฏิรูป

**ให้เลือกเอารธน.ใหม่หรือรธน.ปี50

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการหารือ ว่า การชี้แจงของนายอภิสิทธิ์ ได้เสนอว่า ควรจะตั้งคำถามในการลงประชามติว่า จะให้ใช้รัฐธรรมนูญฯฉบับใหม่ หรือกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับก่อนการยึดอำนาจของคสช. (ฉบับปี 2550) โดยมีตรรกว่า การตั้งคำถามแบบนี้จะช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน บัญญัติว่า หากรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำอยู่ตกไป ไม่ว่าด้วยเหตุใด เช่น ร่างไม่เสร็จตามกำหนด หรือ สปช.ไม่ผ่านความเห็นชอบ ฯลฯ ก็ให้คสช. ตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกมธ.ยกร่างฯ ชุดใหม่ ตั้งต้นกระบวนการร่างใหม่เรื่อยๆ จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใดผ่านออกมาบังคับใช้ ซึ่งเป็นเวลาปลายเปิด แต่คำถามที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ อาจใช้เวลาทำประชามติเพิ่มขึ้น ประมาณ 4 เดือน ตาม พ.ร.บ.การทำประชามติ เพราะหากเป็นคำถามที่เสนอมา เป็นเรื่องที่ประชาชนจะลงมติได้ไม่ยาก จากนั้นไม่ว่าผลการลงประชามติ จะเป็นอย่างไร ก็จะเริ่มต้นเข้าสู่การเลือกตั้งต่อไปได้เลย ไม่ต้องกลับมาตั้งต้นยกร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ มีความ"สมาร์ทมาก" เพราะเป็นการตั้งคำถามที่ชัดเจนกว่าการทำประชามติเมื่อปี 2550 ที่ถามว่า "เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือให้ คมช. หยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดในอดีตกลับมาบังคับใช้ " และหากผลออกมาเป็นการให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือกลับไปใช้ฉบับปี 2550 ก็ตาม กระบวนการต่อจากนั้น ก็ยังสามารถพิจารณา ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกัน หรือปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นต่อไปในระหว่างรอกระบวนการเลือกตั้ง โดยอาจกำหนดกระบวนการดังกล่าวไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะนำมาบังคับใช้
" นายอภิสิทธิ์ ยังให้ข้อสังเกตว่า อย่าไปห่วงเลยว่าการทำประชามติ จะมีการแทรกแซง การล็อบบี้ หรือซื้อเสียงประชาชน ให้ถือว่าเป็นเหมือนกับการซ้อมใหญ่ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในขั้นต่อไป ก็จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน อีกทั้งท่านยังเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 เองก็ดีแล้ว เป็นส่วนใหญ่ มีการให้อำนาจของประชาชนมากพอสมควร แต่ปัญหาอยู่ที่คน อยู่ที่การปฏิบัติบังคับใช้มากกว่า" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

** ค้านนิรโทษกรรมสุดซอย

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังมีข้อเสนอที่สำคัญเช่น ควรจะกระจายอำนาจสู่การเมืองระดับภูมิภาคที่มาจาการเลือกตั้ง เพิ่มช่องทางและอำนาจการตรวจสอบของประชาชนในทุกระดับ ให้ประธาน และรองประธานสภาผู้แทนฯ มาจากพรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภา ตามลำดับ ไม่ใช่มาจากฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียว ให้ฝ่ายค้านนั่งตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญ และวิสามัญในกรรมาธิการชุดที่สำคัญ กำหนดให้นายกฯ และรัฐมนตรีต้องมาตอบกระทู้สดในสภาด้วยตนเอง ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยเป็นฐานที่มาต่างจาก ส.ส. เช่นฐานสายอาชีพเป็นต้น โดยเพิ่มอำนาจให้เสนอหรือยับยั้งกฎหมายได้ กำหนดให้กฎหมายสำคัญเช่นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องใช้มติไม่ต่ำกว่าสองในสามของสภาจึงจะแก้ไขหรือเสนอได้
สำหรับปัญหาการทำงานล่าช้าขององค์กรอิสระ เพราะมีกรณีต้องพิจารณามากจนล้นงานนั้น ควรจะลดงาน ให้ทำแต่เรื่องสำคัญ เช่นตรวจสอบดำเนินการกับบุคคลในตำแหน่งสำคัญๆ โดยกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนเป็นต้น รวมทั้งเวลาพิจารณาคดีสำคัญๆ ควรใช้องค์คณะเฉพาะกิจที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันการแทรกแซง ล็อบบี้ ข่มขู่
ส่วนเรื่องโครงการประชานิยม นายอภิสิทธิ์ เสนอว่า กรณีที่พรรคการเมืองนำนโยบายประชานิยมไปหาเสียง จะต้องมีรูปแบบเนื้อหาที่ชัดเจน ทั้งโครงการอย่างครบถ้วน ตรวจสอบได้ และพรรคต้องรับผิดชอบต่อความสำเร็จ และล้มเหลวของโครงการนั้นๆ และยังได้แสดงความเป็นห่วงว่า หากผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรง จะทำให้สภาถอดถอนไม่ได้ เพราะจะมีการอ้างเสียงประชาชนที่เลือกเข้ามา ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้เสียงที่ตั้งรัฐบาล ต้องมีเสียงในสภาเกิน 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 เพราะจะนำมาสู่เผด็จการรัฐสภา และไม่เห็นด้วยกับการที่ ส.ส.ไม่สังกัดพรรค เพราะจะนำมาซึ่งความวุ่นวานทางการเมือง การขายเสียง รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรองดองแบบนิรโทษกรรมทุกกรณี จะต้องยกเว้นเรื่องการทำผิดทางอาญา การละเมิดชีวิต หรือทรัพย์สินผู้อื่น การทุจริต คอร์รัปชัน ไม่ควรรับการนิรโทษกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น