xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ชงแนวคิดร่าง รธน. ชูรอง ปธ.สภา-ปธ.กมธ.มาจากฝ่ายค้าน ต้านเลือกตั้ง ครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” เสนอแนวทางร่าง รธน. หนุนทำประชามติ สกัดนักการเมืองใช้อำนาจรัฐขู่ฝ่ายตรงข้าม แทรกแซง ขรก.และสื่อ รองประธานสภาฯ และประธาน กมธ.ต่างๆ ควรมาจากฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยแนวคิดเลือกตั้ง ครม.โดยตรง เหตุจะเป็นข้ออ้างไม่ให้มีการถอดถอนพ้นตำแหน่ง ต้องไม่นิรโทษกรรมทุกกรณี

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า สิ่งสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญนอกจากการทำประชามติ เพื่อไม่ให้กลุ่มเห็นต่างบางส่วนนำมาใช้อ้างเพื่อการเคลื่อนไหว ยังจะต้องถามความเห็นว่าในอนาคตควรจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวต่อไปหรือใช้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนที่มีการครอบครองอำนาจ ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีความเป็นประชาธิปไตยไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ การกระจายอำนาจสู่ประชาชน พร้อมกับให้มีช่องทางการตรวจสอบทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง คนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาต้องตระหนักว่ามารับใช้ประชาชนไม่ใช่มาปกครอง รวมทั้งรัฐธรรมนูญนี้ต้องแก้ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในอดีต อย่างกรณีที่นักการเมืองใช้อำนาจโดยไม่ชอบใช้อำนาจรัฐข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม แทรกแซงข้าราชการและสื่อมวลชน

นอกจากนี้ นายอภสิทธิ์มองว่ายังต้องเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุล ให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตำแหน่งประธานและรองประธานที่สภาผู้แทนราษฎร ควรมาจากพรรคการเมืองที่มีคะแนนสูงสุดและลดลงตามลำดับ เช่น หากพรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเป็นอันดับสองก็ให้ทำหน้าเป็นรองประธานสภา ขณะที่ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญให้มาจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เพราะจะทำให้การตรวจสอบดีกว่าเดิม

ส่วนนากยกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต้องมาตอบกระทู้สดด้วยตนเอง รวมทั้งให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ฐานที่มาต้องเลือกมาจากสายวิชาชีพ และให้เพิ่มอำนาจ ส.ว.ในการเสนอและยับยั้งกฎหมายได้ อีกทั้งการผ่านกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสภา

สำหรับองค์กรอิสระ นายอภิสิทธิ์เสนอว่า ที่ผ่านมาองค์กรอิสระมีปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดีและถูกแทรกแซงจากอิทธิพลภายนอก อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงควรให้องค์กรอิสระลดจำนวนเรื่องพิจารณาลง และให้กำหนดเวลาในการพิจารณา รวมทั้งให้มีการตั้งองค์คณะเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อป้องกันการแทรกแซงและไม่ให้รู้ว่าใครเป็นผู้พิจารณาคดี ส่วนในเรื่องนโยบายประชานิยมนั้น ไม่ควรเขียนจนพรรคการเมืองดำเนินนโยบายหาเสียงไม่ได้ แต่ควรกำหนดให้รูปแบบเนื้อหาที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ และพรรคต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลัง

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังได้แสดงข้อพึงระวังในการยกร่างฯ คือ เรื่องการแบ่งแยกอำนาจ หากให้คณะรัฐมนตรีหรือผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงอาจทำให้ไม่สามารถยื่นถอดถอนในสภาได้ เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นจะอ้างว่ามีที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

ส่วนแนวคิดในการให้พรรคการเมืองเป็นรัฐบาลแบบผสมนั้นอาจทำให้เป็นเผด็จการรัฐสภาก็ให้เกิดปัญหาการทุจริตบานปลายไม่สามารถตรวจสอบกันเองได้ หรือแนวคิดที่ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองนั้นก็อาจทำให้เกิดการไร้ระเบียบในสภา มีข้อเสียมากกว่าเพราะจะเกิดการเรียกร้องผลประโยชน์จากรัฐบาล

ด้านเรื่องการปรองดอง ต้องไม่ใช่การนิรโทษกรรมในทุกกรณี เพราะการละเมิดต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือแม้แต่การทุจริตก็ไม่ควรที่ได้รับการนิรโทษกรรม อีกทั้งหากจะมีการนิรโทษกรรมก็ควรระมัดระวังในการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญต้องกำหนดช่วงระยะเวลาให้ชัดเจนว่าจะเริ่มต้นตั้งและสิ้นสุดในช่วงใด หรือจะให้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากปัจจุบันก็ยังมีผู้กระทำผิดกฎหมายภายใต้กฎอัยการศึกอยู่

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ในการชี้แจงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอว่าควรจะตั้งคำถามในการลงประชามติว่า จะให้ใช้รัฐธรรมนูญฯฉบับนี้หรือกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนการยึดอำนาจของ คสช.” (ฉบับ 2550) โดยมีตรรกว่าการตั้งคำถามแบบนี้จะช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน บัญญัติว่า หากรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำอยู่ตกไปไม่ว่าด้วยเหตุใด เช่นร่างไม่เสร็จตามกำหนด หรือ สปช. ไม่ผ่านความเห็นชอบ ฯลฯ ก็ให้ คสช. ตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ตั้งต้นกระบวนการร่างใหม่เรื่อย ๆ จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใดผ่านออกมาบังคับใช้ ซึ่งเป็นเวลาปลายเปิด แต่คำถามที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ อาจใช้เวลาทำประชามติเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เดือนตาม พรบ.การทำประชามติ เพราะหากเป็นคำถามที่เสนอมาเป็นเรื่องที่ประชาชนจะลงมติได้ไม่ยาก จากนั้นไม่ว่าผลการลงประชามติจะเป็นอย่างไร ก็จะเริ่มต้นเข้าสู่การเลือกตั้งต่อไปได้เลย ไม่ต้องกลับมาตั้งต้นยกร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

โฆษก กมธ.ยกร่างกล่าวว่าส่วนตัวเห็นว่าข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์มีความ ‘สมาร์ทมาก’ เพราะเป็นการตั้งคำถามที่ชัดเจนกว่าการทำประชามติเมื่อปี 2550 ที่ถามว่า “เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือให้ คมช. หยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดในอดีตกลับมาบังคับใช้” และหากผลออกมาเป็นการให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือกลับไปใช้ฉบับปี 2550 ก็ตาม กระบวนการต่อจากนั้นก็ยังสามารถพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกัน หรือปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นต่อไปในระหว่างรอกระบวนการเลือกตั้ง โดยอาจกำหนดกระบวนการดังกล่าวไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำมาบังคับใช้

“นายอภิสิทธิ์ยังให้ข้อสังเกตว่าอย่าไปห่วงเลยว่าการทำประชามติจะมีการแทรกแซง การล๊อบบี้หรือซื้อเสียงประชาชน ให้ถือว่าเป็นเหมือนกับการซ้อมใหญ่เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในขั้นต่อไป ก็จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน อีกทั้งท่านยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เองก็ดีแล้วเป็นส่วนใหญ่ มีการให้อำนาจของประชาชนมากพอสมควร แต่ปัญหาอยู่ที่คน อยู่ที่การปฏิบัติบังคับใช้มากกว่า” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังมีข้อเสนอที่สำคัญเช่น ควรจะกระจายอำนาจสู่การเมืองระดับภูมิภาคที่มาจาการเลือกตั้ง เพิ่มช่องทางและอำนาจการตรวจสอบของประชาชนในทุกระดับ ให้ประธานและรองประธานสภาผู้แทนฯ มาจากพรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาตามลำดับไม่ใช่มาจากฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียว ให้ฝ่ายค้านนั่งตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญและวิสามัญในกรรมาธิการชุดที่สำคัญ กำหนดให้นายก ฯ และรัฐมนตรีต้องมาตอบกระทู้สดในสภาด้วยตนเอง สว. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยเป็นฐานที่มาต่างจาก ส.ส. เช่นฐานสายอาชีพเป็นต้น โดยเพิ่มอำนาจให้เสนอหรือยับยั้งกฎหมายได้ กำหนดให้กฎหมายสำคัญเช่นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องใช้มติไม่ต่ำกว่าสองในสามของสภาจึงจะแก้ไขหรือเสนอได้

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่านายอภิสิทธิ์ได้เสนอปัญหาการทำงานล่าช้าขององค์กรอิสระเพราะมีกรณีต้องพิจารณามากจนล้นงาน ว่าควรจะลดงานให้ทำแต่เรื่องสำคัญ เช่นตรวจสอบดำเนินการกับบุคคลในตำแหน่งสำคัญ ๆ โดยกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนเป็นต้น รวมทั้งเวลาพิจารณาคดีสำคัญ ๆ ควรใช้องค์คณะเฉพาะกิจที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันการแทรกแซงล๊อบบี้ข่มขู่

ส่วนโครงการประชานิยม นายอภิสิทธิ์เสนอว่ากรณีที่พรรคการเมืองนำนโยบายประชานิยมไปหาเสียง จะต้องมีรูปแบบเนื้อหาที่ชัดเจนทั้งโครงการอย่างครบถ้วน ตรวจสอบได้ และพรรคต้องรับผิดชอบต่อความสำเร็จและล้มเหลวของโครงการนั้น ๆ และยังได้แสดงความเป็นห่วงว่า หากผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจะทำให้สภาถอดถอนไม่ได้ เพราะจะมีการอ้างเสียงประชาชนที่เลือกเข้ามา ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้เสียงที่ตั้งรัฐบาลต้องมีเสียงในสภาเกิน 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 เพราะจะนำมาสู่เผด็จการรัฐสภา และไม่เห็นด้วยกับการที่ส.ส.ไม่สังกัดพรรค เพราะจะนำมาซึ่งความวุ่นวานทางการเมือง การขายเสียง รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรองดองแบบนิรโทษกรรมทุกกรณี จะต้องยกเว้นเรื่องการทำผิดทางอาญา การละเมิดชีวิตหรือทรัพย์สินผู้อื่น การทุจริตคอรัปชั่นไม่ควรรับการนิรโทษกรรม

ส่วนการให้ความเห็นของพรรคหรือกลุ่มการเมืองใด ๆ ขณะนี้ยังไม่มีคิวแต่เชื่อว่าทางพรรคเพื่อไทยจะมีการประสานนัดหมายมาในวันสองวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น