xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชงคงแจกใบเหลือง-แดง ให้อำนาจเลื่อนวันเลือกตั้งได้ ออกกฎหมายตรวจสอบประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
คณะทำงาน กกต.เสนอยกเครื่ององค์กร คงอำนาจแจกใบเหลือง-ใบแดง แต่แก้ไขให้มีเวลาสอบสวนโกงเลือกตั้ง 60 วันก่อนรับรองผล ขยายเวลาได้ 1 ครั้ง 30 วัน พร้อมให้อำนาจประธาน กกต. เลื่อนวันเลือกตั้งได้ ให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์-เลือกตั้งสัดส่วนเท่ากัน ใช้เขตใหญ่เรียงเบอร์ ส.ว.สรรหาทั้งหมด เข้มสมาชิกตั้งพรรคการเมือง พร้อมออกกฎหมายคุมนโยบายประชานิยม ดึง ป.ป.ช.-สภาพัฒน์-คลัง-สำนักงบฯ ตรวจสอบ

วันนี้ (25 พ.ย.) คณะทำงานจัดทำข้อเสนอประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.เป็นประธาน ได้มีการประชุมพิจารณาประเด็นปัญหาข้อกฎหมายต่างๆ แล้วเสร็จ และเตรียมที่จะเสนอเข้าที่ประชุมร่วมระหว่าง กกต.กับคณะที่ปรึกษากฎหมาย ที่ประกอบไปด้วยอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายมหาชน ในวันพรุ่งนี้ (26 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ก่อนที่จะเสนอไปยัง พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 28 พ.ย. ตามที่ พล.อ.เลิศรัตน์ ได้ขอให้ กกต.ส่งข้อเสนอภายในวันดังกล่าว

ทั้งนี้ ข้อสรุปที่ กกต.ได้จากการศึกษาเห็นว่าควรคงอำนาจใบเหลืองใบแดงไว้ที่ กกต.เพื่อไว้จัดการกับการทุจริตเลือกตั้ง โดย กกต.เห็นว่าเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ กกต. ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง เพื่อให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกได้นั้น กกต.ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่กระทำผิดได้ ส่วนใหญ่ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการแก้ไขโดยหลังลงคะแนนเลือกตั้งแล้วให้ กกต.มีเวลา 60 วัน ก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ในการสืบสวนสอบสวน เพื่อพิจารณาสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือหากไม่แล้วเสร็จให้สามารถขยายได้ 1 ครั้ง คือ 30 วัน รวมระยะเวลา 90 วัน แต่ถ้าไม่สามารถสอบสวนได้แล้วเสร็จให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อนแล้ว ทั้งนี้จะสอดรับกับประกาศ คสช.ฉบับที่ 58 ให้ กกต.ประกาศผลเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นภายใน 60 วันนับแต่เลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ประธาน กกต.โดยความเห็นชอบของ กกต. มีอำนาจในการออกประกาศเลื่อนวันเลือกตั้งได้ และให้แยกระหว่าง พ.ร.ฎ.ยุบสภา และการกำหนดวันเลือกตั้งออกจากกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เช่น การยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56 และกำหนดวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ที่ผ่านมา ขณะที่สถาบันการเมืองกำหนดให้มี ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง และจากระบบบัญชีรายชื่อในสัดส่วนเท่ากัน โดย ส.ส.เขตนั้น ให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง หรือใช้เขตใหญ่เรียงเบอร์ ส่วน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อนั้นกำหนดให้มีที่มาหลากหลาย และมีความเป็นตัวแทนของภูมิภาคจริง ส่วนวุฒิสภา หรือ ส.ว.ให้มาจากการสรรหาทั้งหมด แต่ต้องมีการปรับรูปแบบองค์ประกอบและวิธีการสรรหาใหม่ ขณะที่พรรคการเมืองก็ให้มีการจัดตั้งได้ยากโดยจะต้องมีการจัดหาสมาชิกให้ได้ใน 4 ภาคจำนวน 5 พันคนก่อน จึงจะถือว่ามีสภาพความเป็นพรรคการเมือง และมีการแก้ไขในเรื่องการยุบพรรค เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคกระทำทุจริตซื้อเสียง โดยให้เหลือเป็นเพียงความผิดเฉพาะตัวการกับผู้สนับสนุนเท่านั้น

ส่วนในเรื่องของนโยบายประชานิยมเสนอให้มีการบัญญัติกฎหมาย โดยมีคณะกรรมการเฉพาะขึ้นชุดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), กระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ ขึ้นเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของนโยบายประชานิยมขณะที่ใช้หาเสียง และติดตามการปฏิบัติตามนโยบาย เมื่อนโยบายดังกล่าวรัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาว่าสามารถทำได้จริงเพียงใด และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น