xs
xsm
sm
md
lg

“ปฏิรูปการเลือกตั้ง ส.ส.ให้โปร่งใส เพื่อได้ผู้นำประเทศที่บริหารบ้านเมือง โดยยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบและสำนึกรู้ชอบชั่วดี” 1

เผยแพร่:   โดย: ดร.มานะ นิมิตรมงคล

โดย...ดร.มานะ นิมิตรมงคล2

ระบอบประชาธิปไตย

การเลือกตั้งอย่างเสรีเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งมิใช่ตัวแปรที่กำหนดความสำเร็จทั้งหมดของระบอบประชาธิปไตยที่ควรประกอบด้วย การเลือกตั้งที่มีคุณภาพ การมีรัฐบาลที่ตอบสนองและรับผิดชอบต่อประชาชน มีสื่อมวลชนเสรีที่มีคุณภาพ สังคมมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เข้าใจและสอดคล้องกับระบบประชาธิปไตย และการมีช่องทาง กลไกที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะอย่างตระหนักรู้

จากบทเรียนที่ผ่านมา การเลือกตั้งมักเชื่อมโยงกับคอร์รัปชันและมีการถกเถียงกันตลอดว่า สถาบันทางการเมือง (พรรคการเมือง ระบบรัฐสภาที่มี ส.ส. ส.ว.) ในอนาคตควรเป็นอย่างไร ควรมีวิธีการเข้าสู่อำนาจอย่างไร เช่น เลือกตั้งทางตรง ระบบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ระบบการสรรหา เป็นต้น และควรมีการเชื่อมโยงกับอำนาจบริหาร ตุลาการและการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจอย่างไร ดังนั้นการปฏิรูปการเลือกตั้งจึงเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน

รายงานนี้เพื่อเป็นมุมมองที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นว่า การเลือกตั้งที่ดีจะช่วยลดโอกาส ลดแรงจูงใจของคนที่จะเข้าสู่การเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบหรือคอร์รัปชันที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศได้

ปฏิรูปอย่างไรให้ได้คนดีและเป็นตัวแทนที่แท้จริง

เพื่อระบอบประชาธิปไตยที่ดี มีรัฐบาลต้องตอบสนองและรับผิดชอบต่อประชาชน จึงควรมีการปฏิรูป 3 องค์ประกอบไปพร้อมๆ กันคือ

1. ระบบการเลือกตั้ง ลดการซื้อเสียง ทำให้ได้ ส.ส.ที่เป็นผู้แทนของประชาชนทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงอัตลักษณ์ (อาชีพ เพศ ฯลฯ) และต้องมีมาตรการป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมือง

2. การจัดการ หมายถึงผู้บริหารจัดการเลือกตั้งและกติกาการเลือกตั้ง ที่ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการหาเสียง การจับและลงโทษคนโกงเลือกตั้งต้องรวดเร็วและเป็นธรรม ฯลฯ เป็นต้น

3. พรรคการเมืองและผู้สมัครรับการเลือกตั้ง ต้องมีกฎและกติกาที่ไม่ปิดกั้นการเป็นทางเลือกของประชาชน ปิดกั้นโอกาสการเข้าเป็นผู้รับการเลือกตั้ง ไม่เพิ่มต้นทุนพรรคการเมืองและผู้สมัคร มีมาตรฐานการสร้างข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบนโยบาย ประวัติ ผลงานและแนวทางการทำงานที่ครอบคลุมรอบด้าน

นโยบายพรรคการเมืองและนักการเมือง

มีการศึกษา3 ที่ชี้ว่า นโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคและนักการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงของประชาชนอย่างยิ่ง ขณะที่การซื้อเสียงได้ลดความสำคัญต่อการตัดสินใจลงตามลำดับ และประชาชนเริ่มเรียนรู้ทางการเมืองและพร้อมที่จะตัดสินใจอย่างมีเหตุผลที่ตนเชื่อมากขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมากคือในการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ทำอย่างไรจะเปิดให้สมาชิกพรรคและประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและวิพากษ์วิจารณ์ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพรรคการเมืองจะเป็นตัวแทนของประชาชนมิใช่ตัวแทนของกลุ่มนายทุนพรรค และทำอย่างไรนโยบายที่เสนอต่อประชาชนจะเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการเสนออย่างรับผิดชอบ

เป็นที่น่าคิดว่า ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการศึกษาและจัดทำแผนหรือยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาระยะยาวด้านต่างๆ อยู่มาก เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ รวมทั้งแผนแม่บท เช่น กรณีโลกร้อน การจราจรและขนส่ง เป็นต้น แผนเหล่านี้เป็นแผนระยะยาวที่มีการศึกษาและวางแนวทางไว้อย่างดี ดังนั้น สมควรหรือไม่ที่พรรคการเมืองและนักการเมืองที่แข่งขันกันเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในระยะเวลาสั้นๆ จะสามารถกำหนดนโยบายสาธารณะใหม่ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับแผนหรือยุทธศาสตร์เหล่านั้นได้

การเปิดเผยข้อมูล

มีการเสนอว่านโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองและนักการเมืองควรมีลักษณะดังนี้

1. ในแต่ละนโยบายต้องมีเนื้อหาที่มากเพียงพอ เช่น นโยบายการเอาชนะยาเสพติด จะทำด้วยมาตรการอย่างไร โดยไม่ใช้ความรุนแรงและไม่เป็นธรรม หรือนโยบายด้านสังคม ทำเพื่ออะไร หวังผลอะไร แนวทางปฏิบัติและมีขอบเขตเพียงใด เป็นต้น

2. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลไก วิธีที่จะปฏิบัติให้นโยบายนั้นๆ ลุล่วงได้ เช่น แหล่งงบประมาณ ขอบเขตของโครงการ วงเงินที่ต้องใช้ การศึกษาประเมินผลได้ผลเสีย และความรับผิดชอบของบุคคล เป็นต้น

ในการหาเสียง นักการเมืองต้องพูดบนความจริง บอกในสิ่งที่อยู่ในอำนาจและบทบาทที่มีอยู่จริงของ ส.ส.พรรคการเมืองและคนที่ต้องการเป็น ส.ส.ต้องสร้างสมความดีให้ประชาชนเห็นอย่างต่อเนื่อง มิใช่อาศัยเทคนิคด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างกระแสนิยมในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน วิธีนี้จะช่วยลดต้นทุนในการหาเสียงลดการแข่งขันทางการเมืองได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเสนอตัวเป็นผู้แทนประชาชนต้องสามารถพิสูจน์ผลงานและแนวคิดที่ดีกว่าคู่แข่งให้ได้

นอกจากประเด็นนโยบายที่ต้องให้ข้อมูลชัดเจนแล้ว ในหลายประเทศยังมีมาตรการสร้างความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เช่น บุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรค ได้แก่ ผู้อุดหนุน/สนับสนุน ผู้มีส่วนได้เสียในเชิงธุรกิจ ข้อมูลพรรค เช่น ประวัติผลงาน นโยบายที่เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการ รายชื่อ ส.ส.ที่อยู่หรือเคยอยู่ในสังกัด ที่มาของเงินสนับสนุน เป็นต้น ข้อมูลของนักการเมืองและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เครือญาติ หัวคะแนนรวมถึงธุรกิจของบุคคลเหล่านั้น ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ ทรัพย์สินและประวัติทางการเมือง การทำงานเพื่อสังคม ประวัติทางคดีแพ่งและอาญาของตัวนักการเมือง เป็นต้น

บทสรุป

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 มาตรา 35(4) ได้วางแนวทางป้องกันไม่ให้คนที่เคยเกี่ยวข้องกับการโกงทุกรูปแบบเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัวแค่นี้ยังไม่พอ เพราะเดิมพันของการเลือกตั้งทุกวันนี้ คือ โอกาสที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับคนมือสกปรกที่พยายามเอาชนะเพื่อไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ แต่ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อประชาชนทั้งในวันนี้และอนาคต ผู้เขียนเสนอว่า การปฏิรูปการเลือกตั้งที่สามารถทำได้โดยไม่ก่อให้เกิดการขัดแย้งหรือโต้เถียงว่าเอื้อประโยชน์ให้กับใคร คือการสร้างความโปร่งใสด้วยการกำหนดแนวทางให้พรรคการเมืองและนักการเมืองพร้อมเครือข่าย ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตนเองอย่างเท่าเทียมกันให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ ติดตาม และสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน

1เอกสารนี้อ้างอิงข้อมูลจากการเสวนา เรื่อง “ปฏิรูปการเลือกตั้งอย่างไรให้ได้คนดีเข้าสภาฯ” โดย รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ดร.บัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตน์ คุณปรเมศว์ มินศิริ คุณจารุพงศ์ จีนาพันธ์ และดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ในงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ” 6/9/57 และข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ

2ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

3รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
กำลังโหลดความคิดเห็น