xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลจะอยู่นานไหม?

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเริ่มต้นด้วยการไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง คือ พระแก้วมรกต พระสยามเทวาธิราช และศาลเจ้าพ่อหลักเมือง พร้อมกับการกล่าวปฏิญาณตนนับว่าเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับประเพณีความเชื่อของคนไทย

เราคงต้องเอาใจช่วยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะครั้งนี้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญหลังจากที่มีความขัดแย้งทางการเมืองแบ่งเป็นสองขั้ว แต่คู่ขัดแย้งทางการเมืองก็ไม่ได้เข้ามาร่วมซึ่งผมคิดว่าไม่เป็นไร เพราะคู่ขัดแย้งไม่ได้ขัดแย้งกันเรื่องแนวทางหรือหลักการในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขัดแย้งกันด้วยเรื่องที่ฝ่ายหนึ่งสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ

ดังนั้น เราจึงควรมาพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญมีจุดใดบ้างที่เรายังมีความเห็นต่างกัน หรือดูที่ทางเลือกของวิธีการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ วิธีการเดิมที่เราใช้กันมาหลายสมัยได้แก่ วิธีการของระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ ครั้งนี้มีข่าวว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ กล่าวคือ การแยกอำนาจนิติบัญญัติออกจากอำนาจบริหารซึ่งหมายความว่า แต่ละฝ่ายไม่สามารถจะล้มล้างอีกฝ่ายหนึ่งได้

หากเป็นเช่นนี้ ทั้งสองก็ต้องมีความชอบธรรมเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรง ให้ฝ่ายบริหารทั้งชุดหรือเฉพาะผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง วิธีการนี้เราไม่เคยใช้มาก่อน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องบังคับให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรค หากมีการเลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรงคนก็อาจรวมกลุ่มกันสมัครโดยไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ได้ โดยกลุ่มต้องหาคนดีมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปให้มาสมัคร และเมื่อได้รับเลือกแล้วก็ควรให้เลือกเผื่อไว้เลยในกรณีที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี คืออาจจะเสนอบัญชีรายชื่อให้มากกว่าจำนวนรัฐมนตรี เช่น เสนอจำนวน 50 คน เป็นต้น

วิธีการนี้อาจช่วยให้คณะทหารคิดส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันด้วยเพราะไม่ต้องไปตั้งพรรคการเมือง และไม่ต้องหาเสียงทั่วประเทศเนื่องจากรัฐบาลไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากทางสภาฯ

สำหรับฝ่ายนิติบัญญัตินั้น จะมีสภาเดียวหรือสองสภาก็ได้ แต่มีแนวโน้มที่จะมีวุฒิสภา และยอมให้มีวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งที่มาจากการสรรหา เพราะเราได้ใช้วิธีการนี้มาระยะหนึ่งจนเกิดความเคยชินแล้ว และ ส.ว.สรรหาเหล่านี้ก็ทำหน้าที่ได้ดี มีความเป็นอิสระเพราะไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง แต่สิ่งที่ควรคิดให้มีการเปลี่ยนแปลงก็คือจำนวนของ ส.ส.ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีมากถึง 400-500 คน ผมเคยเสนอให้มีจังหวัดละคน แต่จะมีมากกว่านั้นเช่น 120-150 คนก็ได้ ข้อสำคัญก็คือการทำให้ระบบการเมืองระดับบนมีขนาดเล็กลง ทำให้ประหยัดงบการเลือกตั้ง และลดการซื้อเสียง ตลอดจนการแสวงหาผลประโยชน์ได้

มีคนสงสัยว่าทหารจะอยู่อีกนานไหม และจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีกหรือไม่ รัฐบาลนี้มีทหารเข้ามาคุมหลายกระทรวงแสดงว่าทหารต้องการบอกสาธารณชนว่า เขามีศักยภาพที่จะทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดี หรือดีกว่านักการเมือง อย่างน้อยก็ในแง่ของความซื่อสัตย์ และเมื่อดูลีลาการทำงานที่ต้องการให้มีการวางแผนประเทศไทยในอนาคต การส่งเสริมให้คนไทยมีค่านิยมที่ถูกต้อง ตลอดจนมีเพลงปลุกใจต่างๆ นานาทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ทหารคงจะอยู่ยาวกว่า 2 ปีอาจเป็น 3 หรือ 4 ปี โดยเราจะต้องดูว่าจะมีเหตุอ้างอย่างไร แต่ถ้าไม่อยู่ยาวก็น่าจะเดาได้ว่าทหารคงไม่ปล่อยให้การเมืองเดินไปอย่างยถากรรมหรือซ้ำรอยเดิม จะเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงคือ ตั้งกลุ่มการเมือง หรือสนับสนุนนักการเมืองรุ่นใหม่ เวลานี้ก็มีข่าวแว่วมาว่าได้มีการเตรียมการกันไว้บ้างแล้วคือมีนายทหาร นักการเมือง และนายทุนร่วมกันทำพรรคการเมือง

ก่อนจะมีการลงจากหลังเสือ แรงต้านรัฐบาลก็จะมีอย่างแน่นอน ตั้งแต่เสียงวิจารณ์ว่านายกรัฐมนตรีพูดมากไป บางคนก็เย้ยว่ารัฐบาลอยู่ได้เพราะมีกฎอัยการศึก การที่นายกรัฐมนตรีขายที่มรดกโดยผู้ซื้อเป็นบริษัทที่เกาะบริติชเวอร์จินก็เป็นเรื่องที่พูดกันมาก ผมเห็นใจที่นายกรัฐมนตรีตั้งใจทำงานแต่กลัวจะถอดใจเสียก่อน นอกจากนั้นก็ยังมีข่าวคลื่นใต้น้ำในกองทัพบก ที่คนไม่พอใจการโยกย้ายนายทหาร เรื่องเหล่านี้เราคงจะต้องดูต่อไป เพราะเวลานี้มีการพูดกันเป็นสองทาง ทางหนึ่งคือถามว่ารัฐบาลจะอยู่นานเกิน 2 ปีหรือเปล่า อีกทางหนึ่งคือรัฐบาลจะไปรอดเกินหนึ่งปีหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น