นายกฯ เผยประชุม ครม. หลายวาระ แจงประชุมอาเซม หารือทวิภาคีหวังอาเซียนเข้มแข็ง ชม “เทียนฉาย” ประธาน สปช. เหมาะสม ปัดแทรกแซงการถอดถอน แนะตั้ง กมธ. ศึกษา ไม่ได้เล็ง “ปู” แจงไฟเขียวไปร่อนที่ญี่ปุ่นตามขั้นตอน ไม่หวั่นไหวพบ “ทักษิณ” ที่อินเดีย ชี้คลื่นใต้น้ำก็แรงเฉพาะใต้น้ำ ยันทหารไม่อุ้ม “เสี่ยโจ้” เดินหน้าคุยสันติสุข ไร้เสียง “เจ๊ยุ” ซักไซ้เหมือนเคยหลังให้สัมภาษณ์สื่อแดง - สะพัดเคืองสามีไร้เก้าอี้
วันนี้ (21 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การประชุม ครม. วันนี้มีหลายวาระ โดยประเด็นแรกเป็นเรื่องด้านการประเทศ ที่ตามหลักนโยบายประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร จากการที่ไปพูดคุยและไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย - ยุโรป หรือ อาเซม ที่สาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งจะนำไปสู่การประชุมอื่นๆ ทั้งการประชุมอาเซียน และการประชุมที่จีนและพม่าในเร็วๆ นี้
ฉะนั้น วันนี้ตนได้ถ่ายทอดสิ่งที่ได้พูดไป และสิ่งที่ได้หารือทวิภาคีกับ 8 - 9 ประเทศ เพราะวันนี้ไม่ได้มีประเทศไทยอย่างเดียว อาเซียนต้องเข้มแข็งจึงจะค้าขายสู้กับคนอื่นเขาได้ ต้องสร้างพลังตรงนี้ ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องภายในของไทย ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ทำให้ทันสมัยและกฎหมายที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่มีรายได้น้อยอย่างไร
สำหรับประเด็นที่สาม ที่ประชุม ครม. ได้พูดถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนยาง ซึ่งทั้งหมดมีการพูดคุยกันมาตลอดไม่ใช่เฉพาะวันนี้ เดี๋ยวจะมาน้อยใจว่าดูแลอันนี้ ไม่ดูแลอันนี้ แต่การดูแลรัฐบาลต้องค่อยๆ ทยอยดำเนินการ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ รมว.กลาโหมประเทศมาเลเซีย เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือปราบปรามกองกำลังรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ว่า ทำอยู่แล้วทุกกลุ่ม ซึ่งตนได้บอกไปแล้วว่า ต้องดูอะไรที่มีน้ำหนักมีความขัดแย้งกับประเทศไทยแค่ไหนอย่างไร เพราะเราไม่ใช่ประเทศใหญ่โตหรือประเทศมหาอำนาจ ประเทศไทยมีความร่วมมือกับทุกประเทศในโลกอยู่แล้ว
แต่ถ้าเราไปเปิดประเด็นมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปบ้านเราจะมีปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวหรืออะไรต่างๆ มากมาย ตอนนี้เฝ้าระวังอยู่แล้ว ไม่อยากให้ใช้เฉพาะกลุ่มนี้ แต่เฝ้าระวังทุกกลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมาก็ดำเนินการได้เป็นอย่างดี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเลือก นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ทำหน้าที่ประธาน สนช. ว่า ถือเป็นไปตามมติของที่ประชุม สปช. เมื่อถามว่า มองคุณสมบัตินายเทียนฉายเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเทียนฉาย เก่งกว่าตนเยอะ มีพื้นฐานดี และทุกคนใน สปช. ดีทุกคน ใครก็เป็นได้หมด ที่สำคัญคือเขาเลือกใครในเมื่อเขาเลือกนายเทียนฉายก็เป็นไปตามนั้น ตนบอกแล้วว่าเราไม่ได้ไปก้าวล่วง
เมื่อถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการเสนอชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องรายชื่อที่จะเสนอในส่วนของรัฐบาลตนต้องหารือร่วมกับคณะรัฐมนตรี ส่วนตัวประธานมีอยู่ในแล้วนับร้อยคน ยังไม่ได้ตัดสินใจ ขณะนี้ยังมีเวลาตามขั้นตอนของโรดแมปในเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า ในส่วนของ คสช. ยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการสั่งการหรือล็อบบี้อะไร เกี่ยวกับการถอดถอนของ สนช. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่มี ไม่เคยสั่ง เป็นเรื่องของกฎหมาย ก็ต้องไปดูว่ากฎหมายทำได้แค่ไหนอย่างไร ถ้ามันไม่ได้ ตอนนี้ถ้ายังขัดแย้งกันอยู่ก็ไปตั้ง คณะกรรมาธิการขั้นมาศึกษาซิ ถ้าบอกว่าทำอย่างนี้ หรือไม่ทำอย่างนี้ก็จะมีปัญหาทั้งคู่ ในเมื่อไม่แน่ใจไม่มั่นใจกันก็ศึกษามาให้ได้ว่าจะเอาอย่างไรกัน ไม่ใช้ว่าจะยกโทษให้ใครไม่ยกโทษให้ใคร คือผิดก็ต้องว่ากันตามผิด แต่ในข้อกฎหมายมันได้หรือไม่”
เมื่อถามต่อว่า ไม่ได้เล็งไปที่อนาคตของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนยังไม่ได้เล็งใครซักคน ใครผิดก็ว่าไปตามผิด คนผิดเยอะแยะไป
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปญี่ปุ่นมีการขออนุญาตหัวหน้า คสช. แล้วใช้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องขออนุญาตซิ ไม่ขออนุญาต จะไปได้อย่างไร และการเดินทางไปต่างประเทศของผู้ที่อยู่ในข่ายต้องขออนุญาตนั้น จะมีฝ่ายที่ทำเกี่ยวกับธุรการเสนอขึ้นมาที่หัวหน้า คสช. ซึ่งบางครั้งก็เสนอมาทีละหลายคน เห็นควรอนุมัติ ตนก็อนุมัติไปซึ่งทั้งหมดมีมาตรการอยู่แล้วว่าต้องแจ้งว่าไปไหนบ้าง และทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ก็ทราบหมด และการเดินทางออกนอกประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในครั้งนี้ ก็ได้แจ้งว่าจะไปในประเทศอาเซียนร่วมถึงประเทศอินเดียด้วย
เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าไปเจอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กันที่ประเทศอินเดียด้วยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าไปเจอแล้วจะเป็นอะไร เมื่อถามว่าหวั่นไหวหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจะหวั่นไหวเรื่องอะไร เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยจะเดินทางไปประเทศอินเดียด้วย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ถือว่าไปในฐานะประชาชน หากไปเจอกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่เป็นอะไร หากมันผิดก็ไปเจอกันไม่ได้ แต่นี้อีกข้างหนึ่งไม่มีความผิดไม่ใช่หรือ ไปซิไปได้ไปเลย ตนจะไปหวั่นไหวเรื่องอะไร ไม่ใช่คนที่จะไปหวั่นไหวในทุกเรื่อง
เมื่อถามว่าหวั่นหรือไม่ว่าจะมีการไปวางแผนบางอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ร้องว่า “โอ้ย” ถ้าจะว่าแผนวางกันตรงนี้ก็ได้ เมื่อถามว่า วันนี้นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ห่วงสถานการณ์ทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ห่วงซิ แต่เรามีมาตรการของเราและเตรียมความพร้อมไว้ ซึ่งตนไม่ได้ใช้อำนาจใช้กฎหมายเพื่อจะไม่ห่วง สิ่งที่ตนได้รับทราบวันนี้คือประชาชนอยู่กับเรา คำว่าอยู่กับเราคือคนที่เห็นว่าเราแก้ปัญหาอย่างจริงจังในทุกมิติทุกระบบไม่ใช้ว่าใช้วิธีการที่ไม่เท่าเทียมสร้างปัญหา ซึ่งวันนี้เขาเห็นชอบกับเราฉะนั้นคนเหล่านี้เขาดูแลเราอยู่แล้วตนคิดเช่นนั้น
เมื่อถามอีกว่า ฝ่ายความมั่นคงได้พิจารณาเรื่องการลงพื้นที่พบประชาชนในต่างจังหวัดให้กับนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วหรือยัง และพร้อมที่จะลงพื้นที่เมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงกำลังดูอยู่ แต่ยังไม่มีแผนการลงที่ชัดเจน เมื่อถามว่า ยังมีคลื่นใต้น้ำอยู่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังมีอยู่ เมื่อถามว่าแรงหรือไม่คลื่นใต้น้ำ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มันก็แรงอยู่ใต้น้ำนั่นแหละ ก็ให้อยู่ใต้น้ำอย่าให้ขึ้นมาข้างบนน้ำ
เมื่อถามว่า มั่นใจว่าจะกดให้อยู่ใต้น้ำได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่ได้กดแต่ใช้การทำความดี ทำความเข้าในกับประชาชน และตั้งใจมั่นในการแก้ปัญหา นี่คือสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เราสร้างเสถียรภาพได้ ถ้าใครออกมาทำวันนี้ ผมว่าอันตรายกับเขานะ เพราะทั่วโลกเขามองอยู่ ที่ผมไปประชุม อาเซม 50 กว่าประเทศในโลก เขาไม่ได้ติติงประเทศไทยเลยแม้แต่คำเดียวด้วยซ้ำไป กลับยังชื่นชมในการพัฒนาการของประเทศไทยที่เป็นไปในทิศทางที่ดี เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ที่ชื่นชม คสช. ว่าบริหารสถานการณ์ได้ดี ปลอดภัย ใครมาประเทศไทยก็มีความสุข ทุกคนอยากมาประเทศไทย เสียอย่างเดียวมันมีความขัดแย้งกันมากเกินไป ฉะนั้น วันนี้ใครที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านนี้เมืองนี้จากนี้ไปผมว่าอันตราย และอันตรายคือเขาไม่รับมากกว่าผมอีกจะบอกให้”
เมื่อถามต่อว่า มันเลยทำให้ นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าจากนี้ถ้าประเทศไหนเชิญให้ไปเยือนก็จะไปใช้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าต้องดูก่อนว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไร ถ้าบ้านเมืองสงบสุขสันติ ไปแล้วเกิดประโยชน์ก็จะไป ถ้าไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ไปเที่ยวก็ไม่ไป ตนไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลยประชุมทั้งวันตั้งแต่เช้ายันกลางคือเข้าที่นอนก็หมดแรง เวลาไปต่างประเทศก็ไม่ได้ไปเที่ยวไหนเพราะไปทำงานไม่ได้ไปท่องเที่ยว
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการหายตัวไปของ นายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือ เสี่ยโจ้ นักโทษหนีคดีคำสั่งศาลจังหวัดปัตตานีว่า มันหายตัวไปมันหนีไปไหนละ หามาซิ เขาหนีคดีไปไม่ใช่ทหารจับตัวไป แต่มากลายเป็นว่าทหารทำหายตัว เราสนับสนุนการแก้ปัญหาตามกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ภาคใต้ก็เป็นอย่างนี้ ปัญหาคือเขามีหนทางในการต่อสู้คดีมากมาย แต่ไม่สู้กันเอง ทั้งหมดละที่มีเรื่องกันทุกวันนี้ ถ้าเขาสู้คดีก็จบไปตั้งนานแล้ว
ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เวลานี้มาตรการต่างๆมีการประสานบูรณาการกันดีขึ้น เช่นโมเดล ทุ่งยางแดง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็ได้ลงไปในพื้นที่ ซึ่งตนก็ได้สั่งการเพิ่มเติมไปแล้ว และในการเดินทางไปร่วมประชุม อาเซม ก็ได้พบกับ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งได้พูดคุยกันว่าจะเริ่มเดินหน้าการพูดคุยสันติสุขต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ชาวนาออกมาขอบคุณรัฐบาลที่จ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาทว่า ตัวแทนชาวนาได้มาขอบคุณกันใหญ่โต ตนได้บอกว่าใจเย็นๆ และบอกไปว่า รัฐบาลช่วยได้นิดเดียว ซึ่งชาวนาก็บอกว่าไม่เป็นไร พร้อมกับฝากให้ดูแลมาตรการอื่นๆ ซึ่งตนยินดี เพราะวันนี้รัฐบาลพอจะมีเงินใช้จ่ายได้บ้าง ซึ่งเรามองว่าเงินที่ช่วยเหลือมีจำนวนน้อย แต่ชาวนาก็บอกว่าพอใจในขั้นต้น เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าเป็นมาตรการที่เราเห็นใจชาวนา และเราไม่ได้ไปแทรกแซงราคาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ พล.องประยุทธ์ กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนต่างประเทศในครั้งต่อไป ว่า จะเดินไปเยือนประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และจะไปร่วมประชุม เอเปก ที่จีน
รายงานข่าวแจ้งว่า บรรยากาศการให้สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า ทางสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตั้งโพเดียม สำหรับแถลงข่าวเหมือนทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. แต่ยืนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน และตอบข้อซักถามต่างๆ ด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม ใช้เวลาประมาณ 10 นาที น้อยกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา และนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่าจะให้สัมภาษณ์ในประเด็นหลัก โดยให้รัฐมนตรีคนอื่น ชี้แจงในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เคยสั่งการในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากมีประเด็น นางยุวดี ธัญญศิริ นักข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวนายกรัฐมนตรีผ่านเว็บไซต์กระบอกเสียงกลุ่มคนเสื้อแดง แม้จะปฏิเสธไปแล้วก็ตาม รวมทั้งมีกระแสข่าวกรณีที่นางยุวดี ไม่พอใจที่ พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ ผู้เป็นสามีไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ จาก คสช. ในวันนี้ นางยุวดี ก็ได้เดินไปดักสัมภาษณ์ นายกรัฐมนตรี เหมือนปกติ แต่ไม่ได้มีการสอบถามอะไรต่อนายกรัฐมนตรีเหมือนที่ผ่านมา