xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”ไม่หวั่น”ปูพบแม้ว” ขู่ใครทำวุ่นวายอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "เทียนฉาย" นั่งประธาน สปช.ไร้คู่แข่ง ลั่นพร้อมผนึกพลังสปช. ดันปฏิรูปประเทศ ยึดสุจริต โปร่งใส ด้าน"บวรศักดิ์" คว้ารองคนที่ 1 แนะสปช.ตั้งกมธ. เกาะติดคู่ขนานอนุกมธ. ส่วน "ทัศนา" ซิวรองปธ. คนที่ 2 "บิ๊กตู่" เผย "ปู" ขออนุญาตก่อนไปญี่ปุ่น ไม่ขัดขวางสมาชิกเพื่อไทย บินไปพบ"แม้ว"ได้ เตือนใครทำบ้านเมืองวุ่นวายจะ "อันตราย" ด้าน"ปานเทพ" โต้พวกใส่ร้าย"สนธิ" บินญี่ปุ่นพบ"ปู" ยันไปรักษาผลกระทบจากเหตุถูกลอบยิง

การประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (21ต.ค.) โดยมี นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สมาชิก สปช. ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดคือ 87 ปี ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีสมาชิกลงชื่อมาประชุมจำนวน 244 คน

เมื่อเริ่มการประชุม นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้อ่านพระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสปช.ทั้ง 250 คน จากนั้นสมาชิกได้กล่าวปฏิญาณตน และเปิดวีดีทัศน์กรอบการทำงานของสปช. ความยาวประมาณ 5 นาที

**เทียนฉายนั่งปธ.สปช.ไร้คู่แข่ง

จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่วาระสำคัญคือ การคัดเลือกตำแหน่งประธาน และรองประธาน ภายใต้ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 โดยนายชัย ชิดชอบ สมาชิก สปช ได้.เสนอชื่อ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานสปช. ขณะที่ นายชัย เจริญสุข สมาชิก สปช. ประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ จ.ฉะเชิงเทรา เสนอชื่อนายอลงกรณ์ พลบุตร ชิงตำแหน่งประธาน แต่นายอลงกรณ์ได้กล่าวขอบคุณผู้เสนอชื่อตน แต่ทุกคนที่เป็นประธาน จะต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง เป็นที่ยอมรับของสังคม มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์นักบริหาร นำพาสภาให้เป็นที่ยอมรับ บรรลุวัตถุประสงค์ ตอบสนองความคาดหวังของประชาชน ซึ่ง ตนมีบุคคลที่จะเป็นประธานอยู่ในใจแล้ว คือ นายเทียนฉาย ตนจึงขอถอนตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อไม่มีสมาชิกเสนอชื่อบุคคลอื่นเข้าแข่งขัน ทำให้นายเทียนฉาย ได้รับเลือกให้เป็นประธานสปช. โดยไม่ต้องมีการลงคะแนน แต่มีสมาชิกบางส่วนได้เสนอให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อให้ทราบว่าจะนำพาไปในทิศทางใด ขณะที่สมาชิกบางส่วนแย้งว่า ควรคัดเลือกตำแหน่งประธาน และรองประธาน ให้ครบถ้วนก่อน แล้วเปิดให้มีการพูดจาปราศรัยกับสมาชิก ทำหลังจากถกเถียงในประเด็นนี้อยู่ประมาณ 5 นาที นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช. ได้เสนอให้มีการโหวตว่า ควรจะยกเว้นข้อบังคับการประชุมในส่วนที่ให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ หรือไม่ แต่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. ท้วงติงว่า สปช.กำลังเข้ามาทำหน้าที่กำหนดกติกาของบ้านเมือง หากมีการยกเว้นข้อบังคับตั้งแต่ยกแรกแล้วจะมีกติกาทำไม สปช.ควรทำสิ่งที่งามสง่า และหากจะให้ นายเทียนฉาย แสดงวิสัยทัศน์กับสมาชิก ก็ไม่น่าเสียหาย หรือเสียเวลา ดีกว่าให้สมาชิกโหวตงดเว้นข้อบังคับ

ในที่สุดประธานได้อนุญาตให้ นายเทียนฉาย แสดงวิสัยทัศน์ โดยนายเทียนฉาย กล่าวขอบคุณสมาชิก และผู้เสนอชื่อรับรอง และสนับสนุน ตนพร้อมและตั้งใจจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด งานของสปช. ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 57 โดยบัญญัติภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ มีส่วนหลัก 2 ส่วน คือ การร่างรัฐธรรมนูญ และที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูป ในความหมายที่กว้าง โดยมีประเด็นหลักกำหนดเบื้องต้น10 ด้านขึ้นไป ตนคิดว่าแนวทางการทำงานของสปช. จะต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส นำพา สปช. ได้รับรู้และเข้าใจและเข้าถึงในสิ่งที่เป็นความหวังของประชาชนโดยทั่วไป ต้องดำเนินการทำในส่วนการยกร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะมีคณะกรรมาธิการเฉพาะ แต่ สปช. ต้องช่วยให้ความเห็นเป็นลำดับขั้นตอน คงต้องระมัดระวัง และให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตามกรอบเวลาที่กำหนด

"สิ่งสำคัญเราต้องคิดร่วมกันในเรื่องเป้าหมายการปฏิรูป ที่อยากให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบรรเทา ลดภาระความเหลื่อมล้ำทาง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของประเทศกับทุกองค์กร ทั้งราชการ ภาครัฐ เอกชน และอื่นๆ ซึ่งสำคัญสุดการทำงานของสปช. คือต้องประสานกันให้มากทั้ง ความคิด และพลัง โดยเฉพาะการที่จะต้องฟังเสียงประชาชน "

จากนั้นที่ประชุมได้ดำเนินการคัดเลือก รองประธานสปช. โดยนายพารณ ได้ถามสมาชิกว่า ควรจะมีรองประธานสภากี่คน ซึ่งสมาชิกได้เสนอให้มี 2 คน ขณะที่ที่ประชุมเห็นชอบด้วย

**"บวรศักดิ์" รองปธ.คนที่ 1

ต่อมา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. ได้เสนอชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธานสปช. คนที่ 1 โดยไม่มีสมาชิกเสนอชื่อบุคคลอื่น จากนั้น นายบวรศักดิ์ ได้แสดงวิศัยทัศน์ว่า ตนจะทำหน้าที่ช่วยประธานดำเนินการประชุม และกิจการอื่นของสภาตามข้อบังคับให้ดีที่สุดเพื่อให้สมาชิกได้แสดงความเห็น และใช้ความรู้ความสามารถ แก้ปัญหาให้บ้านเมืองให้ดีที่สุด สภานี้มีอำนาจหน้าที่ 2 ประการเท่านั้น คือ ทำหน้าที่ศึกษา และเสนอแนะเรื่องต่างๆในการปฏิรูป แล้วเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.)คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ สอง เสนอแนะไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย สปช. จะแต่งตั้งสมาชิก หรือที่ไม่ใช่สมาชิก เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ 20 คน และให้ข้อคิดเสนอแนะ และเห็นชอบไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการจัดทำขึ้น แปลว่า สภานี้มีส่วนร่วมในการทำรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคต เป็นผู้ลงมติให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ แต่ใน มาตรา 37 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีความเป็นกึ่งอิสระจากสภานี้ แต่เชื่อมโยง และต้องผ่านความเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ สภานี้

นอกจากนี้ ตนเห็นว่า สปช. ควรตั้งคณะกรรมาธิการติดตามประสานร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อรวมความเห็นเสนอไปยังกรรมาธิการยกร่างฯ ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ควรมีอนุกรรมาธิการรับข้อเสนอแนะของสปช. ทำงานคู่ขนานกันไป ซึ่งตนสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ หากได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปเป็น กรรมาธิการยกร่างฯ ตนจะทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่าง สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างฯให้ดีที่สุด

"วันนี้การปฏิรูป เป็นวาระของชาติที่คน 67 ล้านคน ตั้งความหวังไว้ เราจะนั่งทำงานแต่ในสภาไม่ได้ การประสานงานกับสมาชิกทั้ง 250 คนภายใต้การนำของประธาน ต้องเชื่อมโยงกับประชาชนให้เป็นการปฏิรูปของคนทั้งประเทศ "

** "ทัศนา"นั่งรองปธ.คนที่ 2

ส่วนรองประธาน สปช. คนที่ 2 นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สมาชิกสปช. ได้เสนอชื่อ น.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธานคนที่ 2 ขณะที่นายนิมิต สิทธิไตร ได้เสนอชื่อ นายประชา เตรัตน์ สปช.จังหวัดชลบุรี ทำให้ต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ โดย น.ส.ทัศนา กล่าวว่า หน้าที่สปช. ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น จะต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจ หากตนได้รับเลือกเป็นรองประธาน ฯ ตนก็จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยการช่วยงานของประธาน และรองประธาน ที่ 1 และอีกหลายๆ ด้าน ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปที่ดีขึ้น ตนจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยการเสียสละ และยึดมั่นผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ตนขอโอกาสให้ผู้หญิงได้ทำหน้าที่นี้

ด้านนายประชา กล่าวว่าหน้าที่ของ สปช.กำหนดไว้อย่างชัดเจน คือ สนับสนุนช่วยเหลือประธานสปช.ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิผลมากที่สุด ซึ่งในฐานะรองประธานสปช.คนที่ 2 จะต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ถ้าตนได้เป็น ตนจะเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช.ทุกจังหวัด ทุกภาคได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

จากนั้นที่ประชุมได้มีการลงคะแนนลับ โดยให้สมาชิกหย่อนบัตรลงในหีบเลือกตั้งตามลำดับรายชื่อ ผลการนับคะแนนปรากฏว่า น.ส.ทัศนา ได้รับเลือก 151 เสียง นายประชา ได้ 88 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง บัตรเสีย 1 เสียง จากนั้น

จากนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือถึงประเด็นการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ โดยสมาชิกบางส่วนเห็นว่า ไม่ควรให้คนนอกเข้ามาในสัดส่วนของ สปช. อีกทั้งคนนอกสามารถเข้ามาได้ ตามช่องทางอื่น เช่น ทางคสช. ขณะที่นายพารณ เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ 2 คณะ คือ คณะกรรมาธิการสรรหารายชื่อ ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมควรเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 20 คน และคณะกรรมาธิการสรรหาบุคคลเป็นกรรมาธิการปฏิรูปต่างๆ 11 ด้าน

ด้านนายเสรี เห็นแย้งว่า ตรวจสอบประวัติยุ่งยาก ใช้เวลามาก ขณะที่การทำงานของ สปช.กระชั้นชิด เวลาน้อย นอกจากนี้ที่ประชุมได้แสดงความเห็นกรณีการเริ่มกรอบเวลาการสรรหากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้ต้องคัดเลือกภายใน 15 วันนั้น ต้องเริ่มนับวันใด วันที่มีการประชุมจริง หรือวันที่สำนักงานเลขาธิการสภาออกหนังสือเชิญประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายพารณ อิสระเสนา ณ อยุธยา ประธานที่ประชุมได้สั่งพักการประชุมชั่วคราว เพื่อให้ 15 กลุ่ม ประกอบด้วย สปช. ด้านต่างๆ 11 ด้าน และสปช.แต่ละภาค อีก 4 ภาค แยกย้ายไปประชุมเพื่อทำการคัดเลือกตัวแทน ทำหน้าที่คณะกรรมการประสานงานกิจการสภาปฏิรูป (วิปสปช.) ชั่วคราว และคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช.

เวลา 15.20 น. เปิดประชุมต่ออีก สมาชิกยังคงถกเถียงในประเด็นข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่บัญญัติให้มีการสรรหากรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ว่าควรจะเริ่มนับวันใด

ในที่สุดประธานได้สั่งให้ดำเนินการตามวาระต่อไป โดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สปช. เสนอให้ตั้งวิปสปช. ชั่วคราวจำนวน 22 คน และคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับ19 คน แต่สมาชิกบางส่วนเสนอให้ประธานสั่งพักการประชุมอีกครั้ง เพราะบางส่วนไม่ทราบเรื่องที่ให้แต่ละคณะทำการคัดเลือกตัวแทนมาเป็นวิปชั่วคราว และกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับถือเป็นการมุบมิบทำกันหรือไม่ สุดท้ายนายพารณ ได้สั่งพักการประชุม 15 นาที

เมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งวิปสปช. ชั่วคราวจำนวน 22 คน โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช. เป็นประธานวิปชั่วคราว โดยมอบหมายให้กำหนดวันเริ่มต้นสรรหากรรมาธิการยกร่าง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 ต.ค. นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมจำนวน 19 คน จากนั้นประธานได้สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 17.00 น. เพื่อให้สมาชิกเดินทางไปถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ รพ.ศิริราช


**"ประยุทธ์" ลอยตัว ปมถอดถอน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง กรณีที่สมาชิกสปช. มีมติเลือกนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน สนช.ว่า เป็นไปตามมติของที่ประชุมสปช. เมื่อถามว่ามองคุณสมบัตินายเทียนฉายเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า นายเทียนฉาย เก่งกว่าตนเยอะ มีพื้นฐานดี และทุกคนในสปช. ดีทุกคน

เมื่อถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการเสนอชื่อ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องรายชื่อที่จะเสนอในส่วนของรัฐบาล ตนต้องหารือร่วมกับครม. ส่วนตัวประธานมีอยู่ในแล้วนับร้อยคน ยังไม่ได้ตัดสินใจ

เมื่อถามว่า ในส่วนของคสช. ยืนยันได้หรือไม่ว่า จะไม่มีการสั่งการ หรือล็อบบี้อะไรเกี่ยวกับการถอดถอนของสนช. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ไม่มี ไม่เคยสั่ง เป็นเรื่องของกฎหมาย ก็ต้องไปดูว่ากฎหมายทำได้แค่ไหน อย่างไร ถ้ามันไม่ได้ ตอนนี้ถ้ายังขัดแย้งกันอยู่ ก็ไปตั้งคณะกรรมาธิการขั้นมาศึกษาซิ

เมื่อถามต่อว่า ไม่ได้เล็งไปที่อนาคตของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้เล็งใครซักคน

** ไฟเขียว"ปู"ไปตปท.พบ"แม้ว"

เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปญี่ปุ่น มีการขออนุญาตหัวหน้า คสช. หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องขออนุญาตซิ ไม่ขออนุญาตจะไปได้อย่างไร และการเดินทางไปต่างประเทศ ของผู้ที่อยู่ในข่ายต้องขออนุญาตนั้น จะมีฝ่ายที่ทำเกี่ยวกับธุรการเสนอขึ้นมาที่หัวหน้าคสช. ซึ่งบางครั้งก็เสนอมาทีละหลายคน เห็นควรอนุมัติ ตนก็อนุมัติไป ซึ่งทั้งหมดมีมาตรการอยู่แล้วว่าต้องแจ้งว่าไปไหนบ้าง และทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ก็ทราบหมด และการเดินทางออกนอกประเทศของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในครั้งนี้ ก็ได้แจ้งว่า จะไปในประเทศอาเซียนร่วมถึงประเทศอินเดียด้วย

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าจะมีการไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ประเทศอินเดียด้วย นายกฯ กล่าวว่า ถ้าไปเจอแล้วจะเป็นอะไร มีกระแสข่าวว่า อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็จะเดินทางไปประเทศอินเดียด้วย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ถือว่าไปในฐานะประชาชน หากไปเจอกับพ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่เป็นอะไร หากมันผิดก็ไปเจอกันไม่ได้ แต่นี่อีกข้างหนึ่ง ไม่มีความผิดไม่ใช่หรือ
เมื่อถามว่า หวั่นหรือไม่ว่าจะมีการไปวางแผนบางอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ร้องว่า“โอ้ย” ถ้าจะวางแผน วางกันตรงนี้ก็ได้ แต่เรามีมาตรการของเรา และเตรียมความพร้อมไว้

เมื่อถามอีกว่าฝ่ายความมั่นคงได้พิจารณาเรื่องการลงพื้นที่พบประชาชนในต่างจังหวัดให้กับนายกฯเรียบร้อยแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่มีแผนการลงที่ชัดเจน

** เตือนใครสร้างความวุ่นวาย"อันตราย"

เมื่อถามว่า ยังมีคลื่นใต้น้ำอยู่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังมีอยู่ เมื่อถามว่าแรงหรือไม่คลื่นใต้น้ำ นายกฯกล่าวว่า มันก็แรงอยู่ใต้น้ำนั่นแหละ ก็ให้อยู่ใต้น้ำ อย่าให้ขึ้นมาข้างบนน้ำ เมื่อถามว่ามั่นใจว่าจะกดให้อยู่ใต้น้ำได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ไม่ได้กด แต่ใช้การทำความดี ทำความเข้าใจกับประชาชน และตั้งใจมั่นในการแก้ปัญหา นี่คือสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เราสร้างเสถียรภาพได้ ถ้าใครออกมาทำวันนี้ ผมว่าอันตรายกับเขานะ เพราะทั่วโลกเขามองอยู่ ที่ผมไปประชุม อาเซม 50 กว่าประเทศในโลกเขาไม่ได้ติติงประเทศไทยเลยแม้แต่คำเดียวด้วยซ้ำไป กลับยังชื่นชมในการพัฒนาการของประเทศไทย ที่เป็นไปในทิศทางที่ดี เช่นเดียวกับ นายกฯบาห์เรน ที่ชื่นชม คสช. ว่าบริหารสถานการณ์ได้ดี ปลอดภัย ใครมาประเทศไทยก็มีความสุข ทุกคนอยากมาประเทศไทย เสียอย่างเดียวมันมีความขัดแย้งกันมากเกินไป ฉะนั้นวันนี้ใครที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านนี้เมืองนี้จากนี้ไป ผมว่าอันตราย และอันตราย คือ เขาไม่รับมากกว่าผมอีก จะบอกให้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการเดินทางไปเยือนต่างประเทศในครั้งต่อไป ว่าจะไปเยือนประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และจะไปร่วมประชุม เอเปก ที่จีน

** "วิม"ปัด"ปู"บินไปพบ"แม้ว"

นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตเลขานุการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ของน.ส.ยิ่งลักษณ์? ชินวัตร ระหว่างวันที่ 19-26 ต.ค. และมีกระแสข่าวว่า จะไปพบกับ พ.ต.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวมาที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อมารับทำไปบุญที่ประเทศอินเดียด้วยกัน ว่า ยืนยัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีแผนที่จะพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วเดินทางต่อไปยังประเทศอินเดีย ตามที่เป็นข่าว ขณะนี้มีโปรแกรมเพียงแค่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อพักผ่อน และพาบุตรชายไปเที่ยวในช่วงปิดเทอมเท่านั้น เพราะถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางต่อไปประเทศอินเดียจริง คงต้องระบุไว้ในคำร้องขออนุญาต คสช. แล้ว คงไม่ทำให้เกิดเป็นประเด็นข้อสงสัย และเดินทางกลับประเทศไทย วันที่ 26 ต.ค. แน่นอน

**โต้พวกใส่ร้าย"สนธิ" บินพบ "ปู"

เช้าวานนี้ (21 ต.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่น 2 โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงการเดินทางไปญี่ปุ่นของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อว่า “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์”โดยมีรายละเอียดดังนี้

“...คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำครับ โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์ที่รอดชีวิตจากการถูกรุมยิงด้วยอาวุธสงครามใจกลางพระนคร ก็ได้รับผลกระทบ ทำให้ปวดต่อการยืนและนั่ง และต้องรักษาจากแพทย์หลายแขนง ทั้งการนวดจากแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน และแพทย์แผนปัจจุบัน

บ่อยครั้งเวลาผมมาที่บ้านพระอาทิตย์ ก็จะเห็นคุณสนธิ ต้องรักษาตัวอยู่กับแพทย์แผนไทยเป็นประจำ และหลายครั้งคุณสนธิ ต้องเดินทางไปรักษาตัวกับแพทย์ที่ประเทศจีน รวมถึงไปรักษาตัวโดยการแช่น้ำร้อน ที่ญี่ปุ่น จนเป็นเรื่องปกติของบ้านพระอาทิตย์ไปแล้ว

และเพื่อให้ทราบเป็นข้อมูลว่า คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ใช้เงินส่วนตัวในการเดินทาง ไม่ใช่เอาเงินบริษัท หรือเงินบริจาคมาใช้เดินทาง เพราะเงินบริษัทที่จะจ่ายเงินเดือนยังล่าช้าอยู่เลย ในทางตรงกันข้าม ทุกวันนี้ครอบครัวลิ้มทองกุล ยังต้องวิ่งหาเงินแลกเช็ค กู้หนี้ยืมสินมาประคับประคองสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม นิวส์วัน อยู่เลยครับ (ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนี้ก็ได้)

จากเหตุผลดังกล่าว การใส่ร้ายคุณสนธิ ลิ้มทองกุล (อีกครั้งหนึ่ง) จึงเป็นการมโนไปเต้าข่าวว่า เพื่อเดินทางไปเจรจากับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น จึงเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น หลายครั้งยุทธวิธีนี้ยังคงใช้เพื่อเป้าประสงค์เดิม จากผู้ที่มีอำนาจ หรืออิจฉาจุดยืนที่ฝ่ายตัวเองทำไม่ได้ จึงคิดแต่ทำลายความน่าเชื่อถือสิ่งที่คุณสนธิได้ตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาบ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมา ในทุกรัฐบาล

แต่ผมรู้ว่า คนอย่างคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่มานั่งเสียเวลาอธิบายเรื่องไร้สาระเช่นนี้ หรอกครับ เพราะเวลาผ่านมาหลายปี เราถูกใส่ร้ายมามาก ตั้งแต่การใส่ร้ายว่า สนธิรับเงินทักษิณ, การใส่ร้ายว่า ASTV จะขายให้ทักษิณ ให้แกนนำเสื้อแดงมาจัดรายการ, ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องเท็จที่ใส่ร้ายโดยไม่เคยมีการรับผิดชอบ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี แล้วมาทบทวนดูว่า สิ่งที่คุณสนธิพูดและแสดงความเห็นนั้น“ถูกหรือผิด”วิญญูชนเท่านั้นที่จะเข้าใจได้โดยไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆให้เสียเวลา

News 1 หรือ ASTV เดิม ก็ยังคงจุดยืนเดิมในการทำหน้าที่สื่อมวลชนเพื่อประชาชนที่สนับสนุนเรามาเป็นปีที่ 10 แล้ว และหลายครั้ง ก็ทำหน้าที่ไปจนถึงเป็นผู้นำมวลชนเสียเอง วันนี้เรายังคงเป็นสถานีโทรทัศน์เล็กๆ ที่ยังยากจนอยู่ ถ้าเราหวังจะได้ร่ำรวยจากทุนและอำนาจจากข้างใดข้างหนึ่งในช่วงเวลาทีผ่านมา ก็คงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่เราต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ “ทุกรัฐบาล”เพื่อประโยชน์ของประชาชนเหมือนทุกวันนี้ จริงไหมครับ ?

และถ้าเราจะยอมสยบกับกลุ่มทุนทุกขั้วอำนาจที่ต่างมีกลุ่มทุนพลังงานหนุนหลังอยู่ เราคงไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในด้านการปฏิรูปพลังงานมากเช่นนี้ และลองดูสิครับว่ามีสื่อมวลชนกี่แห่งที่ยังช่วยและสนับสนุนในการปฏิรูปพลังงานของภาคประชาชนมากเช่นนี้

และถ้าเราเป็นสื่อมวลชนที่ขายตัวเพื่อความร่ำรวย ป่านนี้เราคงไม่ต้องเป็นห่วงการจ่ายเงินเดือนล่าช้าของพนักงานที่นี่ เราคงไม่ต้องทุ่มเทออกมาขายสินค้าต่างๆ เพื่อรักษาทีวี พนักงานหลายคนที่มีทีวีดิจิตอลมาดึงตัวไปก็คงไม่ยืนหยัดอยู่ที่นี่ ตัวผมเองก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำงานอยู่ที่นี่ แม้แต่ลุงจำลอง ศรีเมือง ก็คงไม่เป็นผู้นำจัดกิจกรรมหารายได้มาสนับสนุนทีวีแห่งนี้อยู่จนถึงทุกวันนี้ จริงไหมครับ ?

มีบางท่านเป็นห่วงใยว่าเรามีพวกและเพื่อนน้อย มีศัตรูมาก เพราะวิพากษ์วิจารณ์ทุกฝ่าย จึงจะอยู่รอดได้ยากในทางธุรกิจเพราะขาดการสนับสนุนจากกลุ่มทุนใด หรือแม้แต่อาจจะต้องสูญเสียประชาชนที่ยังหลงรักหรือสนับสนุนขั้วอำนาจทางการเมืองของตัวเองด้วยซ้ำไป เราขอขอบคุณความห่วงใยนั้น และผมก็เชื่อว่าเราทุกคนรับทราบและตระหนักกับความเสี่ยงเหล่านั้นดีอยู่แล้ว

แต่ผมกลับเห็นด้วยกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ว่า “เราเป็นสื่อมวลชน” และสื่อมวลชนแห่งนี้มีศรัทธาจากประชาชนกำเนิดขึ้นเพราะจุดยืนที่ยืนหยัดอยู่ข้าง “ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” ไม่ใช่ผลประโยชน์ของขั้วอำนาจใดอำนาจหนึ่งเป็นใหญ่

เมื่อรากฐานและวัฒนธรรมองค์กรถูกหล่อหลอมมาด้วย “ศรัทธา” ที่มาพร้อมกับ “การเสียสละ” เงินทอง หยาดเหงื่อ และแม้แต่ชีวิตของพี่น้องประชาชนเช่นนี้ เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราต่อไปให้ดีที่สุด ถ้าวันหนึ่งมันมีความเจริญก้าวหน้าก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ขรุขระกันบ้างก็ช่วยกันฝ่าฟันไป แต่ถ้ามันมีความจำเป็นต้องดับไปเพราะรักษาจุดยืนที่เรากำเนิดมาก็ถือว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจ เงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน..”
กำลังโหลดความคิดเห็น