xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ยินดีร่วมมือ กมธ.ยกร่างฯ เสนอความเห็น - แนะจับตาคลื่นใต้น้ำโปร่งใสไม่จุดชนวนวุ่นวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
หน.ปชป. เผยส่งแนวทางปฏิรูปให้ คสช. แล้ว หาก สปช. สงสัยพร้อมให้ความเห็นเพิ่มเติม ยินดีให้ความร่วมมือ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ รับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง แนะลำดับความสำคัญปัญหาระบุให้ชัด ส่วนปมถอดถอน “สมศักดิ์ - นิคม” ว่าไปตามกระบวนการ แต่ได้ผลยากเพราะต้องใช้เสียงจำนวนมาก แนะฝ่ายความมั่นคงติดตามคลื่นใต้น้ำ มีประสิทธิภาพ โปร่งใส่ อย่าให้มีเงื่อนไขเกิดความวุ่นวาย

วันนี้ (7 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการรวบรวมแนวทางการปฏิรูปที่จะเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ทางพรรคได้ส่งงานที่เคยทำไว้ให้กับทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ต้นแล้ว และในเอกสารที่ คสช. ได้นำเสนอต่อ สปช. มีหลายส่วนที่เป็นการประมวลข้อเสนอของเราเข้าไปด้วย ซึ่งหากมีข้อสงสัยเราก็พร้อมจะให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม และให้ความร่วมมือเต็มที่กับการปฏิรูป เพราะที่ผ่านมา คสช. ใช้วิธีประมวลความคิด ที่มีข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ มารวบรวมไว้ ก่อนที่จะเสนอต่อ สปช. โดยที่ไม่มีลักษณะของการไปชี้นำ ว่าจะต้องไปรับข้อเสนอของใคร

เมื่อถามว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีการตั้งอนุกรรมาธิการรับฟังความเห็นจากประชาชนและพรรคการเมืองขึ้น ทางพรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้ความร่วมมือหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางพรรคยินดีให้ความร่วมมือ เพราะนักการเมืองจากทุกพรรคการเมืองมีประสบการณ์ และเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง ก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ทางกรรมาธิการได้รับทราบ รวมถึงมุมมองต่อข้อเสนอต่างๆ เพราะข้อเสนอต่างๆ ที่พูดกันอยู่ในเวลานี้ บางครั้งถ้าได้มุมมองจากคนที่ไปปฏิบัติ อาจจะพบว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ส่วนการให้ความร่วมมือจะเป็นรูปแบบไหนจะไปด้วยตัวเอง หรือส่งเอกสารนั้น ก็อยู่ที่รูปแบบของคณะกรรมาธิการ หรือทางอนุกรรมาธิการ จะขอมา แต่โดยปกติตนจะเดินทางไปด้วยตัวเอง แต่หากเป็นรูปแบบให้ส่งเอกสารทางพรรคก็มีอยู่แล้วในเรื่องานปฏิรูป และพร้อมที่จะให้ข้อมูล แม้ว่าจะไม่ได้แบ่งเป็น 11 ด้านตามที่ สปช. กำหนดแต่ประเด็นนั้นครอบคลุม

“ส่วนตัวแล้วอยากให้มีการระบุให้ชัดว่าลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข คืออะไร ที่ผ่านมาที่เป็นห่วงคือมักจะมีการนำเสนอข้อเสนอ อาทิ เรื่องระบบเลือกตั้ง เรื่องการแยกอำนาจ ทำให้ยังไม่เห็นภาพรวม และไม่มีความชัดเจนว่า ข้อเสนอแต่ละข้อตอบโจทย์เรื่องอะไร และถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเริ่มทำงาน ก็คงจะเริ่มจากกรอบ แล้วกำหนดประเด็นขึ้นมาให้ชัดเจน พอถึงจุดนั้นก็จะง่ายขึ้นต่อการให้ความเห็นที่จะตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ สิ่งที่ห่วงใยอีกคือ เรื่องระบบการเมือง หรือการปฏิรูปด้านอื่นๆ เราพยายามจะมองในเชิงระบบ ซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า ข้อเสนอหรือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงแต่ละเรื่อง ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ และสอดคล้องกันหรือไม่กับระบบใหญ่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามถึงการลงมติของสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) เรื่องการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ในกรณีที่แก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ต้องว่าไปตามกระบวนการถอดถอน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ต้องไปว่ากันตามกระบวนการของกฎหมาย ส่วนการถอดถอนนั้นจะได้ผลหรือไม่ได้ผลนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เพราะโดยทั่วไปการถอนถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมักจะอาศัยเสียงค่อนข้างมาก เพราะถือว่าผู้ที่เข้าไปดำรงตำแหน่งต้องได้รับความคุ้มครองในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องมาทบทวนดูว่าที่ผ่านมากลไกนี้มีปัญหาอะไรบ้าง

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลออกมาระบุว่าการเมืองเวลานี้ยังมีขบวนการคลื่นใต้น้ำเคลื่อนไหวอยู่ ว่า ตนไม่ทราบข้อมูล แต่ฝ่ายความมั่นคงก็จะต้องติดตาม เพราะเป็นหน้าที่โดยตรง ซึ่งตนอยากให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ เพราะถ้าเราเดินหน้าได้เร็ว กลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่หากหนีไปไม่พ้น ก็จะเกิดความวุ่นวาย และมีผลต่อความมั่นคงก็ยิ่งทำให้เส้นทางที่จะกลับไปมีปัญหามากขึ้น ตนไม่อยากเห็นความวุ่นวายเกิดขึ้น และขณะเดียวกัน รัฐบาล หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องตระหนักว่าภารกิจในการประคับประคองให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสให้มากที่สุด อย่ามีเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย หรือความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก แต่ต้องทำทุกอย่างๆ ตรงไปตรงมา กลัวความขัดแย้งคงไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น