เลขาฯ กกต.แถลงส่งรายชื่อผู้อกหักจาก สปช.7,370 คน ให้ คสช.แล้ว พร้อมตั้ง 3 คณะทำงานศึกษาปัญหา กกต.ข้อกฎหมาย 6 ฉบับ รับหารือ ป.ป.ช. ตรวจสอบนโยบายประชานิยม รอมีรัฐธรรมนูญถึงชัดเจน
วันนี้ (10 ต.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. แถลงว่า ในวันนี้ (10 ต.ค.) ตนได้ลงนามในหนังสือส่งถึงประธานคณะกรรมการปรองดองและการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อนำส่งรายชื่อและข้อมูลประวัติของผู้ที่เข้ารับการเสนอชื่อเป็น สปช.แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 7,370 คน และได้นำส่งขอมูลทั้งหมดนี้ไปแล้วในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตามที่ คสช.มีหนังสือแจ้งขอให้รวบรวมส่งเป็นการด่วนเพื่อนำไปพิจารณาว่าบุคคลเหล่านี้จะสามารถเข้ามาช่วยในเรื่องของการปฏิรูปบ้านเมืองได้อย่างไร ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวมีจำนวนทั้งหมด 36 แฟ้ม รวม 6-7 กล่อง
นายภุชงค์ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการปฏิรูปขณะนี้ทางสำนักงานได้มีการตั้งคณะทำงานจำนวน 3 คณะ เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของ กกต. ซึ่งอาจจะต้องมีการเสนอแก้ไข หรือเสนอเป็นข้อมูลเมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยกฎหมายที่กกต.กำลังเข้าไปตรวจสอบในขณะนี้มีสิ้น 6 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และ พ.ร.บ.การถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยคณะทำงานจะมีการประชุมในการทุกสัปดาห์เพื่อทำการศึกษาประเด็นต่างๆ และจัดให้เป็นระบบไว้รองรับกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นและคาดว่าการประชุมน่าจะได้ข้อสรุปเสนอต่อ กกต.โดยเร็ว
ส่วนที่มีการเสนอชื่อว่าหากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จจะให้มีการออกเสียงประชามตินั้น ขณะนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 ยังไม่เคยถูกนำมาใช้ แต่ในการศึกษาของคณะทำงานก็จะมีการพิจารณาถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ เตรียมไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีร่างกฎหมายที่ กกต.ได้เคยเสนอและค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เช่น ร่างแก้ไข พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.กรณีให้มีการนำเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มาใช้แทนบัตรเลือกตั้ง รวมถึงการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักร ที่ให้มีการลงทะเบียนทุกครั้งที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง และร่างแก้ไข พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ที่เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยจะให้ใช้เส้นทางคมนาคมที่ติดต่อกันก็สามารถนำมาเป็นเส้นแบ่งเขตได้ แม้ว่าพื้นที่เขตจะไม่ติดต่อกัน กกต.ก็จะได้นำมาพิจารณาไปพร้อมกัน
เมื่อถามว่าแนวทางปฏิรูปมีการเสนอให้ กกต.เป็นองค์กรตรวจสอบนโยบายประชานิยม ได้มีการเตรียมการอย่างไร นายภุชงค์กล่าวว่า การตรวจสอบนโยบายประชานิยมทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเป็นหน่วยงานหลักที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง กกต.กับ ป.ป.ช.ไปบ้างแล้ว แต่จะรอให้มีความชัดเจนในรัฐธรรมนูญเสียก่อน เพื่อจะได้มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนไว้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป