xs
xsm
sm
md
lg

อย่าให้เป็นรัฐประหารที่สูญเปล่า

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ทักษิณและพวกยังคงเริงร่าพักผ่อนและรอคอยวันที่จะกลับมาหลังระบอบทหารพ้นจากอำนาจซึ่งมีการวางโรดแมปไว้แล้วว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในเดือนตุลาคม 2558 และหลังจากนั้นประมาณ 3 เดือนน่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ตอนนี้เป็นยุคที่ต้องเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยไปก่อน เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้บัญญัติไว้แล้วให้หัวหน้า คสช.มีอำนาจเหนือใครในแผ่นดิน ให้หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอํานาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

ยิ่งถ้าหัวหน้า คสช.กับนายกรัฐมนตรีเป็นคนเดียวกันด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จสะเด็ดน้ำมากยิ่งขึ้น ทั้งถือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งถือกฎอัยการศึก ทั้งถือประกาศคำสั่งต่างๆ ที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเห็นอื่นใดมาโต้แย้ง ก็คงทำได้แต่ต้องเชื่อฟังท่านผู้นำไปอย่างเดียว

จะพาไปลงเหวหรือขึ้นสวรรค์ก็ต้องไปด้วยกัน

แต่เราก็คงต้องตั้งความหวังเอาไว้ด้วยจิตใจอันเบิกบานว่า ระบอบทหารจะนำพาชาติไปสู่ความมั่นคงสถาพรมากขึ้น เรียนรู้จุดจบของเผด็จการในอดีต ซึมซับบทเรียนที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในชาติบ้านเมือง การทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง และป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมมาหาเสียงทางการเมือง ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35(7) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

เพราะพิสูจน์แล้วว่า นโยบายประชานิยม เป็นเพียงนโยบายที่มุ่งหวังความนิยมทางการเมืองโดยไม่คำนึงความสมเหตุสมผล และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว มุ่งเอาอกเอาใจประชาชนโดยหวังแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียงเปรียบเหมือนการใช้เงินของรัฐมาหาเสียงโดยปิดบังจำนวนเงินที่ใช้ในนโยบายจนกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ มอมเมาประชาชนให้รอคอยความช่วยเหลือจากรัฐมากกว่าการพึ่งพิงตนเอง

แต่มีผู้มีความเห็นว่า การกำหนดมาตรการห้ามใช้นโยบายประชานิยมหาเสียงนี้ ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ก็คือ ระบอบทักษิณ เพราะถึงตอนนี้ระบอบทักษิณไม่จำเป็นต้องประกาศนโยบายประชานิยมในการหาเสียงอีกแล้ว เพราะได้แสดงให้ประจักษ์แล้วว่า ประชานิยมก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ

ยิ่งเวลานี้ระบอบทหารที่ยึดอำนาจอยู่ ไม่ต้องการให้มีการพูดถึงระบอบทักษิณเพื่อให้ความรู้กับประชาชน ไม่ได้พูดถึงผลเสียของนโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองนำมามอมเมาประชาชน เพราะถ้าพูดเรื่องนี้จะกระทบต่อพรรคการเมืองของทักษิณ ก็จะเป็นการทำลายบรรยากาศการปรองดองที่ฝ่ายยึดอำนาจมุ่งหวังเอาไว้

ที่สำคัญทหารชี้แจงไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้วว่า เหตุผลที่เข้ามายึดอำนาจไม่ใช่เกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาลที่ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้าน แต่เกิดจากความขัดแย้งของประชาชน จนไม่สามารถใช้ช่องทางกฎหมายปกติในการแก้ไขปัญหาได้ แม้รัฐบาลขณะนั้นจะพยายามใช้กลไกต่างๆ แก้ไขแล้วก็ตาม

ผมคิดว่า ใครที่ได้อ่านคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็คงได้รู้เหตุผลที่แท้จริงที่ทหารต้องเข้ามายึดอำนาจอยู่แล้วว่า เขาโทษว่า บ้านเมืองมีปัญหาเพราะประชาชนทั้งสองฝ่ายทะเลาะกัน เขาไม่ได้มองว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด ทำไมประชาชนต้องออกมาต่อต้านรัฐบาล และทำไมรัฐบาลจึงสามารถจัดตั้งประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้าน เขาไม่พูดเลยว่า ฝ่ายไหนที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง

ไม่ได้พูดว่า ที่ระบอบทหารต้องเข้ามายึดอำนาจเพราะระบอบทักษิณผูกขาดอำนาจในสภาฯ ไม่เคารพความเห็นของเสียงข้างน้อย ใช้เสียงข้างมากผ่านกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้ทักษิณ มีการทุจริตคอร์รัปชัน การเอื้อประโยชน์พวกพ้อง มีผลประโยชน์แอบแฝงเพื่อหมู่คณะของตนเอง จนกระทั่งมีประชาชนกลุ่มหนึ่งมองเห็นเหตุหายนะที่จะเกิดขึ้นกับประเทศแล้วลุกขึ้นมาต่อต้านจนเกิดการปะทะกับประชาชนที่ถูกระบอบทักษิณมอมเมาด้วยนโยบายประชานิยม และหลอกลวงประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายตัวเองว่า ทักษิณถูกกลั่นแกล้งเพราะอำมาตย์อิจฉาที่ทักษิณทำให้คนจนมีความกินดีอยู่ดีขึ้น

ดังนั้น เราจึงไม่เห็นฝ่ายของระบอบทักษิณออกมาต่อต้านระบอบทหารอย่างจริงจังในช่วงนี้ แม้จะเคยพูดกันไว้ว่า ถ้าทหารออกมารัฐประหารเมื่อไหร่จะต้องเจอกับพลังประชาชนคนเสื้อแดงที่จะออกมาต่อต้าน มีเพียงลิ่วล้อแตกแถวของทักษิณ 2-3 คนที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ แต่ไม่ได้สร้างความสั่นสะเทือนอะไรให้แก่ฝ่ายยึดอำนาจเพราะไม่มีพลังมวลชนหนุนหลัง

ผมจึงพูดเสมอว่า คนที่คิดว่า คณะรัฐประหารจะเข้ามาจัดการกับระบอบทักษิณนั้นเป็นเรื่องที่มโนไปเองทั้งสิ้น

ประชาชนส่วนหนึ่งดีอกดีใจที่จะได้มีการปฏิรูปการเมือง แต่จริงๆ แล้วการปฏิรูปการเมืองเป็นความเห็นร่วมกันของทุกฝ่ายอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็เกี่ยงกันเพียงแต่ว่าจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้งเท่านั้นเอง

แต่เมื่อการเลือกตั้งมาถึงหลังจากได้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ประชาชนก็จะเลือก ส.ส.ที่ตัวเองเคยชิน เลือกพรรคที่ตัวเองชอบ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องปกติและดูเหมือนจะสวยงามในระบอบประชาธิปไตย แต่คำถามคือ เราได้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้เรียนรู้และเข้าใจความหมายของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ เข้าใจถึงผลกระทบต่อตัวเองและประเทศชาติที่ปล่อยให้กลุ่มทุนเผด็จการพรรคการเมืองเข้ามาบริหารปกครองประเทศหรือไม่

หรือพูดง่ายๆ ก็คือตราบที่เราไม่ทำให้คนรากหญ้าได้เรียนรู้ถึงมหันตภัยของระบอบทักษิณ พรรคของทักษิณก็อาศัยข้ออ้างที่ว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้ามามีอำนาจอีก และเขาก็อ้างความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้งเรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย

แม้ว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 จะสร้างกลไกที่ดูสวยงามเพื่อเป็นบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ประชาธิปไตยที่ทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงนั้นจะต้องทำให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจที่เท่าเทียมกันถึงผลเสียของระบอบทุนเผด็จการพรรคการเมืองให้ได้ ไม่เช่นนั้นระบอบทักษิณก็กลับมามีอำนาจอีก

และเมื่อถึงตอนนั้นประชาชนก็ต้องออกมาต่อสู้ขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมอีก และสิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็จะสูญเปล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น