xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ปิ๊งข้อเสนอส่ง คสช.ยกเลิกวุฒิสภา-ใช้จังหวัดเขตเลือกตั้ง-ส.ส.จบปริญญาตรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. (ภาพจากแฟ้ม)
กกต. พอใจ ปชช. หนุนข้อเสนอปมปฏิรูปเลือกตั้ง พร้อมตั้ง 3 อนุถก 3 โจทย์ ทั้งระบบเลือกตั้ง การปราบปรามการทุจริต และประสิทธิภการทำงาน กกต. หลัง คกก. ที่ปรึกษา กม. ติงข้อเสนอแก้ รธน. - 5 กม. ลูก ไม่ชัดเจน ขณะเดียวกัน เปิดอีก 3 ประเด็นชง คสช. ก่อนหน้านี้ พบมีทั้งยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา - เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด นอกราชอาณาจักร - ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และผู้สมัคร ส.ส. ต้องจบปริญญาตรี มีภูมิลำเนาในพื้นที่มาไม่น้อยกว่า 5 ปี

วันนี้ (15 ก.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมทำหนังสือมายัง กกต. เพื่อนัดหมายขอหารือเกี่ยวกับมาตรการดูแลโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง ว่า ขณะนี้สำนักงาน กกต. ยังไม่ได้รับหนังสือนัดหมายจากเลขาธิการ ป.ป.ช. อย่างเป็นทางการ เพียงแต่ทราบข่าวและรายละเอียดผ่านทางสื่อมวลชนเท่านั้น ซึ่งถ้าหาก ป.ป.ช. ทำหนังสือขอหารือมายัง กกต. ทาง กกต. ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและพูดคุยเพื่อหามาตรการป้องกันดูแลนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะการให้คำจำกัดความตามกฎหมายว่าประชานิยมคืออะไร และนโยบายอย่างไรเข้าข่ายเป็นประชานิยม ซึ่ง กกต. เพียงหน่วยเดียวคงดำเนินการไม่ได้ ต้องร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในการพิจารณาประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวรู้สึกพอใจที่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนข้อเสนอของ กกต. เกี่ยวกับการปฏิรูปเลือกตั้ง ที่ กกต. เสนอต่อคณะทำงานด้านการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยหลังจากนี้ กกต. ก็จะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. เพื่อพัฒนาระบบเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งซึ่งก่อนหน้านี้ กกต. ได้เสนอไปยังคณะทำงานด้านการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเป็นการตอบโจทย์ 6 ข้อที่ คสช. ให้มานั้น นอกจากมีประเด็นในเรื่องการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ส. ที่ต้องไม่เกิน 2 วาระ หรือ 8 ปี แล้ว ยังพบว่ามีข้อเสนอที่น่าสนใจ ในเรื่องของสมาชิกวุฒิสภา กกต. เสนอปัญหาว่า การมี ส.ว. มาจากเลือกตั้ง และจากการสรรหา ทำให้เกิดความขัดแย้งกันในการปฏิบัติหน้าที่ ส.ว. เลือกตั้งหนีไม่พ้นการถูกครอบงำจากพรรคการเมือง นักการเมือง เพราะมีฐานที่มาเดียวกันจากส.ส. ขณะที่ ส.ว. สรรหา ขาดความยึดโยงกับประชาชน ดังนั้น ควรจะมีการยกเลิก ส.ว. แล้วมีสภาเดียวหรือไม่ หรือหากจะคงไว้ ก็ต้องมีการแก้ไขในเรื่องของคุณสมบัติ ที่มา

รวมทั้งกรณีที่มีการเสนอให้เปลี่ยนเขตเลือกตั้งจากเขตเดียว เบอร์เดียวปัจจุบัน มาเป็นเขตใหญ่นั้น กกต. ให้เขตใหญ่นั้นหมายถึงใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในแต่ละจังหวัดก็ใช้จำนวนคะแนนที่ได้เป็นตัวกำหนดซึ่งจะไล่เรียงไปจนครบตามจำนวน ส.ส. ที่พึงมีของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจะเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อปี 2543 ขณะเดียวกัน ในส่วนคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่นอกจากเสนอว่าต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ปี ห้ามต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีทุจริตซื้อเสียง คดียาเสพติด คดีหมิ่นสถาบันแล้ว ยังพบว่าเสนอกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องจบปริญญาตรี เพื่อให้ได้คนที่มีคุณวุฒิเพียงพอที่จะมาพัฒนาประเทศ รวมทั้งยังกำหนดว่าต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่สมัครไม่น้อยกว่า 5 ปี เพียงอย่างเดียวอีกด้วย ขณะเดียวกันในเรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กกต. เสนอโดยให้น้ำหนักว่าควรจะยกเลิกเนื่องจาก ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ หากจะคงไว้ก็ต้องมีการแก้ไขกระบวนการเพื่อให้เกิดการใช้สิทธิมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ นายภุชงค์ ยังได้เป็นประธานประชุมผู้บริหารสำนักงานเพื่อหารือเกี่ยวกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรวม 5 ฉบับที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กกต. โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาโจทย์ 3 ข้อที่คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายได้มีความเห็นเสนอที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายเห็นว่า ข้อเสนอที่สำนักงาน กกต. ได้จัดทำเกี่ยวกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 5 ฉบับนั้นเป็นการเสนอแบบกระจายประเด็นทำให้ขาดความชัดเจน และมองว่าเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญให้ กกต. มีหน้าที่ในการดำเนินกระบวนการเข้าสู่อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงจำเป็นที่ กกต. จะต้องมองกลไกการทำงานของตัวเองว่าสิ่งใดเป็นปัญหาอุปสรรค ไม่เอื้อให้เกิดกระบวนการเข้าสู่อำนาจฯที่สุจริตและเที่ยงธรรม หากเป็นกฎ ระเบียบ ประกาศ ก็เป็นเรื่องที่สำนักงานสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง แต่หากเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายก็ให้มีการเสนอต่อสภาปฎิรูป ดังนั้น การจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงควรจัดกลุ่มของปัญหาตามภารกิจ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ในเชิงระบบเลือกตั้ง กกต. เห็นว่าควรเป็นอย่างไร เช่น จะยังคงเป็นสภาคู่หรือมี ส.ส. และ ส.ว. หรือเป็นสภาเดี่ยว คือมี ส.ส. อย่างเดียว คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครควรเป็นอย่างไร จำนวน ส.ส. ส.ว. ควรมีกี่คน

2. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้ง การหาเสียง การทุจริตเลือกตั้ง การดำเนินการของ กกต. จะมีการปรับปรุง และปราบปรามอย่างไร ไม่ให้มีการทุจริต ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องทั้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ กกต. พรรคการเมือง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัคร และ 3. ประสิทธิภาพในการทำงานของ กกต. ทั้งการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง การสั่งเลือกตั้งใหม่ จะใช้เวลากี่วันหากตรวจสอบพบ หรือการปราบปรามการทุจริตที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ควรเป็นอย่างไร ทำให้ที่ประชุมคณะผู้บริหารสำนักงานในวันนี้เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาในการทำการสังเคราะห์และตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อ จึงได้ตั้งเป็นอนุกรรมการ 3 ชุดเพื่อพิจารณาปัญหาและจัดทำแนวทางเสนอในแต่ละข้อ โดยมีรองเลขาธิการด้านบริหารงานเลือกตั้ง ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยและด้านกิจการพรรคการเมือง เป็นประธานในแต่ละชุดตามลำดับ ซึ่งอนุกรรมการทั้ง 3 ชุดจะเริ่มประชุมตั้งแต่ในวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.) เป็นต้นไป เพื่อเร่งรัดให้แล้วเสร็จเสนอต่อที่ประชุมคณะผู้บริหารสำนักงาน ที่ประชุม กกต. และที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายที่มีนัดหมายจะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 1 ส.ค. ก่อนที่จะจัดทำเป็นข้อเสนอของ กกต. ไปยังสภาปฏิรูปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะจัดตั้งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น