xs
xsm
sm
md
lg

พท.-ปชป.ส่งตัวแทนเสวนาหาทางออกประเทศ “ปฏิรูป-เลือกตั้ง”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


วงเสวนาเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเผยทุกฝ่ายต้องหาจุดร่วม ปฏิรูป-เลือกตั้ง ต้องควบคู่ ปลัด ยธ.เสนอนักการเมืองคู่ขัดแย้งควรเสียสละไม่ลงเลือกตั้ง 1 ปี แนะเลิกอวดนโยบายประชานิยม เน้นปฏิรูปประเทศ



วันนี้ (30 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล ซอยรางน้ำ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปกว่า 70 องค์กรวิชาชีพ จัดเวทีระดมความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “การปฏิรูปบนวิถีประชาธิปไตย” โดยมีตัวแทนภาควิชาการ ตัวแทนภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และภาคการเมือง เช่น น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานฮิวแมนไรต์วอตช์ เข้าร่วมสนทนา

นายบัณฑูร เศรษศิโรตม์ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป อ่านแถลงการณ์เครือข่ายว่า การปฏิรูปประเทศเป็นโอกาสในการร่วมกันนำพาประเทศออกจากกับดักความขัดแย้ง และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน การตื่นตัวของทุกภาคส่วนขณะนี้มีมากพอที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปภายใต้วิถีทางประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับ ทั้งนี้ มองว่าระบอบประชาธิปไตยยังไม่ได้เดินทางมาถึงทางตัน แต่ยังสามารถอาศัยกลไกภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสู่การปฏิรูปประเทศ ดังนั้น การกำหนดวันเลือกตั้งและกระบวนการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีทางเจรจาหาทางออกความขัดแย้งร่วมกัน รวมถึงการที่ไม่สามารถกำหนดกรอบและแนวทางในการปฏิรูปประเทศจนได้ข้อสรุปควบคู่ไปด้วยนั้น อาจไม่ใช่แนวทางในการแก้ปัญหา และอาจเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมาในสังคม จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดเงื่อนไข ข้อเรียกร้องทางการเมือง มาร่วมคิดโดยใช้กลไกประชาธิปไตยหาทางออกจากวิกฤตทางการเมือง อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อสรุปการหารือในวันนี้จะรวบรวมและนำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง รัฐบาล พรรคการเมือง และภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการออกแบบแนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป

นายกิตติพงษ์ ในฐานะตัวแทนจากภาคข้าราชการ กล่าวว่า ถ้าดำเนินการเลือกตั้งท่ามกลางความขัดแย้งก็จะนำไปสู่ปัญหาเดิมๆ ดังนั้นต้องมีการทำความเข้าใจกันก่อนว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งและการปฏิรูปที่เป็นเป้าหมายร่วมกันสามารถเดินหน้าควบคู่กันไป จากประสบการณ์ที่ตนเป็นหนึ่งในคณะกรมการ คอป.ได้มีโอกาสหารือกับคู่ขัดแย้งทุกสีทุกฝ่าย พบว่าทุกกลุ่มมีความต้องการหลักนิติธรรม ความยุติธรรม และประชาธิปไตยที่แท้จริงที่ปราศจากการแทรกแซงจากพรรคการเมือง นายทุน ถ้ามีความเห็นตรงในเรื่องดังกล่าวการเลือกตั้งคราวหน้าพรรคการเมืองต้องเปลี่ยนความคิดจากการแข่งขันในเชิงนโยบาย หรือโจมตีนโยบายประชานิยม มาเน้นเรื่องการปฏิรูปประเทศพร้อมขอให้นักการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งเสียสละอย่างน้อย 1 ปี เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปโดยปราศจากการแทรกแซง กระบวนการทั้งหมดต้องอยู่บนหลักการประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับ

ด้านนายสุนัยกล่าวว่า ปฏิกิริยาในเดือนที่ผ่านมา ทั้งกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เดินสายเจรจา หรือที่นายนพดล ปัทมะ ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อาจเว้นวรรคทางการเมือง ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการร่วมกันหาทางออก ที่สุดต้องยึดหลักประชาธิปไตยและปฏิเสธการเลือกตั้งไม่ได้ แต่ตนมีข้อกังวลในเรื่องความรุนแรงในสังคมที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มขบวนการภาคประชาชนที่มีพรรคการเมืองให้การสนับสนุนหรือเคลื่อนไหวในลักษณะคู่ขนานผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทั้งก่อนการเลือกตั้งก็ดี หรือหลังเลือกตั้งก็ดี ล้วนแล้วแต่มีเป้าประสงค์ในการปฏิรูปการเมืองเหมือนกัน ดังนั้นพรรคการเมืองและกลุ่มขบวนการภาคประชาชนควรมีการสร้างพันธะผูกพันในการปฏิเสธความรุนแรง และควรสลายกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายสนับสนุนตัวเอง เพื่อไม่ให้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนำไปสู่ความรุนแรง

นายกรณ์กล่าวว่า รู้สึกกังวลที่หลายภาคส่วนมุ่งเน้นการปฏิรูป ที่อาจไม่ใช่การตอบโจทย์กับสังคมอย่างแท้จริง เพราะถ้าทุกคนมีความเห็นตรงกันคงมีข้อสรุปที่ชัดเจนไปแล้ว เนื่องจากข้อเท็จจริงในวันนี้ คือ ผู้ที่ได้เปรียบในโครงสร้างสังคมไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง จึงทำให้มีประชาชนออกมาต่อสู้เรียกร้องให้มีการปฏิรูป โดยสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้นคือกระบวนการและกลไกการปฏิรูปที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากกว่าเนื้อหาการปฏิรูป ทั้งนี้ ในส่วนของการเลือกตั้งนั้น ตนเชื่อว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และมีศักยภาพมากกว่านี้ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาแม้ว่าผลจะสะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการใช้อำนาจเสียงข้างมากที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาควรแก้ให้ตรงจุด ว่าจะทำให้ประชาชนรักษากติกา กฎเกณฑ์ทางกฎหมาย และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

นายกิตติพงษ์กล่าวภายหลังเสวนาบนเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 4 ว่า คนทั่วไปไม่มีใครต้องการความเปลี่ยนแปลงเรื่องที่เป็นเรื่องยากๆ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่อทุกคนจะเห็นวิกฤตของปัญหาที่มีความลึกซึ้งในลักษณะที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และตัวอย่างอย่างประเทศอินโดนีเซีย ที่เกิดวิกฤตช่วงปี 1998 เขามีความกังวลว่าจะเกิดการล่มสลายของประเทศ เพราะฉะนั้น นักการเมืองที่มีความสำนึกก็มีความรู้สึกว่าถ้าไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในการกระจายอำนาจให้ประชาชามีส่วนร่วมมากขึ้น ประเทศก็อาจสียหายถึงขั้นหายนะได้ อันนำไปสู่การปฏิรูปโดยไม่จำเป็นต้องมีกลไกพิเศษอะไร ก็สามารถปฏิรูปได้ด้วยความเสียสละ

ปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวอีกว่า วันนี้ถามว่าประเทศไทยถึงจุดที่ต้องเสียสละหรือยัง ถ้าเรายังคุยกันถึงปัญหาที่ผิวเผิดหรือปัญหาที่ยังทะเลาะกันหรือความเห็นไม่ตรงกันระหว่างคนหรือกลุ่มคน แต่ถ้าเรามองลึกซึ้งกว่านั้น จะเห็นว่าจริงๆ แล้วปัญหาอยู่ที่โครงสร้าง การจัดการโครงสร้างอำนาจที่เหมาะสมที่ทำให้พรรคการเมืองสามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง และประชาธิปไตยก็เป็นประชาธิปไตยที่สนองตอบความต้องการของประชาชนไม่ใช่ระบบพรรคการเมืองที่มีการครอบงำได้ไม่ว่าฝ่ายใด แม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง อันนี้เป็นประเด็นของการที่ต้องจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย วันนี้ถ้าเราเห็นแค่ปัญหาเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะกลุ่ม เราก็ไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ปัญหาที่เป็นปัญหาพื้นฐานสื่อ

เมื่อถามว่า ให้นักการเมืองมีความเสียสละอย่างไร นายกิตติพงษ์กล่าวว่า เครือข่ายเราไม่ได้ประสงค์ที่จะเป็นคนกลางที่จะดึงฝ่ายต่างๆ มาพูดคุยกัน แต่เราเป็นเครือข่ายที่มีความรู้ในด้านการปฏิรูป ในการทำงานของเราที่ผ่านมานั้นเราได้คุยกับหลายฝ่ายทั้งคู่ขัดแย้ง มวลชนที่มีความคิดทางการเมืองต่างกัน รวมไปถึงการระดมความคิดในหลายเวที และจากประสบการณ์การทำงานของเรา ฟันธงว่ามีจุดร่วมซึ่งน่าเป็นประเด็นความชัดเจนที่ทุกฝ่ายร่วมกันได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็อยากให้ประเด็นการปฏิรูปเป็นประเด็นที่ร่วมเป็นการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งไม่ได้คุยด้วยความขัดแย้ง การหาเสียงก็ดี จะมีความปลอดภัยหรือไม่ และการเลือกตั้งจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เพราะฉะนั้นประเด็นเลือกตั้งและการปฏิรูปเป็นเรื่องเดียวกัน นำไปสู่ว่าถ้าคนเห็นตรงกันตรงจุดนี้เพื่อทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า โดยเราจะสร้างหลักประกันให้เห็นว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างไร หลักประกันนี้ก็มีได้มากกว่า 1 วิธี โดยมีการเสนอรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูป การเสนอเรื่องระยะเวลาที่มีกรอบจำกัด และตนขอเสนอเป็นส่วนตัวว่านักการเมืองซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งจะเสียสละได้หรือไม่ หลังจากนั้นจะดูที่ประเด็นร่วม และถ้าเราเปลี่ยนโหมดของความขัดแย้งเป็นโหมดของความร่วมมือที่จะนำประเทศไปสู่การปฏิรูปก็สามารถคุยกันได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องทำด้วยวิถีประชาธิปไตย

เมื่อถามว่าใครคือคู่ขัดแย้งที่ควรเสียสละไม่ลงเลือกตั้ง 1 ปี ปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ตนไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการเมือง แต่ในหลักการคือถ้าเราเปลี่ยนโหมดในเรื่องการแข่งขันโดยทั่วไปซึ่งเป็นปกติของการแข่งขัน ที่จะต้องมีการแข่งขันเชิงนโยบายมาเป็นประเด็นร่วมในการนำประเทศไปสู่การปฏิรูป

นอกจากนี้เครือข่ายได้รับฟังข้อคิดเห็นจากคู่ขัดแย้ง และจากเวทีต่างๆ ทั่วประเทศ และมีข้อเสนอแนะดังนี้
1.ประชาชนทุกฝ่ายต้องไม่ยอมรับการก่อความรุนแรงหรือการกระทำที่ยั่วยุให้ เกิดความรุนแรงในทุกรูปแบบ
2.เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ดุแลกฎหมาย จะต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยต้องดำเนินการสืบสวน สอบสวนเพื่อนำผู้กระทำความรุนแรงจนเกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว ไม่เลือกว่าเป็นฝ่ายใด
3.เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป สนับสนุนให้มีการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้อง โดยผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่ายต้องเจรจาหรือแสดงเจตนารมณ์ และสร้างหลักประกันให้ประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองไม่ว่าฝ่ายใด ให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุด เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ขอปวารณาจะร่วมมือกับทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันยุติความรุนแรง ลดและยุติการสร้างความเกลียดชัง และปลุกปลอบใจให้ทุกฝ่ายมีศรัทธาในสันติวิธี เพื่อให้การปฏิรูปภายใต้วิถีประชาธิปไตยและสังคมไทย สามารถเดินหน้าไปด้วยสันติสุข
และ4.การกำหนดวันเลือกตั้งและกระบวนการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว โดยมิได้มีการเจรจาหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกัน และกำหนดกรอบ กลไก และแนวทางในการปฏิรูปประเทศจนได้ข้อสรุปอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายควบคู่กันไปด้วยนั้น นอกจากจะมิใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาสังคมไทยที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้แล้ว ยังอาจเป็นการสร้างประเด็นปัญหาเพิ่มขึ้นมาในสังคมไทยเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

“ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดเงื่อนไขข้อเรียกร้องทางการเมือง ถอยกันคนละก้าว และหันมาร่วมคิดร่วมคุยโดยใช้กลไกประชาธิปไตย เพื่อหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ลดความขัดแย้งแตกแยกในสังคม และเร่งสร้างหลักประกันทีมีพันธะผูกพันทางการเมือง เพื่อนำประเทศก้าวสู่การปฏิรูปบนพื้นฐานแห่งประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยเร็ว” ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น