กกต. ชง คสช. ปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้ง เสนอจำกัดวาระ ส.ส. แค่ 2 สมัย หากครบวาระ หรือยุบสภา ให้ ครม. พ้นสภาพ ไม่ต้องอยู่รักษาการต่อ พร้อมแบนคนทุจริตเลือกตั้ง - ยาเสพติด - หมิ่นเบื้องสูง ห้ามลงเลือกตั้ง ขณะเดียวกันติดดาบ กกต. เลื่อนเลือกตั้งได้เองโดยไม่ต้องปรึกษานายกฯ
วันนี้ (7 ก.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงภายหลังการประชุม กกต. นานกว่า 4 ชั่วโมง ร่วมกับผู้บริหารสำนักงานเพื่อพิจารณาปมแก้ไขปัญหา และข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตามโจทย์ที่ได้ทางคณะทำงานด้านการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่าที่ประชุม กกต. ได้ประชุมพิจารณาแล้วเสร็จโดยประธาน กกต. จะลงนาม และส่งไปยังคณะทำงานด้านการปฏิรูปของ คสช. ในเช้าวันพรุ่งนี้ ( 8 ก.ค.)
โดยประเด็นที่มีการเสนอเป็นการให้ข้อดีข้อเสีย และข้อเสนอที่ควรจะเป็น ไม่ใช่การฟันธงว่าต้องแก้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในกรณีของการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น ยังคงให้มี ส.ส. มาจากระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และระบบบัญชีรายชื่อ แต่เห็นว่าเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตเลือกตั้ง และอิทธิพลในการเลือกตั้ง ระบบแบ่งเขตควรเปลี่ยนจากเขตเดียวเบอร์เดียวเป็นแบบเขตใหญ่ ส่วน ส.ส. บัญชีรายชื่อมีที่มาจากกลุ่มสาขาอาชีพที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงเพศ และภูมิภาคเป็นหลัก ซึ่ง ส.ส.ทั้งสองระบบควรมีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน
ส่วน ส.ว. ก็เสนอว่ามีความจำเป็นที่ต้องคงแต่จะให้มีทั้ง ส.ว. สรรหา และ ส.ว. เลือกตั้ง หรือไม่ ก็ได้เสนอจุดเด่นจุดด้อย ว่าถ้าจะให้ ส.ว. มาจากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลาย โดยคำนึงถึงเรื่องของความสามารถมากกว่าการศึกษา การจะให้มี ส.ว. ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ที่ไม่ได้จบปริญญาตรี ก็ยากที่จะได้มาจากการเลือกตั้ง จึงน่าจะได้รับการพิจารณาในรูปของการเป็น ส.ว. สรรหามากกว่า
นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ก็มีการเสนอให้มีการแก้ไขในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยได้เสนอให้มีการเพิ่มว่า การที่ผู้สมัครจะต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ แม้ประโยชน์ของการไม่สังกัดจะมีอยู่ส่วนหนึ่ง แต่การสังกัดพรรคจะมีผลในเรื่องของการพัฒนาและสนับสนุนงานของพรรค ซึ่งพรรคควรมีการวางกรอบในการควบคุม ส.ส. ของพรรคโดยไม่ให้ ส.ส. ของพรรคต้องดำเนินการตามคำสั่งของพรรคการเมืองเสมอไปเหมือนที่ผ่านมา และการจะลงสมัครรับเลือกตั้งก็ควรกำหนดให้ต้องสังกัดพรรคมาไม่น้อย 1 ปี และเมื่อเข้าดำรงตำแหน่ง ส.ส. แล้วควรกำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่ต้องไม่ดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่เกิน 2 วาระ หรือ 8 ปี พร้อมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาสภาผัวเมีย ควรกำหนดห้ามมิให้บุพการี บุตร บุญธรรม คู่สมรสตามกฎหมาย หรืออดีตคู่สมรส ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ในคราววาระเดียวกัน และยังเห็นควรให้กำหนดเพิ่มในลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง คดียาเสพติด และคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ขณะที่พรรคการเมืองควรมีการกำหนดให้การตั้งพรรคทำได้ยากขึ้น แม้จะมีผู้ก่อตั้ง 15 คน แต่จะเป็นพรรคการเมืองได้ต้องหาสมาชิกให้ได้ครบ 5 พันคน และตั้งสาขาพรรคใน 4 ภาคให้แล้วเสร็จก่อน
นายภุชงค์ ยังด้วยว่า และเพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความสุจริต เป็นธรรม จะเสนอให้มีการพิจาณาถึงอำนาจ กกต. ในการจัดการเลือกตั้ง ว่า หากเกิดปัญหาการขัดขวาง เกิดเหตุสุดวิสัยอันเป็นภัยร้ายแรง ให้ กกต. มีอำนาจในการเสนอเลื่อนขยายวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร หรือกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ต้องมีการปรึกษาหรือขอความเห็นจากนายกรัฐมนตรี และเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าราชการการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ ทรัพยากรของรัฐไปเป็นประโยชน์ในการหาเสียงเอาเปรียบฝ่ายตรงข้าม ก็ให้มีการกำหนดให้ข้าราชการเป็นข้าราชการเมืองตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดข้ออ้างว่า ใช้เวลานอกราชการไปหาเสียง อีกทั้งเมื่อมีการยุบสภา หรือกรณีดำรงตำแหน่งครบวาระ ให้คณะรัฐมนตรีพ้นไปโดยปริยาย ไม่ต้องเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการ และเห็นควรให้ปลัดกระทรวง ทบวง กรม รักษาการแทน รวมทั้งในระหว่างการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้มีการข่มขู่พยานจนเกิดการกลับคำให้การ เสนอให้พยานของ กกต. ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองพยาน และเพิ่มอำนาจให้ กกต. สามารถเรียกเอกสาร หรือเชิญบุคคลมาให้ถ้อยคำต่อ กกต. หากไม่มาก็ให้มีบทโทษ อีกทั้งมีการให้ข้อมูลข้อดีข้อเสียถึงการเลือกตั้ง ว่า ควรจะให้เป็นหน้าที่ หรือเป็นสิทธิ และเสนอมาตรการในการป้องกันการใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยอาจจะมีการตั้งเป็นคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงานอาทิ ป.ป.ช. สตง. ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ขึ้นมาตรวจสอบว่านโยบายที่พรรคการเมืองเสนอสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ และส่งผลทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายในอนาคตหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หลัง กกต. ส่งข้อเสนอแนวทางดังกล่าวไปให้คณะทำงานด้านการปฏิรูปแล้ว ทาง กกต. ก็จะมาจัดทำในส่วนที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และการออกเสียงประชามติ และการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น รวม 5 ฉบับ ซึ่งก็จะมีส่วนของการใช้สิทธิเลือกตั้งว่าจะต้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิก่อนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีกว่า 92 ประเทศ ที่ใช้วิธีการนี้ และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมถึงการเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งจะยังคงมีอยู่หรือไม่ และหากมีอยู่ควรมีการปรับแก้ไขในเรื่องใดเพราะที่ผ่านมา เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรใช้งบประมาณต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหนึ่งคนกว่า 2 พัน ขณะที่ในประเทศผู้มีสิทธิเลือกตั้งหนึ่งคนใช้งบเพียงหลักร้อยบาท รวมถึงจะมีการเสนอให้ศาลให้ข้อมูลที่ กกต. เสนอไปขอให้พิจารณาสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นหลัก ไม่ใช่ใช้ระบบกล่าวหาของกฎหมายอาญาอย่างที่ทำอยู่ปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมาพยานกลับคำให้การในชั้นศาลทำให้คดีเลือกตั้งจำนวนมาก กกต. ไม่สามารถเอาผิดได้ ทั้งนี้ กกต. จะเร่งส่งรายละเอียดทั้งหมดให้กับ คสช. พิจารณา เพื่อให้ทันกับการพิจารณาของสภาปฏิรูปซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาทั้งระบบว่าการเลือกตั้งควรจะเป็นอย่างไร