ศาลอาญาไม่รื้อฟื้นคดี ตร.เพชรเกษมข่มขืนสาวบนโรงพัก ชี้ผู้เสียหายกลับคำให้การอาจมีแรงจูงใจอื่น ที่ผ่านมาศาลเปิดโอกาสให้นำหลักฐานสู้คดีอย่างเต็มที่แล้ว จึงยังไม่มีเหตุให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 709 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งรื้อฟื้นคดีที่นางฐพัฒน์นาถ โททอง ภรรยา ด.ต.มงคล โททอง และนางสายนภา แอ๊ดมา ภรรยา ด.ต.นุโลม แอ๊ดมา ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ตาม พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 ในคดีหมายเลขดำ อ.4264 /2553 ที่ ด.ต.นุโลม แอ๊ดมา กับพวกรวม 2 คน อดีตตำรวจ สน.เพชรเกษม ต้องคำพิพากษาศาลฏีกาจำคุก 20 ปี ฐานกระทำชำเราหญิงอายุ 16 ปีเศษ อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
โดยคำร้องรื้อฟื้นคดีระบุว่า ด.ต.มงคล โททอง และ ด.ต.นุโลม แอ๊ดมา ถูกพนักงานอัยการฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ 16 ปีเศษ ซึ่งมีใช่ภรรยาโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมแล้วได้ผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนผู้เสียหาย อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เหตุเกิดที่ สน.เพชรเกษม แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่ากระทำผิดให้จำคุกคนละ 20 ปี และปรับคนละ 40,000 บาท ต่อมาภรรยายของ ด.ต.มงคล และด.ต.นุโลม ได้ไปร้องขอความเป็นธรรมต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากภายหลัง น.ส.เอ (นามสมมติ) ผู้เสียหายได้สารภาพว่าได้ปรักปรำใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.เพชรเกษมให้ได้รับโทษจริง ต่อมาเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงได้รวบรวมหลักฐานและให้ทนายความฟ้องร้อง น.ส.เอ ข้อหาเบิกความเท็จ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกรวม 18 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 9 เดือน
ศาลพิจารณาคำร้องขอรื้อฟื้นคดีแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมรู้กฎหมายเป็นอย่างดี หากผู้เสียหายแจ้งความเท็จกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองข่มขืนก็สามารถฟ้องร้องแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เสียหายเพื่อให้รับโทษทางอาญาในความผิดฐานแจ้งความเท็จได้ มิใช่เพิ่งมายื่นฟ้องผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จหลังจากที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาตัดสินไปแล้ว โดยระยะเวลาผ่านล่วงเลยมานาน ประกอบกับระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จำเลยทั้งสองก็สามารถนำพยานหลักฐานต่อสู้ได้อย่างเต็มที่
ส่วนการที่ผู้เสียหายยอมรับสารภาพว่าเบิกความเท็จเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสอง โดยอ้างว่าสำนึกผิด เห็นว่าอาจมีเหตุจูงใจอื่นนอกจากการสำนึกผิด และส่วนที่ผู้เสียหายเข้าเครื่องจับเท็จของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอแล้วไม่พบว่าคำให้การมีพิรุธนั้น ถือว่าเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง แต่เครื่องมือดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่ามีความผิดพลาดได้ 1 ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งศาลสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงอื่นมาประกอบการพิจารณาได้ จึงยังไม่มีเหตุให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ ให้ยกคำร้องและส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป
ภายหลังศาลมีคำสั่ง จำเลยทั้งสองกล่าวระหว่างเดินเข้าห้องขังใต้ถุนศาลอาญาว่า รู้สึกผิดหวัง แต่ก็จะอุทธรณ์สู้คดีต่อไป
ด้านนางสายนภา แอ๊ดมา ภรรยา ด.ต.นุโลม กล่าวทั้งน้ำตาว่า รู้สึกเสียใจที่ศาลมีคำสั่งไม่รื้อฟื้นคดี โดยสามีตนบอกว่าเป็นเวรเป็นกรรมอะไรทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำ ตนก็ได้แต่บอกให้อดทนและคิดอยู่เสมอจะต้องพาสามีกลับบ้านให้ได้ ขณะเดียวกันก็รู้สึกสงสารแม่ของสามีที่เฝ้ารอลูกชายอยู่โดยไม่ทราบว่าลูกชายติดคุก ทั้งนี้จะรอฟังคำสั่งอุทธรณ์อีกครั้งและจะต่อสู้คดีต่อไป เพราะถึงอย่างไรศาลฎีกาก็พิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 20 ปี และสู้มาจนไม่เหลืออะไรแล้ว สำหรับหญิงผู้เสียหายที่อ้าวว่าถูกข่มขืนตอนนี้ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 9 เดือนในความผิดฐานเบิกความเท็จ และคงจะได้ออกจากคุกก่อนสามีตนเองทั้งที่เป็นคนปรักปรำและสร้างเรื่องขึ้นมา หญิงสาวผู้เสียหายก็เป็นคนสารภาพกับตนเองว่าเป็นคนสร้างเรื่องขึ้นและยินดีจะเบิกความช่วยเหลือครอบครัวพี่ให้ถึงที่สุด ตนก็คิดว่าน่าจะแก้ไขได้ แต่นึกไม่ถึงว่าการสู้คดีจะยากลำบากถึงเพียงนี้ ทำให้รู้สึกน้อยใจมากและอยากให้ศาลให้ความเมตตาสักหน่อย ส่วนสามีตนถูกจำคุกมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว
ขณะที่นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความผู้ร้อง กล่าวว่า แม้ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นจะไม่รับคำร้องขอรื้อฟื้นคดีใหม่ แต่ตามกฎหมายยังยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน เราก็จะดำเนินการโดยคาดว่าจะยื่นอุทธรณ์ภายใน 7 วัน อย่างไรก็ดี ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่นั้น บัญญัติถึงเงื่อนไขที่ให้รับฟังได้ว่า หากพยานบุคคลซึ่งเป็นหลักในการพิพากษาคดีที่ร้องขอรื้อฟื้นในภายหลังพบว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ เป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงต่อความจริง ซึ่งคดีที่เราร้องนั้นพบว่าพยานที่เป็นผู้เสียหายได้กลับคำให้การ และภายหลังได้ถูกฟ้องฐานเบิกความเท็จที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกแล้ว 9 เดือนโดยคดีนั้นก็ถึงที่สุดแล้วเมื่อไม่มีการอุทธรณ์-ฎีกา ดังนั้นเราจะบรรยายให้ศาลอุทธรณ์เห็นเพื่อพิจารณา แต่ถ้าผลคำอุทธรณ์จะยกคำร้องอีกก็ต้องดูกฎหมายอีกครั้งว่าสามารถยื่นฎีกาได้หรือไม่ อย่างไรก็ดีเรายังเชื่อว่าเหตุที่ผู้เสียหายเบิกความเท็จนั้นจะนำมารื้อฟื้นคดีได้