ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งตามศาลชั้นต้น ไม่ให้รื้อฟื้นคดี ด.ต.เพชรเกษมข่มขืนสาวบนโรงพัก ชี้พยานหลักฐานมีพิรุธระบุอาจมีเหตุจูงใจอื่นให้ผู้เสียหายกลับคำให้การ จึงไม่มีเหตุให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องพิจารณาคดี 710 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งขอรื้อฟื้นคดีที่ อฟ.2/2557 ของศาลอุทธรณ์ ที่นางฐพัฒน์นาถ โททอง ภรรยา ด.ต.มงคล โททอง และนางสายนภา แอ๊ดมา ภรรยา ด.ต.นุโลม แอ๊ดมา ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ตาม พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 ในคดีหมายเลขดำ อ.4264 /2553 ที่ ด.ต.นุโลม แอ๊ดมา กับพวกรวม 2 คน อดีตตำรวจ สน.เพชรเกษม ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุก 20 ปี ฐานกระทำชำเราหญิงอายุ 16 ปีเศษ อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
โดยคำร้องรื้อฟื้นคดีระบุว่า ด.ต.มงคล โททอง และ ด.ต.นุโลม แอ๊ดมา ถูกพนักงานอัยการฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ 16 ปีเศษ ซึ่งมีใช่ภรรยาโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมแล้วได้ผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เหตุเกิดที่ สน.เพชรเกษม แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่ากระทำผิดให้จำคุกคนละ 20 ปี และปรับคนละ 40,000 บาท ต่อมาภรรยายของ ด.ต.มงคล และด.ต.นุโลม ได้ไปร้องขอความเป็นธรรมต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากภายหลัง น.ส.เอ (นามสมมติ) ผู้เสียหายได้สารภาพว่าได้ปรักปรำใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.เพชรเกษมให้ได้รับโทษจริง ต่อมาเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงได้รวบรวมหลักฐานและให้ทนายความฟ้องร้อง น.ส.เอ ข้อหาเบิกความเท็จ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกรวม 18 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 9 เดือน
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ให้รื้อฟื้นคดี เนื่องจากเห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมรู้กฎหมายเป็นอย่างดี หากผู้เสียหายแจ้งความเท็จ กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองข่มขืนก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เสียหายได้ มิใช่เพิ่งมายื่นฟ้องผู้เสียหายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาตัดสินไปแล้ว ประกอบกับระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จำเลยทั้งสองก็มีโอกาสนำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดีอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนที่ผู้เสียหายยอมรับสารภาพว่าเบิกความเท็จเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสอง อ้างว่าสำนึกผิดนั้น อาจมีเหตุจูงใจอย่างอื่นนอกจากการสำนึกผิด และที่ผู้เสียหายเข้าเครื่องจับเท็จของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้วไม่พบว่าคำให้การมีพิรุธนั้น ถือว่าเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง แต่เครื่องมือดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่ามีความผิดพลาดได้ 1 ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งศาลสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงอื่นมาประกอบการพิจารณาได้ จึงยังไม่มีเหตุให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ ให้ยกคำร้องและส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์คำร้องขอรื้อฟื้นคดีแล้วเห็นว่า แม้เด็กหญิงผู้เสียหายจะถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ โดยคดีถึงที่สุดก็ไม่ได้ถือว่ามีมูลเหตุให้รื้อฟื้นคดีใหม่และหาใช่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งผู้ร้องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมรู้กฎหมายเป็นอย่างดี หากผู้เสียหายแจ้งความเท็จกล่าวหาก็สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เสียหายให้ได้รับโทษเพื่อแสดงให้เห็นว่าถูกกลั่นแกล้ง แต่กลับมายื่นฟ้องผู้เสียหายต่อศาลในความผิดฐานแจ้งความเท็จ ภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาตัดสินแล้ว โดยปล่อยให้ระยะเวลาผ่านล่วงเลยมานาน รวมทั้งระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงชั้นฎีกา จำเลยทั้งสองก็สามารถนำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้ได้อย่างเต็มที่ และในช่วงระหว่างนั้นผู้ต้องหาทั้งสองกลับไปแจ้งความไว้ที่ สน.พหลโยธิน ไม่แจ้งความต่อสถานีตำรวจท้องที่ โดยไม่ปรากฏเหตุผล ส่วนกรณีทางเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษนำผู้เสียหายเข้าเครื่องจับเท็จแล้วไม่พบว่าคำให้การมีพิรุธก็ไม่อาจเป็นพยานที่จะรับฟังได้ เพราะผู้เชี่ยวชาญเคยให้ความเห็นระบุว่า เครื่องมือดังกล่าวอาจมีความผิดพลาดได้ พยานหลักฐานต่างๆ จึงยังมีพิรุธหลายประการว่าที่ผู้เสียหายยอมรับสารภาพนั้นอาจมีเหตุจูงใจอื่นนอกจากการสำนึกผิด จึงไม่มีมูลเหตุให้รื้อฟื้นคดีใหม่ ให้ยกคำร้อง
ทั้งนี้ ภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง ด.ต.มงคล และ ด.ต.นุโลม ทั้งสองรายกล่าวเพียงสั้นๆ ว่ารู้สึกเสียใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสั่งขอให้รื้อฟื้นคดีของศาลอุทธรณ์นี้ถือเป็นที่สุด หลังจากนี้ ดาบตำรวจทั้งสองนายจะต้องรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำคุก 20 ปีเช่นเดิม