xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 6-12 มี.ค.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ศาล พิพากษาจำคุก “ศุภชัย” 32 ปี คดียักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ คลองจั่น แต่เจ้าตัวกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ลดโทษให้เหลือ 16 ปี ไม่รอลงอาญา!
(บน) นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (ล่าง) พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ศาลอาญา ได้นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อายุ 59 ปี อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นจำเลย ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ผู้อื่น และจัดการทรัพย์สินผู้อื่นโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และ 354

คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 58 ว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 56 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 และที่ประชุมมีมติเลือกนายศุภชัย จำเลย เป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดที่ 29 อยู่ในตำแหน่ง 2 ปี ต่อมานายทะเบียนสหกรณ์ตรวจสอบพบว่า การเรียกประชุมใหญ่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับและกฎหมาย นายทะเบียนจึงมีหนังสือไม่รับรองตำแหน่งประธานกรรมการจากการประชุมดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ฯ คลองจั่น ได้ประชุมใหญ่วิสามัญและมีมติให้การรับรองนายศุภชัย เป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์อีกครั้ง และยังเปิดประชุมคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 2 สมัยสามัญ และมีมติแต่งตั้งนายศุภชัย ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์ฯ อีกตำแหน่งด้วย กระทั่งวันที่ 10 เม.ย.-8 ต.ค. 56 จำเลย ซึ่งเป็นประธานกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น ได้กระทำการทุจริต โดยให้เจ้าหน้าที่บัญชีเบิกเงินสดของสหกรณ์ฯ หลายครั้งหลายหนรวม 8 ครั้งๆ ละ 184,000 บาท-6 ล้านบาท รวม 22,132,000 บาท เข้าบัญชีของจำเลย หรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา นายศุภชัย จำเลยได้แถลงต่อศาลขอกลับคำให้การเดิมที่เคยปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี เป็นให้การรับสารภาพ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษาว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 353, 354 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 8 กระทง จำคุกกระทงละ 3-5 ปี รวมจำคุก 32 ปี อย่างไรก็ตาม คำให้การของจำเลยที่รับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยไว้ 16 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วนับเป็นเรื่องร้ายแรง โทษจำคุกจึงไม่มีเหตุให้รอลงอาญา

หลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายศุภชัย จำเลย ซึ่งถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาศาล ไปควบคุมตามคำพิพากษาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป โดยนายศุภชัยมีสีหน้าเคร่งเครียด

ทั้งนี้ นายศุภชัย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินรายใหญ่ของวัดพระธรรมกาย ยังมีสำนวนคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ คลองจั่น ที่ยังรออัยการพิจารณาสั่งคดีอีก 1 สำนวน โดยคดีดังกล่าว พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ สรุปสำนวนกล่าวหานายศุภชัยกับพวกอีก 3 คน ซึ่งเป็นอดีตกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น ฝ่ายการเงิน-สินเชื่อ มูลค่าความเสียหายกว่า 12,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม

ส่วนสำนวนคดีฉ้อโกงสหกรณ์ฯ คลองจั่น กว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งดีเอสไอสรุปสำนวนสมควรสั่งฟ้องนายศุภชัยกับพวกรวม 12 ราย ให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 58 ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ ส่วนพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และพระรูปอื่นๆ ในเครือธรรมกาย ซึ่งรับเช็คจากนายศุภชัยจำนวน 878 ฉบับ เป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาทนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวน ซึ่งอาจเข้าข่ายฟอกเงินหรือรับของโจร

2.ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ชี้ “ธาริต” ร่ำรวยผิดปกติ 346 ล้านบาท ให้อัยการสูงสุดชงศาลยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดิน!

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ และบ้านหรูราคากว่า 21 ล้านที่เขาใหญ่
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ ป.ป.ช.แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ร่ำรวยผิดปกติ และต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติของนายธาริต, นางวรรษมล ภรรยา และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราว รวมมูลค่ากว่า 90 ล้านบาทนั้น

ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณารายงานผลการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า นายธาริตและนางวรรษมล มีทรัพย์สินจำนวนมาก หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก หรือหนี้สินลดลงมากเกินกว่าฐานะและรายได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะพึงมีได้ อีกทั้งยังปรากฏพฤติการณ์โอน ยักย้าย แปรสภาพหรือซุกซ่อนทรัพย์สิน จึงมีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ว่า นายธาริตมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยจะส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนนายธาริต ดำเนินการทางวินัยต่อไป ซึ่งปัจจุบัน นายธาริตดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้นผู้ที่จะลงโทษทางวินัยนายธาริตได้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

ด้านนายวรวิทย์ กล่าวว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนข้าราชการระดับสูงสร้างบ้านบริเวณเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และเกรงว่าจะมีการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาใหญ่ ทาง ป.ป.ช.จึงตรวจสอบและพบว่าเจ้าของบ้านคือ นางวรรษมล ภรรยานายธาริต โดยบ้านดังกล่าวใช้ชื่อว่า "ฟิออเร่ ปาร์ค" มูลค่ากว่า 21 ล้านบาท ทาง ป.ป.ช.จึงตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนายธาริตที่เคยแสดงบัญชีต่อ ป.ป.ช. ว่ามีรายการดังกล่าวอยู่หรือไม่ ซึ่งไม่พบรายการดังกล่าว จึงตั้งอนุกรรมการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐาน จากนั้นพบพฤติการณ์ยักย้ายแปรสภาพซุกซ่อนทรัพย์สิน ป.ป.ช.จึงสั่งอายัดไว้ 2 ครั้ง มูลค่ากว่า 90 ล้านบาท ต่อมาได้แจ้งข้อกล่าวหานายธาริต ซึ่งนายธาริตได้มารับทราบข้อกล่าวหา แต่ไม่ยอมมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าไม่เข้าใจข้อกล่าวหาของอนุกรรมการฯ และบอกว่า อนุกรรมการฯ ไม่ให้ความเป็นธรรม ซึ่งอนุกรรมการฯ ได้เปรียบเทียบรายได้ของนายธาริต พบว่า มีทรัพย์สินที่ไม่มีที่มาที่ไป และมีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายกว่า 346 ล้านบาท จึงมีมติชี้มูลความผิดกรณีร่ำรวยผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่าทรัพย์สินดังกล่าวบางส่วนมีการโอนย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อน ทำให้ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินได้ คงเหลือทรัพย์สินที่ ป.ป.ช.เคยสั่งอายัดไว้กว่า 90 ล้านบาท ดังนั้นทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติในส่วนที่เหลืออีกกว่า 256 ล้านบาท ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของนายธาริตและนางวรรษมล เช่น เงินฝากในบัญชีธนาคาร, ที่ดิน, รถเบนซ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ลงมติชี้มูลความผิดเป็นเอกฉันท์จำนวน 7 เสียงนั้น มีกรรมการ 2 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม คือ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ที่ติดภารกิจ และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ที่ขอไม่เข้าร่วมประชุม เนื่องจากทนายความของนายธาริตมีนามสกุลเดียวกับ พล.ต.อ.สถาพร จึงเกรงว่าจะมีส่วนได้ส่วนเสีย

วันเดียวกัน(10 มี.ค.) นายธาริต ได้ทำเอกสารชี้แจงถึงสื่อมวลชน โดยอ้างว่า ป.ป.ช.คิดคำนวณเงินในบัญชีของตนและภรรยาที่เปิดไว้กับธนาคารต่างๆ ไม่เป็นไปตามหลักการทางบัญชี และนำทรัพย์สินอื่นมาบวกรวมกันให้เห็นว่า มีทรัพย์สินมากเกินความเป็นจริง แล้วกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ทั้งที่ทรัพย์สินส่วนใหญ่ก็ไม่มีอยู่จริง ไม่ได้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติแต่อย่างใด

นอกจากนี้ นายธาริตยังอ้างว่า ป.ป.ช.ใช้วิธีคิดคำนวณรายได้จากเงินเดือนและค่าตอบแทนเฉพาะการรับราชการของตนและภรรยาเท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบถึงรายได้จากการทำธุรกิจ เช่น การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การซื้อขายที่ดิน และการลงทุนในทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ทองคำและอัญมณี ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ข้าราชการทำได้โดยชอบ ทั้งนี้ นายธาริตได้ตั้งคำถาม ป.ป.ช.ว่า ได้คิดคำนวณทรัพย์สินของตนตามหลักการทางบัญชีหรือไม่ ปฏิบัติต่อตนตามกฎหมายหรือไม่ และปฏิบัติต่อตนเท่าเทียมกับบุคคลอื่นหรือไม่

ด้านนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหานายธาริต ร่ำรวยผิดปกติ ยืนยันว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาเรื่องนายธาริตอย่างละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบ และกว่าที่จะชี้มูลความผิดได้ มีการพิจารณาพยานหลักฐานอยู่หลายรอบ ไม่ใช่ทำเพียงไม่กี่ครั้ง

3.สนช.ผ่านร่างแก้ไข รธน.57 สามวาระรวดรองรับประชามติ ยึดเสียงข้างมากของผู้ใช้สิทธิ-ให้ สนช.ตั้งคำถามพ่วง ด้าน “ทักษิณ” ยังต่อรองเจรจา ถ้าไม่อยากให้เคลื่อนไหว!

นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ บรรยายที่สถาบันนโยบายโลก(WPI) ในนิวยอร์กโจมตีร่าง รธน. ท่ามกลางการต่อต้านของคนไทยในนิวยอร์ก
ความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างพิจารณาปรับแก้เป็นรายมาตราหลังได้รับข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ เช่น คณะรัฐมนตรี(ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท. ) พรรคการเมือง องค์กรอิสระ ฯลฯ เพื่อมาพิจารณาประกอบการร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายให้แล้วเสร็จในวันที่ 29 มี.ค.นี้

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ประชุมประธานของแม่น้ำ 5 สาย(คสช.-ครม.-สนช.-สปท.-กรธ.) เพื่อเร่งรัดการทำงานของแม่น้ำแต่ละสาย แต่ปรากฏว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด ซึ่งนายมีชัย เผยในเวลาต่อมาถึงเหตุที่ไม่เข้าประชุมแม่น้ำ 5 สายว่า “ไม่ใช่เพราะ กรธ.ได้หารือนอกรอบกับ ครม.มาก่อนหน้านี้ แต่เป็นเพราะหากเข้าร่วม กลัวจะถูกผูกมัด” ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ไม่ไปเพราะกลัวถูกใบสั่งใช่หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า “หากจะสั่งก็สั่งได้ แต่สั่งแล้วจะฟังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุผล”

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยหลังประชุมแม่น้ำ 4 สาย เพราะ กรธ.ไม่เข้าร่วมประชุมว่า กรธ.ได้แจ้งว่า ติดประชุม เนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน จะต้องทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ คสช.เลยบอกว่าไม่เป็นไร และว่า ที่ประชุมแม่น้ำ 4 สาย ได้พิจารณา 2 เรื่อง คือ 1. ติดตามงานที่แต่ละฝ่ายได้ทำไปว่า ติดขัดส่วนใดบ้าง และคาดว่านายกฯ อาจสั่งให้มีการประชุมแม่น้ำ 5 สายในเร็วๆ นี้ คาดว่าในเดือน มี.ค.นี้หรือ เม.ย. และ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อทำประชามติ

วันต่อมา(8 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการประชุมแม่น้ำ 4 สายเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ว่า ได้มีการหารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้มีการทำประชามติได้ พร้อมยอมรับว่า มีการหารือถึงแนวคิดให้มี ส.ว.สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งได้มีการพูดคุยว่า ถ้า ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ถ้าผสมจะเป็นอย่างไร คัดสรรจะเป็นอย่างไร “อยากให้ทุกคนทบทวน ดูวันเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับเรื่องอะไรมาบ้าง แต่ท่านต้องคำนึงว่าจบหรือยัง การเมืองทั้งหมดทุกกลุ่มพร้อมร่วมมือเดินหน้าประเทศหรือยัง ถ้าตอบได้ว่าพร้อมแล้ว บอกผมมา ใครมั่นใจจะรับรองแทนบ้าง เพราะวันนี้ยังตีกันอยู่ทุกวัน ขณะผมมีอำนาจยังขนาดนี้ ผมไม่รู้ว่าวันหน้าจะแค่ไหน ผมถึงบอกว่าไปคิดกันมา ไม่ว่าจะเป็น กรธ. สนช. ไปหาวิธีการทำอย่างไรให้สถานการณ์เหล่านี้บรรเทาเบาบางลง” เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จะดูสนับสนุนการมี ส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ยังไม่มีความคิดเห็นกับแนวคิดให้มี ส.ว.จากการสรรหาทั้งหมดในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยบอกว่า ต้องรอให้รัฐบาลส่งข้อเสนอที่เป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามาก่อน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ได้มีการประชุม สนช.เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ ครม.และ คสช.เสนอ หลังจากมีการแก้ไขเพิ่มเติม 5 ประเด็น เพื่อรองรับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบ 3 วาระรวด สำหรับประเด็นที่มีการแก้ไข ได้แก่ การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่านต้องยึดคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิลงประชามติให้ความเห็นชอบ, การแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญด้วยวิธีอื่นได้ นอกเหนือจากการให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แจกจ่ายไปตามครัวเรือนร้อยละ 80, กำหนดให้ สนช.ตั้งคำถามเพิ่มเติมในการออกเสียงประชามติ โดยให้ สปท.เข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งคำถามด้วย ฯลฯ ส่วนการออกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่รัฐบาลได้รับร่างจาก กกต.แล้วนั้น จะมีการนำเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 15 มี.ค.นี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า มีสมาชิก สนช.หลายคน อภิปรายหนุนให้มีกลไกขับเคลื่อนประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น นายตวง อันทะไชย โดยชี้ว่า ควรระบุไว้ในบทเฉพาะกาล รวมทั้งขอให้นำประเด็นในช่วงเปลี่ยนผ่านไปตั้งเป็นคำถามในการทำประชามติของ สนช.ด้วย

ด้านนายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ ได้ไปร่วมเสวนาเกี่ยวกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบันและทิศทางของประเทศไทย ซึ่งจัดโดยสถาบันนโยบายโลก(WPI) ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ฟิล คันนิ่งแฮม อดีตนักวิจัยในสถาบันฟุลไบรท์ เคยระบุว่า WPI ไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนอเมริกัน และคนทั่วไป รวมทั้งไม่ได้รับความเชื่อถือในหมู่นักการเมืองอเมริกัน ทั้งนี้ นายทักษิณ ได้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.กำลังร่างอยู่ว่า คงยากที่จะทำให้ได้รัฐบาลที่ประชาชนต้องการ อีกทั้งยังไม่ตอบสนองความท้าทายในศตวรรษที่ 21 นายทักษิณ ยังให้สัมภาษณ์นิวยอร์ก ไทม์ส ด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำอยู่จะลากประเทศไทยให้ถอยหลัง และว่า หากรัฐบาลกังวลการออกมาเคลื่อนไหวของตน ก็ขอให้ติดต่อมาพูดคุยกับตนโดยตรง

ขณะที่ท่าทีของบุคคลในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้ง กรธ. ต่างไม่ให้ความสำคัญกับการวิพากษ์วิจารณ์ของนายทักษิณแต่อย่างใด

4.“พล.ร.อ.พะจุณณ์” เข้าชี้แจง ปอท. คดีแฉซื้อเก้าอี้ ตร. พร้อมจี้ทบทวนข้อกล่าวหา-หมายเรียก เหตุไม่เป็นธรรม เผย “ป๋าเปรม” ห่วงขอให้โชคดี!

 พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิก สปท.และอดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้าชี้แจง ปอท.หลังถูกออกหมายเรียกกรณีแฉ พล.อ.เกี่ยวพันซื้อขายตำแหน่งตำรวจ
ความคืบหน้ากรณีตำรวจออกหมายเรียกให้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และอดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 10 มี.ค. กรณีมีข้อความสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่น “ไลน์” กล่าวหาว่ามีทหารยศพลเอกซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งตำรวจ

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. พล.ร.อ.พะจุณณ์ พร้อมด้วยนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี และพนักงานสอบสวน กก.3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) ออกหมายเรียกผู้ต้องหา โดยอ้างว่าหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ โดย พล.ร.อ.พะจุณณ์ ชี้ว่า เป็นการออกหมายเรียกและดำเนินคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะที่นายนิติธร กล่าวว่า ตามข่าวมีข้อความ 3 ส่วน คือ พล.อ. การซื้อขายตำแหน่ง และ ตร. ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องพิจารณาก่อนว่า ที่ พล.ร.อ.พะจุณณ์พูด หรือที่ปรากฏทางข้อความแชต์ไลน์ มีการยืนยันตัวบุคคลหรือไม่ ซึ่งจาก 3 ข้อความไม่สามารถยืนยันได้ว่า พล.อ.ดังกล่าวเป็นใคร ขณะเดียวกัน ข้อความไม่ได้มีการระบุว่า ตร.มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายตำแหน่ง ทั้งนี้ นายนิติธร เห็นว่า การตั้งข้อกล่าวหาและการออกหมายเรียก พล.ร.อ.พะจุณณ์ ไม่เป็นธรรม

ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ร.อ.พะจุณณ์ ต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในวันที่ 10 มี.ค. พร้อมย้ำว่า เมื่อพบการกระทำผิด ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

ต่อมา วันที่ 10 มี.ค. พล.ร.อ.พะจุณณ์ พร้อมด้วยนายนิติธร ทนายความ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) โดยมีประชาชนมารอให้กำลังใจจำนวนมาก ทั้งนี้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีความกังวล และเป็นการเข้าพบเพื่อแสดงข้อมูลและหลักฐานต่อตำรวจ ยังไม่ได้เข้าพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด พล.ร.อ.พะจุณณ์ เผยด้วยว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้โทรศัพท์มาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป “จึงเรียนไปว่า จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย สามารถแก้ปัญหาเองได้ ไม่ต้องเป็นห่วง ขออย่ากังวลในเรื่องนี้ เรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นที่ พล.อ.เปรม ทำมาก่อนหน้านี้ ขอให้ผมและคนรุ่นหลังเป็นผู้ดำเนินการแทน ส่วนการปฏิรูปตำรวจนั้น ยังยืนยันว่าจะดำเนินการต่อไป โดยในช่วงท้ายสุดของการสนทนา พล.อ.เปรม กล่าวกับผมว่า ขอให้โชคดี”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันจะเดินหน้าปฏิรูปองค์กรตำรวจให้สำเร็จหรือ พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าวว่า “จริงๆ แล้วผมหมดหน้าที่ ต่อไปเป็นหน้าที่ของประชาชน เนื่องจากว่าคณะทำงานของผมโดนยุบไปแล้ว หลังจากนี้จะมี พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิ์บุตร คณะทำงานปฏิรูปตำรวจเป็นคนทำเรื่องนี้ต่อไป”

ด้านนายนิติธร กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบข้อกล่าวหาที่แท้จริง แต่ได้แบ่งข้อความเป็น 3 ส่วน คือ กรณีที่บอกว่า มีทหารยศ พล.อ.เข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาระบุแล้วว่า ไม่เป็นความจริง ส่วนเนื้อหาที่บอกว่ามีการซื้อขายตำแหน่งนั้น ยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่าออกมาได้อย่างไร ส่วนข้อความในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่สามารถยืนยันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายตำแหน่งจริง นายนิติธร ยังบอกด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า พล.ร.อ.พะจุณณ์เป็นผู้ส่งข้อความนั้นจริง จะต้องรอการตรวจสอบ

ทั้งนี้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ได้ยื่นหนังสือขอให้ ปอท.ทบทวนการตั้งข้อกล่าวหาและยกเลิกหมายเรียกผู้ต้องหาและข้อกล่าวหาทั้งหมด พร้อมขอให้รอคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน ซึ่งพนักงานสอบสวนตกลงจะนำกลับไปพิจารณาตามที่ขอต่อไป ทำให้วันดังกล่าวยังไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการรับทราบข้อกล่าวหาและการมอบตัว ผู้สื่อข่าวถามว่า มีคนมองว่าเป็นความขัดแย้งกันระหว่าง พล.อ.เปรม และ พล.อ.ประวิตร พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตอบว่า “มันจบไปแล้ว ผมไม่มีอะไรกับ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่มีอะไรกับผม อย่าไปขยายต่อ เพราะมันไม่มีอะไร”

ด้าน พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกระแสข่าวความไม่ลงรอยกับ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ว่า “วิพากษ์วิจารณ์กันไปเอง ขอบอกว่าผมรู้จักกับ พล.ร.อ.พะจุณณ์ดี แล้วเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ พล.อ.เปรมด้วย ไปเขียนกันส่งเดช ผมเด็กกว่าท่านและเคารพท่านมาโดยตลอด ไปเขียนกันแบบนู้นแบบนี้ มโนไปหมด ทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง แต่ท่านเข้าใจผม อีกทั้งผมกับ พล.ร.อ.พะจุณณ์ก็ไม่มีอะไรกัน อย่าคิดเอง อย่าไปเขียนผิดๆ ถูกๆ”

5.“สมเด็จช่วง” ให้ดีเอสไอเข้าสอบปากคำ 16 มี.ค.นี้ 2 ทุ่ม อ้างกลางวันอาจวุ่นวาย ด้าน “บิ๊กตู่” ขอดูคำวินิจฉัยผู้ตรวจการฯ เรื่องตั้งพระสังฆราชก่อน!

(บน) ทนายความหลวงพี่แป๊ะ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ นำรถหรูผิดกฎหมายของสมเด็จช่วงมอบให้ดีเอสไอ (ล่าง) ตำรวจนิมนต์พระเมธีธรรมจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ หารือ ขณะจะแถลงโจมตีผู้ตรวจการแผ่นดินที่วินิจฉัยว่าการเสนอชื่อพระสังฆราชของ มส.ผิดขั้นตอน ที่วัดศรีสุดาราม
ความคืบหน้ากรณีผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ว่าขั้นตอนการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 หน่วยงานใดมีอำนาจในการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงมติของมหาเถรสมาคม(มส.) ที่เสนอชื่อสมเด็จช่วง เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ โดยวินิจฉัยว่า จากหลักฐานรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เมื่อปี 2535 บอกเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ขั้นตอนต้องเริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม จากนั้นจึงส่งให้ มส.เห็นชอบ ดังนั้นมติ มส. ที่ประชุมลับเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ให้เสนอชื่อสมเด็จช่วง เป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนของกฎหมาย

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ความเห็นของผู้ตรวจการฯ ถือเป็นความเห็นทางกฎหมาย ไม่อยากเรียกว่าข้อเสนอ เพราะข้อเสนอต้องรับมาปฏิบัติ และว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ต้องนับถือและให้เกียรติ เมื่อมีความเห็น ก็ต้องถือว่ามีน้ำหนักกว่าความเห็นคนอื่นทั่วๆ ไป ส่วนจะทำอย่างไรต่อไป คงต้องพิจารณากันอีกที

ด้านนายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการฯ ไม่มีอำนาจบังคับตามกฎหมาย เพียงแต่เมื่อมีมติ จะแจ้งไปยังหน่วยงานนั้นว่าสมควรดำเนินการอย่างไร ซึ่งกรณีนี้หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามแนวทางที่ผู้ตรวจการฯ เสนอภายใน 30-45 วัน ทางผู้ตรวจการฯ สามารถเสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมรัฐสภารับทราบ เพื่อให้นำไปอภิปรายและแสดงความเห็น “ยืนยันว่า การพิจารณาของผู้ตรวจการฯ ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดตามที่แกนนำคนเสื้อแดงระบุว่าผู้ตรวจการฯ สมคบกับ 3 พ.ขัดขวางการแต่งตั้งสมเด็จช่วงเป็นสมเด็จพระสังฆราช และยืนยันว่าการพิจารณาของผู้ตรวจการฯ เป็นไปตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย”

ขณะที่เครือข่ายองค์กรชาวพุทธฯ ที่หนุนสมเด็จช่วงไม่พอใจคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เช่น ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ที่มีพระเมธีธรรมาจารย์(ประสาร จนฺทสาโร) เป็นเลขาธิการศูนย์ฯ จึงได้เตรียมล่าชื่อพระสงฆ์และชาวพุทธ 2 หมื่นชื่อ เพื่อถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดินออกจากตำแหน่ง โดยพระเมธีธรรมาจารย์ได้เปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่วัดศรีสุดาราม อย่างไรก็ตาม ก่อนแถลง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางขุนนนท์และกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 7 ที่ไปดูแลความเรียบร้อย ได้นิมนต์พระเมธีธรรมาจารย์ รวมทั้งพระเทพประสิทธิมนต์ เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม และเชิญนายเสถียร วิพรมหา นายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแกนนำเครือข่ายชาวพุทธฯ ที่จะเปิดแถลง เข้าหารือในห้องประชุมกว่า 30 นาที จากนั้น พระเมธีธรรมาจารย์ ได้ออกมาแถลงข่าวสั้นๆ ก่อนให้พระครูปลัดกวีวัฒน์ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ แถลงแทน โดยแถลงทำนองดิสเครดิตผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ผู้ตรวจการฯ ไม่รับวินิจฉัยคำร้องพระสงฆ์ที่ จ.พิจิตร โดยอ้างว่า ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่กลับรับวินิจฉัยเรื่องตั้งพระสังฆราช อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ทางผู้ตรวจการฯ ได้ออกมาชี้แจงภายหลังว่ากรณีที่ จ.พิจิตรนั้น เป็นกรณีพระฟ้องพระด้วยกัน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องตั้งพระสังฆราช เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ตรวจการฯ จึงสามารถรับไว้วินิจฉัยได้

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชว่ามติของมหาเถรสมาคมผิดขั้นตอน ต้องเริ่มที่นายกฯ เป็นผู้เสนอชื่อว่า ยังไม่เห็นหนังสือจากผู้ตรวจการฯ และว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการตีความด้านกฎหมาย จึงต้องศึกษาดูก่อน โดยคนในประเทศไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือพระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

ส่วนความคืบหน้าเรื่องรถเบนซ์ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ที่ดีเอสไอตรวจสอบแล้วพบว่าผิดกฎหมายทุกขั้นตอน ทั้งการนำเข้า-จดประกอบ-เสียภาษี-จดทะเบียน และอยู่ระหว่างประสานเพื่อเข้าสอบปากคำสมเด็จช่วงที่วัดปากน้ำฯ นั้น เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายสุรพงษ์ สิทธิกรณ์ ทนายความส่วนตัวของพระมหาศาสนมุนี(พระธนกิจ สุภาโว) หรือหลวงพี่แป๊ะ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และเลขานุการสมเด็จช่วง ได้เดินทางไปยังดีเอสไอ เพื่อส่งมอบรถเบนซ์คันดังกล่าวให้ดีเอสไอ นายสุรพงษ์ ยังอ้างด้วยว่า ถ้ารถดังกล่าวผิดกฎหมาย ก็ให้ดีเอสไอไปดำเนินคดีกับผู้ที่ขายรถให้ ซึ่งมีนายวิชาญ รัษฐปานะ เป็นผู้ขายและเป็นเจ้าของอู่วิชาญ เพราะสมเด็จช่วงเป็นผู้เสียหาย ไม่ใช่ผู้ต้องหา

ด้านนายวิชาญ เจ้าของอู่วิชาญ ที่ให้การดีเอสไอก่อนหน้านี้ว่า แค่ซ่อมรถให้พระผู้ใหญ่ ตามที่หลวงพี่แป๊ะว่าจ้าง แต่ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจดประกอบรถ ก็ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 8 มี.ค. โดยขอความช่วยเหลือให้กรมฯ ช่วยจัดหาทนายความสู้คดี ขอค่าธรรมเนียมศาล และขอคุ้มครองพยาน หลังถูกหลวงพี่แป๊ะฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท นายวิชาญ ยังโอดครวญด้วยว่า วันหนึ่งเขามาพึ่งพาให้ช่วยซ่อมรถให้ อีกวันมาบอกว่าเป็นโจรเอารถไปขายให้พระ วันหนึ่งเขาให้ผมช่วยเป็นธุระจัดการนำเงินผ่านมา เพื่อจะได้ไปจ่ายแทนให้ เพราะเขาจะได้จ่ายเงินมาด้านเดียว แต่วันหนึ่งมากล่าวหาว่าเป็นคนรับเงินทั้งหมดและเอารถไปให้เขา

นายวิชาญ ย้ำอีกว่า ตนไม่ได้เป็นผู้ขายรถดังกล่าวให้หลวงพี่แป๊ะ แต่เป็นช่างที่ได้รับการว่าจ้างให้ซ่อมรถคันดังกล่าว โดยหลวงพี่แป๊ะเป็นผู้ว่าจ้าง มีการแบ่งค่าจ้าง 4 ล้านบาท เป็น 2.5 ล้านบาทให้บริษัท อ๊อด 89 ซึ่งเป็นผู้จัดหาอะไหล่รถมาและเป็นผู้ดำเนินการเรื่องจดประกอบ ส่วนตนรับงานซ่อม โดยได้ค่าจ้าง 1.5 ล้านบาท ทั้งนี้ นายวิชาญไม่ยืนยันว่าหลวงพี่แป๊ะรู้จักกับบริษัท อ๊อด 89 หรือไม่ แต่บอกว่า ระหว่างการซ่อมรถดังกล่าว ก็มีการพบกันหลายครั้ง และ ไม่เข้าใจว่า ทำไมหลวงพี่แป๊ะจึงไม่ฟ้องผู้ที่เป็นคนจัดหาอะไหล่หรือทำการจดประกอบรถให้ แต่มาฟ้องตนซึ่งเป็นเพียงผู้รับจ้างแค่ซ่อมรถให้ใช้งานได้ นายวิชาญ เผยด้วยว่า หลังเกิดเหตุการณ์รถถูกดีเอสไอตรวจสอบ หลวงพี่แป๊ะไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับตนอีกเลย ทั้งที่ในช่วงที่มีการทำรถ ได้มีการติดต่อกันอย่างต่อเนื่องและมีการทยอยจ่ายเงินค่าจ้างเป็นงวด

สำหรับการนัดวันเข้าสอบปากคำสมเด็จช่วงกรณีครอบครองรถหรูโบราณผิดกฎหมายนั้น เมื่อวันที่ 9 มี.ค. พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เผยว่า ได้รับการประสานจากนายสมศักดิ์ โตรักษา หัวหน้าทีมทนายความวัดปากน้ำฯ แล้วว่า สมเด็จช่วงสะดวกให้ดีเอสไอเข้าสอบปากคำในวันที่ 16 มี.ค.นี้ เวลา 20.00 น. โดยให้เหตุผลที่นัดเวลาดังกล่าวว่า เนื่องจากสมเด็จช่วงไม่มีกิจนิมนต์ อีกทั้งเกรงว่า ถ้านัดช่วงกลางวัน อาจมีกลุ่มบุคคลมารวมตัวกันและอาจเกิดความวุ่นวายได้ ทั้งนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ นำคณะพนักงานสอบสวนเดินทางไปสอบปากคำสมเด็จช่วงตามวันและเวลาดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น