xs
xsm
sm
md
lg

คดีอัลรูไวลี เมื่อคนชั่วเป็นผู้ใช้กฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.สุชาติ วงศ์อนันตชัย
นายอับดุล อิลาห์ อัลซุอัยบี อุปทูต ซาอุดิอาระเบีย ประจำประเทศไทย แสดงความรู้สึกผิดหวัง ต่อ คำพิพากษาของศาลอาญา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่ให้ยกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอมกับพวก ในคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อ 20 ปีก่อน

ความรู้สึกของอุปทูตซาอุฯ รวมทั้งญาติของนายอัลรูไวลี เป็นสิ่ง ที่เข้าใจได้ ในฐานะผู้สูญเสีย ย่อมต้องการให้ผู้ที่ตนเชื่อว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การหายตัวไปของนายอัลรูไวลี ถูกกฎหมายลงโทษ เมื่อผลแห่งคำพิพากษา ไม่ได้เป็นดั่งที่ตนต้องการ ย่อมรู้สึกผิดหวังเป็นธรรมดา

ในขณะเดียวกัน อุปทูตซาอุฯ ต้องเข้าใจว่า ที่นี่คือ ประเทศไทย ทีมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ศาลคือหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย ที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร การพิจารณาคดี เป็นไปตามหลักกฎหมาย พยานหลักฐาน ในขณะที่ซาอุดิอาระเบีย มีการปกครองในระบบราชาธิปไตย ที่เจ้าผู้ครองนคร เป็นประมุขของประเทศที่มีอำนาจสูงสุด เหนืออำนาจใดๆ ในประเทศนั้น ระบบศาสของซาอุฯ รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า แม้ในทางนิตินัยจะมีความเป็นอิสระ แต่ในทางปฏิบัติอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายบริหาร

อุปทูตซาอุฯ กล่าวว่า ไม่แปลกใจ ที่ผลออกมาอย่างนี้ เพราะทราบว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาในคดีนี้ อีกทั้งจำเลย ก็พยายามเปลี่ยนตัวผู้พิพากษามาแล้วหลายครั้ง

เรื่องการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาคดีนี้ นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เปิดเผยว่า มีการเปลี่ยนแปลงองค์คณะมาแล้ว 2 ชุด ตั้งแต่คดีนี้มีการยื่นฟ้องศาลอาญาในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553 เพราะมีการโยกย้ายผู้พิพากษาตามวาระ องค์คณะชุดที่ 3 คือ นายสมศักดิ์ ผลส่ง เป็นเจ้าของสำนวนคดี เริ่มนั่งพิจารณาคดีมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 จนถึงสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้น ในวันที่ 27 ธันวาคม 2556 แต่ไม่มีโอกาสได้เขียนคำพิพากษา เพราะถูกประธานศาลฎีกาสั่งพักราชการในวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เพราะมีความผิดร้ายแรงกรณีให้ผู้ต้องหาประกันตัวโดยไม่ชอบด้วยระเบียบของศาลยุติธรรม สมัยที่เป็นหัวหน้าศ่าลจังหวัดสระบุรี การเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาจึงไม่เกี่ยวกับคดีอัลรูไวลีแต่อย่างใด

กระนั้นก็ตาม ต้องยอมรับว่า การที่นายสมศักดิ์ไม่ได้เป็นผู้เขียนคำพิพากษาในคดีนี้ มีผลให้ศาลสั่งยกฟ้องพลตำรวจโท สมคิดกับพวกด้วยเหตุผลว่า พยานหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ เพราะระหว่างที่นายสมศักดิ์ทำหน้าที่เป็นองค์คณะในคดีนี้ ได้ใช้ดุลพินิจที่ฝ่ายจำเลยเห็นว่า ไม่เป็นธรรมกับตน และยังอาจขัดต่อ กระบวนการวิธีพิจารณาความด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อนุญาตให้มีการสืบพยานฝ่ายโจทก์ คือ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ศาลได้สั่งตัดพยานปากนี้ไปแล้ว เพราะไม่สามารถนำตัวมาให้ปากคำในศาสได้ เนื่องจาก พ.ต.ท.สุวิชชัย หลบหนีคำสั่งจำคุกของศาลอุทธรณ์เมื่อต้นปี 2552 คดีฆ่าเชื้อพระวงศ์ลาวที่จังหวัดหนองคาย จึงเป็นการเพิ่มพยานเข้ามาในภายหลัง โดยฝ่ายจำเลยคัดค้าน แต่ศาลไม่รับฟัง

นายสมศักดิ์ยังอนุญาตให้อัยการนำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัยไปให้ปากคำที่ศาลอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หรือ ยูเออี ซึ่งเป็นศาลที่เมื่อเร็วๆ นี้เอง ผู้แทนองค์การสหประชาชาติมีความเห็นว่า อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายบริหาร ทำให้ฝ่ายพลตำรวจโทสมคิด คัดค้านเพราะการให้การของพยานในคดิอาญาต้องทำต่อหน้าจำเลย เพื่อให้จำเลยซักค้านได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ไปให้การซัดทอดจำเลยลับหลังในต่างประเทศ แต่นายสมศักดิ์ก็ไมรับฟัง จนพลตำรวจโทสมคิดต้องยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลรัฐธรรมนูญ มีมติด้วยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 ว่า การส่งพยานโจทก์ไปสืบยังต่างประเทศ ขัดต่อหลักนิติธรรม และเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญา

การขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาเป็นสิทธิของจำเลยที่เห็นว่า อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เป็นดุลพินิขของศาล ในสมัยที่นายทวี ประจวบลาภ เป็นอธิบดีศาลอาญา พลตำรวจโทสมคิดขอเปลี่ยนตัวนายสมศักดิ์ หลายครั้ง แต่อธิบดีไม่อนุญาต เมื่อเปลี่ยนอธิบดีศาลอาญาเป็นนายธงชัย พลตำรวจโทสมคิดก็เคยร้องขอเปลี่ยนตัวนายสมศักดิ์อีก ซึ่งไม่เป็นผล จนนายสมศักดิ์มาถูกสั่งพักราชการด้วยข้อความความผิดร้ายแรง ทำให้ไม่มีโอกาสเขียนคำพิพากษาในคดีนี้ รวมทั้งคดีอื่นๆ อีก 3-4 คดี

ถือว่า เป็นโชคดีของพลตำรวจโทสมคิด เพราะนายสมศักดิ์เองได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหลังคำพิพากษาออกมาแล้ว ในทำนองว่าพลตำรวจโทสมคิดกับพวกมีความผิดแน่นอน เพราะพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์แน่นหนา

และต้องถือว่า เป็นโชคดีของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยที่ไม่ได้ลดระดับลงไปอยู่ในมาตรฐานเดียวกับประเทศตะวันออกกลาง ถึงแม้ ในขั้นต้นน้ำคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน และในขั้นกลางน้ำคือ สำนักงานอัยการสูงสุด จะมีพฤติกรรมที่ชวนให้เข้าใจว่า ปั้นหลักฐาน กุพยาน เพื่อเอาผิดพลตำรวจโทสมคิดให้ได้ แต่ในขั้นปลายน้ำคือ ศาล ยังมีความเป็นธรรม พิจารณาพยานหลักฐานที่ฝายโจทก์คือ ดีเอส ไอ และอัยการ อ้างว่าเป็น “หลักฐานใหม่”อย่างตรงไปตรงมา หลังมีการเปลี่ยนตัวนายสมศักดิ์

คดีการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง พลตำรวจโทสมคิด กับพวก ตั้งแต่ปี 2536 เพราะพยานหลักฐาน ไม่เพียงพอ คดีนี้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ในปี 2547 โดยโอนคดีให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบ มีพลตำรวจเอกชิดชัย วรรณสถิต เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

แต่การสืบสวนคดีนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และไม่มีการโยงใยไปถึงพลตำรวจโท สมคิด จนมาถึงกลางปี 2552 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ก่อนที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จะพ้นตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอไม่กี่วัน ได้แจ้งข้อหากับพลตำรวจโทสมคิดกับพวก เป็นผู้ต้องหาในคดีอุ้มฆ่านายอัลรูไวลี โดยมี พันตำรวจโท สุชาติ วงศ์อนันตชัย รองอธิบดีในขณะนั้น เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน

แรงจูงใจในการตั้ง้ข้อหากับพลตำรวจโทสมคิด ทั้งๆ ที่ พ.ต.อ.ทวี และ พ.ต.ท. สุชาติ รู้อยู่แก่ใจว่า พยานหลักฐานนั้นค่อนข้างอ่อน นอกเหนือจากเพราะคดีกำลังจะหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 จึงต้องรีบทำคดี เพราะ รับบาลยุค นช. ทักษิณ เคยรับปากรัฐบาลซาอุฯ แล้ว เชื่อกันว่า เป็นการกลั่นแกล้ง แก้แค้นทางการเมือง เพราะพลตำรวจโทสมคิด ไม่เพียงแต่จะเป็นน้องชาย พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ คมช. ที่ยึดอำนาจจาก นช.ทักษิณ แต่ยังเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ที่มีบทบาทสำคัญในการรวบรบมพยานหลักฐาน ในคดียุบพรรคไทยรักไทย

พ.ต.อ.ทวี และ พ.ต.ท. สุชาติ ได้ชื่อว่า เป็นมือทำงานของระบอบทักษิณ ในการไล่ล่าทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม โดยใช้อำนาจตามกฎหมายของดีเอสไอ ทั้งคู่เคยทำคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีรับเงินจากทีพีไอ โดยอ้างเทปบันทึกการสนทนากับนายประจวบ สังข์ขาว ที่สถานอาบอบนวดเจ้าพระยา เป็นหลักฐานสำคัญในการทำคดี

ในคดีอัลรูไวลี ที่ดีเอสไอรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่นี้ ได้อ้างว่า มีหลักฐานใหม่คือ แหวนทองคำรูปพระจันทร์เสี้ยว ที่พยานคือ พ.ต.ท. สุวิชชัย แก้วผลึก นำมาให้ โดยอ้างว่า เป็นแหวนของนายอัลรูไวลีที่ตกอยู่ในถังน้ำมันที่ใช้เผาทำลายศพนายอัลรูไวลี

ในการให้การต่อศาล เมือวันที่ 7 กันยายน 2554 ทนายจำเลย ถาม พ.ต.ท.สุชาติว่า รู้หรือไม่ว่า ตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ผ้าไหม ทองคำ และเงินเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ชาย พ.ต.อ.สุชาติ ตอบว่า ไม่ทราบ แม้ว่าต่อมา นายมาทรูก อัลรูไวลี พี่เมียของนายอัลรุไวลี ซึ่งเป็นพยานจะบอกว่า ศาลนาอิสลามห้ามผู้ชายใส่แหวนทองคำ แต่ไม่ห้ามครอบครอง แต่นายมาทรูกก็ให้การต่อศาลว่า เคยเห็นแหวนวงดังกล่าว 2 ครั้ง เพราะเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ นำมาให้ดู แต่ไม่ยืนยันว่าแหวนวงนี้เป็นของนายอัลรูไวลีหรือไม่

ทั้ง พ.ต.อ ทวี และ พ.ต.ท.สุชาติ ซึ่งนอกศาลยืนยันความมั่นใจในพยานหลักฐาน แต่เมื่ออยู่ในศาลกลับไม่กล้าให้การอย่างตรงไปตรงว่า พลตำรวจโทสมคิดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายอัลรูไวลีหรือไม่อย่างไร

พ.ต.อ. ทวีเบิกความต่อศาล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมว่า ทั้งภรรยาและญาติของนายอัลรูไวลีไม่มีใครยืนยันว่า แหวนเป็นของนายอัลรูไวลีจริง

พ.ต.ท. สุชาติ เบิกความเมื่อวันที่ 7 กันยายน ตอบคำซักค้านของทนายจำเลยยังได้ซักว่า เอกสารจากสถานทูตซาอุฯ ระบุข้อมูลที่จำเลยทั้งห้า เข้าไปเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายอัลลูไวลี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยทั้งห้า เข้าไปเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปดังกล่าว แม้ พ.ต.ท.สุวิชัยเคยให้การว่าเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจพานายอัลลูไวลีมาเค้นสอบความจริงและมีการทำร้ายร่างกาย แต่การสอบสวนของดีเอสไอก็ไม่มีพยานรู้เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจอุ้มนายอัลลูไวลีมาที่โรงแรมใน จ.ชลบุรี และไม่พบพยานหลักฐานการเผาทำลายศพ สำหรับการกลับคำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชัย พยานได้สอบถามสาเหตุทราบว่า คำให้การในปี 2533 เป็นการแต่งเรื่องขึ้นโดยมีข้อเท็จจริงบางส่วนเพื่อให้เรื่องดังกล่าวมีทางลง

ส่วนคำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชัย ซึ่งเจ้าหน้าทีดีเอสไอ ข่วยพาตัวหนีหมายจับคดีฆ่าคนตาย ไปให้การต่อศาลที่อาบูดาบี โดยอัยการซื้อตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจให้ และกระทรวงการต่างประเทศทำพาสปอร์ตให้ในชื่อใหม่ พลตำรวจโทสมคิดให้การแย้งต่อศาล เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2556 ว่าเป็นความเท็จทั้งสิ้น และมีคำให้การที่ขัดกันเอง โดย พ.ต.ท สุวิชัย เคยให้การในชั้นสอบสวนกับดีเอสไอเมื่อปี 2549 ว่า ไม่ได้อยู่ในหตุการณ์อุ้มฆ่า แต่รู้เรื่องนี้เพราะ พ.ต.ท.สุรเดช จำเลยที่ 4 เล่าให้ฟัง แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2552 หลังจากถูกศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก ในดคีฆ่าเชื้อพระวงศ์ลาวตาย และกำลังหลบหนีโทษ พ.ต.ท.สุวิชัยเข้าให้การกับดีเอสไออีกครั้งหนึ่ง โดยนำแหวนทองคำที่อ้างว่าเป็นของนายอัลรูไวลีมาให้ด้วย และให้การว่าได้อยู่ในเหตุการณ็ด้วย ซึ่งขัดแย้งกับคำให้การครั้งแรก

ทั้งหลักฐานแหวนทองคำและคำให้การของพยานคือ พ.ต.ท. สุวิชัยที่ดีเอสไอและอัยการบอกว่าเป็นหลักฐานใหม่ที่มีน้ำหนักพอที่จะรื้อฟื้นคดีเพื่อเอาผิดกับพลตำรวจโทสมคิดกับพวก เมื่อถึงขั้นศาลแล้ว หากพิจารณาจากคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์เอง จะเห็นได้ว่า แม้กระทั่งหัวหน้าพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นผู้ส่งคดีให้อัยการสั่งฟ้อง ก็ยังไม่กล้ายืนยันในความน่าเชื่อถือของประจักษ์พยานเหล่านี้

คดีอัลรูไวลีนี้ คือคดีตัวอย่างที่สะท้อนการทำงานของดีเอสไอและอัยการได้เป็น่อย่างดีว่า ใช้กฎหมายเพื่อรับใช้นักการเมือง สามารถปั้นหลักฐาน พยาน เพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม ทั้งๆ ที่น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นหลักฐานเท็จ และเป็นพยานที่ไม่มีความ่นาเชื่อถือ


พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น