xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกศาลยุติธรรมชี้แจง สาเหตุเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาคดี “อัลรูไวลี”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม
โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงเปลี่ยนผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี “อุ้มฆ่าอัลรูไวลี” นักธุรกิจซาอุฯ สาเหตุเพราะถูกสอบสวนวินัยสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหามิชอบในคดีอื่น เผยตั้งแต่อัยการยื่นฟ้องปี 2553 เปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษามาแล้ว 4 ครั้ง ระบุสั่งพักราชการไม่เกี่ยวผลคดี ชี้ผลคำพิพากษาขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน

วันนี้ (3 เม.ย.) นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงกรณีนายสมศักดิ์ ผลส่ง อดีตองค์คณะผู้พิพากษาคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ให้สัมภาษณ์ทำนองที่ทำให้เคลือบแคลงสงสัยถึงกรณีการเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาคดีเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับผลของคดีว่า สำนักงานศาลยุติธรรมขอชี้แจงดังนี้ คดีดังกล่าวพนักงานอัยการยื่นฟ้องมาตั้งแต่ปี 2553 ระหว่างการพิจารณามีการเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษามาแล้ว 4 ครั้ง การเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาครั้งสุดท้ายนี้เป็นครั้งที่ 5 การเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาแต่ละครั้ง สืบเนื่องจากมีการสับเปลี่ยน โยกย้ายผู้พิพากษาตามวาระ

ส่วนการเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาในครั้งสุดท้าย เนื่องจากมีข้อสังเกตที่เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2556 โดยปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาสั่งปล่อยชั่วคราวจำเลย จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสดับตรับฟังข้อเท็จจริงตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2556 และรายงานผลการสดับตรับฟังข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2556

นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา จึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2556 ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ได้สรุปรายงานความเห็นเสนอต่อสำนักงานศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2556 ทำให้ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 69 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2556 และเป็นเหตุให้ต้องมีคำสั่งพักราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 74 ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 57 ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

นายบวรศักดิ์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า คดีดักล่าวนายสมศักดิ์ รับโอนสำนวนมาเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2554 ในขณะที่คดีสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว นายสมศักดิ์เพิ่งเริ่มรับผิดชอบเฉพาะตั้งแต่ช่วงเริ่มสืบพยานจำเลยนัดแรกเป็นต้นมา จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการดำเนินการทางวินัยได้เริ่มต้นตั้งแต่ 21 ม.ค. 56 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การพิจารณาคดีของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี ยังไม่แล้วเสร็จ เพียงแต่ขั้นตอนการสดับตรับฟังข้อเท็จจริงและการสอบสวนข้อเท็จจริงต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล สอบปากคำพยานและสรุปความเห็น ซึ่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงสรุปความเห็นส่งสำนักงานศาลยุติธรรมตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 2556 ก่อนที่องค์คณะผู้พิพากษาจะสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้น และเหตุที่มีคำสั่งพักราชการในเดือน ม.ค. 2557 เนื่องจากต้องนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพื่อให้ความเห็นชอบก่อน เมื่อ ก.ต.เห็นชอบแล้ว ศาลอาญาก็ดำเนินการเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาทันทีที่ทราบคำสั่ง ซึ่งในขณะนั้นคดีเพิ่งเสร็จการพิจารณาเพียงไม่กี่วันและองค์คณะผู้พิพากษายังไม่ได้ปรึกษาแนวทางการพิพากษาคดีกับผู้บริหารศาลอาญาแต่อย่างใด

“การเปลี่ยนแปลงองค์คณะผู้พิพากษาจึงเป็นผลจากการดำเนินการทางวินัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลของคดีแต่อย่างใด ในส่วนผลของคำพิพากษานั้น เป็นดุลพินิจขององค์คณะผู้พิพากษาผู้ตัดสินคดีที่จะชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนเป็นหลัก องค์คณะผู้พิพากษาไม่มีอำนาจพิจารณาข้อเท็จจริงหรือปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกระทำความผิดในคดีและเป็นเรื่องนอกสำนวนได้” โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าว และว่า หากคู่ความไม่พอใจในผลคำพิพากษาย่อมต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้ ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย โดยขณะนี้คำพิพากษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว คู่ความสามารถขอคัดถ่ายเพื่อใช้ดำเนินการต่อไปได้แล้ว
 นายสมศักดิ์ ผลส่ง อดีตองค์คณะผู้พิพากษาคดีอุ้มฆ่าโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่
กำลังโหลดความคิดเห็น