xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย...คดีอัลรูไวลี ยกฟ้อง “สมคิด บุญถนอม”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 พล.ต.อ.สมคิด บุญถนอม อดีตเจรตำรวจแห่งชาติ ศาลสั่งยกฟ้องคดีฆาตกรรม มูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจ ซาอุฯ
ย้อนรอย...คดีอัลรูไวลี โดยผู้กองตั้ง

กลายเป็นคดีประวัติศาตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการยุติธรรมไทย กับการฆาตกรรมนายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจซึ่งมีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดีอาระเบีย เข้ามาอยู่ที่ประเทศไทยประมาณปี 2529 เปิดบริษัททำธุรกิจจัดส่งแรงงานไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง ภายหลังเกิดคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบีย เดือน ก.พ. 2533 นายอัลรูไวลีก็หายตัวไปที่ลานจอดรถของโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

ต่อมาในปี 2535 รัฐบาลสมัยนั้นต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย จึงสั่งให้ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น รื้อคดีสังหารนักการทูต และการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี โดยผลสืบสวนในทางลับพบว่าทีมสืบสวนขณะนั้นที่นำโดย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีต ผบช.ภ.5 นำตัวนายอัลรูไวลีไปสอบเค้นข้อมูล แต่เกิดความผิดพลาดจนเสียชีวิต จนต้องทำลายหลักฐานที่ จ.ชลบุรี

แต่คดีนี้อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

กระทั่งปี 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษในสมัยของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้นำหลักฐานใหม่ขอรื้อคดีการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี และเป็นจุดเริ่มต้นของการออกหมายเรียก พล.ต.อ.สมคิด พร้อมลูกน้องประกอบไปด้วย พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน, พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี, พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และจ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ มารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ปิดบังซ่อนเร้นทำลายศพ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำหรือไม่กระทำการใด

สำหรับหลักฐานใหม่ที่ใช้ในการดำเนินการสั่งฟ้อง มีเพียงเป็นแหวนทองที่หัวแหวนมีรูปพระจันทร์เสี้ยว แหวนประจำตระกูลของนายอัลรูไวลีที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก 1 ในทีมพล.ต.อ.สมคิดเก็บไว้ ซึ่ง พ.ต.ท.สุวิชัยภายหลังได้รับความช่วยเหลือจากดีเอสไอให้เข้าโครงการคุ้มครองพยาน

นอกจากนี้ พล.ต.อ.สมคิดยังออกมาเปิดเผยว่า อัยการได้ช่วยเหลือให้พยานคนนี้ หลบหนีไปอยู่ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี และต้องใช้วิธีสืบพยานระหว่างประเทศ

คดีนี้จึงมีพิรุธ...ว่าอาจมี “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อกลั่นแกล้ง พล.ต.อ.สมคิดกับพวก หลังจากดีเอสไอสั่งรื้อคดีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 และนางวักดะห์ ซาเล็ม ฮาเหม็ด อัลรูไวรี มารดานายมูฮัมเหม็ด อัลรูไวลี ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.อ.สมคิด บุญถนอม พร้อมพวกรวม 5 คน โดยมีคำวิจฉัยว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์มีโทษถึงประหารชีวิต พยานหลักฐานโจทก์ต้องชัดแจ้งหนักแน่นมั่นคงโดยไม่มีข้อตำหนิใดๆ การที่โจทก์ไม่นำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัยมาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้กระทำผิด เท่ากับโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน ลำพังมีเพียงบันทึกถ้อยคำของ พ.ต.ท.สุวิชชัยเป็นพยานบอกเล่าและมีข้อพิรุธหลายประการดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงไม่น่าเชื่อถือกับพยานอื่นๆของโจทก์ ซึ่งเป็นพยานเหตุผลแวดล้อมกรณีที่ไม่มีการยืนยันว่ารู้เห็นการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้า จึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกระทำผิดจริง ประกอบกับจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธมาตลอด

คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

พล.ต.อ.สมคิดจึงกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ หลังจากตกเป็นจำเลยของสังคมนานกว่า 20 ปี ส่วนอัยการจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ก็ยังมีเวลาให้ตัดสินใจได้อีกภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่สังคมก็ได้ตระหนักถึงกระบวนการที่จะกลั่นแกล้งกันทางการเมือง โดยใช้ดีเอสไอเป็นเครื่องมือ

และถือเป็นธรรมเนียมที่ญาติของนายอัลรูไวลี เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในฐานะผู้สูญเสีย ย่อมต้องการให้ผู้ที่ตนเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี ถูกกฎหมายลงโทษ เมื่อผลแห่งคำพิพากษาไม่ได้เป็นดั่งที่ตนต้องการ ย่อมรู้สึกผิดหวังเป็นธรรมดา

ในขณะเดียวกัน อุปทูตซาอุฯ ต้องเข้าใจว่าที่นี่คือประเทศไทย ที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ศาลคือ 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย ที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร การพิจารณาคดีเป็นไปตามหลักกฎหมาย พยานหลักฐาน ต่างจากประเทศที่มีเจ้าผู้ครองนคร เป็นประมุข เพราะมีอำนาจสูงสุด แม้ในทางนิตินัยศาลของประเทศเหล่านั้นจะมีความเป็นอิสระ แต่ในทางปฏิบัติอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายบริหาร

และต้องถือว่าเป็นโชคดีของกระบวนการยุติธรรมในบ้านเราที่ไม่ได้ลดระดับลงไปอยู่ในมาตรฐานเดียวกับประเทศเหล่านั้น

สถาบันศาลสถิตย์ยุติธรรม จึงเป็นองค์กรสุดท้ายที่ฝ่ายบิรหารและนิติบัญยัติ ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ เพราะคณะกรรมการตุลาการคอยกำกับตรวจสอบกันเอง

จึงเป็นที่มาของมีการเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษาว่า ผู้พิพากษาที่เป็นเจ้าของสำนวนคือนายสมศักดิ์ ผลส่ง ได้นั่งพิจารณาคดีอัลรูไวลีมาตั้งแต่ปี 2554 แต่มีเรื่องถูกตั้งกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวขัดระเบียบ สมัยที่เป็นหัวหน้าศาลสระบุรี และบังเอิญทางคณะกรรมการตุลาการมาสั่งพักราชการในเดือน ม.ค. 2557 ช่วงที่อยู่ระหว่างทำคำพิพากษาพอดี การสั่งพักราชการถือว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงต้องให้รองอธิบดีศาลอาญาไปเป็นองค์คณะและทำคำพิพากษาร่วมกับผู้พิพากษาอีกท่านที่เป็นเจ้าของสำนวนอยู่เดิม ตามกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29
กำลังโหลดความคิดเห็น