xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละเหตุเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาคดีอัลรูไวลี - ลอกคราบตำรวจเก่า

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)นายสมศักดิ์ ผลส่ง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสระบุรี
จากกรณีศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีต ผบช.ภ.5 พร้อมพวกรวม 5 คนในคดีฆาตกรรมอำพรางคดีนายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจซึ่งมีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดีอาระเบีย โดยให้เหตุผลว่าจากพยานหลักฐานทั้งหมดยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง แต่ทั้งนี้หลังคำพิพากษาออกมาญาติของนายนายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี พร้อมคณะอุปทูตจากซาอุดีอาระเบีย ได้แถลงไม่พอใจในคำตัดสินดังกล่าวพร้อมกับตั้งข้่อสังเกตในการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาในคดีนี้ที่มีนายสมศักดิ์ ผลส่ง ที่เป็นผู้พิพากษาดูแลคดีนี้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 ตั้งแต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ว่าอาจมีอะไรไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย

ทั้งนี้ศาลอาญาได้รบออกมาชี้แจงถึงสาเหตุในการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาท่านนี้ในทันที โดยระบุว่าตามขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดี ศาลมีระเบียบเรื่องการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาไว้อย่างชัดเจน ในกรณีนายสมศักดิ์ ผลส่ง ผู้พิพากษาคดีนี้นั้นได้ถูกตั้งคระกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการให้ประกันตัวผู้ต้องหาขัดต่อระเบียบศาล จึงได้มีการสั่งพักงานและตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยยืนยันว่าการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาในคดีนี้เป็นไปตามระเบียบทางราชการทุกขั้นตอน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องด้วยในคดีนี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้ทำการสืบเซาะประวัตินายสมศักดิ์ ผลส่ง อดีตผู้พิพากษาคดีอัลรูไวลี ว่ามีสาเหตุที่มาที่ไปอย่างไรถึงได้มีการทำงานปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาสมัยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสระบุรี จนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในการพิจารณาให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเป็นเรื่องราวเกี่ยวเนื่องมาถึงรคดีอัลรูไวลีทุกวันนี้ได้

แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่านายสมศักดิ์ ผลส่ง อดีตผู้พิพากษาคดีนี้เป็นนายตำรวจเก่าแล้วต่อมามีการศึกษาต่อในระดับเนติบัณฑิตและสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาได้ในที่สุด จึงหักเหชีวิตราชการตำรวจมาเป็นข้าราชการสายตุลาการแทน สมัยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสระบุรี ได้มีการพิจารณาคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยที่ 1 ที่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของตำรวจ ในคดียาเสพติดประเภทที่ 1 แอมเฟตามีน (ยาบ้า) จำนวนหลายหมื่นเม็ด จนมีการร้องเรียนว่าอาจมีการช่วยเหลือผู้ต้องหาขัดต่อระเบียบการให้ประกันตัวผู้ต้องหาของศาลอาญาขอให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้โดยด่วน

จนกระทั่งเมื่อประมาณต้นปี 2557 นี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวของนายสมศักดิ์ ผลส่ง ผู้พิพากษาคดีอัลรูไวลี ขึ้นทำให้เขาต้องถูกสั่งพักราชการจนกว่าคณะกรรมการสอบสวนจะวินิจฉันข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น

หากเทียบเคียงเส้นทางการเดินในสายงานตุลาการของนายสมศักดิ์ ผลส่ง อดีตผู้พิพากษาท่านนี้แล้วจะเห็นว่า คล้ายคลึงกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างไงอย่างงั้น

ส่วนข้อเท็จจริงในการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะออกมาเป็นเช่นไร สำหรับข้อร้องเรียนดังกล่าวที่ทำให้นายสมศักดิ์ ผลส่ง ต้องถูกสั่งพักราชการให้เสื่อมเสียชื่อเสียง คงต้องว่ากันไปตามเนื้อผ้า

เชื่อว่าหากกระทำผิดจริงก็คงต้องถูกลงโทษทัณฑ์ไปตามระเบียบราชการสายตุลาการ ที่อาจถึงขั้นให้ออกจากราชการ และคืนเครื่องราชอิสริยยศต่างๆ ที่เคยได้รับพระราชทานมา

แต่หากไม่ได้กระทำความผิดตามข้อร้องเรียนก็คงพ้นมณทินได้รับตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นผู้พิพากษาต่อไป
เชื่อว่าเรื่องนี้พิสูจน์กันไม่ยาก จะให้มาทำดำกลายเป็นขาว คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในสายตุลาการ ท่านคงไม่เอาตำแหน่งหน้าที่ตัวเองมาเสี่ยงด้วยเป็นแน่แท้ เพราะระเบียบวินัยเรื่องการพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหานั้นเขียนไว้ค่อนข้างครอบคลุมชัดเจน คนที่มีหน้าที่เป็นถึงผู้พิพากษาคดีอาญา ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากในการพิจารณาคดีต่างๆ น่าจะเข้าใจได้ดี และโอกาสเกิดการผิดพลาดย่อมน้อยมาก

คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในครั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยความเป็นธรรมทำความจริงให้ปรากฏอย่างถูกต้อง...

ช่วยกันลอกคราบตำรวจเก่าให้สิ้นซาก!!!

ย้อนรอย...คดีอัลรูไวลี

กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการยุติธรรมไทย กับการฆาตกรรมนายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจซึ่งมีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดีอาระเบีย เข้ามาอยู่ที่ประเทศไทยประมาณปี 2529 เปิดบริษัททำธุรกิจจัดส่งแรงงานไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง ภายหลังเกิดคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบีย เดือน ก.พ. 2533 นายอัลรูไวลีก็หายตัวไปที่ลานจอดรถของโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

ต่อมาในปี 2535 รัฐบาลสมัยนั้นต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย จึงสั่งให้ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น รื้อคดีสังหารนักการทูต และการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี โดยผลสืบสวนในทางลับพบว่าทีมสืบสวนขณะนั้นที่นำโดย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีต ผบช.ภ.5 นำตัวนายอัลรูไวลีไปสอบเค้นข้อมูล แต่เกิดความผิดพลาดจนเสียชีวิต จนต้องทำลายหลักฐานที่ จ.ชลบุรี

แต่คดีนี้อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

กระทั่งปี 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษในสมัยของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้นำหลักฐานใหม่ขอรื้อคดีการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี และเป็นจุดเริ่มต้นของการออกหมายเรียก พล.ต.ท.สมคิด พร้อมลูกน้องประกอบไปด้วย พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน, พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี, พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ มารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ปิดบังซ่อนเร้นทำลายศพ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำหรือไม่กระทำการใด

สำหรับหลักฐานใหม่ที่ใช้ในการดำเนินการสั่งฟ้อง มีเพียงเป็นแหวนทองที่หัวแหวนมีรูปพระจันทร์เสี้ยว แหวนประจำตระกูลของนายอัลรูไวลีที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก 1 ในทีม พล.ต.อ.สมคิด เก็บไว้ ซึ่ง พ.ต.ท.สุวิชัย ภายหลังได้รับความช่วยเหลือจากดีเอสไอให้เข้าโครงการคุ้มครองพยาน

นอกจากนี้ พล.ต.ท.สมคิด ยังออกมาเปิดเผยว่า อัยการได้ช่วยเหลือให้พยานคนนี้ หลบหนีไปอยู่ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี และต้องใช้วิธีสืบพยานระหว่างประเทศ

คดีนี้จึงมีพิรุธ...ว่าอาจมี “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อกลั่นแกล้ง พล.ต.ท.สมคิด กับพวก หลังจากดีเอสไอสั่งรื้อคดีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 และนางวักดะห์ ซาเล็ม ฮาเหม็ด อัลรูไวรี มารดานายมูฮัมเหม็ด อัลรูไวลี ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม พร้อมพวกรวม 5 คน โดยมีคำวิจฉัยว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์มีโทษถึงประหารชีวิต พยานหลักฐานโจทก์ต้องชัดแจ้งหนักแน่นมั่นคงโดยไม่มีข้อตำหนิใดๆ การที่โจทก์ไม่นำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย มาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้กระทำผิด เท่ากับโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน ลำพังมีเพียงบันทึกถ้อยคำของ พ.ต.ท.สุวิชชัยเป็นพยานบอกเล่าและมีข้อพิรุธหลายประการดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงไม่น่าเชื่อถือกับพยานอื่นๆของโจทก์ ซึ่งเป็นพยานเหตุผลแวดล้อมกรณีที่ไม่มีการยืนยันว่ารู้เห็นการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้า จึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกระทำผิดจริง ประกอบกับจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธมาตลอด

คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

พล.ต.ท.สมคิด จึงกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ หลังจากตกเป็นจำเลยของสังคมนานกว่า 20 ปี ส่วนอัยการจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ก็ยังมีเวลาให้ตัดสินใจได้อีกภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่สังคมก็ได้ตระหนักถึงกระบวนการที่จะกลั่นแกล้งกันทางการเมือง โดยใช้ดีเอสไอเป็นเครื่องมือ

และถือเป็นธรรมเนียมที่ญาติของนายอัลรูไวลี เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในฐานะผู้สูญเสีย ย่อมต้องการให้ผู้ที่ตนเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี ถูกกฎหมายลงโทษ เมื่อผลแห่งคำพิพากษาไม่ได้เป็นดั่งที่ตนต้องการ ย่อมรู้สึกผิดหวังเป็นธรรมดา

ในขณะเดียวกัน อุปทูตซาอุฯ ต้องเข้าใจว่าที่นี่คือประเทศไทย ที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ศาลคือ 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย ที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร การพิจารณาคดีเป็นไปตามหลักกฎหมาย พยานหลักฐาน ต่างจากประเทศที่มีเจ้าผู้ครองนคร เป็นประมุข เพราะมีอำนาจสูงสุด แม้ในทางนิตินัยศาลของประเทศเหล่านั้นจะมีความเป็นอิสระ แต่ในทางปฏิบัติอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายบริหาร

และต้องถือว่าเป็นโชคดีของกระบวนการยุติธรรมในบ้านเราที่ไม่ได้ลดระดับลงไปอยู่ในมาตรฐานเดียวกับประเทศเหล่านั้น

สถาบันศาลสถิตย์ยุติธรรม จึงเป็นองค์กรสุดท้ายที่ฝ่ายบิรหารและนิติบัญญัติ ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ เพราะคณะกรรมการตุลาการคอยกำกับตรวจสอบกันเอง

จึงเป็นที่มาของมีการเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษาว่า ผู้พิพากษาที่เป็นเจ้าของสำนวนคือนายสมศักดิ์ ผลส่ง ได้นั่งพิจารณาคดีอัลรูไวลีมาตั้งแต่ปี 2554 แต่มีเรื่องถูกตั้งกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวขัดระเบียบ สมัยที่เป็นหัวหน้าศาลสระบุรี และบังเอิญทางคณะกรรมการตุลาการมาสั่งพักราชการในเดือน ม.ค. 2557 ช่วงที่อยู่ระหว่างทำคำพิพากษาพอดี การสั่งพักราชการถือว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงต้องให้รองอธิบดีศาลอาญาไปเป็นองค์คณะและทำคำพิพากษาร่วมกับผู้พิพากษาอีกท่านที่เป็นเจ้าของสำนวนอยู่เดิม ตามกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29
(แฟ้มภาพ)
(แฟ้มภาพ)
(แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น