xs
xsm
sm
md
lg

เลือก ส.ว.ไม่เข้าท่าจะขายหน้ากันทั้งเมือง / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
 
ภาพลักษณ์ของสมาชิกวุฒิสภา  200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  2540  ถูกมองว่าเป็นสมาชิกวุฒิสภาสีเทา ที่ไม่สามารถฟอกให้เป็นสีขาว หรือทำให้ความหม่นคล้ำเลือนหายไปได้  ทั้งที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้สมาชิกวุฒิสภา หรือสภาสูงทำหน้าที่เหมือน “ด่านอรหันต์”  คอยดักกรองสิ่งเลวร้ายก่อนที่จะนำเสนอต่อผู้คนในสังคม
 
แต่ที่สุด  “ด่านอรหันต์” ก็ถูกทำลายด้วย “ระบอบ” ที่กำหนดเส้นทางเดินในรูปแบบ “ทุนนิยมใหม่”
 
มีการกล่าวหาในทำนองว่า รัฐบาลรุกคืบเข้าไปใน “สภาสูง” เพื่อต้องการกำหนดทิศทางทุกอย่างที่จะต้องผ่านการคัดกรองจากสมาชิกวุฒิสภา  โดยเฉพาะการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาเป็นองค์กรอิสระ  ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล  ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ศาลรัฐธรรมนูญ  หรือการออกกฎหมายสำคัญๆ ลามไปถึงกำหนดว่าใครสมควรที่จะนั่งในตำแหน่งประธานวุฒิสภา (กองบรรณาธิการมติชน.  2549 : คำนำ)
 
การเลือกตั้ง ส.ว.ชุดที่ 2  ได้เกิดปรากฏการณ์นักการเมืองขนลูกเมียญาติพี่น้องลงสมัครจนแทบจะทุกพื้นที่  โดยใช้ฐานเสียงเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นกำลังหนุน
 
วุฒิสภา กับสภาผู้แทนชุดนั้นจึงถูกขนานนามอย่างน่าอัปยศอดสูว่า “สภาผัวสภาเมีย” หรือ “สภาทาส”  กลายเป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงของกระบวนการตรวจสอบในระบบรัฐสภาไทย
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  2550  กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน  มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด  จังหวัดละหนึ่งคน  และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนข้างต้นหักด้วยจำนวนสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง  เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้  แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา
 
บทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา  ประกอบด้วย 1) ด้านนิติบัญญัติ ได้แก่ 1.1) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 1.2) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  1.3) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีระบุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยมีคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 1.4) การอนุมัติพระราชกำหนด 1.5) การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
 
2) การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน หมายถึง การควบคุมดูแล หรือตรวจสอบการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรี หรือฝ่ายบริหาร ให้เป็นไปตามคำแถลงนโยบายที่ให้ไว้ต่อรัฐสภา รวมทั้งบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยวิธีการดังนี้ 2.1) การตั้งกระทู้ถาม  2.2) การเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา  2.3) การตั้งคณะกรรมาธิการ
 
3) การให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของแผ่นดิน   3.1) ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์   3.2) รับทราบ หรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ   3.3) ให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม   3.4) ให้ความเห็นชอบในการทำหนังสือสัญญาสำคัญกับนานาประเทศ
 
4) พิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ ให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรตรวจสอบ 4.1) วุฒิสภาถวายคำแนะนำเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ  องค์กรเหล่านั้นประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 4.2) วุฒิสภาพิจารณาเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าเป็นคณะกรรมการตุลาการของศาลประเภทต่างๆ ดังนี้ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม กรรมการตุลาการศาลปกครอง
 
4.3) วุฒิสภาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของทั้งหมด ซึ่งได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองการแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วย
 
5) ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง 5.1) การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงออกจากตำแหน่ง อันได้แก่ นายกรัฐมนตรีรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษา หรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หากบุคคลนั้นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย
 
5.2) วุฒิสภาอาจมีมติให้กรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติพ้นจากตำแหน่งได้ เมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ กระทำการขาดความเที่ยงธรรม จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย มีพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง
 
6) บทบาทและอำนาจหน้าที่อื่นๆ
 
เนื่องจาก ส.ว.มีอำนาจหน้าที่สำคัญยิ่ง และด้วยความประสงค์จะให้ ส.ว.ทำหน้าที่โดยอิสระ  ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541  มาตรา  36  จึงห้ามมิให้พรรคการเมืองช่วย เหลือ หรือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม
 
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541  มาตรา  91  ห้ามมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือบุคคลใดดำเนินการหาเสียงเลือกตั้ง  เว้นแต่การแนะนำตัวผู้สมัครเท่านั้น  เพราะยึดหลักว่าผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ควรเป็นผู้ทรงเกียรติ  มีคุณวุฒิสูง  มีชื่อเสียง  สะสมผลงานจนเป็นที่ประจักษ์ และยอมรับของประชาชนในจังหวัด  เมื่อแนะนำตัวว่าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งก็น่าจะได้รับเลือกตั้ง โดยไม่ต้องโฆษณาหาเสียง
 
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ห้ามหาเสียงก็คือ ไม่ต้องการให้ผู้สมัครไปขอรับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง หรือบุคคลใด อันทำให้ ส.ว.ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองนั้น และอาจทำให้การทำงานขาดอิสระในการตรวจสอบความถูกต้องในการบริหารงานของรัฐบาล หรือกลั่นกรองการทำงานด้านนิติบัญญัติของ ส.ส.
 
ถ้าสมาชิกวุฒิสภามีการฝักใฝ่พรรคการเมือง เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่จะให้วุฒิสภาเป็นสภาที่เป็นกลางทางการเมืองก็จะถูกเบี่ยงเบนไป สำหรับบทลงโทษโดยผู้ที่ฝ่าฝืนตามมาตรา 91 (หาเสียงจะมีความผิดทางอาญา) โดยมีบทกำหนดโทษ ดังนี้ 1) จำคุก 1-10 ปี 2) ปรับ 20,000-200,000 บาท 3) ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น