xs
xsm
sm
md
lg

ความทรงจำสุดท้ายของชายชื่อ “เชือน ศิวิโรจน์” (๑) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุ่งระโนด (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ตอนสายๆ ของวันที่  ๒๕  ก.พ.๒๕๕๗  ผู้เขียนขับรถยนต์มุ่งหน้าไปตามถนนลาดยางสายปากบางตะเครียะ-ปากเหมือง  ในท้องที่ตำบลตะเครียะ  อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา  จุดหมายปลายทางอยู่ที่บ้านลุงเชือน  ศิวิโรจน์  ชายชราวัย  ๙๕  ปี ผู้สูงอายุติดอันดับต้นๆ ของตำบลตะเครียะ ที่ยังอ่านหนังสือด้วยตาเปล่า และนั่งเขียนหนังสือด้วยลายมือได้หลายๆ หน้ากระดาษสมุด
 
ผู้เขียนรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของลุงเชือนจากบทความในหนังสือระโนดสังสรรค์หลายๆ บทความ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบทความบอกเล่าความเป็นมาของชุมชนท้องถิ่นในทุ่งบ้านขาว และทุ่งตะเครียะ ซึ่งหาอ่านจากที่ไหนไม่ได้  และผู้เขียนเคยใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในหนังสือของผู้เขียนบางเล่ม
 
ล่าสุด ผู้เขียนพบลุงเชือนในที่ประชุมแนะนำโครงการ  ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในชนบทภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย เมื่อวันที่  ๑๗  ก.พ.๒๕๕๗  ที่ห้องประชุมโรงเรียนวัดเกษตรชลธี  ตำบลตะเครียะ  อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา  โดยการประสานงานของ อ.อนันต์  ศิรินุพงศ์ และ อ.บรรจง  รัตนชาติ  และผู้เขียนรับปากตามคำชักชวนของลุงเชือนว่า จะไปหาที่บ้านให้ได้ในเร็ววัน
 
ผู้เขียนมายืนจดๆ จ้องๆ อยู่หน้าบ้านสองชั้นที่มีรั้วรอบขอบชิด  ประตูรั้วด้านหน้าเปิดคาอยู่  มีรถกระบะจอดอยู่ข้างเรือนทรงปั้นหยาสองชั้น  แต่ประตูบ้านด้านหน้าปิดตาย  ผู้เขียนจึงเรียกหาเจ้าของบ้าน  ได้ยินเสียงตอบรับมาจากด้านหลังบ้าน  จึงรู้ว่ามีคนอยู่  จึงตะโกนถามถึงลุงเชือนว่าอยู่ไหม ก็ได้ยินเสียงขานรับว่าอยู่ และเชิญชวนให้ขึ้นไปข้างบน
 
ผู้เขียนขึ้นบันไดบ้านที่ก่อด้วยซีเมนต์แบบโบราณขึ้นไปยังชานพื้นไม้กระดานไม้เคี่ยม  ฝาลายฉลุแบบโบราณ  ยกมือไหว้ทักทายลุงเชือน และภรรยาของลุงที่ลุงเคยบอกว่า  ไม่นานมานี้เข้าโรงพยาบาลพร้อมกัน  แต่ภรรยาอาการหนักกว่าเพราะต้องนอนไอซียู
 
ผู้เขียนแนะนำตัวกับภรรยาของลุงเชือน และบอกถึงวัตถุประสงค์การมาพบลุงเชือนในวันนี้ หลังจากสังเกตเห็นว่าคุณป้ามีท่าทีสงสัยในการมาของคนแปลกหน้า  หลังจากนั้นป้าก็นั่งยิ้มบ้าง เฉยๆ บ้าง ร่วมสนทนากับเราบ้าง
 
ผู้เขียนเริ่มตั้งคำถามให้ลุงเชือนบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนตะเครียะว่า เริ่มมีชุมชนบริเวณไหน และขยายพื้นที่ไปที่ใดตามลำดับ  ลุงมาเน้นย้ำถึงตระกูลแกล้วทนงค์  โดยเฉพาะ “ขุนตระการตะเครียะเขต” (นุ่ม  แกลวทนงค์)  ในตอนท้ายๆ ของการพูดคุยลูกชายของลุงที่ออกจากงานที่กรุงเทพฯ มาดูแลพ่อแม่ที่บ้านคือ พี่สถิต  ศิวิโรจน์ ก็กลับมาจากข้างนอก และร่วมพูดคุยด้วยเป็นระยะๆ
 
ช่วงหนึ่งของการพูดคุย ลุงบอกว่า กำลังเขียนบันทึกบอกเล่าเรื่องราวของตน และชุมชนบอกเล่าลูกหลาน เพื่อพิมพ์แจกในวาระมีอายุครบ  ๘  รอบในปีหน้า (๓  ก.พ. พ.ศ.๒๕๕๘) แต่เปรยๆ ออกมาว่า “ไม่รู้จะอยู่ถึงวันนั้นไหม?”  ตอนนี้เขียนได้  ๒๓  หน้ากระดาษสมุดแล้ว  ผู้เขียนจึงขออนุญาตเอาต้นฉบับไปสำเนาที่ร้านข้างบ้าน
 
ต่อไปนี้คือ “บันทึกจากความทรงจำสุดท้าย…“ของลุงเชือน  ศิวิโรจน์
 
“จับหนังสือถืออ่านผ่านคำนำ
เป็นประจำเอาไว้อย่าได้เผลอ
เพราะคำนำคำนี้ดีเลิศเลอ
อย่าได้เผลออ่านประจำเหมือนตำรา
 
ผู้เขียนมีกำเนิดในสมัย ร.๖  ขึ้นครองราชย์ได้  ๙  ปี  ตรงกับ พ.ศ.๒๔๖๒  ที่ตำบลตะเครียะ  มีนายน่ม  แกล้วทนงค์  (ขุนตระการตะเครียะเขต) เป็นกำนัน  มีนายกลัน  นวลย้อย  เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่  ๑  สมัยนั้นยังไม่มีเลขที่บ้าน  ปัจจุบันผู้เขียนอายุย่างเข้า  ๙๕  ปีแล้ว  เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเขาจากโลกนี้เกือบจะหมดแล้ว
 
ข้าฯ นอนคิดว่าน่าจะทำอะไรให้ลูกหลานได้รู้บ้างว่า ประวัติความเป็นมาของต้นตระกูลเราเป็นอย่างไร  เริ่มต้นตั้งแต่พอจำความได้จนบัดนี้  แต่ลำบากพอสมควร เพราะตาก็มองไม่ค่อยเห็น  หูก็ไม่ค่อยได้ยินต้องพูดดังๆ ใกล้ๆ แต่จะลองทำดูเห็นว่าอยู่เปล่าๆ  จะเขียนในแวดวงแคบๆ เฉพาะตำบลตะเครียะ และตำบลบ้านขาวที่เพิ่งแยกออกไป
 
เป็นที่น่าเสียดายคนที่ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเราได้เริ่มเสียชีวิตไป โดยไม่มีใครได้เขียนประวัติคุณความดีที่ท่านทำไว้ก็หลายท่าน  ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีหลายท่าน  หนังสือเล่มนี้จะบอกผู้อ่านได้ว่าใครทำอะไร  ที่ไหน  ทำอะไร  ให้ท่านทราบอย่างแจ่มแจ้ง และชัดเจน
 
และผู้เขียนขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า จะเขียนแต่เรื่องจริง  จะไม่โกหกพกลมเป็นอันขาด  เพราะผู้เขียนถือศีลห้าเป็นประจำมาหลายปีแล้ว  และมีกลอนคติที่พอจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านสอดแทรกมาเป็นตอนๆ เพื่อผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณเอาเอง  ถ้าเห็นตอนใดพอเป็นคติสอนใจได้บ้างก็จงนำมาปฏิบัติตามสมควร
 
ข้าฯ ถือกำเนิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่กินเช้าพออิ่มค่ำ  มีพี่น้องร่วมท้องกัน  ๗  คน  ข้าฯ เป็นลูกคนที่  ๕  พี่ๆ  ๔  คนเป็นผู้หญิง  น้องติดกับข้าฯ เป็นชาย  น้องสุดท้องเป็นผู้หญิง  พี่  ๔  คนเสียชีวิตหมดแล้ว  ยังคงเหลือข้าฯ กับน้องคนสุดท้อง  พ่อเป็นคนสันโดษถือศีลห้าเป็นประจำ  เท่าที่จำได้ไม่เคยเห็นพ่อหาปูหาปลาเลย  พี่ผู้หญิงคนที่  ๒  ทำหน้าที่นี้แทนพ่อ ถึงหน้าเก็บเกี่ยวข้าวในนาหนองเล็กๆ พี่วิดจับปลาเอง  ถึงฤดูพรุแห้งพี่จะลงไปพลอยจับปลาที่เขาวิดเกือบจะทุกวัน
 
หากวันไหนไม่มีที่จะจับปลาพี่ก็ชักรากบัวยาวตั้งสองศอกสามศอก  ขุดเหง้าบัวขนาดเท่าข้อมือนำมาขายที่ตลาดนัดใกล้บ้าน  วันหนึ่ง  ๒๐-๓๐  สตางค์  นับว่าเป็นเงินโขแล้วในยุคนั้น  พ่อถือศีลเคร่งครัด  แต่พ่อทำงานชั้นสูงคือ ทำน้ำตาลโตนด (คาบตาล) เคี่ยวน้ำผึ้งบ้าง  ทำน้ำส้มบ้าง  ทำน้ำตาลแว่นบ้าง  ฝีมือทำน้ำส้มโตนดของแม่หาตัวจับยาก
 
เท่าที่ข้าฯ จำได้  แม่เทน้ำตาลไว้ในเนียง หรือไหพอเปรี้ยวดีแล้วก็กรองเอาแต่น้ำใสๆ  ใส่อ้อย  ใส่น้ำผึ้งลงเล็กน้อย  แล้วหุ้มปากเก็บไว้ใช้กินเองได้หลายๆ เดือน  นำไปขายที่ตลาดบ้าง  คนมาซื้อถึงบ้านบ้าง  ส่วนพ่อเมื่อเอาน้ำตาลมาส่งให้แม่แล้ว  พ่อจะไปกะเทาะกาบตาลโตนดมาทบเอาเส้นใยควั่นเชือกล่ามวัวควาย  เชือกในตลาดขายขดละ  ๒๐-๒๕  สตางค์  แต่ของพ่อขายขดละ  ๔๐  สตางค์  มีคนสั่งจองทำไม่ทัน
 
พ่อเป็นคนสูบบุหรี่ หรือยาสูบใบจาก  แต่พ่อไม่เคยซื้อใบจาก  พ่อปลูกชุมเห็ดไว้ชายคลองใช้ใบชุมเห็ดท่อมวลยาสูบ  ส่วนยาสูบพ่อปลูกเองเช่นกัน  พ่อถือศีลห้าตลอดชีวิต  พออายุได้  ๙๒  ปี พ่อก็ละจากโลกนี้ไปโดยสงบ  ตลอดชีวิตของพ่อไม่มีอะไรให้โลกโจษขานกันในทางเสื่อมเสีย  น่าที่ลูกหลานเหลนโหลนจะเอาเป็นตัวอย่าง.
 
(อ่านต่อฉบับหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น