คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
นับตั้งแต่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ หลังจากถูกมวลมหาประชาชนออกมาคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบสุดซอย และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และฝ่ายรัฐบาลตั้งโต๊ะแถลงข่าวปฏิเสธอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลรักษาการที่ขาดความชอบธรรมทั้งทางกฎหมาย และการเมืองก็พยายามใช้อำนาจตามกฎหมายมาทำลายความชอบธรรมของมวลมหาประชาชน โดยผ่านองค์กรของรัฐที่ผู้นำองค์กรมีพฤติกรรมเป็น “สมุน” รับใช้อำนาจรัฐทรราชเสียงข้างมาก
องค์กรแรกคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ประชาชนเรียกว่า “ตะกวด” ได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า รับใช้รัฐบาลทรราช จนประเทศนี้ได้ชื่อว่าเป็นรัฐตำรวจ โดยรัฐบาลใช้กองกำลังฝ่ายตำรวจเป็นกำลังหลักในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในช่วงวิกฤต ตำรวจถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของความรุนแรงและการบาดเจ็บล้มตายของประชาชน และตำรวจด้วยกัน รวมทั้งมวลมหาประชาชนไม่ยอมรับอำนาจของตำรวจ โดยหันไปพึ่งพาทหารในการตรวจสอบที่เกิดเหตุ และเก็บพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ร้ายแรงถึงชีวิต และมีการบาดเจ็บหลายต่อหลายครั้ง
องค์กรต่อมาคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ผู้นำองค์กรเป็นคนที่มวลมหาประชาชนเกลียด และก่นด่าประนามไม่น้อยกว่าผู้นำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป เพราะอธิบดีกรมนี้มีพฤติกรรมรับใช้อำนาจรัฐบาลทรราชอย่างออกนอกหน้าและน่าเกลียด โดยเฉพาะการใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมมาสร้างความอยุติธรรมอย่างอัปยศ และน่าอดสูที่สุด นับตั้งแต่การพยายามตั้งข้อหา พยายามออกหมายจับแกนนำให้ได้ การอายัดบัญชีธนาคารพาณิชย์ของแกนนำมวลมหาประชาชน การออกมาประกาศจะใช้อำนาจศาลกักขังนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ให้ได้ด้วยทุกวิถีทาง แสดงให้เห็นถึงเจตนาของการใช้กฎหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของตน และพรรคพวก โดยไม่คึงถึงความยุติธรรม และความสงบสุขในสังคมอันเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน โดยเฉพาะกฎหมายอาญา
องค์กรต่อมาคือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ผู้นำองค์กรนี้คนปัจจุบันที่ได้ตำแหน่งมาโดยการแย่งชิงมาจากผู้นำองค์กรคนเดิมที่ถูกการเมืองสามานย์รังแก ทำให้องค์กรนี้กลายเป็นองค์กรที่รักษาความมั่นคงของรัฐบาลทรราชเสียงข้างมาก แทนการรักษาความมั่นคงของรัฐไปอย่างน่าเกลียด เพราะผู้นำองค์กรนี้ละเลยต่อความมั่นคงของรัฐในเรื่องความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ ความปลอดภัยของมวลมหาประชาชนที่ถูกชายชุดดำที่เชื่อกันว่าส่วนหนึ่งเป็นกองกำลังจากประเทศเพื่อนบ้าน และที่น่าเศร้าใจคือ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติคนนี้ใช้วาจาท้าทายถากถางมวลมหาประชาชนเป็นระยะๆ เป็นการเรียกแขกให้แก่มวลมหาประชาชนมาตลอด
รัฐบาลรักษาการชุดนี้เป็นรัฐบาลที่ถูกประชาชนของตนดูหมิ่นดูแคลนมากที่สุด พยายามทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตน และนายใหญ่ที่ดูไบ โดยใช้กระบวนการยุติธรรมสร้างความอยุติธรรมต่อประชาชนที่ไม่สนับสนุน หรือคัดค้านการดำรงอยู่ของรัฐบาลอย่างมากมายมหาศาลเป็นเวลากว่าร้อยวัน โดยรัฐบาลรักษาการที่ขาดความชอบธรรม และมีพฤติกรรมทุจริตฉ้อฉลไม่รู้สึกรู้สา ยังยืนยันที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าก็คือ พวกเขาเช่นเดิม
ความอัปยศอดสูอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลรักษาการชุดนี้ นอกเหนือจากพฤติกรรมชั่วร้ายที่รับรู้อยู่ทั่วกันอยู่แล้วคือ การพยายามทุกวิถีทางให้มีการเลือกตั้งให้ได้ ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างรุนแรง และทั่วถึงจากทุกสารทิศ จนนำไปสู่ความวุ่นวาย โดยเฉพาะในภาคใต้หลายเขตไม่มีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต เพราะถูกกีดกันจนไม่สามารถจะรับสมัครได้ และ กกต.เขตหลายเขตประกาศยกเลิกการรับสมัคร จนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในคราวเดียวกันทั่วประเทศตามพระราชกฤษฎีกาได้ เป็นปัญหาคาราคาซังให้รัฐบาล และคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องมาปรึกษาหารือกัน และรัฐบาลใช้ท่าทีข่มขู่ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม พร้อมทั้งใช้นักวิชาการหางเครื่องของรัฐบาลมาร่วมสำทับข่มขู่ด้วยทุกครั้งที่มีการพูดคุย
ประเทศไทยในปัจจุบันถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ตกต่ำในด้านต่างๆ เป็นอันดับต้นๆ ทั้งในระดับอาเซียน และระดับโลก และเป็นอันดับท้ายๆ ในด้านดี โดยเฉพาะคุณภาพนักการเมือง การทจริตคอร์รัปชัน คุณภาพการศึกษา ฯลฯ และส่วนใหญ่อันดับเหล่านี้ล้วนได้มาในสมัยรัฐบาลทักษิณ และบริวารทั้งสิ้น ยิ่งสมัยรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นยุคที่ประเทศนี้ติดอันดับโลก และอาเซียนอันดับต้นๆ ในด้านความตกต่ำนานาประการ
กระบวนการยุติธรรมของประเทศเริ่มต้นจากตำรวจ พนักงานสืบสวนสอบสวน จับกุมดำเนินคดี และจัดทำสำนวนการสอบสวนเบื้องต้น เพื่อส่งให้อัยการทำหน้าที่ฟ้องต่อศาล และผู้พิพากษาทำหน้าที่พิพากษาตามสำนวนของทั้งสองฝ่าย เมื่อตำรวจซึ่งเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ ก็ย่อมทำให้กระบวนการยุติธรรมนั้นไม่สามารถจะสร้างความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ และยิ่งนักการเมืองที่มากำกับดูแลองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมถูกมองว่าเป็นคนถ่อย ต้นทุนต่ำ และประกาศตัวต่อสาธารณชนทั้งโดยวาจา และพฤติกรรมว่าเต็มใจรับใช้ เป็น “ขี้ข้า” ของเผด็จการทรราชที่หนีคดีไม่กล้ากลับเข้าประเทศ ยิ่งสร้างความอัปลักษณ์ และอัปยศอดสูในความรู้สึกของประชาชนฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.