คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย... / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
โธมัส เจฟเฟอร์สัน เคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การลุกขึ้นต่อต้านจะกลายเป็นหน้าที่” ช่างตรงกับสถานการณ์ในบ้านเมืองของเราในช่วงเวลาสามสี่เดือนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เพราะต้นเหตุของความวุ่นวาย และการลุกขึ้นสู้ของประชาชนมาจากการต่อต้านความอยุติธรรมของกฎหมายที่มาจากอำนาจรัฐที่อธรรม
เริ่มตั้งแต่การผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสุดซอย และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่ฉ้อฉล หมกเม็ด และมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมาวินิจฉัยแทนที่จะระงับยับยั้ง กลับร่วมกันแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อมา เมื่อประชาชนลุกขึ้นต่อต้านจากทั่วประเทศก็ประกาศยุบสภา โดยอ้างว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชน ครั้นประชาชนส่วนใหญ่ออกมาคัดค้านการเลือกตั้ง โดยให้มีการปฏิรูปประเทศไทยในหลายด้านที่สำคัญๆ ก่อน รัฐบาลกลับดันทุรังจะเลือกตั้งให้ได้ จนนำไปสู่ความรุนแรง เกิดการบาดเจ็บล้มตาย
ในที่สุด รัฐบาลก็ประกาศกฎหมาย ๒ ฉบับ ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้การคุ้มครอง โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลแพ่ง แต่รัฐบาลโดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะตั้งข้อหากบฏ และออกหมายจับกมแกนนำกว่าครึ่งร้อยคนให้ได้
นอกจากนั้น ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา รัฐบาลรักษาการของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แสดงจุดยืนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ความอยุติธรรมเป็นกฎหมายให้ได้ จนนำไปสู่ความเกลียดชังในหมู่ประชาชนที่มีต่อผู้นำทุกคนในฝ่ายรัฐบาล
นับหนึ่งตั้งแต่นายกรัฐมนตรี “ปูเน่า-นกขุนทอง” ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย “เป็ดเหลิม” และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ “ธาริต สีดวง” ที่ยกระดับคดีเป่านกหวีดใส่ฝ่ายรัฐบาลเป็นคดีพิเศษ แต่ไม่ยอมรับให้คดีประกาศแบ่งแยกประเทศเป็นคดีพิเศษ
มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ เคยกล่าวไว้ว่า “อยุติธรรมไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ ที่แห่งหนใดก็ตาม ล้วนแต่ข่มขู่ คุกคามต่อความยุติธรรมทุกหนทุกแห่งทั่วโลก” แต่สำหรับในประเทศไทย คงยกเว้นในหมู่คนเสื้อแดง และผู้สนับสนุนรัฐบาลอยุติธรรมชุดปัจจุบัน
รัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบัน ทำให้คนไทยได้พบสัจธรรมที่ว่า “กฎหมายที่ดีย่อมเอื้อต่อการทำสิ่งที่ถูกได้ง่าย และทำสิ่งผิดได้ยาก” เพราะรัฐบาลทำให้เกิดปรากฏการณ์ตรงข้ามที่ว่า “กฎหมายที่ดีย่อมเอื้อต่อการทำที่ถูกได้ยาก และทำสิ่งที่ผิดได้ง่าย”
กล่าวคือ ประชาชน หรือมวลมหาประชาชนต้องมีความเสียสละ อดทน ต่อสู้เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆ ด้าน ด้วยความยากลำบากเป็นเวลานานนับร้อยวันแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนใจรัฐบาลให้ยอมลงจากอำนาจได้ แต่ครั้นประชาชนเป่านกหวีด หรือแสดงพลังกดดันรัฐบาล ก็กลับถูกข้อหาเป็นกบฏเอาง่ายๆ
แต่รัฐบาลนี้ก็ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องคุณสมบัติบางประการของกฎหมายทั่วโลก ตามที่ เบนจามิน แฟรงคลิน กล่าวไว้ที่ว่า “กฎหมายที่อ่อนหลวมเกินไป นั้นแทบจะไม่ได้รับการเชื่อฟัง ส่วนกฎหมายที่เคร่งครัด มักไม่ค่อยได้รับการปฏิบัติตาม”
ดังจะเห็นได้จากกฎหมายห้ามชุมนุมทั้ง 2 ฉบับของรัฐบาลที่ออกมาอย่างขึงขัง แต่ประชาชนกลับไม่ให้ความสำคัญ และท้าทายอย่างไม่เกรงขาม จนทำให้รัฐมนตรีแต่ละคนที่ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้กำกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว กลายเป็นตัวตลกแห่งชาติสำหรับมวลมหาประชาชนไปโดยปริยาย
เพราะมวลมหาประชาชนส่วนใหญ่เชื่อความเห็นของ ซิเซโร ที่ว่า “ความดีของประชาชนคือ กฎหมายสูงสุด” ซึ่งคล้ายคลึงกับที่ ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน ที่ว่า “คนดีไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังกฎหมายมากเกินไป” เพราะ “กฎหมายฉบับหนึ่งตราขึ้นเพื่อสิงโตแล้ว วัวย่อมถูกกดขี่” ตามที่ วิลเลียม เบลค ว่านั่นคือ “กฎหมายฉบับหนึ่งที่ตราโดยทรราชเสียงข้างมาก มวลมหาประชาชนย่อมถูกกดขี่กลั่นแกล้ง” เป็นธรรมดา
บัดนี้ ความอยุติธรรมกำลังกลายเป็นกฎหมายหลายฉบับ หลายมาตรา ในมือของรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรม ขาดวุฒิภาวะของความเป็นรัฐบาลผู้ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน เป็นรัฐบาลที่ประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับความทุจริตฉ้อฉลของรัฐบาล รัฐบาลที่ยืนดูประชาชนถูกไล่ล่าฆ่าเข่น บาดเจ็บและล้มตายครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ผู้ไร้เดียงสา และเป็นอนาคตของชาติ โดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลไม่ได้รู้สึกรู้สาต่อความเป็นความตายของประชาชน
จึงไม่แปลกที่มวลมหาประชาชนจะต้องลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลที่อยุติธรรมทุกวิถีทาง จนกว่าจะได้รับชัยชนะ ไม่ว่าจะต้องบาดเจ็บ ล้มตาย หรือถูกข่มขู่คุกคามกลั่นแกล้งนานาประการก็ตาม แม้จะมีผู้กล่าวว่า “การเมืองคือ สงครามที่ปราศจากการหลั่งเลือด ขณะที่สงครามคือ การเมืองที่ต้องหลั่งเลือด” (เหมา เจ๋อ ตุง)
แต่การเมืองภายใต้การนำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคพวก ไม่ว่า “การเมือง” หรือ “สงคราม” ดูเหมือนว่าต้อง “หลั่งเลือด” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันเป็นการเมืองของ “เดรัจฉาน”.