คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างมวลมหาประชาชน กับรัฐบาลทรราชเสียงข้างมาก ที่ใช้เสียงข้างมากไปเพื่อตอบสนองความต้องการของอดีตนายกฯ ทักษิณ รัฐบาลและผู้สนับสนุนรัฐบาลทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักวิชาการต่างออกมาเรียกร้องให้แกนนำและมวลมหาประชาชนเคารพกติกา และรักษากฎหมาย โดยอ้างว่าพวกเขามาตามระบอบประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำทุกอย่างภายใต้กรอบอำนาจตามกฎหมาย ส่วนมวลมหาประชาชนกระทำทุกอย่างโดยไม่มีกฎหมายรองรับ
ดังนั้น การดำรงอยู่ และการดำเนินการทุกอย่างของฝ่ายรัฐบาลคือ การสร้างวัฒนธรรมการเคารพกติกา และเพื่อรักษากฎหมาย แม้แต่การออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการสั่งฆ่าประชาชน
แต่พอตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมาวินิจฉัยว่า การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม และกฎหมายอื่นๆ ที่เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ ฝ่ายรัฐบาลก็ออกมาแถลงการณ์ประกาศไม่ยอมรับอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การชุมนุมของมวลมหาประชาชนโดยสงบ และปราศจากอาวุธ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็กระทำการที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการประกาศใช้กฎหมายเผด็จการฉบับแล้วฉบับเล่า และใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ และหน่วยงานพิเศษตั้งข้อหา และออกหมายฉบับแกนนำของมวลมหาประชาชน พร้อมทั้งข่มขู่คุกคามประชาชนทุกวิถีทาง
รวมทั้งการถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังของการสังหาร และทำร้ายประชาชนที่ร่วมชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่รัฐบาลไม่เคยติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีได้แม้แต่รายเดียว
ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาถูกคนร้ายยิงถล่มด้วยเอ็ม ๗๙ หลังจากมีคำพิพากษาที่ไม่เข้าข้างรัฐบาลในบางกรณี และล่าสุด หลังคำพิพากษาของศาลแพ่งที่แม้จะไม่ถอนพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ แต่ก็สั่งห้าม ศรส.นำประกาศ ๙ ข้อที่ศูนย์รักษาความสงบออกตามประกาศดังกล่าวมาใช้ต่อการชุมนุม เพราะเป็นประกาศออกมาใช้บังคับกับบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น และห้ามใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมเนื่องจากเห็นว่าผู้ชุมนุมได้ชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ โดยให้มีผลบังคับใช้ทันที
สิ้นคำพิพากษาของศาลแพ่ง เมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. ของวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ฝ่ายรัฐบาลทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศรส. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ และใครต่อใครต่างออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษา เช่นเดียวกับที่เคยกระทำมาทุกครั้งที่คำวินิจฉัย หรือคำพิพากษาของศาลต่างๆ ออกมาไม่เป็นคุณแก่ฝ่ายตน โดยใช้ท่าทีแบบ “ศาลเตี้ย” มาตอบโต้ศาลสถิตยุติธรรม
เพราะคนพวกนี้คิดว่า “กูคือความถูกต้อง” ความเป็นธรรมคือ “เข้าข้างกู”
ทั้งๆ ที่คดีนี้ศาลเคยมีคำสั่งในตอนท้ายของการพิจารณาการคุ้มครองชั่วคราวกรณีฉุกเฉินไว้ว่า การดำเนินการตามมาตรการอื่นๆ ให้เป็นไปโดยสุจริต เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินกว่าเหตุ หรือความจำเป็น
แต่ปรากฏว่า ตั้งแต่เช้าของวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ จำเลยทั้งสามในคดีนี้คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะรอง ผอ.ศรส. ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำจนวนมากใช้แก๊สน้ำตา อาวุธปืนออกมาสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีประชาชน และตำรวจได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก
ซึ่งศาลเคยได้ระบุไว้แล้วว่า หากกระทำการที่เกินกว่าเหตุ ย่อมต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา ๑๗
เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันในหมู่ประชาชนอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของมวลมหาประชาชนที่ออกมาขับไล่รัฐบาลทรราช และลิ่วล้อด้วยความเหนื่อยยากลำบาก ฝ่าวิบากกรรมจากการกระทำของรัฐบาลเถื่อนถ่อยว่า รัฐบาลรักษาการชุดนี้เต็มไปด้วยคนตระบัดสัตย์ บิดเบือนข่าวสารข้อมูล และใส่ร้ายป้ายสีประชาชน ประกาศตัวเป็นศัตรูกับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับตนทุกกรณี ใช้กฎหมายเกินความจำเป็น ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ
จนประชาชนดูหมิ่นดูแคลนความเป็นรัฐบาล และหน่วยงานที่รักษาความสงบเรียบร้อย ที่มีคำขวัญประจำหน่วยงานว่า “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” กลายเป็น “ผู้พิฆาตประชาชน” ไปโดยปริยาย
ดังนั้น วาทกรรมที่ว่า “ต้องเคารพกติกาและรักษากฎหมาย” จึงมีความหมายว่า กติกานั้นคือ กติกาที่เป็นประโยชน์ และตอบสนองความต้องการของตน และเป็นกฎหมายที่เข้าข้างตน เอื้อประโยชน์ให้ตนได้ใช้อำนาจตามกฎหมายนั้น โดยไม่คำนึงถึงความสงบสุขของสาธารณชน อันเป็นเจตนารมณ์สูงสุดของการตรากฎหมายทุกประเภท ทั้งกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน
โดยเฉพาะกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งให้อำนาจฝ่ายบริหารภายใต้หลักการที่ว่า ผู้บริหารสูงสุดของประเทศมีความเป็นธรรม มีความชอบธรรม และไม่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนของตนเอง และกฎหมายอาญาอันเป็นกฎหมายที่มีโทษถึงประหารชีวิต หากอำนาจตามกฎหมายเหล่านี้ตกอยู่ในมือของคณะบุคคลที่ตรงกันข้ามกับหลักการดังกล่าว ย่อมนำมาซึ่งความวุ่นวายเดือดร้อนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
นักปราชญ์ทางกฎหมายของโลกท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “ศีลธรรมอันดีของประชาชนคือ กฎหมายสูงสุด” แต่วันนี้สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากันระหว่าง “รัฐบาลอธรรม” กับ “ประชาชนผู้มีศีลธรรมอันดี”
หลังคำพิพากษาของศาลแพ่ง และการชี้มูลของ ป.ป.ช.ที่กำลังจะมีขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้านี้ ให้ระวังมิคสัญญีที่จะเกิดจาก “รัฐเถื่อนและมวลชนถ่อย” ที่นิยมใน “ศาลเตี้ย” มากกว่าศาลยุติธรรม.