xs
xsm
sm
md
lg

เลาะเลียบสนามรบ “มวลมหาประชาชน” (๒) / จรูญ หยูทอง-แสงอทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอทัย
 
หลังอาหารเช้าในที่ชุมนุมแบบง่ายๆ  ข้าพเจ้า และบรรจง  นะแส ก็ออกไปทานมื้อเช้าต่อที่ที่พักข้างนอก ก่อนจะขึ้นไปอาบน้ำในห้องพักของแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของ คปท. นอนพักผ่อนจนตอนบ่ายก็ออกมาร่วมชุมนุมที่ คปท. กินมื้อเย็นแบบง่ายๆ จากครัวของชาวใต้  คืนนี้ได้รับคิวขึ้นปราศรัยประมาณสามทุ่ม  ก่อนขึ้นเวทีเจอพี่ดนัย  อนันติโย  รองประธานสภาทนายความ  อาจารย์มานิตย์  เพ็งผ่อง  ลงจากเวทีเจอน้องโต้งมารอรับไปตระเวนราชดำเนินด้วยมอเตอร์ไซค์
 
บริเวณราชดำเนิน มวลมหาประชาชนหนาแน่นมาก เดินสวนกันขวักไขว่ไปมา  สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านค้าขายของที่ระลึกเกี่ยวกับการชุมนุม โดยเฉพาะเสื้อยืด  นกหวีด  ริบบิ้นธงชาติ  ธงชาติ  ฯลฯ  พ่อค้าแม่ค้า และผู้คนส่วนใหญ่ที่เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง ล้วนคนใต้  ได้ยินเสียงพูดทักทายเป็นภาษาท้องถิ่นภาคใต้จากหลายพื้นที่  เหมือนราชดำเนินถูกย้ายไปอยู่แถวสุราษฎร์ฯ  นครศรีธรรมราช หรือชุมพร  ฯลฯ  งานนี้เป็นงานชุมนุมชาวใต้ทั้งบนเวที และล่างเวที
 
เราไม่สามารถเข้าถึงเวทีราชดำเนินจนถึงเวลากำนันสุเทพขึ้นเวที  พูดพลางเรียกหาหมอให้ไปช่วยคนเป็นลมหน้าเวทีเป็นระยะๆ  อาจจะเพราะคนแออัดยัดเยียดจนอากาศแถวนั้นไม่พอหายใจ  เลยทำให้คนเป็นลมกันมาก  ข้าพเจ้าบอกน้องโต้งให้ออกมาด้านนอก หาที่เหมาะๆ ที่เห็นจอมอนิเตอร์ และได้ยินเสียงกำนันชัด  ขาออกมาเรามาเจอทัศนัย  นวลวิลัย เพื่อนเก่าจากท่าศาลาอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะหลังจากแยกย้ายกันตอนจบการศึกษาเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เราไม่ค่อยได้เจอกัน  ขนาดข้าพเจ้าเคยไปหาเขาถึงบ้านพักครูโรงเรียนวัดสระประดิษฐ์  อำเภอท่าศาลา ก็ไม่เจอ 
 
เรากลับบ้านแถวรามอินทรา  คันนายาว  เมื่อดึกพอสมควร  เพื่อพักผ่อนเอาแรงไว้ลุยเวทีทั้ง ๗  เวทีในวันพรุ่งนี้ (๑๓  มกราคม  ๒๕๕๗) ด้วยมอเตอร์ไซค์คันเดิม  คืนนั้นเราเข้านอนเมื่อดึกพอสมควร  ข้าพเจ้าหลับสนิทด้วยความอ่อนเพลีย  มาตื่นอีกทีตอนสายๆ ของวันใหม่แล้ว
 
หลังมือเช้าด้วยอาหารอร่อย และเพื่อสุขภาพฝีมือของน้องมล  แม่บ้านของน้องโต้ง  เป็นอาหารพื้นบ้านภาคใต้ที่ไม่ได้กินนานมาแล้วคือ “ท้าวแท่น” หรือเต้าหู้ยี้ของภาคกลาง หรือ “ท้าวหยี” กินกับข้าวต้ม และอาหารพิเศษๆ อื่นๆ อีกสองสามอย่าง  ตบท้ายด้วยกาแฟดำตามความเคยชินที่ปฏิบัติมาหลายสิบปีแล้ว
 
ประมาณเก้าโมงเช้า เราออกตระเวนเวทีย่อย  เริ่มจากเวทีแจ้งวัฒนะ  แวะถ่ายรูปตามสถานที่สำคัญๆ ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้  เช่น  ดีเอสไอ  เวทีแถวแจ้งวัฒนะ กลุ่มคนที่มาชุมนุมมาจากต่างจังหวัดแถวภาคกลาง และปริมณฑล  มีกำลังหลักคือญาติธรรมของหลวงปู่พุทธอิสระ  จำนวนคนไม่มาก  กระจายไปตามใต้สะพาน  มีพระ และชาวบ้านกำลังเตรียมความพร้อมของโรงครัวที่เน้นอาหารประเภทผัก
 
ออกจากแจ้งวัฒนะ ผ่านไปทางแยกลาดพร้าว  คนหนาแน่นมากกว่าแจ้งวัฒนะมากมายมหาศาล  เหมือนฝูงมดดำไหลเลื่อนไปตามถนน  มองจากบนสะพานดูยั้วเยี้ยไปหมด  เราไม่สามารถเดินไปทางหน้าเวทีได้  เพราะไม่มีที่เสียดเท้าผ่านคนไปได้  คนหลังเวที และไกลออกมาจากเวทีมากกว่าคนหน้าเวทีด้วยซ้ำ  เราเดินย้อนกลับมานั่งพักผ่อนในสวนหย่อมที่มีมวลมหาประชาชนนั่งเบียดเสียดเยียดยัดกันเต็มพื้นที่หมดแล้ว
 
เรานั่งใกล้ๆ ครอบครัวของลุงกับป้า และลูกสาวที่มาจากสุพรรณฯ  สักพักก็มีสามีภรรยาคู่หนึ่งมาปูที่รองนั่งใกล้ๆ เรา  สอบถามได้ความว่ามาจากยะลา หรือเป็นคนยะลาแต่มาอาศัยอยู่ใน กทม.  ไม่มีใครบ่นว่าเหนื่อย  ร้อนหรือหิว  ต่างยิ้มแย้มแจ่มใสให้กัน  เพียงเพราะเห็นสัญลักษณ์เครื่องหมาย “กู้ชาติ” คือ นกหวีด  ปลอกมือ  แถบธงชาติ  มือตบ  ฯลฯ  ก็รู้สึกเหมือนคนรู้จักมักคุ้นกันมานานปี
 
ข้าพเจ้ารู้สึกได้ว่าแต่ละคนมาร่วมชุมนุมเหมือนมาร่วมงานบุญ หรือแสวงบุญ  ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ร้องขอความช่วยเหลือใดๆ จากใคร  ส่วนใหญ่ดูจากบุคลิกท่าทาง การแต่งเนื้อแต่งตัว ผิวพรรณ รูปลักษณ์ ล้วนเป็นคนมีอันจะกิน มีความรู้ ความคิด มีความเป็นอิสระจากการครอบงำใดๆ มีใจรักชาติรักแผ่นดิน รักความเป็นธรรมเหมือนๆ กัน
 
เท่าที่สำรวจความคิดเห็นด้วยการพูดคุย  ส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการนัดหมายปิดกรุงเทพฯ ของกำนันสุเทพ ด้วยปัจจัยหลักๆ คือ  เกลียดทักษิณ  เกลียดรัฐบาลยิ่งลักษณ์  มาช่วยกำนัน  ที่สำคัญ และเป็นจำนวนมากคือ เกลียดที่พวกนี้มันไม่เคารพในหลวง  และไม่มีสัมมาคารวะต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง  โดยเฉพาะ  พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ นายชวน  หลีกภัย
 
ออกจากแยกลาดพร้าว เรามาติดแหง็กอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  ที่นี่คนยิ่งมากจนไม่มีทั้งที่นั่ง และที่ยืนใกล้ๆ เวทีพอให้ได้ยินเสียงบนเวที  เราต้องไปหาที่นั่งในซอยหน้าโรงพยาบาลราชวิถี  นั่งได้สักพักก็ติดต่อโทร.หา อ.มานิตย์  เพ็งผ่อง  ปรากฏว่า อาจารย์อยู่ในโรงพยาบาลราชวิถี  จึงเดินไปหาอาจารย์ และถือโอกาสเข้าห้องน้ำ  เข้าห้องน้ำเสร็จก็มานั่งริมทางเท้าเข้า-ออกโรงพยาบาล  พบแม่หญิงจากบ่อสร้างกางจ้อง  คนบ้านเดียวกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์
 
ถามท่านว่าทำไมจึงมาขับไล่นายกฯ คนบ้านเดียวกัน  ท่านบอกว่ามันชั่วทั้งตระกูล  ยิ่งพี่สาวมันคือ เยาวภา ยิ่งร้ายใหญ่เลย  ก่อนลุกจากไปแม่หญิงเอ่ยอย่างน่าเห็นใจในขณะดึงนกหวีดออกมาถือว่า “อยากให้กำนันชนะ  ฉันจะได้นำนกหวีดกลับเชียงใหม่กับเขาบ้างเหมือนคนใต้”  ทราบจากการพูดคุยกันในช่วงสั้นๆ ว่าท่านเป็นเจ้าของโรงงานทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไม้ยางพาราส่งออก  โดยสั่งวัตถุดิบมาจากภาคใต้แถวเบตง
 
ออกจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อตอนเย็นมากแล้ว  เราไม่สามารถกลับทางเดิมได้  ต้องขึ้นสะพานลอยแทรกฝูงชนที่เดินสวนมาทั้งสองฟากของสะพาน  มองลงไปข้างล่างเห็นฝูงมวลมหาประชาชนเหมือนมดปลวกอีกเช่นเคย  เรามากินข้าวต้มเป็นมื้อเย็นที่ร้านข้าวต้มปากทางเข้าหมู่บ้าน  พยักหน้าทักทายกับคนใต้ที่เพิ่งกลับจากเวทีต่างๆ เหมือนเรา  สอบถามทราบว่า เป็นคนระนอง มิน่าจึงยิ้มทักทายมาแต่ไกลโดยที่ข้าพเจ้ายังไม่ถึงโต๊ะเลย
 
วันนี้ทั้งวันเต็มๆ เราไปได้แค่สามเวทีก็มืดค่ำเสียแล้ว  เหลืออีกสี่เวทีจึงต้องตระเวนในวันพรุ่งนี้อีกครึ่งวัน ก่อนจะไปขึ้นเครื่องบินตอนสี่โมงเย็น  ด้วยบริการอันอบอุ่น และประทับใจของน้องโต้ง - เลอสรรค์  ยอดล้ำ ไปไหนไปกัน ถึงไหนถึงกัน  ทั้งขับรถให้นั่งพาตระเวน และถ่ายรูปลงเฟช และไลน์ไปให้พรรคพวกทุกเวทีทุกสถานที่ที่ไปปรากฏตัว
 
เช้าวันที่  ๑๔  มกราคม เราออกตระเวนไปยังสี่เวทีที่เหลือ  เริ่มจากกระทรวงแรงงาน  ราชประสงค์  ปทุมวัน  สวนลุมพินี และอโศก  ทุกเวทีเต็มไปด้วยคนใต้  ที่ปทุมวัน มีผู้คนหนาแน่นมาก  เห็นป้ายบอกท่าของผู้คนล้วนมากจากหลายพื้นที่ของภาคใต้  ประชาชนทั้งคนไทย และชาวต่างชาติเดินกันขวักไขว่เหมือนงานเฟสติวัล หรืองานเฉลิมฉลอง  และที่สำคัญล้วนเป็นคนมีฐานะ และมีความรู้ทั้งสิ้น
 
ร้านค้าขายของที่ระลึกคึกคัก  เงินสะพัด  สองข้างทางที่ไปยังเวทีทุกเวทีมีน้ำดื่มที่ชาวบ้านแถวนั้นเอามาบริการผู้มาชุมนุม  เช่น  ชาวประตูน้ำ  ฯลฯ  เป็นต้น  บรรดาห้างร้านต่างๆ เปิดต้อนรับผู้ชุมนุมด้วยความยินดี  ไม่เหมือนตอนที่เสื้อแดง หรือ นปช. มาเผาบ้านเผาเมือง และจับคนกรงเทพฯ เป็นตัวประกันเมื่อปี  ๒๕๕๓  บางห้างขึ้นป้ายว่า “ลด ๓๐% สำหรับผู้ชุมนุม”  หรือ “บุฟเฟต์กู้ชาติ”  เป็นต้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น