xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนที่ได้จากปรากฏการณ์ “มวลมหาประชาชน” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ปรากฏการณ์การลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมของมวลมหาประชาชน ที่เริ่มต้นจากการคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม  บานปลายไปสู่การคัดค้านการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การยุบสภา และการกดดันให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรักษาการลาออก เพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยมวลมหาประชาชนก่อนการเลือกตั้ง  ได้ให้บทเรียนแก่สังคมไทยมากมายมหาศาล ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ  ดังต่อไปนี้
 
ประการแรก สะท้อนถึงการตื่นรู้ และความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน  โดยเฉพาะความอ่อนไหวต่อรัฐบาลที่ลุแก่อำนาจ และรัฐสภาที่ฉ้อฉลอำนาจอธิปไตย  นำเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งไปใช้ในการสร้างโอกาส และผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง และพวกพ้อง  จนนำไปสู่การลุกขึ้นสู้ และคัดค้านของประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ของการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย  ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ  โดยมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง  ยืดเยื้อเป็นเครือข่ายหนุนกันทั่วประเทศ โดยไม่มีความรุนแรงในการใช้กำลังประทุษร้าย
 
ประการที่สอง  ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนของประเทศไทย ที่ประชาชนจะจงเกลียดจงชัง และออกมาขับไล่มากมาย จากประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ  ทุกระดับวัย  อายุ  การศึกษา  พิการ  ทุพพลภาพ  นักพรต  นักบวช  พ่อค้า  แม่ค้า  ประชาชน  นักธุรกิจ ฯลฯ มากเท่ากับนายกรัฐมนตรีของ “ตระกูลชินวัตร” โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก และคนเดียวที่ประชาชนประณามว่าโง่  สำส่อน  ตอแหล  แรด  ฯลฯ สารพัดชั่วช้าสามานย์
 
ประการที่สาม  ความไร้เดียงสา และบ้าตำราของนักวิชาการที่ประพฤติตนเป็นหางเครื่องของรัฐบาล โดยเฉพาะรับใช้ระบอบทักษิณ  ประทับตรารองรับความชอบธรรม  ความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเสียงข้างมาก  โดยไม่ยอมคำนึงถึงความชอบธรรมด้านอื่นๆ  โดยเฉพาะการใช้อำนาจอธิปไตยที่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเป็นเสียงข้างมากไปในทางที่ไม่ชอบธรรม ปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ  และเมื่อตรวจสอบเบื้องลึกเบื้องหลังของนักวิชาการกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์ยึดโยงกับระบอบทักษิณอย่างชัดเจน  สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยที่ยังไม่พร้อมสำหรับระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ชาวบ้านอย่างที่เคยเข้าใจ แต่คือ นักวิชาการไร้เดียงสาและบ้าตำราพวกนี้แหละ
 
ประการที่สี่  ความไร้เดียงสา และจรรยาบรรณของสื่อมวลชนของรัฐ และเอกชน ต่อความชอบธรรม และจรรยาบรรณของสื่อมวลชนในประเทศด้อยพัฒนาที่เลือกยืนข้างอำนาจรัฐอย่างน่าเกลียด  เมื่อฝ่ายมวลมหาประชาชนไปเรียกร้องกดดันให้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ก็ออกมาแถลงการณ์ตอบโต้อ้างว่า เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างมีศักดิ์ศรี  แต่ครั้นฝ่ายรัฐบาลจัดแถลงข่าว หรือมีกิจกรรมที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ทำลายความชอบธรรมของฝ่ายมวลมหาประชาชน โดยเฉพาะการให้บุคคล  ๓  คนที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายประชาชนไปดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐโดยตรง  องค์กรสื่อเหล่านี้ก็ไม่ได้โวยวายว่าถูกแทรกแซง หรือกดดันแต่อย่างใด
 
น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญ  ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญ  ๒๕๕๐  ได้บัญญัติสาระสำคัญเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนให้ทำหน้าที่ได้อย่างเสรี ในฐานะฐานันดรที่สี่ของสังคม  แทนที่สื่อมวลชนเหล่านี้จะเลือกมีเสรีภาพอย่างมีศักดิ์ศรี แต่กลับเลือกยืนข้างอำนาจรัฐที่ประชาชนเห็นว่าไม่มีความชอบธรรม
 
ในส่วนสื่อมวลชนของเอกชน  เช่น หนังสือพิมพ์ในเครือมติชน (ประชาชนเรียกว่า “มติชิน”) เห็นได้ชัดเจนเลยว่า แทบทุกส่วนตั้งแต่พาดหัวข่าว คอลัมนิสต์ บทบรรณาธิการ บทสัมภาษณ์ คำคัดคมความคิด ฯลฯ ล้วนสนับสนุนรัฐบาลอย่างเปิดเผย และเหยียบย่ำซ้ำเติมการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างเยาะเย้ยถากถางจนเกินความจำเป็น  โดยเฉพาะบทกวีของสุจิตต์  วงษ์เทศ  บทความของนิธิ  เอียวศรีวงศ์  คอลัมน์การ์ตอง  สถานีคิดเลขที่ ๑๒  หน้าสามของเสถียร  จันทิมาธร  ก้างตำคอ  ไม่เว้นแม้แต่การ์ตูน “คิวคน” ของอรุณ  วัชรสวัสดิ์ จะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็คอลัมน์ของ พล.ต.อ.วสิษฐ  เดชกุญชร  เนาวรัตน์  พงศ์ไพบูลย์ และบทความกระแสทัศน์ในบางวันที่ไม่ใช่คอลัมนิสต์ประจำเท่านั้น
 
ประการที่ห้า  ข้อถกเถียงเรื่อง “ความเป็นประชาธิปไตย” ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า “การเลือกตั้ง” คือ ทุกสิ่งทุกอย่างของความเป็นประชาธิปไตย  ถ้าไม่ไปเลือกตั้งในวันที่  ๒  กุมภาพันธ์นี้ ก็ถือว่าไม่เอาประชาธิปไตย  แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ไม่ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่เห็นว่าการเลือกตั้งในวันที่  ๒  กุมภาพันธ์นี้เป็นการสูญเปล่า ถ้าไม่มีการปฏิรูปการเมืองที่เห็นว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม  แม้แต่ กกต.ชุดใหม่ที่ต้องทำหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้ง ยังมีความเห็นว่าให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน  แต่ก็ถูกปฏิเสธ และถูกประณามจากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล โดยเยาะเย้ยถากถางตามบุคลิกของผู้พูดว่า “กกต.ดูบลูสกายมากไปหน่อย”
 
ประการที่หก  รัฐบาลนอมินีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นรัฐบาลที่รวมเอาคนไร้วุฒิภาวะไว้มากที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยมีรัฐบาลมา  ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนที่มีวุฒิภาวะพอที่ประชาชนฝ่ายที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับรัฐบาลพอจะยอมรับได้ ในการออกมาประนีประนอมความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย หรือหัวหน้าพรรค  รัฐมนตรีต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ประธาน ศอ.รส.  เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (บางคนบอกว่า “ความมั่นคงของรัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรี” มากกว่า) อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ประชาชนเรียกว่า “สุนัขรับใช้อีโง่ (ย่อว่า DSI = D-Dog / S=Service / I=Idiot)
 
ประการสุดท้าย การต่อสู้ที่ยืดเยื้อ แม้ว่ามวลมหาประชาชนจะออกมาแสดงเจตจำนงว่า ไม่ต้องการรัฐบาลนับสิบล้าน  ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่รู้ร้อนรู้หนาว  ยังปล่อยให้สมุนลิ่วล้อออกมานับเลขได้ไม่เกินล้าน  กลายเป็นตัวตลกแห่งชาติ  ทั้งการอ่านแถลงการณ์ของประธาน ศอ.รส.คนที่สองที่กลายเป็นเรื่องขบขัน  อีกทั้งการออกมาไล่ล่าแกนนำ โดยการอายัดบัญชีธนาคารพาณิชย์ของแกนนำ  จนประชาชนต้องบริจาคเงินสดให้แกนนำนับสิบล้าน เพราะรำคาญ และหมั่นไส้คนที่เอาอำนาจ เอากฎหมายมารับใช้ผู้มีอำนาจอย่างน่าขยะแขยง  ปัญหาทั้งหมดนี้มันมาจากอำนาจในการตัดสินใจของรัฐบาลที่อ้างเสียงสนับสนุน  ๑๕  ล้าน แท้จริงแล้วมีคนที่ตัดสินใจได้เพียงคนเดียว และไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยซ้ำไปคือ “นายใหญ่ที่ดูไบ”
 
หลังการชุมนุมของมวลมหาประชาชน ต้องมีการเขียนตำราเล่มใหม่อีกหลายเล่มให้ฝรั่ง และพวกนักวิชาการขี้ปากฝรั่งทั้งหลายได้อ่าน โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์ที่พยายามบังคับให้ประชาชนเขียนประวัติศาสตร์ให้ตรงกับที่พวกเขาเรียนรู้ และท่องจำกันมา  จนถูกกงล้อประวัติศาสตร์ทับตายไปหลายศพแล้วในขณะนี้ อนิจจา-อาเมน.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น