xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องล้มการเลือกตั้งวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ความขัดแย้งทางการเมืองไทยระหว่าง กปปส.ตัวแทนของมวลมหาประชาชน กับรัฐบาลรักษาการ และผู้สนับสนุน ต้องมาเผชิญหน้ากันอีกครั้งในประเด็นของการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกตั้ง หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภาตามคำเรียกร้องของหลายฝ่าย แต่ไม่ยอมลาออกจากการทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการตามคำเรียกร้องของ กปปส.และบางองค์กร เพื่อให้เกิดสุญญากาศ และให้มีการจัดตั้งสภาประชาชน และนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลคนกลางขึ้นมาทำหน้าที่ชั่วคราวในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ก่อนจะเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้ง
 
ฝ่ายรัฐบาล และผู้สนับสนุนต่างมีความเห็นคล้อยตามกันไปว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีการแล้วทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่อย่างนั้นจะถือว่าเป็นการขัดพระบรมราชโองการ อันเป็นการกระทำที่ไม่บังควร และเพื่อยุติความขัดแย้งโดยการมอบอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าเห็นด้วยกับฝ่ายใด  ถ้าหากฝ่าย กปปส.มั่นใจว่าแนวทางของพวกตนได้รับการสนับสนุนจากมวลมหาประชาชน ทำไมต้องกลัวการเลือกตั้ง เป็นการไม่เคารพกติกาในระบอบประชาธิปไตย ไม่เคารพหลักการตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนในการทำประชามติมาเอง
 
ส่วนฝ่าย กปปส.และแนวร่วมกลับแย้งว่า การต่อสู้เรียกร้องของฝ่ายมวลมหาประชาชนมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า ต้องการล้มระบอบทักษิณ ถ้าเพียงแต่ยุบสภาแล้วยังรักษาการ และดำเนินการเลือกตั้งทันที ก็จะได้คนเดิมกลุ่มเดิมมาทำเรื่องไม่ดีแบบเดิม แล้วนำไปสู่ความขัดแย้งที่รนแรงกว่าเดิม ส่วนเรื่องพระราชกฤษฎีกาก็เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเองก็เคยเปลี่ยนแปลงพระราชกฤษฎีการมาแล้ว ในการเลือกตั้งครั้งหนึ่งที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ
 
ประชาชนคนไทยส่วนหนึ่งที่ตามเกมของรัฐบาลรักษาการไม่ทัน ก็อาจจะเออออห่อหมกเห็นดีเห็นงาม คล้อยตามข้อเสนอของรัฐบาลรักษาการ และแนวร่วม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการ และส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการที่ชอบประจบสอพลอรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจอยู่แล้ว  โดยไม่พินิจพิจารณาว่า แม้ว่าโดยหลักการของการเมืองในระบอบรัฐสภา เมื่อยุบสภาแล้วก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจโดยกระบวนการเลือกตั้ง  แต่นั่นมันคือหลักการในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่เชื่อว่ากระบวนการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ  เที่ยงธรรม  สามารถจะกลั่นกรองคนดี  มีความรู้ความสามารถเข้าสู่อำนาจ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร  พรรคการเมืองมีความเป็นพรรคการเมืองอันเป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน  มีแนวนโยบายที่จะพัฒนาประเทศชาติตามอุดมการณ์ และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมวลมหาประชาชน  ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต่างๆ คัดเลือกให้ลงสมัครรับเลือกตั้งมีความรู้  ความเข้าใจ และมีความสามารถในการทำหน้าที่ตรวจสอบ  นิติบัญญัติ หรือบริหารกิจการบ้านเมือง  ประชาชนผู้ทำหน้าที่เลือกตั้งมีความรู้  ความเข้าใจ และตระหนักในบทบาทหน้าที่ และเห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง  ไปทำหน้าที่เลือกตั้งด้วยความเป็นอิสระจากการครอบงำของอำนาจอิทธิพลใดๆ  คณะกรรมการที่จัดการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ และเที่ยงธรรม
 
แต่ในความเป็นจริง  การเลือกตั้งในประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทย ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งที่ออกมาล้วนเป็นประจักษ์พยานให้เห็นแล้วว่า กระบวนการเลือกตั้งของไทยภายใต้กระบวนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยเฉพาะนับตั้งแต่ ทักษิณ  ชินวัตร ตั้งพรรคการเมืองเมื่อปี  ๒๕๔๔  เป็นต้นมา  เราไม่ได้นักการเมืองดีมีคุณภาพตามที่คาดหวัง  เพราะสนามการแข่งขันไม่ได้เน้นที่คนดีมีความสามารถ แต่เน้นที่ผู้มีเงิน  มีอิทธิพล  มีเครือข่ายพรรคพวก  ภายใต้ระบบทุนนิยมอุปถัมภ์  เป็นการเลือกตั้งในระบอบ “ธนาธิปไตย” คือใช้เงินซื้อพรรค  ซื้อ ส.ส. และซื้อเสียงเพื่อเข้ากุมอำนาจรัฐ ทำลายกระบวนการตรวจสอบ  แทรกแซงองค์กรอิสระ จนนำไปสู่การประท้วงของมวลมหาประชาชนจำนวนหลายล้านคนอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย
 
ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนของประเทศนี้ที่ประชาชนส่วนหนึ่งเรียกคำนำหน้านายกฯ ว่า “อ้าย” หรือ “อี” อย่างในยุคนายกรัฐมนตรีทักษิณ และยิ่งลักษณ์  ไม่เคยมีรัฐสภาโดยเฉพะสภาผู้แทนยุคไหนที่ใช้พวกมากลากไป เข็นร่างพระราชบัญญัติที่ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญ  ผิดทั้งขั้นตอน และมีปัญหาทั้งเนื้อหาสาระ จนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้มูลความผิด  และไม่เคยมีประธานสภา และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลชุดไหนที่ออกมาแถลงการณ์ว่า ไม่ยอมรับคำวินิจฉัย และอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  พร้อมทั้งประกาศว่าจะฟ้องตลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไม่เป็นคุณแก่ตน
 
ไม่เคยมียุคไหนสมัยใดที่นักวิชาการทั้งอาวุโส และอ่อนอาวุโสออกมาตีความรัฐธรรมนูญเข้าข้างรัฐบาลอย่างไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  บางคนมุทะลุจนถึงขนาดว่า “เมื่อเป็นกฎหมายจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้” ทั้งๆ ที่เป็นถึงอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายในสถาบันอุดมศึกษา  กลับตีความกฎหมาย และใช้ทัศนะที่คับแคบ และไม่มีทางออกให้แก่สังคมที่กำลังมีความขัดแย้ง
 
ที่น่าเศร้า และสมเพชเวทนากว่านั้นคือ บรรดานักวิชาการรุ่นเก่าแก่ และสื่อสารมวลชนทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ประกาศสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทรราชเสียงข้างมาก และมวลชนที่นิยมความรุนแรงว่า เป็นฝ่ายปกป้องประชาธิปไตย  เป็นนักต่อสู้เพื่อปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  รัฐบาลเสียงข้างมาก โดยไม่ยอมพูดถึงการทุจริตคอร์รัปชัน  การฉ้อฉล  การแก้กฎหมาย และแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตน และพรรคพวกอย่างไร้ยางอาย  สนับสนุนมวลชนที่เถื่อนถ่อยให้คุกคามฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล และออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยวิธีสงบสันติ ปราศจากอาวุธ
 
มีนักวิชาการอาวุโสบางคนเพี้ยนหนัก ถึงขนาดยกย่องนายกรัฐมนตรีที่มวลมหาประชาชนมองว่า ต่ำกว่ามาตรฐาน และปัญญาอ่อนว่า เป็น “รัฐบุรุษ” และประณามมวลมหาประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันเพื่อปฏิรูปประเทศว่า “อันธพาลทางการเมือง”
 
ดังนั้น  การเลือกตั้งในบรรยากาศความขัดแย้งแบบนี้จึงเป็นการดันทุรังนำสังคมเข้าสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งก่อนการเลือกตั้ง  ขณะเลือกตั้ง และหลังจากการเลือกตั้ง และไม่มีอนาคตเลยว่าการปฏิรูปการเมืองที่หลายฝ่ายเห็นด้วย และสนับสนุนให้มีการดำเนินการก่อนการเลือกตั้งนั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างไร  เพราะการปฏิรูปดังกล่าวไม่อาจจะอาศัยศักยภาพของนักการเมือง และพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ได้  เนื่องจากส่วนใหญ่เขาเป็นได้แค่ “นักเลือกตั้ง” และพรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นได้แค่ “กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง”
 
หากมีความจริงใจต่อการปฏิรูปการเมืองเพื่ออนาคตของลูกหลาน จึงไม่ควรผลักดันประชาชนเข้าสู่สมรภูมิการเลือกตั้ง โดยที่ประชาชนส่วนหนึ่งที่ออกมาแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่เอาการเลือกตั้งโดยยังไม่ได้ปฏิรูปใดๆ ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังไม่สิ้นสุดยุติ.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น