xs
xsm
sm
md
lg

พร้อมเพรียงกัน “สำเร็จโทษ” กฎหมายนิรโทษกรรม / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


  
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย 
 
หมายเหตุ : ช่วงนี้ต้องขอพักการเขียนเรื่องการไปเยือนปักกิ่งไว้ชั่วคราว  เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลเชื้อเชิญให้มาสนใจการออกกฎหมายนิรโทษกรรม “ฉบับสุดซอย”
 
ขณะนี้บ้านเมืองกำลังมีบรรยากาศตึงเครียด  เข้าสู่ภาวะกดดัน  การเผชิญหน้า และถึงทางตันทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง  เหมือนตอนก่อนจะเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่  ๑๙  กันยายน  ๒๕๔๙  สาเหตุหลักมาจากความเหิมเกริม  ลุแก่อำนาจของ “ฝ่ายเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จในสภาผู้แทนราษฎร” ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองกลุ่มเดิม
 
ทำไมประชาชนคนไทยที่มีสมอง และจิตสำนึกเพื่อสังคมหลายหมู่เหล่า ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มคนที่เคยสนับสนุน และอยู่เคียงข้างรัฐบาลมาโดยตลอดอย่างเข้มแข็ง จึงออกมาคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้
 
ประการแรก  เนื่องจากกรรมาธิการเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรตระบัดสัตย์ แปรญัตติให้ร่างกฎหมายดังกล่าว กลายพันธุ์จากแมวในตอนวาระรับหลักการไปเป็นหมาในวาระต่อมา  ดังนี้
 
๑) ด้านคดี  ได้ขยายการนิรโทษกรรมให้รวมถึงคดีที่กล่าวหาโดยองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร  ๑๙  กันยายน  ๒๕๔๙  ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมแต่เป็นคดีทุจริตคอร์รัปชันโดยตรง
 
๒) ด้านเวลา  ได้ขยายช่วงเวลาของการกระทำผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึง  ๘ 
สิงหาคม  ๒๕๔๖  การชุมนุมที่ต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ และคดีตากใบ  กรือเซะ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารโดยตรง
 
๓) ด้านตัวบุคคล  ได้ขยายให้นิรโทษกรรมต่อบุคคลเป็นการทั่วไป ทั้งผู้สั่งการ และแกนนำ
 
๔) ด้านผลการนิรโทษกรรม  ได้กำหนดให้ผลการนิรโทษกรรมต้องดำเนินการตามหลัก “นิติธรรม” อย่างเคร่งครัด  อีกทั้งเปิดช่องให้ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมเรียกร้องสิทธิประโยชน์ได้
 
ประการที่สอง  การตระบัดสัตย์ในครั้งนี้เป็นการตระบัดสัตย์ตามประเด็นที่ฝ่ายคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้เคยท้วงติงมาตลอดเวลาว่า “เป็นการตรากฎหมายเพื่อคนคนเดียวคือ “อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ” และฝ่ายสนับสนุนก็ยืนยันมาตลอดว่า ไม่เป็นความจริง  ดังนั้น  เมื่อผลออกมาตามที่คาดหมาย เมื่อกรรมาธิการเสียงข้างมากมากลับลำ “กลางซอย” เลยทำให้มีคนลุกขึ้นมา “ปิดซอย” ทั้งปากซอย ท้ายซอย โดยพร้อมเพรียงกัน  ไม่เว้นแม้แต่คนที่เคยเดินร่วมซอยกันมา
 
ประการที่สาม  พฤติกรรมอันเสื่อมถอย   ไร้เกียรติ  ไร้ศักดิ์ศรี  ของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติ ที่กระทำตนไม่สมเกียรติที่ประชาชนมอบให้  ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บนพื้นฐานของการตอบสนองความต้องการของประชาชน  มิหนำซ้ำ กลับกระทำการให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ต้องการตอบสนองความต้องการของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ  ดังที่ผู้แปรญัตติร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ “สุดซอย” ออกมาสารภาพตรงๆ อย่างไม่มียางอายว่า  ร่างกฎหมายฉบับนี้มีที่มาจากคำปรารภของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศเคยกล่าวกับตนว่า “พี่ยุทธ์ผมอยากกลับบ้านแล้ว”
 
ประการที่สี่  ความล้มเหลวของการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ที่ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนของประเทศไทยที่จะถูกประชาชนตราหน้าว่า “โง่” หรือให้สรรพนามสิงสาราสัตว์อื่นๆ อีกมากมายเท่านายกรัฐมนตรีคนนี้  โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย
 
วิกฤตศรัทธาเหล่านี้  รวมทั้งความชิงชังดั้งเดิมที่มวลชนมีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณและวงศ์ตระกูล จึงทำให้ขบวนแถวของคนคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาอย่างคึกคัก หนาแน่น และหลากหลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน และกำลังยกระดับไปสู่การขับไล่รัฐบาลอยู่ในขณะนี้
 
ข้อเรียกร้องสำคัญของทุกฝ่ายเน้นไปที่การถอน หรือคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ และนิติธรรม  ความหวังของทุกฝ่ายอยู่ที่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งถูกมองว่า รัฐบาลได้ซื้อใจไว้แล้ว ด้วยการแก้ไขกฎหมายให้มีที่มาจากการเลือกตั้ง และให้สิทธิแก่สมาชิกปัจจุบันลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที โดยไม่มีการเว้นวรรคทางการเมือง
 
แม้ว่าจะมีคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยมากมาย แต่ฝ่ายรัฐบาลผู้มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้การชี้นำของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ก็ยังด้านหน้าผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไปอย่างไม่ยอมลดราวาศอก  เป็นการขับเคลื่อนประเทศมาสู่ปากเหวแห่งความหายนะ ท่ามกลางความขัดแย้งของคนในชาติ เพื่อเดิมพัน แลกกับผลประโยชน์ที่ตน และวงศ์ตระกูลจะได้รับ โดยไม่แยแสต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อชาติบ้านเมือง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
 
วันนี้ประชาชนคนไทยก็ถูกแบ่งเป็น  ๓  กลุ่มใหญ่ๆ  กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างมากเด็ดขาด  แม้จะมีจำนวนลดลง แต่ก็ยังมากพอที่จะสร้างความมั่นใจให้รัฐบาลเดินหน้าต่อไป  กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ออกมาคัดค้านและขับไล่รัฐบาล ซึ่งเริ่มมากขึ้นตามลำดับ  เพียงแต่ยังไม่มากพอที่จะกดดันรัฐบาลที่ไม่ค่อยรู้สึกรู้สาต่อความไม่พึงพอใจของประชาชน  กลุ่มที่สามคือ ประชาชนที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่  ไม่สนใจไยดีต่อความเป็นไปของชาติบ้านเมือง และบางส่วนก็ทำตัวเป็นผู้อยู่เหนือความขัดแย้ง  กอดความเป็นกลางนอนเอกเขนกอยู่ที่บ้านคอยเป็น “สีแก้วพลอยรุ่ง” กับฝ่ายที่ชนะในวันข้างหน้า
 
(อ่านต่ออังคารหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น