xs
xsm
sm
md
lg

ข้อถกเถียงร่วมสมัย “ว่าด้วยการพัฒนากับการขัดขวางการพัฒนา” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดินด้วยรัก พิทักษ์สองฝั่งทะเล เชื่อมสะพานแผ่นดิน-โดยสะพานมนุษย์ จากบ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ถึง บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา 22-28 ต.ค.ได้เริ่มขึ้นแล้ว
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
นับตั้งแต่ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นประเทศกำลังพัฒนา ด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔  เป็นต้นมา ประชาชนคนในชาติก็เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชน หรือชุมชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ กับอำนาจรัฐ และนายทุนผู้อ้างในสิทธิและอำนาจเหนือทรัพยากรของประชาชน  และหลังเหตุการณ์  ๖  ตุลาคม  ๒๕๑๙  ขบวนการนิสิตนักศึกษา และประชาชนถูกปราบปรามจนไม่สามารถจะขับเคลื่อนแนวความคิด และการพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้เสียเปรียบได้  จึงได้เกิดโครงการบัณฑิตอาสาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเกิดองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอขึ้นมาในหลากหลายรูปแบบตามภารกิจ  และนับจากนั้นมา เอ็นจีโอก็กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับอำนาจรัฐในทุกพื้นที่ตลอดมา
 
ในสายตาของอำนาจรัฐ ของรัฐบาลอำนาจนิยม  บรรดานักพัฒนาองค์กรเอกชน หรือพวกเอ็นจีโอ และเครือข่ายของพวกเขาคือ “พวกค้านทุกเรื่อง” และรับเงินจากต่างประเทศมาขัดขวางการพัฒนาของรัฐบาลของตนเอง  ไม่เคยมีรัฐบาลไหนของประเทศนี้เป็นกัลยาณมิตรกับเอ็นจีโอ  แม้แต่รัฐบาลของอดีตนายกทักษิณ ที่มีแกนนำของเอ็นจีโอเป็นสมาชิกหลัก และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการประเทศ ในนามรัฐบาลเสียงข้างมากเด็ดขาด ก็ยังคงเป็นปฏิปักษ์กับเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ตนเคยร่วมขับเคลื่อนสังคมมาด้วยกันจนถึงปัจจุบันนี้
 
ในส่วนของประชาชนคนส่วนใหญ่ก็ถูกจัดแบ่งเป็น  ๓  ฝ่ายใหญ่ๆ  ฝ่ายแรกคือ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับนักพัฒนาองค์กรเอกชน หรือเอ็นจีโอ  เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม และประกอบกับมีความสนใจ  รักความเป็นธรรม  รักแผ่นดินถิ่นเกิด และรักษาหม้อข้าวหม้อแกงของตนเอง และชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  แต่คนกลุ่มนี้มีไม่มาก และนับวันจะถูกกำจัดออกไปจากเส้นทางความขัดแย้งคนแล้วคนแล้ว  ด้วยวิธีการต่างๆ นานา
 
กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ฝ่ายอำนาจรัฐ และนายทุนจัดตั้งขึ้นมา  กลุ่มนี้ก็มีไม่มาก และไม่ยั่งยืนเท่าไหร่ เนื่องจากเกิดขึ้นบนจุดยืนเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า  เช่น  สื่อมวลชนที่เขียน หรือเผยแพร่ข้อมูลสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่  นักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติ พร้อมด้วยสมัครพรรคพวกหัวคะแนนที่มีอิทธิพลอำนาจมืด และผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ
 
กลุ่มที่สามคือ ประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยสนใจไยดีกับเหตุการณ์บ้านเมือง ตามประสาของคนในประเทศด้อยพัฒนา  พวกนี้พร้อมจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งได้ทั้งนั้น ตราบเท่าที่เห็นว่าจะได้ประโยชน์เฉพาะหน้าจากฝ่ายไหนก็ได้ที่มาหยิบยื่นให้ โดยผ่านระบบสายสัมพันธ์ ทั้งโดยเครือญาติ และเครือข่ายในลักษณะสังคมอำนาจนิยมอุปถัมภ์เป็นทอดๆ
 
ดังนั้น  ท่ามกลางความขัดแย้งในเรื่องแนวคิด และกระบวนการในการพัฒนา  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างจำกัด เพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  คนในชาติจึงแบ่งออกเป็นสามฝ่ายโดยปริยาย และเข้าต่อสู้กัน  และย่อมมีฝ่ายแพ้ และชนะทุกครั้งไป  และส่วนใหญ่ฝ่ายใช้อำนาจรัฐมักจะเป็นฝ่ายชนะ และในที่สุดการพัฒนานั้นก็นำมาซึ่งปัญหาตามที่ฝ่ายแพ้เคยนำเสนอไว้ไม่ผิดเพี้ยน  แต่สังคมไทยก็ไม่เคยเรียนรู้บทเรียนแห่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
 
วาทกรรมที่บอกว่า “การสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม”  “มีโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียแล้ว คนไทยและคนใต้จะได้ใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูก”  ฯลฯ  ยังคงสำแดงบทบาทอยู่ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อแย่งชิงทรัพยากรกันในพื้นที่  ทั้งๆ ที่ปรากฏการณ์ที่เป็นจริงในสังคมกลับตรงกันข้าม  เรามีเขื่อนมากมายทั่วทุกหัวระแหง แต่ก็ไม่มีพื้นที่ไหนที่รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วม  และที่สำคัญวันนี้คนภาคใต้ก็ยังคงใช้แก๊สราคาแพงลิบลิ่วเหมือนกับคนไทยในภาคอื่นทั่วประเทศ  รวมทั้งแพงกว่ามาเลเซียที่ได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไทย
 
ขณะนี้ในภาคใต้ และทั่วประเทศกำลังเข้าสู่สนามรบของการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างอำนาจรัฐ และทุนทั้งใน และนอกประเทศกับประชาชน  ชุมชนและนักพัฒนาองค์กรเอกชน หรือเอ็นจีโอ  กลยุทธ์ในการต่อสู้ของฝ่ายรัฐและทุนคือ การใช้อำนาจรัฐสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตน และสร้างความไม่ชอบธรรมให้แก่ฝ่ายที่คัดค้าน  ขณะที่ฝ่ายประชาชน  ชุมชน และเอ็นจีโอใช้กระบวนการนำเสนอข้อมูลเพื่อฟ้องร้องต่อประชาชน โดยการเดินเท้าทางไกลเพื่อคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และไม่มีกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่ชอบธรรมพอ
 
จึงอยากเรียกร้องให้ประชาชนกลุ่มที่สาม คือ ฝ่ายที่ไม่ค่อยรู้อีโหน่อีเหน่ต่อปัญหาของชุมชนท้องถิ่น ได้ออกมาร่วมรับรู้ และแสดงออกในการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในการทำมาหากินไว้ให้ลูกหลาน เหมือนที่บรรพชนของเราเคยปกป้องกันมารักษาไว้จนถึงรุ่นเรา
 
คงไม่มีใครอยากขัดขวางการพัฒนา ถ้าหากว่าโครงการเหล่านั้นมีขึ้นบนพื้นฐานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนน้อยที่สุด  พร้อมทั้งมีแนวทางและมาตรการในการป้องกัน และบำบัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างมีมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือเพียงพอ
 
แต่หากมันเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของคนของรัฐ โดยเฉพาะนักการเมืองที่แสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณ และโดยสมคบกับนายทุน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ ผู้สนับสนุนนักการเมืองในระบบฉ้อฉลอยู่แล้ว  ก็ถือว่าเป็นความชอบธรรม  เป็นภารกิจที่สมควรยิ่งที่ฝ่ายคัดค้านจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มที่สามของโลกที่สาม หรือโลกด้อยพัฒนา
 
ขอภาวนาให้การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมจงประสบชัยชนะ และขอสาปแช่งให้กระบวนการฉ้อฉลคอร์รัปชันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะตน และพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงหายนะของชาติบ้านเมือง และชุมชนท้องถิ่นจงพินาศตลอดกาล.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น