xs
xsm
sm
md
lg

คิดถึง “เปลื้อง คงแก้ว” หรือ “เทือก บรรทัด” : คนตรงเมืองตรัง / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
 
เดือดไอแดดเมษาฯ เหมือนจะไหม้
ลามเลียใบไม้หมองหม่นสิ้น
เดือนนี้ไอแดดที่กลางดิน
ดูดดื่มน้ำกินใต้ดินดาน
เหลืองแดงแต่งแต้มใบไม้ทั่ว
ทิ้งช่วงปลิดขั้วเหลือแต่ก้าน
ปูพื้นเป็นผืนตลอดลาน
แต้มป่าท่าธารทุกที่ทาง
ใบซ้อนใบซับดินเป็นดั่งด่าน
เดือดไอแดดฤดูผ่านลงข้างล่าง
คืนค่ำฉ่ำหมอกแทรกใบบาง
ผลัดกันเสพย์-กันสร้างฤาวางวาย
แลเทือกบรรทัดจากเบื้องล่าง
เป็นแถบเป็นทางตอนสางสาย
คือริ้วคือร่องของความตาย
ตอนน้ำท่วมปักษ์ใต้-ปลายปี
พ่อเฒ่าตีนเทือกแกเล่าว่า
ทุกทุกแล้งทุกเมษาฯ ทุกถิ่นที่
ทุกทิวเทือกบรรทัดถูกโจมตี
ระเบิดบอมบ์แต่ละที-มีรอย
ร้อยบอมบ์ระเบิดก็ร้อยร้าว
ไม้ไหล้ทบท่าวลงร่วงผล็อย
เดือนแปดฝนปราดมาปรอยปรอย
น้ำขังคึงรอยระเบิดนอง
ล้นรอยระเบิดแล้วบ่าไหล 
เชี่ยวชากชอนไชที่ร้าวร่อง
นี่คือสาเหตุของการนอง-
ที่เชี่ยวชากบ้านช่องชนต้องตาย
แลเทือกบรรทัดจากเบื้องล่าง
เป็นแถบเป็นทางตอนสางสาย
คือริ้วใครวาดความวอดวาย
ริ้วนายริ้วไพร่ริ้วใครกัน.
 
“เทือก  บรรทัด”
กลุ่มบุดใหม่
 
บทกวีชื่อ “คือริ้วคือร่องของความตาย” ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารกลุ่มนาคร  วารสารเพื่อกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม และวรรณกรรม  รายสองเดือน  ฉบับที่ ๒  “ยืนค้ำฟ้า”  มี ประมวล  มณีโรจน์ เป็นบรรณาธิการ  เป็นบทกวีที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จัก “เปลื้อง  คงแก้ว” หรือ “เทือก  บรรทัด” แห่งกลุ่มบุดใหม่จากเมืองตรังมากยิ่งขึ้น  หลังจากติดตามอ่านบทกวีที่เผยแพร่ทางนิตยสาร และวารสารวิเคราะห์การเมืองในสมัยนั้นมาระยะหนึ่ง
 
ยุคหลังเหตุการณ์  ๖  ตุลาคม  ๒๕๑๙  เป็นยุคแห่งความเงียบเหงาของขบวนการนิสิต นักศึกษา และประชาชน  หลังจากถูกปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณ และสมาชิกผู้มีความคิดก้าวหน้าต้องแยกย้ายกันเข้าป่า เพื่อไปร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  ปล่อยให้คนรุ่นใหม่ในเขตเมืองผู้มีความคิดก้าวหน้า และเจริญรอยตามคนรุ่นก่อนผ่านทางบทเพลง  บทกวี  เรื่องสั้น  นวนิยาย  หรือวรรณกรรมก้าวหน้าที่  ส่วนใหญ่เป็น “หนังสือต้องห้าม” ของรัฐบาลเผด็จการในยุคนั้น  ต้องช่วยกันประคับประคองขบวนการเคลื่อนไหวทางความคิด ผ่านหน้าวรรณกรรมของวารสาร และนิตยสารในส่วนกลาง ที่ค่อยๆ เข้มข้นคึกคักขึ้นตามลำดับ  จากปริมาณสู่คุณภาพ
 
กวี  นักเขียนภาคใต้ในยุคนั้น  มีการรวมตัวกันอย่างคึกคักเข้มแข็งที่สุด  จากการมีกลุ่มวรรณกรรมเล็กๆ ในสถาบันอุดมศึกษา และชุมชน  ได้แก่  กลุ่มประภาคาร  ทะเลสาบสงขลา  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  สงขลา  มีสมาชิกประกอบด้วย  ประมวล  มณีโรจน์  รูญ  ระโนด  ทัศนวิไล  ปอพอ  ศรีออน  ธัช  ธาดา  สายธารสิโป,  กลุ่มบุดใหม่  ตรัง  สมาชิกประกอบด้วย  เทือก  บรรทัด  พันดา  ธรรมดา,  กลุ่มสานแสงทอง  พัทลุง  สมาชิกประกอบด้วย  แสง  ลำรุน (เจน  สงสมพันธุ์)  กนกพงศ์  สงสมพันธุ์,  กลุ่มประกายพรึก  สมาชิกประกอบด้วย  ไพฑูรย์  ธัญญา  ยงยุทธ  ชูยลชัด  สมพร  รัตนพันธ์  สวาท  สุวรรณวงศ์,  กลุ่มคลื่นทะเลใต้ สุราษฎร์ธานี  สมาชิกประกอบด้วย  บุญชัย  ตันสกุล  สมใจ  สมคิด,  ชมรมดอกไม้นครศรีธรรมราช  สมาชิกประกอบด้วย  รัตนธาดา  แก้วพรหม  สายใจ  ปุญญานุพงศ์  พระมหาจตุรงค์  ศรีจงกล  โอภาส  สอดจิตต์,  กลุ่มเพื่อนวรรณกรรม  วิทยาลัยครูสงขลา  สมาชิกประกอบด้วย  เชื้อเสือ  คงเมือง (เชื้อ  ชูไท)  ปัทมราษฎร์  เชื้อศูทร  ตอนหลังประมาณปี  ๒๕๒๕  กลุ่มต่างๆ เหล่านี้รวมกันเป็น “กลุ่มนาคร”
 
หลังปี  ๒๕๒๕  เป็นต้นมาแวดวงวรรณกวีทางภาคใต้ยิ่งมีความคึกคัก  จากการพบปะสังสรรค์กันบนหน้าวรรณกรรมของวารสาร  นิตยสารวิเคราะห์การเมืองในส่วนกลาง  จนถึงปี ๒๕๒๖  องค์กรวรรณกรรมในส่วนกลางที่มีคนใต้ (สำราญ  รอดเพชร  คมสัน  พงษ์สุธรรม  ญิบ  พันจันทร์ ฯลฯ) เป็นคนขับเคลื่อน  ได้จัดงานชุมนุมกวี และนักเขียนขึ้นที่ศูนย์สังคีตศิลป์  ธนาคารกรุงเทพสาขาผ่านฟ้า  ทำให้กวี  นักเขียนจากทั่วประเทศได้มาพบปะเสวนา และรู้จักมักคุ้นกัน  และหลายคนได้กลับไปตั้งกลุ่มวรรณกรรมขึ้นมาในภายหลัง  ได้แก่  ภาคเหนือ เกิดกลุ่มลมเหนือของ  แสงดาว  ศรัทธามั่น  หนานปัญญา  มั่นศรัทธา  เป็นต้น
 
ส่วนทางภาคใต้  กลุ่มนาคร เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มวรรณกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน  ยกเว้นกลุ่มบุดใหม่  และกลุ่มคลื่นใหม่  ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม และวรรณกรรมในรูปแบบต่างๆ  ทั้งการจัดเสวนา  การทำหนังสือ  การทำเพลง  การศึกษาเฉพาะทาง  มีการร่วมจัดสร้างสวนสร้างสรรค์นาคร-บวรรัตน์  และสวนหนังสือนาคร-บวรรัตน์  กับครอบครัว นพ.บัญชา  พงษ์พานิช ขึ้นที่สี่แยกท่าวัง  อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช  เมื่อวันที่ ๑  มิถุนายน  ๒๕๒๘  ในรูปแบบของหุ้นส่วน  เป็นแนวคิดให้เกิดศูนย์หนังสือชุมชนหาดใหญ่ในเวลาต่อมา  แต่ปัจจุบันศูนย์หนังสือชุมชนของ  สมเกียรติ หรือปุณญพัฒน์  จิตสกุลชัยเดช เลิกกิจการไปนานแล้ว
 
ข้าพเจ้ามีโอกาสได้รู้จัก “เปลื้อง  คงแก้ว” มากขึ้นเมื่อโอนมาสังกัดสถาบันทักษิณคดีศึกษา  เมื่อ  ๑  มิถุนายน  ๒๕๓๙  ในฐานะนักประชาสัมพันธ์ และเป็นผู้ประสานงานการจัดสัมมนาทางวิชาการ  และการร่วมเป็นวิทยากรพูดคุยเรื่องวรรณกรรม  และเวทีการเคลื่อนไหวทางการเมือง และสังคมหลายเวที  ทำให้เข้าถึงจิตวิญญาณของการเป็น “เปลื้อง  คงแก้ว” มากกว่าเก่าว่า…
 
“กลางสังคมสอพลอต่อผู้ใหญ่
กูก็ไม่อาจเห็นเป็นสิ่งหรู
เกลียดลูกศิษย์เฝ้าพะนอสอพลอครู
ชีวิตกูจึงคว้างกลางสังคม…”
 
(อ่านต่อฉบับหน้า)
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น