xs
xsm
sm
md
lg

กระแส-กระสุน-กระสือ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
โค้งสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัคร “นายก อบจ.สงขลา” มีความเข้มข้นระทึกใจยิ่งทั้งเรื่อง...
 
กระแส - ว่าใครจะแพ้ ใครจะชนะกันมากน้อยแค่ไหน ด้วยเหตุผลอะไร
 
กระสุน - ข่าวลือเรื่องราคากลางของการซื้อเสียง และราคาพิเศษสำหรับผู้ที่ถูกมั่นใจว่าจะไม่เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน และ
 
กระสือ - ข่าวราคาต่อรองในแวดวงการพนันของคอการเมืองที่เป็นนักพนัน มีความเคลื่อนไหวอย่างน่าจับตายิ่ง
 
เมื่อถามถึง “กระแส” แน่นอนจุดโฟกัสของทุกสายตาย่อมมาจับอยู่ที่เบอร์ ๑ และเบอร์ ๒ เป็นสำคัญ  ส่วนเบอร์ ๓ เบอร์ ๔ แทบไม่มีใครพูดถึงเลย หรือตกกระแสไปตั้งแต่วันแรกที่สมัครแล้ว
 
สำหรับเบอร์ ๑ กระแสมาแรงในหมู่ของคนชั้นกลางที่ไม่ใช่พันธมิตรของเบอร์ ๒ และอดีตนายกพีระ ตันติเศรณี  และชนชั้นล่างที่ได้รับประโยชน์จากการทำงานในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา และผู้ที่เห็นด้วยกับนโยบายแบบประชานิยมเต็มรูปแบบใน ๔ ปีข้างหน้า และจากผู้ที่สงสารเห็นใจที่ต้องมาต่อสู้กับกระแส “ชวนฟีเวอร์” และ “ประชาธิปัตย์ฟีเวอร์” ของกองทัพ “แม่ธรณีบีบมวยผม” ส่วนเบอร์ ๒ แน่นอนกระแสย่อมมาแรงในแวดวงพลพรรค ปชป. คนรุ่นเก่าที่ไม่ค่อยสนใจสื่อ และข้อมูล  ความเห็นที่แตกต่าง
 
กระแสของใครจะนำมาซึ่งคะแนนเสียง  วันที่ ๔ สิงหาคมนี้คงได้เห็นกัน  เพราะกระแสย่อมมีปัจจัยอื่นเป็นตัวชี้ขาด  หากใครฟังแต่กระแส โดยไม่มองถึงบริบทแวดล้อมอื่น ย่อมตกม้าตายได้ง่ายๆ  เพราะกระแสเป็นเรื่องของชนชั้นกลาง  ชนชั้นกลางที่อ่อนไหวไปตามข้อมูลข่าวสาร  ข้อมูลข่าวสารที่มีทั้งลับ-ลวง-พราง  ยิ่งในสถานการณ์การต่อสู้ที่แหลมคม  กระแสอาจจะถูกสร้างขึ้นจากเกมกลที่แหลมคมมากมาย  ตั้งแต่ยุทธการการปล่อยข่าวในร้านน้ำชา  วงสนทนาเพื่อสร้างประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน และสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายตรงข้าม
 
ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากเท่าไหร่  ยิ่งต้องระวังฟังหูไว้หูให้มากขึ้น
 
นอกจากกระแสแล้ว  ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง  ในทุกระดับ “กระสุน” หรือเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ก็มีความสำคัญในการเป็นจุดชี้ขาดว่า ใครจะแพ้หรือชนะ หรือทำกระแสให้กลายมาเป็นคะแนน  เพราะแม้ว่าจะมีกระแสดี  แต่ถ้าไม่มีคะแนน  หรือมีคะแนนสู้อีกฝ่ายไม่ได้  ก็ย่อมแพ้เป็นธรรมดา เพราะการตัดสินแพ้ชนะเขาเอาคะแนนเป็นที่ตั้ง
 
แม้ว่าบางหมายเลขจะถูกปล่อยข่าวว่า มีกระแสมาแรงระดับที่เรียกว่าราคาต่อรองในแวดวงการพนันอยู่ในอัตรา  ๑๐  ต่อ ๗ และขยับมาเป็น  ๑๐  ต่อ ๘  อยู่ในขณะนี้  หลังจากมีปัจจัยทางการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าเป็นคุณต่อผู้สมัครคนนี้
 
แต่ปรากฏว่า ในแวงการสาดกระสุน เพื่อหวังดึงกระแสแปรมาเป็นกระสุน ปรากฏว่า หมายเลขนี้เสนอราคากลางสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป ที่ยังไม่แสดงตนว่าสนับสนุนใครเป็นการแน่นอนแล้วในราคาเสียงละ  ๕๐๐  บาท  แต่ถ้าแสดงตัวว่าสนับสนุนอีกฝ่าย  และไม่เลือกฝ่ายตนอย่างแน่นอนแล้ว  ข่าวว่าฝ่ายนี้เสนอราคาเสียงละ  ๑,๕๐๐  บาท
 
ซึ่งถ้าเป็นความจริงแสดงว่า ราคานี้เท่ากับอัตราการซื้อเสียงปกติในการเลือกตั้งเดียวกันนี้สมัยที่แล้ว
 
แสดงให้เห็นว่า  แม้กระแสจะมาแรง แต่กระสุน หรือราคากลาง และราคาที่มีผลต่อการโน้มน้าวใจพิเศษ ก็อาจจะมีผลต่อการพลิกผันผลการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา ในครั้งนี้ได้มากเหมือนกัน ก็ขึ้นอยู่กับว่าการสาดกระสุนของนักการเมือง และทีมงานจะประสบความสำเร็จหรือไม่
 
หรือพูดง่ายๆว่า “คนสงขลา หรือคนที่มีสิทธิเลือกตั้งในสงขลาซื้อได้หรือไม่”
 
นอกจากนั้น  ปัจจัยอีกอันหนึ่งที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งได้เหมือนกัน คือ พวก “กระสือ” หรือคอการเมืองที่เป็นนักพนัน  ยิ่งราคาต่อรองสูงมากเท่าไหร่  การพนันก็มีผลต่อการพลิกผันผลการเลือกตั้งให้ออกมาแบบ “หักปากกาเซียน” ได้เท่านั้น
 
และกระบวนการนี้ก็เคยถูกใช้ได้ผลมาแล้วในการเลือกตั้งระดับชาติที่มีการแข่งขันรุนแรงคล้ายๆ กับการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา ในครั้งนี้  แต่หากราคาการต่อรองอยู่ในระดับ ๑๐  ต่อ ๘  อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้  ปัจจัยการพนันอาจจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้น้อยกว่าที่คาด
 
อย่างไรก็ตาม มีคำถามหลักอยู่ในใจของประชาชนที่สนใจการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่หลายคำถาม  ไม่ว่าจะเป็นคำถามต่อแกนนำของพรรค ปชป.ว่า อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคต่อการเมืองระดับท้องถิ่นคืออะไร  ระหว่างผลประโยชน์ของประชาชน  กับผลประโยชน์ หรือชัยชนะของคนของพรรค
 
เพราะการมาพบปะประชาชนของแกนนำคนสำคัญระดับหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองท่านในครั้งนี้  ไม่ได้อธิบายให้พี่น้องประชาชนเห็นถึงตรรกะที่สำคัญในการสนับสนุนคนของตน  ที่นอกเหนือไปจากการเป็นคนของพรรค
 
โดยเฉพาะผลประโยชน์ หรือสิ่งที่ดีกว่า  ที่เหนือกว่าที่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในจังหวัดสงขลาจะได้รับจากการที่ได้นายก อบจ.จากคนที่ตนสนับสนับสนุน  กับคนที่พรรคไม่สนับสนุน
 
คำถามต่อมาคือ ทำไมคนระดับแกนนำสูงสุดของพรรคต้องทุ่มเทสุดตัวให้แก่การสนับสนุนสมาชิกพรรคคนหนึ่งมาเป็นผู้นำทางการเมืองในระดับท้องถิ่น  โดยที่คนของพรรคอีกส่วนหนึ่งก็ประกาศตัวสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่ง  และบางส่วนก็ประกาศตัววางเฉย  โดยปล่อยให้ทั้งคู่ต่อสู้แข่งขันกันเอง  เพราะต่างก็เป็นสมาชิกของพรรค ปชป.เหมือนกัน
 
คำว่า “มติพรรค” คืออะไร แล้วทำไมจึงมีผู้ปฏิบัติต่อมติพรรคแตกต่างกันจนเห็นได้ชัด
 
คำถามที่สำคัญอีกคำถามหนึ่งคือ พรรค ปชป. (โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคที่ทุ่มเทให้แก่การหาเสียงในครั้งนี้) จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในภาคใต้ และจังหวัดสงขลา ที่มีต่อการกระทำของท่านผู้มีเกียรติที่พวกเขาเคารพนับถือ  ไม่ว่าผลของการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็ตาม
 
เหล่านี้คือคำถามที่อยู่ในใจของพี่น้องประชาชนชาวใต้  และชาวสงขลาหลายคน  โดยไม่รู้ว่าจะมีใครคิดจะตอบคำถามของพวกเขาบ้าง
 
จะอย่างไรก็ตาม พี่น้องชาวจังหวัดสงขลา และชาวต่างจังหวัดที่มีสิทธิเลือกตั้ง  ต้องไปทำหน้าที่เลือกตั้งอย่างมีวิจารณญาณในวันที่  ๔  สิงหาคมนี้  ส่วนจะเลือกใคร  หรือไม่เลือกใคร  ก็เป็นสิทธิโดยชอบธรของท่าน
 
แต่ต้องไม่ลืมว่า  “ความเจริญก้าวหน้าของจังหวัดสงขลา  จะมีเกินคุณภาพ และวุฒิภาวะทางสังคมและการเมืองของคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลา”  ไม่ได้.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น