xs
xsm
sm
md
lg

เลือกนายก อบจ.สงขลา : การเมืองแบบฐานคะแนนเสียง ปะทะ การเมืองฐานนโยบาย / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ศึกสายเลือดการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา ระหว่างนายอุทิศ ชูช่วย หมายเลข ๑ กับนายนิพนธ์ บุญญามณี หมายเลข ๒ โดยมีผู้สมัครอีก ๒ คนที่ประชาชนชาวสงขลาหลายคนไม่รู้ว่าพวกเขาสมัครด้วยคือ นายพิณ  คงเอียง หมายเลข ๓ และนายจรัญ อรุณพันธุ์ หมายเลข ๔ หากศึกษาจากเวทีปราศรัยและป้ายหาเสียงก็เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการแข่งขันระหว่างการเมืองแบบฐานคะแนนเสียง กับการเมืองแบบฐานนโยบาย
 
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ปชป. ยอมลาออกจากตำแหน่งมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. ซึ่งเป็นการเมืองระดับท้องถิ่น โดยให้เหตุผลว่ามาตามนโยบายของพรรค ปชป.ที่ต้องการกระจายอำนาจ ทำท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพื่อประเทศไทยเข้มแข็ง ความหวังของนายนิพนธ์จึงอยู่ที่กระแสของความเป็น ปชป.ของภาคใต้ ป้ายหาเสียงของนายนิพนธ์จึงมีคนอื่นที่ไม่ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สงขลา แต่เป็นคนที่ชาวสงขลาและชาวไทยรู้จักดีคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. และนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. อดีตนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค ปชป. และดูเหมือนจะเป็นจุดขายของนายนิพนธ์ที่ใช้สโลแกนว่า “เชื่อมั่นประชาธิปัตย์ เชื่อมั่นนิพนธ์ บุญญามณี เบอร์ ๒” นับเป็นการเมืองแบบฐานคะแนนเสียงที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วของพรรค ปชป. ตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ ยุคที่ชูกระแสสนับสนุนคนใต้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนนโยบายที่นำเสนอต่อสาธารณชนก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
 
โจทย์ที่สำคัญของนายนิพนธ์คือว่า ฐานคะแนนเสียงของ ปชป.ในสงขลาจะมีมากพอที่จะเอาชนะฐานนโยบายของนายอุทิศ ชูช่วย ได้หรือไม่ คำถามที่ว่า “๓๐ ปีในตำแหน่งทางการเมืองของนายนิพนธ์ บญญามณี ทั้งในฐานะ ส.ส. และ ส.จ. มีผลงานอะไรเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวสงขลา” และป้ายข้อความพร้อม ภาพยกมือไหว้ ใบหน้าเปื้อนยิ้มมีข้อความว่า “ขอโอกาสตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” มีคนแย้งว่า “ชาวสงขลาให้โอกาสมา ๓๐ ปีแล้วยังไม่พออีกหรือ” นี่คือโจทย์สำคัญที่นายนิพนธ์จะต้องแก้ให้ตก
 
ส่วนนายอุทิศ ชูช่วย หมายเลข ๑ ชูนโยบายที่หลากหลาย จนกล่าวได้ว่าไม่เหลืออะไรให้นายนิพนธ์ได้นำเสนอ และเน้นว่า “เป็นจริงได้” ทุกนโยบาย การปรากฏตัวของป้ายหาเสียงและเวทีปราศรัยของนายอุทิศ สร้างบรรยากาศของการนำเสนอนโยบายที่จะทำให้กับชาวสงขลา และหลายเรื่องได้ทำมาแล้วในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา และหากได้กลับเข้ามาอีกสมัยก็จะเดินหน้าต่อไป ถือได้ว่านายอุทิศ ชูช่วย เน้นการเมืองแบบฐานนโยบายประเภทว่า “เอาผลงานมาแลกคะแนน” ชูภาพลักษณ์ “นักพัฒนา” แม้แต่ภาพถ่ายที่ปรากฎบนป้ายหาเสียง และเวทีปราศรัยก็เน้นภาพเดิมภาพเดียว ข้อความและภาพประกอบนโยบายสะท้อนถึงความ “เป็นมืออาชีพ” ชัดเจนทั้งความคิด ข้อความ สีหน้า แววตา รอยยิ้มที่มุ่งมั่นและเป็นมิตร (ประชาชนสะท้อนออกมาอย่างนั้น)
 
การเมืองท้องถิ่นสงขลาจึงมาถึงทางสองแพร่งของการเมืองสองแนวทางคือ แนวทางแรกเป็นการเมืองที่ยึดเอาพื้นที่หาเสียงคือ จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ฐานคะแนนเสียงคือ ไม่เน้นนโยบาย แต่เน้นความเป็นพรรคพวกสมาชิกชาว ปชป.ว่าต้องสนับสนุนคนของพรรค ปชป. และเอาผู้ใหญ่ในพรรคมาช่วยสนับสนุนการันตีเพื่อกรุยทางสู่ชัยชนะ ในขณะที่แนวทางที่สองใช้พื้นที่เขตเลือกตั้งคือ จังหวัดสงขลา เป็นฐานนโยบาย พยายามนำเสนอมาตรการ แนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในเขตเลือกตั้ง ตามบทบาทและศักยภาพของตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ไม่มีการแอบอ้างแอบอิงใครเป็นพิเศษ ประกาศชัดเจนว่าไม่สังกัดพรรคการเมืองใด “สังกัดพรรคของประชาชน”
 
ในส่วนของผู้สมัครที่เป็นคู่แข่งที่แท้จริงก็ได้ทำหน้าที่ของเขาอย่างสมบูรณ์แบบเต็มศักยภาพแล้ว เหลือก็แต่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งว่า วันที่ ๔ สิงหาคมที่จะถึงนี้ ท่านจะตัดสินใจเลือกใคร หรือไม่เลือกใครเลย นั่นย่อมเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของท่านอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่า “มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง” และการเลือกตั้งเป็นวัฒนธรรมของมนุษย์โดยแท้ จึงต้องใช้ข้อมูล ความรู้ ความคิดและสติปัญญาในการตัดสินใจ ประชาชนที่เหมาะกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นคนมีเหตุผล มีสติปัญญาและสามารถให้เหตุผลที่เป็นสากลกับการตัดสินใจของตนเองในสถานการณ์สำคัญได้
 
แม้ว่าจะมีหลายคนกล่าวว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เลือกใคร เพราะน่าจะโดนใบแดงทั้งคู่” เนื่องจากมีการใช้เงินกันในรูปแบบต่างๆ จนน่าจะเกินจำนวนที่ กกต.กำหนด แต่นั่นยังเป็นเรื่องในอนาคต สำหรับวันนี้หน้าที่ของประชาชนคือ ติดตามความเคลื่อนไหว รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน แล้วใช้สมองและประสบการณ์พินิจพิจารณาก่อนตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญในชีวิต

กำลังโหลดความคิดเห็น